การแสดง การรำวงคองก้า

ประวัติ รำวงคองก้า

คองก้ากับวิถีชุมชน กรณีศึกษาบ้านขาม ตำบลบ้านขาม อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นการศึกษา และ รวบรวมการละเล่นรำวงคองก้าของคนในพื้นที่ การละเล่นรำวง

คองก้า ในบ้านขาม ตำบลบ้านขาม อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภูนั้น เป็นไปในลักษณะที่ถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ตรงจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง แหล่งความรู้นั้นชาวบ้านจะสามารถเรียนรู้ได้จากบุคคลที่อยู่รอบข้างที่เคยละเล่นรำวงคองก้ามาก่อน อาจเป็นเพื่อน พี่ น้อง ญาติ และไปดูจากคนอื่นที่มีฝีมือในการแสดงที่ดีโดยจดจำเอามาทำเอง อาจศึกษา หรือเห็นจากผู้รู้หลายๆ คนแล้วนำจุดเด่นของแต่ละคนมาปรับใช้กับการละเล่นรำวงคองก้าในท้องถิ่น ความรู้ในด้านนี้จะไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นเพียงการละเล่นต่อๆ กันมา และเห็นการละเล่นรำวงคองก้าจากคนรุ่นก่อนๆ ผู้ที่ต้องการเรียนรู้จะต้องจดจำ และนำมาปฏิบัติให้เห็นจริงแล้วเกิดองค์ความรู้ด้วยตนเองเท่านั้น แต่ในปัจจุบันนี้ได้มีหนังสือ นิตยสาร สื่ออินเตอร์เน็ตที่เผยแพร่ความรู้ในด้านนี้ จึงเป็นทางเลือกให้คนในพื้นที่ได้เลือกศึกษาหาความรู้ได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นในการละเล่นรำวงคองก้าบ้านขามนั้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชน และภูมิปัญญาของชาวบ้านอย่างมากมาย นับตั้งแต่การรวมกลุ่มผู้ละเล่น การหาวัสดุอุปกรณ์ การคิดท่าร่ายรำ บทเพลงรำวงคองก้า ทุกขั้นตอนนั้นล้วนแล้วแต่ใช้ภูมิปัญญาเป็นองค์ประกอบทั้งสิ้น การละเล่นรำวงคองก้า จะทำการละเล่นไปพร้อมๆ กับงานประจำ เช่น การทำไร่ นา กลุ่มรำวงคองก้า จะใช้เวลาว่างเท่าที่จะนัดหมายกันได้ ประมาณครั้งละ ๒ ชั่วโมงเพื่อทำการฝึก โดยฝึกให้มีความคุ้นเคยและให้มีความชำนาญ

กลุ่มผู้ละเล่นรำวงคองก้า ต่างก็มีเทคนิคการฝึกที่แตกต่างกันไป ต่างนำมาปรับปรุงจนกลายเป็นเทคนิคการสอน โดยอาศัยเทคนิคที่เป็นภูมิปัญญาพื้นฐาน คือ เริ่มต้นทำการฝึกด้วยความรัก ฝึกปฏิบัติจริง ฝึกจากสิ่งที่ง่ายไปหายาก เช่น การฝึกท่าเต้น การฝึกเนื้อร้อง การฝึกทำนอง การฝึกการเล่นดนตรี เป็นต้น เทคนิคต่างๆ เหล่านี้กลุ่มผู้ละเล่นรำวงคองก้าจะเสาะแสวงหาและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพราะจะต้องนำเอารำวงคองก้าเพื่อออกไปใช้งานในยามที่มีคนว่าจ้างไปแสดง เพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้จากการละเล่นรำวงคองก้าเพื่อเสริมรายได้ แต่ในความรู้สึกที่แท้จริงแล้วกลุ่มคณะรำวงบ้านขาม ต้องการที่จะอนุรักษ์มากกว่าที่จะออกไปรับจ้างแสดง เพราะทุกๆ คนในกลุ่มต่างก็มีฐานะพอสมควรจึงไม่มีความจำเป็นในการที่จะออกไปรับจ้างมากนัก ทั้งหมดเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถและภูมิปัญญาของกลุ่มรำวงคองก้าเป็นอย่างยิ่ง การละเล่นรำวงคองก้าของชาวบ้าน เป็นแบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง ลดการพึ่งพาภายนอก แม้ไม่ถึงกับร่ำรวย แต่คนในชุมชนก็จะมีวิถีชีวิตแบบพออยู่พอกินมีเศรษฐกิจแบบพอเพียง มีกิน มีใช้มีความสุขตามอัตภาพ ดังนั้นการละเล่นรำวงคองก้า จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของชุมชน เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวบ้านทั้งในทางตรงและทางอ้อม การละเล่นของชาวบ้านเป็นวิถีชีวิตที่ตอบสนองการพึ่งตัวเองได้เป็นอย่างดีคือ การละเล่นรำวงคองก้าในลักษณะหนึ่งครัวเรือนสองวิถีการผลิต อันหนึ่งเพื่อฝึกอนุรกษ์ศิลปวัฒนธรรม อันที่สองผลิตเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและนำไปสู่การพึ่งตัวเองของชุมชน

ในสังคมของกลุ่มรำวงคองก้า ในพื้นที่บ้านขาม ตำบลบ้านขาม อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู มีความผูกพัน และเชื่อมโยงกัน ส่วนหนึ่งเป็นความสัมพันธ์แบบคนในชุมชน และความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน เพราะผู้ละเล่นรำวงคองก้าได้รวมกลุ่มและสร้างสรรค์ขึ้นมา

ดังนั้น ในปัจจุบันวัฒนธรรมการละเล่นรำวงคองก้าบ้านขาม จึงสามารถตอบได้ว่า เป็นวัฒนธรรมที่ดี และสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การละเล่นรำวงคองก้าสามารถเล่นได้กับผู้คนทุกระดับ ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งผู้ใหญ่ และก็ไม่อาจที่จะลบเลือนหายไปจากสังคมไทยได้โดยง่าย เพราะมีความผูกพันโยงใย และฝังรากลึกอยู่กับสังคมไทยมานาน จนเป็นวิถีชีวิตของผู้คนส่วนหนึ่งในสังคม

ประวัติความเป็นมา

ประวัติและความเป็นมาของรำวงคองก้า

ในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา (พ.ศ.๒๔๘๔-๒๔๘๘) ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพง สับสน และกำลังเผชิญหน้าอยู่กับการคุกคามทั้งทางแสนยานุภาพและวัฒนธรรม รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ซึ่งได้เตรียมตัวรับมือกับสถาวะเช่นนี้มาก่อนแล้ว ด้วยการประกาศการเตรียมพร้อมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การคมนาคม การค้า ตลอดจนความเป็นอยู่แบบ “พอเพียง” รวมไปถึงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขนานใหญ่ เพื่อสร้างกำหนดกฎเกณฑ์ ให้ข้าราชการและประชาชนถือปฎิบัติอย่างมีแบบแผน ตั้งแต่การสวมหมวก สวมเกือกและการใช้ภาษา ทั้งหมดนี้เพื่อให้คนในชาติดูมีอารยธรรม ไม่แตกต่างไปจากการปฏิวัติวัฒนธรรมในสมัยของรัชกาลที่ ๕ เท่าใดนัก แต่ดูเหมือนมีสิ่งหนึ่งที่จะแปลกแยกออกมา จนทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ท่านผู้นำกำหนดขึ้นมาทำใมคือ “รำวง” ทั้งที่ดูจะไม่ “สากล” เท่าไหร่ ทั้งนี้ต้องย้อนกลับไปในยุคนั้น ซึ่งประชาชนทั้งอดอยากทั้งเครียด ทั้งยังต้องคอยหลบระเบิด ที่มาทักทายอยู่เสมอๆ ญี่ปุ่นเองก็เต็มบ้านต็มเมืองไปหมด นี่เองที่ทำให้ประชาชนหันมาคลายเครียดด้วยการ “รำโทน” ท่านผู้นำจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม อาศัยแนวคิดที่ว่าเมื่อแสนยานุภาพสู้ไม่ได้ ก็ต้องสู้กันด้วยวัฒนธรรม จึงกำหนดให้การร้องรำทำเพลงในลักษณะนี้ เป็นการบำรุงขวัญราษฎรเพื่อมิให้หวาดหวั่นทุกข็ร้อนจนเกินไป ผลพลอยได้ก็คือ ทำให้ญี่ปุ่นเองเห็นว่า คนไทยไม่ได้วิตกกังวลอะไรนักกับการยึดบ้านยึดเมืองในครั้งนี้ ถือเป็นการลดความตึงเครียดให้กับทั้งสองฝ่ายเมื่อกำหนดออกมาเป็นนโยบายแล้ว ก็ต้องทำให้เป็นแบบแผนขึ้นมา งานนี้ตกเป็นของ

นายธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรสมัยนั้น ซึ่งได้เขียนไว้ในคำนำหนังสือรำวงกรมศิลปากร สรุปความว่า ชาวบ้านในพระนครและธนบุรีพากันนิยม “รำโทน” กันอยู่ทั่วไปแล้ว แต่เป็นการรำแบบชาวบ้านเอาสนุกเข้าว่า ทางการจึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากรพิจารณาการปรับปรุงเล่นรำโทนเสียใหม่ในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ โดยนำเอาแบบฉบับของนาฎศิลป์ไทยมาทำให้งดงามและมีแบบแผนยิ่งขึ้น เช่น สอดสร้อยมาลา ชักแป้งแต่งหน้า เป็นต้น โดยถือเอาท่าเหล่านี้เป็น “แม่ท่า”นอกนั้นผู้รำสามารถดัดแปลงเอาตามถนัด แล้วเปลี่ยนชื่อเรียกเสียใหม่ว่า “รำวง” เพราะผู้รำมักรำเล่นกันเคลื่อนไปรอบๆ เป็นวงกลม นี่คือที่มาของรำวงมาตรฐานที่เรารู้จักกัน

บุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในการสร้างวัฒนธรรมคือ ท่านผู้หญิงละเอียด ภรรยาท่านผู้นำนั่นเอง ถึงกับแต่งเพลงรำวงไว้ไม่น้อย เพราะท่านมีฝีไม้ลายมือในการแต่งกลอนที่ดีคนหนึ่งสมกับเป็นหนึ่งในสกุล “พันธุ์กระวี” เพลงที่เรารู้จักกันดีคือ ดอกไม้ของชาติ หญิงไทยใจงาม ดวงจันทร์วันเพ็ญ เป็นต้น เพลงที่ท่านแต่งไว้ได้รับความนิยมในหมู่นักรำเป็นอย่างมาก แต่ที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งคือ มือขวาทางด้านวัฒนธรรมของท่านผู้นำอย่าง หลวงวิจิตรวาทการ กับไม่รู้จักการรำวงแม้แต่น้อย เพราะขณะที่มีนโยบายนี้ ท่านเองไปเป็นทูตอยู่ญี่ปุ่น จนกระทั่งถูกอเมริกันจับและมารู้จักการรำวงเอาในคุกที่ประเทศไทย เมื่อได้ยินนักโทษร้องรำกัน ดังปรากฏในบันทึกของท่าน “ อังคารที่ ๒๑ มีนาคม...เมื่อคืนได้ยินเสียงร้องเพลงซึ่งแปลกหูมีเสียงกลองตีเป็นจังหวะ ถามคนเฝ้าหน้าห้องเขาบอกว่า นี่คือ รำวง เราไม่เคยรู้จักรำวง”

เมื่อการรำวงเป็นที่นิยม ก็เท่ากับเป็นกุศโลบายของ จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ในการบำรุงขวัญของราษฎรประสบความสำเร็จ ซึ่งหน่วยงานที่สนองนโยบายเป็นอันดับแรก ก็คือ หน่วยงานของรัฐ ถึงกับกำหนดให้วันพุธครึ่งวัน หยุดราชการมารำวงกันเลยทีเดียว จะเห็นได้ว่าการดำเนินนโยบายต่างๆ ของผู้นำในสมัยที่ชาติประสบปัญหา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคิดความสร้างสรรค์และกล้ากระทำ ไม่ว่านโยบายนั้นๆ จะส่งผลเพียงน้อยนิดก็ตาม ยังดีกว่านโยบายที่สวยหรูแต่ไม่ได้ส่งผลในทางสร้างสรรค์ให้กับประชาชนเลย โดยเฉพาะทางด้านจิตใจ ซึ่งผู้นำน้อยนักจะให้ความสำคัญ (ปรามินทร์ เครือทอง, ๒๕๔๔ : ๙๖-๙๗)คนไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนหน้านั้น มีการละเล่น “รำโทน” อยู่ทุกหนทุกแห่งดังที่กล่าวในเอกสารของชาวยุโรปหลายเล่ม ถึงยุดรัตนโกสินทร์ก็ยังเล่นรำโทน ต่อมารัฐบาลสมัยหลังๆ พัฒนา”รำโทน” เป็น “รำวง” แล้วกลายเป็น “รำวงมาตรฐาน” จนทุกวันนี้ คนไทยที่เกิดทันยุค จอมพลป.พิบูลย์สงคราม และจำความช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้จะต้องรู้จักคำว่า “ท่านผู้นำรัฐนิยม มาลานำไทย ชักธงญี่ปุ่น หวอ หลุมหลบภัย เสรีไทย และรำโทน” เพราะชื่อว่าเหล่านี้ร่วมสมัย

