> ประวัติความเป็นมา

        สถาบันญี่ปุ่นศึกษาได้มีการจัดตั้งขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2524 ต่อมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น และได้รับความช่วยเหลืออย่างดียิ่งจาก ฯพณฯ ทาเคโอะ ฟุคุดะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ ฯพณฯ ยาสึฮิโระ นากาโซเน่ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในคราวการมาเยือนประเทศไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2526 โดยได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้ง “ศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา” ต่อมาในเดือนกรกฏาคม 2526 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตกลงให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าเป็นมูลค่า 1,150 ล้านเยนหรือ 115 ล้านบาท ในการสร้าง อาคารศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี 

        อาคารศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยสถาปนิกและวิศวกรชาวญี่ปุ่น มีลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรม คือเป็นอาคารที่สร้างโดยการใช้เทคนิคสมัยใหม่ผสมกับการก่อสร้างแบบสมัยโบราณ คือการนำเอารูปแบบอาคารที่เรียกว่า Shinden Zukuri (ชินเด็น ซึคุริ) ซึ่งเป็นรูปแบบที่พักอาศัยของขุนนางชั้นสูงของญี่ปุ่นในสมัยโบราณมาผสมผสานเข้ากับรูปแบบอาคารวัดพุทธศาสนาที่ญี่ปุ่นเรียกว่า Garan Haichi (กะรัง ไฮจิ) ซีงมีลักษณะเป็นกลุ่มอาคารที่มีอาคารอยู่ตรงกลางและมีอาคารอีกสี่ด้านอยู่ล้อมรอบ โดยมีระเบียงเชื่อมระหว่างอาคารต่างๆ นอกจากนั้นยังมีบ้านญี่ปุ่นและบ่อน้ำภายในบริเวณอีกด้วย ภายในบ้านญี่ปุ่นมีการตกแต่งภายในแบบญี่ปุ่น ใช้สำหรับจัดพิธีชงน้ำชาและทำพิธีอื่นๆ ตามประเพณีดั้งเดิมของญี่ปุ่น ฯพณฯ ทาเคโอะ ฟุคุดะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้กรุณาตั้งชื่อบ้านญี่ปุ่นหลังนี้ว่า YU YU TE (ยู ยู เท) ซึ่งแปลความหมายว่า ศาลาคลายกังวล ศาลาคลายกังวล

        ต่อมาเมื่อมีการขยายขอบเขตการศึกษาให้กว้างขวางขึ้นครอบคลุมกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีด้วย คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติให้จัดตั้งเป็น “สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา” ในวันที่ 20 ธันวาคม 2526 ตามประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่องการแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2527 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2527 และตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 101 ตอนที่ 43 ลงวันที่ 1 เมษายน 2527 หน้า 7

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2527 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ และทรงทำพิธีเปิดอาคารศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2528 และต่อมาทรงพระมหากรุณาธิคุณรับสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาไว้ในพระราชูปถัมภ์ 

        สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ได้มีโอกาสต้อนรับบุคคลสำคัญระดับชาติที่ให้เกียรติมาเยือนและชมอาคารศูนย์ญี่ปุ่นศึกษามากมายหลายท่าน เช่น เจ้าชายฮิตาชิ และพระชายาแห่งประเทศญี่ปุ่น ฯพณฯ ทาเคโอะ ฟุคุดะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฯพณฯ ชิเกโทมิ ซุนาดะ อดีตรัฐมนตรีศึกษาธิการญี่ปุ่น ประธานคณะกรรมาธิการการเงินแห่งชาติ 

        ตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เผยแพร่สู่สาธารณชน จนเป็นที่ประจักษ์ในบทบาทด้านการวิจัยและการให้บริการวิชาการแก่สังคมด้านเอเชียตะวันออก และได้ขยายขอบเขตการศึกษาให้กว้างขวางเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาเซียน