ความเป็นมาท้องคุ้งเพิ่มโอกาสทางการศึกษา

ความเป็นมา

         พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มีจุดมุ่งหมายให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และให้คนไทยได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกันอย่างมีคุณภาพต่อเนื่อง กำหนดให้สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาได้สามรูปแบบคือ การศึกษาในระบบ  การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย การฝึกอาชีพหรือประสบการณ์การทำงาน   การเทียบโอนผลการเรียนจึงเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงการศึกษาทั้งสามรูปแบบให้เลื่อนไหลไปมาได้อย่างเป็นระบบ  โดยผู้เรียนสามารถเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาหรือย้ายสถานศึกษา เพื่อให้มีโอกาสได้เลือกเรียนตามหลักสูตรและรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมกับความถนัดและความสนใจและความสามารถที่แท้จริงของตนเอง  และ มาตรา 27 กำหนดให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรแกนกลาง ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพชุมชน และสังคม รวมทั้งเปิดโอกาสให้เทียบโอนผลการเรียนระหว่างรูปแบบการจัดการศึกษา ซึ่งมีแนวการจัดการศึกษาและลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน สามารถเทียบโอนกันได้

         ปัจจุบัน โรงเรียนวัดท้องคุ้ง “ไพโรจน์ประชาสรรค์” จัดการศึกษาในระบบ ประเภทขยายโอกาสทางการศึกษา เปิดสอนตั้งแต่ชั้นปฐมวัย ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  2551    ตั้งอยู่เลขที่ 9/3 หมู่ 2 ตำบลนาป่า อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี  สภาพชุมชนรอบบริเวณโรงเรียน มีลักษณะติดต่อกับนิคมอุตสาหกรรมบางปะกงเฟส 2 และนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ทำให้มีประชากรจากภาคอื่นเดินทางมาแสวงหางานทำจำนวนมาก ในเขตพื้นที่มีหมู่บ้านจัดสรร และบ้านเช่ามากมาย ผู้ปกครองจำนวนมากไม่มีทะเบียนบ้านแน่นอนเนื่องจากไม่แจ้งการย้าย และย้ายถิ่นบ่อย  มีประชากรประมาณ  28,862  คน   สถานที่บริเวณใกล้เคียงโดยรอบโรงเรียนได้แก่  ตลาด  หมู่บ้านจัดสรร บ้านเช่า  ห้องแถวให้เช่า รวมทั้ง ร้านค้าต่างๆ  ผู้ปกครองประมาณร้อยละ 90  มีอาชีพรับจ้างในโรงงาน  และ ประมาณร้อยละ 10  มีอาชีพค้าขายเล็กๆน้อยๆ  เนื่องจากการอพยพย้ายถิ่นมาหางานทำ มีรายได้เฉลี่ย  5,000  บาทต่อเดือน และจากการสำรวจระดับการศึกษาของประชาชนในตำบลนาป่าปีการศึกษา 2554  พบว่า มีผู้ที่ไม่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน  152 คน  ในจำนวนนี้เป็นนักเรียนที่ออกกลางคันร้อยละ 98 สืบเนื่องมาจากสาเหตุปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาความยากจน  ปัญหาชู้สาว ปัญหาครอบครัว ฯลฯ นอกจากนี้ จากข้อมูลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 1  พบว่ามีเด็กออกกลางคันเป็นจำนวนมาก  จากสภาพปัญหาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ในแต่ละปีจะมีนักเรียนส่วนหนึ่งที่ไม่จบการศึกษา ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปจะพบว่ามีนักเรียนส่วนหนึ่งที่ไม่จบการศึกษาสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลตามมาหลายๆด้าน เช่น ปัญหาสังคม  การเพิ่มอัตราการว่างงาน  แรงงานด้อยคุณภาพ  ปัญหายาเสพติด  ปัญหาการลักขโมย เป็นต้น ที่จะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย อีกทั้งจำนวนผู้เรียนที่ไม่จบการศึกษาภาคบังคับมากเท่าไร รัฐย่อมสูญเสียงบประมาณและเกิดความสูญเปล่าทางการศึกษา เนื่องจากต้องเสียเวลา เสียค่าใช่จ่ายที่เกิดจากการจัดการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ในขณะที่ผลลัพธ์ และผลผลิตที่ได้ไม่คุ้มค่าทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ

         จากปัญหาดังกล่าว คณะกรรมการฝ่ายบริหารโรงเรียน จึงมีแนวคิดที่จะช่วยเหลือนักเรียนที่ตกหล่นจากการศึกษาในระบบ  เช่น  นักเรียนจบไม่พร้อมรุ่น  นักเรียนที่ออกกลางคัน  และมีปัญหาต่าง ๆ ทั้งทางด้านพฤติกรรมนักเรียน  ปัญหากับระบบการศึกษา ปัญหาที่เกิดจากครูผู้สอน  ปัญหาจากการประเมินผล  ปัญหาจากผู้ปกครอง   ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้ผู้เรียนต้องพลาดโอกาสจากการศึกษาในระบบ  จึงจำเป็นปรับการใช้หลักสูตรสถานศึกษา   เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น และรองรับสิทธิและโอกาสให้นักเรียนได้รับการศึกษา มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542  อย่างสอดคล้องกับกลยุทธ์ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยยึดหลัก   3  ประการ   ดังนี้

        1.1 หลักการปฏิรูปการศึกษา  โดยการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ลักษณะการจัดการเรียนการสอน เน้นการจัดการเรียนการสอนนอกเวลาราชการโดยใช้วันเสาร์เป็นเวลาสอบ , สอนเสริม เป็นการผสมผสานการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย โดยใช้หลักสูตรสถานศึกษาตามปกติ

       1.2 หลักความยืดหยุ่น  โดยอาศัย มาตรา ๑๕ (๒) และ(๓) การศึกษานอกระบบ ยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมายรูปแบบ, วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา  การวัดและการประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา  การศึกษาตามอัธยาศัยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพความพร้อม และโอกาสโดยศึกษาจากบุคคล  ประสบการณ์สังคมสภาพแวดล้อม สื่อหรือแหล่งความรู้อื่นๆ

       1.3 หลักกฎหมาย   สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พุทธศักราช 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545

                มาตรา 39 โรงเรียนเป็นนิติบุคคล โดยกระจายอำนาจให้สถานศึกษาจัดการศึกษา

                มาตรา 4 วรรคสาม “การศึกษาตลอดชีวิต” หมายความว่า การศึกษาที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างตลอดชีวิต

                มาตรา 15 การจัดการศึกษามี   3  รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยสถานศึกษาอาจจัดการศึกษาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือทั้ง  3 รูปแบบก็ได้ 

         ทางโรงเรียน จึงได้จัดทำโครงการ 3 ระบบทางเลือกเพื่อการศึกษา โดยมีคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกันพิจารณาถึงแนวทางในการดำเนินการที่เหมาะสมที่สุด โดยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการดำเนินการอย่างเป็นระบบ