ประเทศไทยประกาศเข้าร่วมรบเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ และสิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในยุค “ปฏิวัติทางวัฒนธรรม” ตามแผนการสร้างชาติของ จอมพล ป.พิบูลย์สงคราม “ท่านผู้นำ” ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ สมัยนั้นเมืองหลวงของไทยยังเรียกชื่อว่า “พระนคร” และแยกเป็นคนละจังหวัดกับ “ธนบุรี” เมื่อเกิดสงครามคนในเมืองหลวง มักจะอพยพครอบครัวไปอยู่ในชานเมืองหรือย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดเพื่อหลบภัยสงคราม ยุคนั้นคนต้องคอยวิ่งหนี “หวอ” ลงหลุมหลบภัยกันบ่อยๆ ประชาชนทั่วประเทศต้องประหยัดเพราะขาดแคลนของกินของใช้ ผู้ใหญ่ก็ไม่ค่อยได้ออกไปทำงาน หนุ่มสาวและเด็กๆ ก็มีเวลาว่างมาก เพราะโรงเรียนและสถาบันการศึกษาปิดการสอน มีทหารญี่ปุ่นและทหารต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก สภาพสังคมทำให้ประเทศไทยเครียดกันพอดู ในเมืองหลวงถึงจะมีมหรสพต่างๆก็เปิดการแสดงไม่ค่อยได้ แสดงบ้างหยุดบ้าง ยิ่งในชนบทยิ่งไม่มีมหรสพบ้านเมืองจึงเงียบเหงา คนไทยพยายามหาทางออกเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงกัน และการเล่นยอดนิยมในยุคนั้นคือ “รำโทน”“รำโทน” นิยมเล่นกันแพร่หลายระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๘๘ ทั้งในพระนคร ธนบุรีและในชนบท การเล่นรำโทนก็คล้ายกับการเล่นรำวงในปัจจุบันนี่เอง แต่ในสมัยสงครามโลกเรียกว่า รำโทน เพราะใช้ “โทน” เป็นเครื่องคนตรีหลัก ตีให้จังหวะ ผู้เล่นชายหญิงก็ช่วยกันร่ายลำเป็นคู่ๆ ไปตามจังหวะเพลง ช่วยกันร้องช่วยกันรำเดินเป็นวงไป คนที่ไม่ได้รำก็ช่วยปรบมือให้จังหวะ เหตุที่คนในสมัยนิยมเล่นรำโทนเพราะเล่นง่าย ลงทุนน้อย เล่นได้ทั่วถึงทุกเพศทุกวัยและเป็นการเล่นที่สนุกสนานรื่นเริง คนไทยสมัยสงครามเล่นรำโทนเพื่อแก้เครียดคลายความเหงายามค่ำคืน เล่นเป็นงานอดิเรกยามว่างเพื่อพักผ่อนหย่อนในเพิ่มชีวิตชีวาให้กับชีวิต ที่ต้องอดออมและเสี่ยงภัยยามสงคราม หรือเล่นเป็นเครื่องปลอบขวัญยามสงคราม ดังจะเห็นได้จากเพลงรำโทน บางเพลงที่สะท้อนสะภาพบ้านเมืองในตอนนั้น เดิมที่เดียวรำโทนเป็นการเล่นพื้นบ้านของชาวไทย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแถบจังหวัดนครราชสีมา มีวิธีการเล่นง่ายๆ ผู้เล่นจะมาล้อมวงกันปรบมือให้จังหวะ มีผู้คอยตีหน้าทับโทนเสียงโทนเล้าใจ ให้หญิงและชายที่มาร่วมสนุกจับคู่ร่ายรำไปรอบๆ วง ตามจังหวะโทนอย่างสนุกสนาน ในยุครกรำโทนยังไม่มีเนื้อร้องเป็นการร่ายรำไปรอบๆ วง ตามจังหวะโทนเท่านั้น ราวปี พ.ศ. ๒๔๘๓ มีการนำรำโทนไปเล่นแพร่หลายไปในท้องถิ่นอื่นๆ ทั้งในพระนคร ธนบุรี และจังหวัดต่างๆ ในภาคกลาง ต่อมาจึงมีผู้คิดปรับปรุงการรำโทนใหม่ โดยแต่งเนื้อร้องและทำนองเพลงให้กับจังหวะหน้าทับโทนซึ่งตีในจังหวะ “ป๊ะโท่น ป๊ะ โท่นป๊ะ โท่น โท่น” หรือ “ป๊ะ โท่น โท่น ป๊ะ โท่น โท่น” ในการเล่นอาจใช้โทนใบเดียวหรือหลายใบก็ได้ ยิ่งหลายใบเวลาตีจะดังเร้าใจยิ่งขึ้น ส่วนท่ารำก็คิดท่าง่ายๆ ให้สอดคล้องกับเนื้อเพลงไม่มีท่ารำแน่นอนตายตัว รำตามๆ กันไป ใครมีลูกเล่นก็ดัดแปลงให้ต่างกันไป แล้วแต่ความพอใจหรือความสนุกสนาน การรำโทนจะรำเป็นคู่ชายหญิงเดินเวียนกันเป็นวง ร้องไปด้วยรำไปด้วยใครเหนื่อยก็กลับเข้ามาพักเหนื่อยข้างๆ วง เพลงใดร้องได้ก็โค้งคู่ออกไปร้องไปรำกันต่อ ใครขึ้นเพลงอะไรก็ร้องรับตามกันไปจนกว่าจะเลิกรำกันไปเอง จะเลิกเล่นเมื่อไรก็แล้วแต่ความพอใจของสมาชิกที่มาร่วมรำโทน คนนิยมเล่นรำโทนเพราะสนุก ได้มาพบปะสังสรรค์กันในหมู่ชายหญิง ได้ทั้งร้องทั้งรำ ส่วนใหญ่คนที่นิยมเล่นรำโทน มักเป็นคนวัยรุ่นหนุ่มสาว ส่วนคนสูงอายุมักจะเป็นผู้คอยสนับสนุนลูกหลานให้เล่นรำโทนกันมากกว่า แต่ถ้าคู่ไหนอยากร่วมเล่นด้วยก็ไม่มีใครขัดข้อง เด็กๆ ที่ยังเล็กๆ ก็ไปดูผู้ใหญ่ที่โตกว่าเล่นกัน ช่วยร้องช่วยปรบมือให้จังหวะตามไปด้วยก็สนุกสนานไม่แพ้คนรำ การเล่นรำโทนในแถบจังหวัดต่างๆ ในภาคกลาง เช่น สระบุรี สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง อยุธยา จะเล่นกันง่ายๆ ไม่มีพิธีรีตองอะไรมาก นิยมเล่นตอนหัวค่ำไปจนดึกดื่นในหมู่บ้านหนึ่งๆ อาจจัดรำโทนได้หลายบ้าน ใครจะไปเลือกเล่นกับบ้านใดก็ตามแต่ความพอใจหรือความสนใจ ว่าสาวที่หมายปองอยู่ที่ไหน บ้านไหน มีลูกสาวสวยๆ หลายคน ก็มักจะมีหนุ่มๆ มาร่วมเล่นรำโทนกันมากหน่อย พอตกค่ำกินข้าวกินปลา อาบน้ำ อาบท่าเสร็จแล้วก็แต่งตัวไปเล่นรำโทน เสียงโทนดังมาจากบ้านใดก็เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นแหล่งนัดพบ หนุ่มบางคนลงทุนเดินข้ามนาไปไกลๆ ไปหารำโทนเล่นกัน บางคนก็ลงเรือข้ามคุ้งข้ามคลองไปร่วมวงรำโทน ด้วยความสมัครใจ รำโทนนิยมเล่นกันบริเวณลานบ้าน อาจจะเป็นบ้านใครก็ได้ ใครมีโทนก็ถือติดไม่ติดมือมาด้วยล้อมวงตีโทนให้จังหวะครึกครื้น ร้องเพลงแล้วจับคู่รำกันเป็นวงจะร้องเพลงอะไรก็ตามแต่จะมีผู้ร้องนำขึ้น ถ้าเป็นคืนเดือนหงายบรรยากาศก็จะโรแมนติก ถ้าเป็นคืนเดือนมืดก็อาจจะจุดตะเกียงเจ้าพายุไว้กลางลานเพื่อให้มองเห็นหน้าตากันได้ถนัดสักหน่อยได้ถนัดสักหน่อยมีธรรมเนียมว่าในการจะเปลี่ยนคู่ได้ตามความสมัครใจ จะแย่งคู่แลกคู่ตามใจชอบไม่ได้ถือเป็นการหยามน้ำใจกันอาจก่อให้เกิดความบาดหมางถึงชกต่อยหรือแอบตีหัวกันก็มี ปกติถ้ามิใช่เป็นการรำโทนในงานบุญหรืองานรื่นเริงต่างๆ จะมีการกินเหล้ากินยาเวลารำโทน ยิ่งดึกคนยิ่งมาร่วมเล่นกันมาก ใครคิดเพลงอะไรได้ก็ร้องนำให้ร้องตามกันไป คลายความเงียบเหงาในยามสงครามได้อย่างวิเศษ ในท้องถิ่นที่มีทหารญี่ปุ่นมาตั้งค่ายอยู่ใกล้ๆ บางครั้งทหารญี่ปุ่นก็มาร่วมรำโทนด้วย เชื่อมไมตรีอย่างสนุกสนานเป็นการพักผ่อนยามว่าง นวนิยายที่แต่งถึงเรื่องราวสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงอดไม่ได้ที่จะเล่าเรื่องการรำโทนไว้เช่นในเรื่อง คู่กรรม ดวงตาสวรรค์ หรือใต้แสงเทียน เป็นต้น (สมทรง กฤตมโนรถ, ๒๕๔๔ : ๖๒-๖๕)

คราวแรกรัฐบาลสมัยจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม คิดหาวิธีเชิดชูศิลปวัฒนธรรม การเล่นรำโทนแบบพื้นเมืองในแต่ละท้องถิ่นให้มีระเบียบเรียบร้อยขึ้น และเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ว่า “รำวง”สนับสนุนการรำโทนในพระนคร-ธนบุรี และในเมืองตามจังหวัดต่างๆ ให้มีระเบียบแบบแผนขึ้น ให้จัดสถานที่สำหรับรำให้สวยงาม มีการตั้งโต๊ะไว้กลางวงบนโต๊ะจัดพานดอกไม้สวยๆ หอมๆ มีสีสดใสมาประดับประดาเพิ่มบรรยากาศให้ดีขึ้น จัดเก้าอี้ไว้ให้ชายหญิงที่จะร่วมเล่นตลอดจนคนดูนั่งเป็นสัดส่วน ทุกคนแต่งกายสวยงามมาร่วมงาน จัดให้แสดงออกทางวัฒนธรรมไทย คือให้ชายเดินไปโค้งหญิงสาวออกมารำ มีการทักทายด้วยการไหว้กันก่อนจะออกมารำ เมื่อรำจบเพลงฝ่ายชายต้องนำหญิงสาวคู่รำมาส่งถึงที่นั่ง ปรับปรุงดนตรีที่ใช้บรรเลงให้จังหวะใหม่ ใช้ดนตรีหลายชิ้นขึ้น เพิ่มลูกแซกหรือแทมโบริน ตลอดจนเครื่องดนตรีสากลมาผสมวงให้เกิดจังหวะครึกครื้นเพิ่มความสนุกสนานขึ้น รำวงจึงเป็นความบันเทิงที่หาง่าย และนิยมมากในสมัยสงคราม มีการแต่งเพลงรำวงกันอย่างกว้างขวาง

ต่อมามีการรวมกลุ่มกันเป็นคณะรำวง พัฒนาท่ารำโดยบางเพลงใช้ลีลาการเต้นของต่างชาติมาผสมมีเพลงจังหวะใหม่ๆ เช่น จังหวะคองก้าหรือการส่ายแบบระบำฮาวาย เช่นเพลงวันนี้เป็นวันรื่นเริง ใช้จังหวะคองก้าของคิวบาและมีการส่ายสะโพกแบบฮาวาย เนื้อร้องมีว่า


“ ...วันนี้เป็นวันรื่นเริง บันเทิงกันถ้วนหน้า

ร้องรำตามแบบคิวบา ลาคองก้าคิวบาบู (ซ้ำ)

ดูซิดูเป็นหมู่ร้องรำคองก้า ชิกชิกชิกกาปุ้ง

ร้องรำตามแบบคิวบา ลาคองก้าคิวบาบู

ไฮไฮไฮไฮยา(ซ้ำ ๒ ครั้ง)...”

นอกจากนี้ยังมีเพลงเชิญชวนให้แสดงวัฒนธรรมร่วมเล่นรำวง เช่น เพลงใครรักใครโค้ง

ใคร เชิญเถิดเชิญมารำวง หรือเพลงรำวงกันให้เพลิดเพลิน เช่น


“...ใครรักใครโค้งใคร ใครรักใครโค้งใคร

ไม่ต้องเกรงอกเกรงใจ รักคนไหนโค้งออกไปรำ

เชิญเถิดเชิญมารำวง ขอเชิญโฉมยงมาสู่วงรำ

อย่าเอียงอย่าอายอย่าหน่ายอย่าแหนง อย่าคิดระแวงให้ฉันได้ช้ำ

คนสวยขอเชิญมารำ (ซ้ำ) อย่าลืมน้ำคำที่ฉันพร่ำอ้อนวอน

รำวงกันให้เพลิดเพลิน มาร้องเพลงเดินกันให้เพลินใจ

คู่ใครมารำกันไป ฟ้อนรำแบบไทยชาติไทยวัฒนา

โอ้บุปผางามเมือง จะเด่นรุ่งเรืองในการรำวง

วัฒนธรรมของไทยเรามี ร้อยวันพันปีมีแต่ความมั่นคง

หญิงรำไม่สวยชายช่วยเสริมส่ง มาเล่นรำวงโค้งอย่างน่าดู...”


ต่อมาเมื่อสงครามสงบ คณะรำวงต่างๆ เริ่มยึดรำวงเป็นอาชีพมีการรับจ่างแสดงตามงานต่างๆ โดยเฉพาะงานวัด เป็นการรำวงแบบจำกัดเวลารำใช้เสียงนกหวีดเป่าเป็นสัญญาณหมดเวลา ใครจะรำก็ต้องไปซื้อบัตรเลือกนางรำมาเป็นคู่รำ เป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมพอสมควรในช่วงเวลาหนึ่ง รำวงจึงมิใช่ศิลปะพื้นบ้านแบบรำโทนอีกต่อไป และเป็นศิลปะที่ดูจะมีฐานะลดตำลงจากเดิมที่ดู (สมทรง กฤตมโนรถ, ๒๕๔๔ : ๖๘)

ประวัติความเป็นมาของรำวงคองก้าบ้านขาม รำวงคองก้าเริ่มเข้ามาที่บ้านขามครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๑ โดยนายจันทร์ ชันติโก ซึ่งเป็นชาวบ้านขาม และมีอาชีพในการทำนา หลังจากที่ทำนาเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะว่างงานในช่วงที่เข้าพรรษา ถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวชาวบ้านขามจะขอแรงกันเพื่อเกี่ยวข้าม หลังจากที่เกี่ยงข้าวเสร็จแล้วก็จะทำบุญข้าว หรือที่รียกว่า บุญคูณลาน นายสมศรี พันธ์ก่ำ ซึ่งเป็นหลานชายนายจันทร์ ได้ชักชวนกันและเดินทางไปที่บ้านห้วยบง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งในขณะนั้นการเดินทางไปมาหาสู่กันจะต้องเดินทางด้วยเท้าซึ่งต้องใช้เวลานานหลายวัน เพื่อไปหานายบัวผัน สมานฉันท์ เพื่อไปจ้างรำวง และเดินทางออกจากบ้านขาม เวลา ๐๗.๐๐ ในช่วงเช้าถึงบ้านห้วยยางเวลา ๒๑.๐๐ น. ทางหัวหน้าคณะได้ทำการต้อนรับเป็นอย่างดีจนกระทั่งถึงวันใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ ทางหัวหน้าคณะ ได้แสดงให้ดูก่อนเพื่อให้ผู้ที่มาว่าจ้างจะได้มีความพอใจ ทางกลุ่มผู้จ้างบ้านขามหลังจากที่ดูการแสดงโชว์แล้ว จึงได้ทำข้อตกลงและได้ว่าจ้างจำนวน ๑๐ คน แยกเป็นชาย ๓ คน และหญิง ๗ คน ค่าจ้างคนละ ๑๐๐ บาท หลังจากที่ว่าจ้างแล้วก็ทำการตกลงทางคณะรำวงและผู้ว่าจ้างชาวบ้านขาม ก็ได้เดินทางมาพร้อมกันโดยออกจากบ้านห้วยยาง เดินทางมาจนมาพลบค่ำที่บ้านโนนสูง ทางคณะทั้งหมดทั้งชายและหญิงก็ได้ค้างพักแรมที่ทุ่งนาท้ายหมู่บ้านของบ้านโนนสูง ส่วนหนึ่งก็เข้าไปที่หมู่บ้าน เพื่อไปขอข้าวเหนียวของชาวบ้านโนนสูงมากินกัน จนกระทั่งรุ่งเช้าจึงได้เดินทางมาถึงบ้านขาม และได้ตรงไปที่ ลานข้าวของ นายจันทร์ ชันติโก (เป็นปู่ของข้าพเจ้า นางยุวเรศ ชันติโก ซึ่ง ปัจจุบันเปลี่ยนนามสกุลเป็น วิบูลย์กุล)ลังจากพักผ่อนกินข้าวกินน้ำกันแล้ว ทางคณะเจ้าภาพก็พาคณะลำวงไปอาบน้ำ ที่ท่าน้ำลำพะเนียง จะก็ให้คณะรำวงได้นอนพักหนึ่งคืน ก็ได้จัดเตรียมเวทีและสถานที่เพื่อใช้ในการแสดงรำวง โดยอาศัยลานข้าวซึ่งเป็นลานกว้างของที่แสดง ส่วนลูกหลานและเพื่อนบ้านของ

นายจันทร์ ก็ได้เข้ามาที่หมู่บ้านเพื่อที่จะใช้ปากเปล่า ประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้คนที่อยู่ในบ้านมาดูการแสดงรำวง และได้รับความสนใจจากคนในหมู่บ้านเป็นอย่างมาก ทั้งคนหนุ่มคนสาว ลูกเด็กเล็กแดงทั้งคนเฒ่าคนแก่ ต่างก็พากันตรงไปที่นาของ

นายจันทร์ เพื่อที่จะมาดูการแสดงรำวง เพราะชาวบ้านแถบนี้ไม่เคยพบเห็นการแสดงมาก่อน เช้าวันต่อมาก็มาดูหนุ่มสาวลงข่วง ปั่นฝ้าย ทอผ้าเองเสื้อแขนสั้น กระโปรงสั้น / สวยงาม กระโปรงจีบรอบ จากนั้นก็ได้นิมนต์พระเทศน์บนกองข้าว ที่เรียกว่า บุญกุ้มข้าวใหญ่ ( บุญคูนลาน ) ในสมัยนั้นกองข้าวจะใหญ่มากข้าวนายจันทร์ ชาวบ้านจะรู้กันทั้งหมู่บ้านว่า “เป็นนาข้าวพัน” คือ จะได้ข้าวมากนั่นเอง ชาวบ้านก็จะพากันจัดเตรียมข้าวปลาอาหารเพื่อถวายพระและต้อนรับแขกที่มาร่วมงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในหมู่บ้าน มีการบีบขนมจีนและทำน้ำยาขนมจีนจากปลาที่จับได้ในนา และได้ตำส้มตำกินเลี้ยงผู้ที่มาและเลี้ยงข้าวเย็นด้วย หลังจากที่เสร็จสิ้นกิจกรรมต่างๆ ในภาคเช้าแล้วก็ถึงเวลาแสดงคือเวลา ๑ ทุ่ม (สวัสดิ์ ชมพูโคตร, สัมภาษณ์, ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๘)ระหว่างที่กำลังรอผู้คนที่จะมาดูและชมการแสดง คณะการแสดงก็ได้ทำการจัดเตรียมอุปกรณ์หรือเครื่องดนตรี ซึ่งประกอบไปด้วย กลองหนัง แลนหมากแซะ ตูมกา และเตรียมสถานที่และไฟแสงสว่างโดยใช้กระบองใต้ไฟ ตะเกียงเจ้าพายุ ๑ ใบ ใช้เป็นแสงสว่างเพราะในช่วงนั้นไม่มีเครื่องทำไฟใช้เหมือนปัจจุบัน เมื่อถึงเวลาหญิงสาวทั้ง ๗ ก็จะแต่งหน้าทาปาก และแต่งตัวสวยงาม เพื่อที่จะให้ชายหนุ่มและผู้ที่มาร่วมงานไปซื้อบัตร และมาโค้งเพื่อรำวงกัน โดยนายจันทร์ได้ขายบัตรๆ ละ ๑ สลึง และจะรำวงเป็นรอบๆ ไป จนกว่าจะได้ยินเสียงนกหวีดเป็นสัญญาณ จากผู้ชายนักดนตรีทั้งสามคนในคณะของผู้แสดง จะเป็นคนเป่าและกำหนดเวลาในแต่ละรอบ จนถึงประมาณ เที่ยงคืนผู้คนก็ทยอยกลับบ้านเพราะที่นาที่ใช้แสดง และหมู่บ้านอยู่ห่างกันประมาณ ๔-๕ กิโลเมตร ส่วนที่เหลือก็จะนอนพักในที่นาซึ่งมีบ้านอยู่หนึ่งหลัง (เทียงนาน้อย) จากการว่าจ้างมาทำการแสดงในครั้งนี้ ได้หักค่าใช้จ่ายแล้วทาง

นายจันทร์และคณะได้กำไรจากการขายบัตรเป็นเงิน ๖๐ บาท

(หนูจัน ศรีวงศ์, สัมภาษณ์, ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๘) เสร็จจากการแสดงแล้วคณะรำวงก็เดินทางกลับไปที่จังหวัดขอนแก่น แต่ได้สร้างความประทับใจแก่ผู้คนในบ้านขามเป็นอย่างยิ่งตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ผู้ชมส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชมที่มาชมทุกเพศวัย มีทั้งเพศชายและเพศหญิง ในการชมการแสดงนั้นจะไม่มีการเก็บค่าชมแต่อย่างใด สถานที่เข้าชมหรือสถานที่นั่งชมจะขึ้นอยู่กับสถานที่ที่ทางเจ้าภาพจัดไว้ให้ เช่น ถ้าศาลากลางจังหวัด โรงแรม หรืองานของทางราชการ จะมีการจัดที่นั่งไว้ตามจำนวนผู้เข้าร่วม ส่วนมากจะเป็นงานในลักษณะของการประชุมมากกว่าจะเป็นงานการแสดงจริงๆ ถ้าเป็นงานของจังหวัด เช่น งานนเรศวรหรืองานกาชาด ผู้ชมจะมีทั้งที่นั่งและยืนชม เพราะการแสดงจะใช้เวลาไม่มาก ประมาณ ๓๐ นาที ถึง ๑ ชั่วโมง หรือแล้วแต่เจ้าภาพงานจะให้แสดงใช้เวลาเท่าไหร่ก็ได้ ตามแต่ความเหมาะสม ระยะห่างจากที่แสดงของผู้ที่เข้าชมก็พอประมาณ คือ อย่างน้อยประมาณ ๕ เมตร เพราะการแสดงรำวงคองก้านี้ ผู้ชมส่วนมากจะได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการร้องรำทำเพลง เพราะมีความสนุกสนานครื้นเครงและเป็นกันเองมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่จ้างจะเป็นงานที่เป็นกันเองและผู้ชมมีจำกัด เช่น งานประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมภริยาของผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ที่จังหวัดหนองคาย นายสวัสดิ์ ชมพูโคตรสมาชิกคณะรำวงคองก้า เล่าว่า ทางเจ้าภาพผู้ว่าจ้าง ได้จ้างให้ไปแสดงที่จังหวัดหนองคายโดยแจ้งว่าแสดงไม่เกิน ๕ นาที พอเริ่มทำการแสดงไปประมาณ ๕ นาที ทางคณะผู้ร่วมประชุมไม่ยอมให้เลิก เพราะว่ากำลังสนุกสนานมีภริยาผู้ว่าราชการและผู้ว่าราชการจังหวัด ได้โค้งกันออกมาเต้นรำวงคองก้ากันอย่างสนุกสนาน จนบรรยากาศของที่ประชุม อื้ออึงไปด้วย เสียงกลอง เสียงเพลงและผู้คนต่างก็ลุกกันขึ้นมารำวงกันทั้งหมดในงานและเป็นเวลานานเกือบชั่วโมง ผู้ที่ไม่เคยพบเห็นต่างก็ถ่ายภาพกันแสงของกล้องพรึบพรับกันไปหมด โดยไม่รู้ว่าใครเป็นใคร และยังมีการนำรางวัลมามอบให้แก่คณะผู้แสดงก็มี เพราะมีความพึงพอใจมากและได้ขอที่อยู่ เผื่อจะมีโอกาสได้จ้างไปแสดงของจังหวัดต่างๆ (สวัสดิ์ ชมพูโคตร, สัมภาษณ์, ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๘) แสดงให้เห็นว่า รำวงคองก้าของกลุ่มรำวงคองก้าบ้านขาม ได้สร้างความนุกสนานครื้นเครงและทำให้เกิดความพึงพอใจแก่ผู้ร่วมงานมาก

จำนวนผู้แสดงหรือละเล่น ในการแสดงแต่ละครั้ง จะมีผู้เล่นไม่จำกัดจำนวน แสดงอย่างน้อยผู้แสดงต้องมีประมาณ ๒-๓ คู่ ถ้าเป็นจำนวนมากไม่จำกัดจำนวนและเคยนำไปแดสงมีจำนวนมากถึง ๓ๆ คู่ ในการละเล่นเวลาจะไม่แน่นอนแล้วแต่ลักษณะของงานที่จะนำไปละเล่น ขณะนี้มีสมาชิกที่ลงทะเบียนแล้ว ๖๐ คน ได้มีการเผยแพร่ไปยังจังหวัดใกล้เคียง เช่น อุดรธานี หนองคาย เลย และยังได้เผยแพร่ไห้แก่คนในตำบล อำเภอใกล้เคียงในจังหวัดของตนเอง และได้นำเข้าเป็นหลักสูตรในท้องถิ่น (สนธิ วิริยะกุล, ๒๕๔๕ : ๘)

๓.๘ เครื่องแต่งกาย

การแต่งกายของคณะกลุ่มรำวงคองก้าบ้านขามเพื่อประกอบการแสดง จะแต่งกายแบบอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวอีสาน หรือบางครั้งก์แต่งกายร่วมสมัย คือ ชายแต่งกายผูกเนคไท ส่วนหญิงแต่งกายสวมประโปรง เสื้อทรงแขนกระบอก

รูปแบบการแสดง

จากจุดเริ่มต้นในการแสดงรำวงคองก้าในครั้งนั้น ได้แพร่กระจายและเป็นที่รู้จักไปยังส่วนต่างๆ อย่างรวดเร็ว ทางจังหวัดหนองบัวลำภู โดยวัฒนธรรมจังหวัด ได้นำเสนอต่อส่วนราชการเพื่อให้ส่วนราชการต่างๆ ได้รู้จักและเรียกใช้บริการ รำวงคองก้าหรือรำวงโบราณจึงได้มีพื้นที่ในการที่จะแสดงออกและอนุรักษ์ศิลปการแสดงพื้นบ้านที่มีมายาวนาน และได้หายไปแล้วครั้งหนึ่งกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง รำวงคองก้าหรือรำวงโบราณจึงได้รับเกียรติเป็นตัวแทนของจังหวัดในการที่จะนำไปแสดงในงานต่างๆ คือ การแสดงครั้งแรก ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นในงานอเมซิ่งอีสาน เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ โดยนายวิมล ศิริโยธาศึกษาธิการจังหวัดหนองบัวลำภู ได้นำไปแสดงจำนวน ในนามจังหวัดหนองบัวลำภู ประมาณ ๕๐ คู่ การแสดงครั้งที่ ๒ ที่โรงแรมหนองคายแกรนด์ จังหวัดหนองคาย ในงานประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ โดยนายขวัญชัย วัชวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้รับค่าตอบ เป็นเงิน ๖,๐๐๐ บาท และให้แสดงไม่เกิน ๕ นาที พอเริ่มทำการแสดงด้วยจังหวะและลีลา ที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ผู้คนในงานทั้งคณะผู้ว่าฯและคุณนายผู้ว่าฯ ตลอดทั้งผู้มาร่วมงาน ต่างก็ลุกออกมาร่วมฟ้อนรำกันทั้งหมดในงาน ได้สร้างความประทับใจต่อคณะผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างมากและแสดงได้มากกว่า ๕ นาที และได้กลับมาแสดงที่จังหวัดหนองคายอีก ๒ ครั้ง รวมทั้งหมดเป็น ๓ ครั้ง การแสดงครั้งที่ ๓ ที่จังหวัดเลยนายนายนิคม บูรณพันธ์ศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู ได้นำไปแสดง ในงานเทศกาลดอกฝ้ายบาน งานกาชาดเมืองเลย โดยได้รับค่าตอบแทนคนละ ๑๐๐ บาท ในงานร้อยเอ็ด การแสดงที่จังหวัดร้อยเอ็ด ได้ไปทำการแสดงที่จังหวัดร้อยเอ็ด ในงานบุญข้าวปุ้นหรือบุญเผวส จำนวนเงิน ๕,๐๐๐ บาท รวมทั้งค่ารถและค่าอาหาร การแสดงที่จังหวัดหนองบัวลำภู

- ที่บ้านกุดดู่ โดยชาวบ้านตำบลกุดดู่ อำเภอโนนสัง ได้ว่าจ้างไปร่วมแสดง ในงานประเพณีบุญบั้งไป จำนวนเงิน ๕,๐๐๐ บาท โดยกลุ่มชาวบ้านเป็นผู้จ้าง ที่บ้านกุดคอเมย ชาวบ้านบ้านหนองแวงกุดคอเมย ตำบลกุดดู่ อำเภอ

โนนสัง ได้ว่าจ้างไปแสดง จำนวนเงิน ๓,๐๐๐ บาท การแสดงที่จังหวัดอุดรธานี ในงานมรดกโลกที่บ้านเชียง อำเภอหนองหาน โดย องค์การบริหารส่วนตำบลได้ว่าจ้างไป โดยได้ค่าจ้างคนละ ๑๐๐ บาท โดยสำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดหนองบัวลำภู (สวัสดิ์ ชมพูโคตร, สัมภษษณ์, ๒๐ พฤศภาคม ๒๕๔๘)

จากการแสดงที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และยังคงเหลืออยู่

เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย รำวงคองก้าหรือรำวงโบราณ จึงได้รับการว่าจ้างเป็นจำนวนมากขึ้น ทั้งทางว่าจ้างและขอความร่วมมือจากทางจังหวัดหนองบัวลำภูและส่วนราชการ และการว่าจ้าจากภาคประชาชน จนคณะผูแสดงไม่สามารถที่จะให้ข้อมูลทั้งหมดได้

โน้ตเพลง บทเพลง บทละคร

เพลงคองก้า


เนื้อร้อง นายสวัสดิ์ ชมภูโคตร

ทำนอง รำวงคองก้า

ขับร้อง นายสวัสดิ์ ชมภูโคตร

คองก้าอินเถอะนัย หญิงชายออกมาร่ายรำ

โอละลาละลายามค่ำ คองก้าสุขเสริญเพลินฤทัย

แต่ก่อนยังไม่ทันสมัย มารำวงไทยยังไม่มีคู่เคียง

บุญเลี้ยงเป็นอย่างไรหนอ ท่าน ป. พิบูลย์สงคราม

จัดการให้เป็นหัวหน้า ฟ้อนๆ รำทำเหมือนดั่งคองก้า

ก้มหน้าประชุมหนุ่มสาว เปรียบเหมือนดาวมาลอยเทียมจันทร์

นี่แหละยอดสวรรค์ ซิมารำวงไทย แต่ก่อนฟ้อนรำธรรมดา

ต่อมาทำนองคองก้า คองก้าอินธนู

ถ้าได้ผัวครูอย่าลืมชู้ชาวนา โอละลาๆ แม่น่าเบื่อ

ได้ผัวกองเชียร์อย่าลืมชู้รำวง โอละลาๆ แม่คิ้วโก่ง

ได้ผัวรำวง หรือเธอไม่ชอบใจ

หากที่เธอกับฉัน รักกันยามเมื่อรำคองก้า

ตาต่อตาพบกัน แรกรักเธอนั้นสวยงาม

โอ้ฉันอยากรำตาม สวยงามยามเมื่อเธอยักไหล่

สวยงามยามเมื่อเธอหยิกไหล่ อ้าว รำเคียงคู่กันไป

จิตใจของฉันนึกรัก แต่ฉันกลัวอกหัก

ว่ารักยังไม่แน่นอน เปรียบเหมือนค้อนที่แก้วเขาทิ้ง

ว่ารักทำไมไม่จริง ไม่จริงก็เพราะหญิงลืมชาย

รักแล้วจะมากลับกลาย แน่ๆ อกชายต้องรักระบม

(จบ)

เพลง รำวงคองก้า

กองก้าอาละว่าฮาวาย หญิงชายละมาร่ายมารำ

โอละล้าละโอละลายามค่ำ กองก้าสุขเสริมเพลินฤทัย

แต่ก่อนยังไม่ทันสมัย มารำวงไทยยังไม่มีคู่เคียง

บุญเลี้ยงไปอย่างไรหนอ ท่านป. พิบูลสงคราม

จัดการให้เป็นหัวหน้า ฟ้อนๆรำทำเหมือนดั่งกองก้า

ตั้งหน้าประชุมหนุ่มสาว เปรียบเหมือนดาวนี้มาลอยเทียมจันทร์

นี่แหละยอดสวรรค์ นะสิมารำวงไทย

แต่ก่อนฟ้อนรำธรรมดา ต่อมาๆ ทำนองกองก้า

ต่อมาๆรำวงกองก้า กองก้าอินธนูถ้าได้ผัวครู อย่าลืมชู้ชาวนา

โอละลาละน่าเบื่อ ได้ผัวกองเชียร์อย่าลืมชู้รำวง

โอละลาโอละลาแม่คิ้วโก่ง ได้ผัวรำวงน้องคงไม่ชอบใจ

ถ้าหากว่าเธอกับฉัน รักกันยามมารำกองก้า

ตาต่อตาพบกัน แรกรักเธอนั่นก็สวยงาม

ฉันนี้อยากรำตาม สวยงามยามเมื่อเธอยักไหล่

รำเป็นคู่กันไป จิตใจของฉันก็นึกรัก

แต่ฉันนี้กลัวอกหัก ว่ารักจะไม่แน่นอน เปรียบเหมือนคอนที่แก้วเขาทิ้ง ว่ารักทำไมไม่จริง

ไม่จริงก็เพราะหญิงลืมชาย รักแล้วจะมากลับกลาย แน่ๆ อกชายต้องรักระบม

( จบ )


เพลง พม่ารำขวาน


พม่ารำขวัญพวกชาวบ้านตีกลอง ฟังผังแสงมันดังทึ่งบ่องๆ ( ซ้ำ )

เสียงปี่เสียงกลองก็สลับกันไป พวกเราอย่าช้าลุกขึ้นมาไวๆ

จะได้รำไปตามที่หม่องรำ รำเถิดน้องแม่รูปทองเขาเชิญมารำ

รอช้าไฉนดูใครๆเขาออกมารำ ตามทำนองเสียงเพลงร้องส่งนำ

หญิงก้าวเดินชายก็เพลินติดตาม จับคู่งดงามดั่งร่ายรำบนวิมาน

อย่ามัวรอช้าเสียเวลาเนิ่นนาน เพลงกล่อมประสานวิเวกหวานก็จบลง

รำท่านี้เขาเรียกพม่ารำขวาน รำท่าประหารบั่นชีวิตแม่นวลอนงค์

ประสานนัยน์ตาพม่าก็ฆ่าไม่ลง ( ซ้ำ ) พม่ายืนงงปล่อยขวานหลุดมือ

อย่ามัวรอช้าเสียเวลาเนิ่นนาน เพลงกล่อมประสานวิเวก

รำวง


เชิญเถิดเชิญมารำวงขอโฉมยงอย่าเอียงอย่าอาย

วันนี้กองเชียร์มาใหม่นี่ละแน่วันนี้กองเชียร์มาใหม่รูปร่างอย่างไร

มีแต่ยอดอนงค์ ไม่ได้เก่งไม่ได้สวยหรอกเธอ แต่พอบำเรอความสุขให้เธอได้

ผิดพลาดต้องขออภัย โปรดจงเห็นใจ เสื้อไหมสีแดง

หลายปีแต่พี่ตามหาคู่ น้องมาอยู่ที่นี่หรือหน้ามน

จากกันตั้งแต่กลางเวหนพี่ตามหาหน้ามนจนจะสิ้นชีวา

จากกันตั้งแต่คราวมาเกิด ได้เอากำเนิดลงสู่ท้องมารดา

จากกันตั้งแต่กลางเวหา ลมมาพัดน้องยากับพี่ชายให้ล่องบน

พัดน้องมาตกแดนนี้อาละว้า พัดพี่ไปตกแดนโน่น

พัดไปคนละแห่งละหน ลมมีดตอกมีดโกนพัดให้เราได้ห่างกัน

นับตั้งแต่ลมพัดน้องมา กัลยาคงจะกลายเป็นอื่น

จากกันตั้งแต่หลายวันคืน น้องไปมีคู่ชื่นเสียแล้วหรือแก้วตา

หลายปีแล้วแต่พี่ตามหาคู่น้องมาอยู่ที่นี่หรือเทวัญ

พระอินทร์ท่านอยู่บนสวรรค์ท่านไม่ให้ทิ้งกันน้องลืมแล้วหรือยัง

ท่านสั่งให้มาสร้างโลกถึงจะตกไปอยู่แดนไหน

พี่จะขอร่วมจิตร่วมใจจะสร้างโลกพระไตรเสร็จแล้วจะกลับคืน

โธ่น้องช่างมาลืมพี่ นารีละคงจะลืมเมืองฟ้า

จากกันตั้งแต่คราวนั้นมา น้องยังให้สัญญาว่าจะเกิดร่วมกัน( จบ )

รำวงคองก้าบ้านขามกับวิถีชุมชน

รำวงคองก้าบ้านขาม ตำบลบ้านขาม จังหวัดหนองบัวลำภู ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคม หมายถึงการที่ระบบสังคม กระบวนการแบบอย่างหรือรูปแบบทางสังคม การดำเนินชีวิต ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมืองการปกครอง ระบบครอบครัวและเครือญาติ ขนบธรรมเนียมประเพณีได้เปลี่ยนแปลง ไปส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มชุมชน ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทั้งนี้อาจเปลี่ยนแปลงไปทางก้าวหน้าหรือถดถอยถาวรหรือชั่วคราว วางแผนไว้หรือเป็นไปเองตามธรรมชาติ หรืออาจเป็นประโยชน์หรือให้โทษก็ได้ การแสดงรำวงคองก้าบ้านขาม ได้ผ่านการสั่งสม สืบสาน และถ่ายทอดต่อๆ กันมา จนกลายเป็นภูมิปัญญา และภูมิปัญญาของการแสดงรำวงคองก้านี้ สามารถนำมาบูรณาการเพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านต่างๆ ตามวิถีชีวิตของชาวบ้าน เช่น ความต้องการทางด้านปัจจัยที่ได้รับจากการรับจ้างงาน หรือแม้แต่การแสดงละเล่นและการถ่ายทอดเพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจ การละเล่นรำวงคองก้าของกลุ่มรำวงคองก้าบ้านขาม เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สร้างโดยชาวบ้าน ถึงแม้ว่าการรำวงคองก้าจะเป็นสิ่งที่คู่กับวิถีชีวิตบ้านขามมาช้านาน แต่การละเล่นรำวงคองก้าในปัจจุบันยังถูกมองในหลายแง่มุม กลุ่มที่มองเห็นประโยชน์ก็จะบอกว่า เป็นการอนุรักษ์ เป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของชาวบ้าน กลุ่มที่มองเห็นโทษก็จะบอกว่าเป็นวัฒธรรมของตะวันตก ส่วนกลุ่มที่มองเห็นทั้งประโยชน์และโทษก็ยังมีก้ำกึ่งกัน จึงมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นในสังคมไทยที่ไม่มีใครชี้ขาด ไม่มีคำอธิบาย หรือคำตอบที่น่าพอใจให้กับคนที่มองต่างมุมเหล่านี้ ดังนั้นผู้ศึกษาจึงได้รวบรวม และขอเสนอข้อมูลเหล่านี้จะมีส่วนช่วยสร้างความเข้าใจ คลี่คลายปัญหา และข้อขัดแย้งของคนในสังคมดังกล่าวมาแล้วอีกทางหนึ่ง

รำวงคองก้าบ้านขามกับสภาพทางสังคม

ในพื้นที่บ้านขาม ตำบลบ้านขาม จังหวัดหนองบัวลำภู มีการรู้จักและละเล่นรำวงคองก้ามาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ มาแล้ว โดยนายจันทร์ ขันติโก ได้เป็นผู้ว่าจ้างให้มาทำการแสดงในงานบุญคูญข้าวอยู่ที่นาของตนเอง จนกระทั่งนายหนูจันทร์ สมานฉันท์ ซึ่งเป็นคนบ้านห้วยยาง จังหวัดขอนแก่น ได้ติดตามพี่ชายมาอยู่ที่ตำบลบ้านขาม และได้ทำการก่อตั้งวงขึ้นเป็นครั้งแรกที่บ้านขาม เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ กับคณะ ประมาณ ๗-๘ คน โดยมีการใช้เนื้อเพลงที่ร้องและจังหวะที่ใช้รำ คือ รำฮาวาย พม่ารำขวัญ รำวงธรรมดา รำคองก้า และรำลาว (รำเซิ้ง) จากการรวมกลุ่มผลปรากฏว่า ได้รับความนิยม และได้รับการว่าจ้างอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลาอยู่ประมาณ ๒ กว่าปี หัวหน้าคณะจึงได้แต่งงานและหยุดไป หลังจากนั้นคณะที่เหลือก็ได้ดำเนินการต่อไป รำวงคองก้าบ้านขาม ได้มีความรุ่งเรืองมากตั่งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๙- ๒๕๐๔ รวมระยะเวลา ๕ ปี หลังจากนั้นก็ลดความนิยมและหยุดการละเล่นไปในที่สุด

ลักษณะทางสังคมของกลุ่มรำวงคองก้าบ้านขาม

รำวงคองก้าบ้านขาม เป็นผลิตผลหนึ่งที่เกิดจากสังคมวัฒนธรรมในช่วงยุคสมัยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม แม้จะมีส่วนหนึ่งแอบแฝงอยู่กับสังคมเมืองแต่ก็มีส่วนน้อย คนในบ้านขาม ประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นหลักมากถึงร้อยละ ๙๘ ของประชากรทั้งหมด รองลงมาเป็นอาชีพค้าขายและอื่นๆ (สำนักงานการเกษตรอำเภอเมืองหนองบัวลำภู, ๒๕๔๗) สมชาย นิลอาธิ กล่าวถึงสังคมของชาวอีสานว่า เป็นสังคมแบบเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ มีการทำนาเป็นอาชีพหลัก ในยามว่างจากการทำนาชาวอีสานก็จะเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนหารายได้จากการประกอบอาชีพอื่น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมทางสังคมอันได้แก่ งานบุญประเพณีต่างๆ รวมทั้งการพักผ่อนหย่อนใจตามโอกาสต่างๆ

จากการออกพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลภาคสนาม ผู้ศึกษาสังเกตพบว่า ลักษณะทางสังคมของกลุ่มคณะรำวงคองก้า ตำบลบ้านขาม อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู จะเป็นการละเล่นและแสดงรำวงคองก้าในลักษณะสังคมแบบชาวบ้าน คือ สังคมของกลุ่มรำวงคองก้า และสังคมของชาวบ้านที่ประกอบอาชีพอื่น ซึ่งพอจะสรุปได้ ๒ ประเภทดังนี้ รำวงคองก้าในสังคมกลุ่มชาวบ้าน

ผู้ศึกษาได้ติดตามสังเกตการละเล่นรำวงคองก้าบ้านขาม และในสังคมชาวบ้านหลายแห่ง พบว่าจะมีวิธีการละเล่นที่คล้ายๆ กัน เช่น รำวงคองก้าบ้านนาดี อำเภอศรีบุญเรือง รำวงคองก้าบ้านโคกกรุง และรำวงคองก้าโรงเรียนสุดา อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จากการสอบถามพบว่าเป็นการละเล่นที่ได้มาทำการฝึกและเรียนที่ตำบลบ้านขามทั้งหมด เพียงแต่ได้มีการดัดแปลงเนื้อหาของเพลงออกไปบ้าง และลักษณะท่ารำก็เปลี่ยนแปลงแปลงไปเล็กน้อย และกำลังได้รับความนิยมของคนในชุมชนอย่างมาก ผู้ที่มาละเล่นจะมีทุกสาขาอาชีพ ทั้งข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน และนักการเมืองทุกระดับในท้องที่พบว่า รำวงคองก้าในความรู้สึกของชาวบ้านนั้น ต่างก็มีความสุขกับการละเล่นรำวงคองก้า เพราะมีความรู้สึกสนุกและผ่อนคลาย ได้ออกกำลังกายและได้พบปะสังสรรค์พูดคุยกับเพื่อนบ้าน ตลอดจนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น และการละเล่นรำวงคองก้า จะไม่มีพิษมีภัยกับใครและนานๆ ครั้งจะมาร่วมแสดงและละเล่นกันสักครั้งหนึ่ง จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่หน่วยงานทางราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมจังหวัด

ควรที่จะส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปการแสดงดังกล่าวไว้ตลอดไป

นายสวัสดิ์ ชมภูโคตร เมื่อครั้งยังเด็ก เมื่อปี พ.ศง ๒๔๙๑ ในระหว่างนั้นเด็กชายสวัสดิ์ ชมพูโคตร มีอายุเพียงได้ ๑๒ปี มีใจรักและชื่นชอบการแสดงรำวงคองก้าของคณะพี่ๆ จะมีการแสดงรำวงคองก้าที่ไหนเด็กชายสวัสดิ์ ก็ได้ติดตามไปดูและช่วยงานตลอด จึงเกิดความรักและความฝังใจที่จะร่วมงานให้ได้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๖ รวมระยะเวลาทั้งสิ้น ๓๒ ปี ที่รำวงคองก้าได้เลือนหายไปจากสังคมบ้านขาม ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ นายสวัสดิ์ ชมพูโคตร ซึ่งเป็นหนุ่มใหญ่วัยฉกรรณ์ ได้รวบรวมสมาชิกและฟื้นฟูรำวงคองก้าขึ้นมาใหม่ หลังจากที่ได้เลิกไปนานถึง ๓๒ ปี ได้รวบรวมสมาชิก รวบรวมบทเพลง จากบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่และเคยอยู่ในคณะรำวงคองก้าร่วมกับ นายหนูจันทร์ สมานฉันท์ และได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นและเริ่มเป็นที่นิยมของคนในหมู่บ้านบ้านขาม ส่วนนางรำจะรวบรวมผู้คน ชาย-หญิงภายในหมู่บ้านได้ประมาณ ๑๐๐ คน มาทำการประชุมพูดคุย ทำข้อตกลงจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันฝึกซ้อมกันทั้งหมู่บ้าน และได้รับงานแสดงรำคองก้าครั้งแรก ที่โรงเรียนชุมชนบ้านขาม ตำบลบ้านขาม โดยนายประสิทธิ์ ศรีเชียงสา ผู้อำนวยการโรงเรียน ได้จัดงานอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยขึ้นที่โรงเรียน โดยให้ชาวบ้านรวบรวมและนำเอาของโบราณที่มี มารวบรวมและก่อสร้างศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ช่วงกลางวันมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นทุกประเภท รำคองก้า (รำวงโบราณ) ถึงได้เข้ามามีบทบาทอีกครั้งหนึ่งตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จากจุดเริ่มต้นในการแสดงรำวงคองก้าในครั้งนั้น ได้แพร่กระจายและเป็นที่รู้จักไปยังส่วนต่างๆ อย่างรวดเร็ว

จังหวัดหนองบัวลำภู โดยวัฒนธรรมจังหวัด ได้นำเสนอต่อส่วนราชการเพื่อให้ส่วนราชการต่างๆ ได้รู้จักและเรียกใช้บริการ รำวงคองก้าหรือรำวงโบราณจึงได้มีพื้นที่ในการที่จะแสดงออกและอนุรักษ์ศิลปการแสดงพื้นบ้านที่มีมายาวนาน และได้หายไปแล้วครั้งหนึ่งกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง รำวงคองก้าหรือรำวงโบราณ จึงได้รับเกียรติเป็นตัวแทนของจังหวัดในการที่จะนำไปแสดงในงานต่างๆ คือการแสดงครั้งแรก ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ในงานอเมซิ่งอีสาน เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ โดยนายวิมล ศิริโยธาศึกษาธิการจังหวัดหนองบัวลำภู ได้นำไปแสดง ในนามจังหวัดหนองบัวลำภู ประมาณ ๕๐ คู่ การแสดงครั้งที่ ๒ ที่โรงแรมหนองคายแกรนด์ จังหวัดหนองคาย ในงานประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ โดยนายขวัญชัย วสวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้รับค่าตอบ เป็นเงิน ๖,๐๐๐ บาท และให้แสดงไม่เกิน ๕ นาที พอเริ่มทำการแสดงด้วยจังหวะและลีลา ที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ผู้คนในงานทั้งคณะผู้ว่าฯและคุณนายผู้ว่าฯ ตลอดทั้งผู้มาร่วมงาน ต่างก็ลุกออกมาร่วมฟ้อนรำกันทั้งหมดในงาน ได้สร้างความประทับใจต่อคณะผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างมากและแสดงได้มากกว่า ๕ นาที และได้กลับมาแสดงที่จังหวัดหนองคายอีก ๒ ครั้ง รวมทั้งหมดเป็น ๓ ครั้ง แสดงครั้งที่ ๓ ที่จังหวัดเลย นายนายนิคม บูรณพันธ์ศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู ได้นำไปแสดง ในงานเทศกาลดอก

ฝ้ายบาน งานกาชาดเมืองเลย โดยได้รับค่าตอบแทนคนละ ๑๐๐ บาท ในงานร้อยเอ็ด การแสดงที่จังหวัดร้อยเอ็ด ได้ไปทำการแสดงที่จังหวัดร้อยเอ็ดในงานบุญข้าวปุ้นหรือบุญเผวส จำนวนเงิน ๕,๐๐๐ บาท รวมทั้งค่ารถและค่าอาหาร การแสดงที่จังหวัดหนองบัวลำภู ที่บ้านกุดดู่ โดยชาวบ้านตำบลกุดดู่ อำเภอโนนสังได้ว่าจ้างไปร่วมแสดงในงานประเพณีบุญบั้งไป จำนวนเงิน ๕,๐๐๐ บาท โดยกลุ่มชาวบ้านเป็นผู้จ้างที่บ้านกุดคอเมย ชาวบ้านบ้านหนองแวงกุดคอเมย ตำบลกุดดู่ อำเภอโนนสัง ได้ว่าจ้างไปแสดง จำนวนเงิน ๓,๐๐๐ บาท การแสดงที่จังหวัดอุดรธานี ในงานมรดกโลกที่บ้านเชียง อำเภอหนองหาน โดยองค์การบริหารส่วนตำบลได้ว่าจ้างไป โดยได้ค่าจ้างคนละ ๑๐๐ บาท โดยสำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดหนองบัวลำภู

จากการแสดงที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และ

ยังคงเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย รำวงคองก้าหรือรำวงโบราณ จึงได้รับการว่าจ้างเป็นจำนวนมากขึ้น ทั้งทางว่าจ้างและขอความร่วมมือจากทางจังหวัดหนองบัวลำภูและส่วนราชการ และการว่าจ้าจากภาคประชาชน จนคณะผูแสดงไม่สามารถที่จะให้ข้อมูลทั้งหมดได้ เจ้าภาพของงาน จากการสัมภาษณ์นายสวัสดิ์ ชมพูโคตร ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะรำวงคองก้า ได้กล่าวว่า การว่าจ้างส่วนมากจะเป็นงานไหว้วานกันมากกว่าที่จะจ้างไปแสดงโดยตรง เพราะว่ารำวงคองก้าเป็นรำวงที่มีความแปลกใหม่ และมีเอกลักษณ์เฉพาะ จึงไม่มีความเหมือนใครในท้องถิ่นจังหวัดหนองบัวลำภู โดยเฉพาะอย่างยิ่งการว่าจ้างจากทางหน่วยงานของราชการ ที่มีการเลี้ยงรับเลี้ยงส่งหรือเลี้ยงในโอกาสสำคัญต่าง หรืองานระหว่างจังหวัดที่หน่วยงานทางราชการนำไปแสดงในนามของจังหวัด การว่าจ้างในลักษณะนี้จึงไม่มีความแน่นอน และอีกอย่างหนึ่งคือ ทางกลุ่มคณะรำวงคองก้าก็ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการที่จะนำเอารำวงคองก้ามาเป็นอาชีพหลัก ในการที่จะหารายได้เข้ามาสู่ชุมชน เพราะว่าผู้คนในกลุ่มเป็นผู้สูงอายุ เพียงแต่ได้นำเอารำวงคองก้ามาปัดฝุ่นเสียใหม่ และมาร่วมกันอนุรักษ์ศิลปการแสดงที่กำลังถูกลืมและกำลังจะหายไปจากบ้านขาม เพื่อไว้ให้คนรุ่นหลังไว้ได้ศึกษาและสืบทอด

ต่อไป

เช่น จากบ้านกุดคอเมย และบ้านกุดดู่ ตำบลกุดดู่ อำเภอโนนสัง เป็นต้น การว่าจ้างในส่วนนี้จะเป็นการว่าจ้างเพื่อไปแสดงในงานบุญบั้งไฟ โดยวัตถุประสงค์ของผู้ว่าจ้างเป็นการจ้างเพื่อทำการแสดงให้ผู้คนดูมากกว่าการว่าจ้างเพื่อนำไปแสดงเก็บเงินเหมือนเมื่อครั้งในอดีต (สวัสดิ์ ชมพูโคตร, สัมภาษณ์, ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘)

จึงสรุปได้ว่า การว่าจ้างไปแสดงของเจ้าภาพงานส่วนใหญ่นั้น จะเป็นการว่าจ้างเพื่อความบันเทิง ความสนุกสนาน และเป็นการชั่วครั้งชั่วคราวมากกว่า ทางกลุ่มคณะรำวงคองก้าก็มีความภูมิใจในศิลปะการแสดง ลักษณะของการแสดง ลักษณะของการแสดงของรำวงคองก้า จะเป็นการแสดงเพื่อความบันเทิงและเพื่อความสนุกสนาน มากกว่าจะเป็นการแสดงเพื่อรับจ้างหาเงินตามที่ต่างๆ งานที่รับและสถานที่แสดงนั้นจะใช้ที่ไหนก็ได้ เช่น ลานกว้าง สนาม เวที หรือที่ว่าง เป็นต้น เพราะว่าการแสดงรำวงคองก้าจะต้องใช้คนรำทั้งหมดไม่ต่ำกว่า ๒๐ คน และจะรำวงเป็นลักษณะเป็นวงกลม และรำเป็นคู่ๆ ชายหญิง สถานที่แสดงที่ได้ไปแสดงบ่อยครั้ง คือ อาคารสนามนเรศวรริมหนองบัวลำภู ห้องประชุมศาลากลางจังกหวัดหนองบัวลำภู ห้องประชุมโรงแรมต่างๆ ของจังหวัดทั้งในและนอกจังหวัด ส่วนสถานที่แสดงอีกแห่งหนึ่ง คือ ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลบ้านขาม ซึ่งอยู่ในโรงเรียนบ้านขามพิยาคม และเป็นสถานที่จุดรวมทางวัฒฯธรรมของชาวบ้าน สถานที่แห่งนี้ทางผู้อำนวยการโรงเรียน คือ พ.อ.อ.วิจิตร กุลลิวงษ์ ได้เป็นผูบุกเบิกและสร้างขึ้นในนามของวัฒนธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู จะเป็นลานกว้างและแสดงในช่วงเดือนเมษายนของทุกๆ ปี เพราะว่าจะมีกิจกรรมเกี่ยวกัยการรดน้ำดำหัวขึ้นที่นี่ แล้วชาวบ้านก็จะนำกิจกรรมการแสดงทางวัฒนธรรม เช่น การสอย การลงข่วง การแสดงหมอรำ การแสดงระวงคองก้า การแสดงฟ้อนรำของเด็กนักเรียน การแสดงสรภัญญะ เป็นต้น ชาวบ้านจะจัดเวทีการแสดงไว้เพื่อรองรับกับการแสดงที่ต้องใช้เวที ส่วนรำวงคองก้าจะใช้ลานกว้างเป็นสถานที่แสดง เพราะอุปกรณ์ไม่มีมากเหมือนการแสดงอื่นๆอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบด้วย กลอง ๑ คู่ ฉิ่ง ฉาบ และลูกแซค ผู้ตีกลองจะมีความชำนาญในการตีกลอง และเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในการให้จังหวะ เป็นดนตรีชิ้นเดียวที่ควบคุมจังหวะในการละเล่น

รำวงคองก้าบ้านขามกับวัฒนธรรมการละเล่นรำวงคองก้าจึงเป็นสิ่งหนึ่ง ที่ตกทอดมาจากบรรพชนของคนในพื้นที่บ้านขาม ตำบลบ้านขาม อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู ที่ผ่านการสั่งสมและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันจึงถือว่า รำวงคองก้า คือ วัฒนธรรมหนึ่ง ของคนบ้านขามและมีหลายสิ่งหลายอย่างเกี่ยวกับ รำวงคองก้าและสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม ที่ทรงคุณค่า