อโยธยา..เมืองท่าสำคัญ
ของอาณาจักรละโว้

อโยธยา..เมืองท่าสำคัญของอาณาจักรละโว้


สำหรับเมืองอโยธยาหรืออโยธยาศรีรามเทพนครนั้น เป็นเมืองโบราณที่มีมาก่อน

คริสศตวรรษ ๑๓–๑๔ ก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะทำการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา

เมืองอโยธยาเดิม มีฐานะเป็นเมืองท่าสำคัญของรัฐละโว้ หรือลวรัฐ ซึ่งมีอำนาจใน

ดินแดนนี้มาตั้งแต่สมัยทวาราวดี ต่อมาหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พระเจ้าอู่ทอง

จากเมืองอโยธยาแห่งนี้(บางแห่งว่าเป็นเชื้อสายกษัตริย์ทางเหนือ หรือเมืองไตรตรึงส์

มีปรากฏในตำนานท้าวแสนปม) ได้มีความสัมพันธ์กับเมืองสุพรรณภูมิ กล่าวคือ

พระเจ้าอู่ทองได้อภิเษกกับพระธิดาของกษัตริย์ผู้ครองเมืองสุพรรณภูมิ และได้เป็น

ผู้ครองเมืองอู่ทอง ต่อมาเมืองอู่ทองเกิดกันดารน้ำ พระเจ้าอู่ทองจึงอพยพผู้คนมาอยู่ที่

ตำบลเวียงเหล็ก เมืองอโยธยาและ๓ ปีต่อมาจึงได้สร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้นที่บริเวณ

เสนานครในที่สุด

เมืองอโยธยานี้ตั้งอยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาปัจจุบัน

กษัตริย์ผู้ครองเมืองอโยธยานั้นมีหลายพระองค์ ที่ปรากฏพระนามรู้จักกันได้แก่

พระเจ้าสายน้ำผึ้ง พระยาธรรมิกราชา พระนารายณ์ และพระเจ้าหลวง สำหรับโบราณสถาน

ของเมืองอโยธยาที่ยังปรากฏอยู่นั้น มี วัดเดิมหรือวัดอโยธยา วัดมเหยงค์ วัดกุฎีดาว

วัดใหญ่ชัยมงคล วัดพนัญเชิง เป็นต้น ส่วนภายในกรุงศรีอยุธยานั้นก็มีวัดโบราณอยู่เช่นกัน

ได้แก่ วัดธรรมิกราช วัดขุนเมืองใจ วัดหน้าพระเมรุ วัดพลับพลาไชย วัดมหาธาตุ และ

วัดราชบูรณะ ต่างมีโบราณวัตถุสถานที่สำคัญดังนี้ วัดมหาธาตุ ในกรุงศรีอยุธยานั้นได้มี

ชิ้นส่วนพระโอษฐ์พระพักตร์ของพระพุทธรูปศิลาหินทรายสมัยอโยธยาขนาดใหญ่พิเศษ

ซึ่งชำรุด พระขนงต่อกันเป็นเส้นโค้งศิลปะทวาราวดี ซ่อนอยู่ใต้ฐานชุกชีพระวิหารหลวง

(ปัจจุบันชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายดังกล่าวได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถาน

แห่งชาติเจ้าสามพระยาแล้ว) วัดธรรมมิกราช (วัดมุขราช) ใกล้ป้อมเพชร เคยมีพระพุทธรูป

สำริดขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันเหลือแต่พระเศียรพระพุทธรูปใหญ่มาก เก็บแสดงที่พิพิธภัณฑ์

เจ้าสามพระยาเช่นกัน ที่หน้าพระอุโบสถวัดขนอน ปากคลองมหาพราหมณ์ มีเสมาศิลา

ซึ่งแกะลวดลายแบบทวารวดีผสมอโยธยา ซึ่งถือว่าเป็นศิลปะชิ้นเอกสิ่งหนึ่งที่ยังเหลืออยู่

น. ณ ปากน้ำ ได้ให้ข้อคิดไว้ในวารสารเมืองโบราณ ว่า" มีโบราณสถานและ

โบราณวัตถุในประเทศไทยที่เก่าแก่กว่าสุโขทัยและอยุธยาจำนวนมาก เช่น พระพุทธรูปศิลา

ทำด้วยหินทรายที่ระเบียงวัดมหาธาตุ ราชบุรี (ศิลปบายน ของขอม พ.ศ. ๑๗๕๐)

เศียรพระพุทธรูปศิลาทรายที่พิพิธภัณฑ์ไชยา สุราษฎร์ธานี (ศิลปครหิ ไชยา สมัยคุปตะรุ่นปลาย

ก่อนสุโขทัย) พระพุทธรูปศิลาที่หน้าเจดีย์ใหญ่ วัดนครโกษา ลพบุรี(สมัยบายน ก่อนสุโขทัย)

พระพุทธรูปศิลาที่สถูปเมืองเวียงสระ สุราษฎร์ธานี(เก่ากว่าอยุธยา) เศียรพระพุทธรูปศิลาใหญ่ที่

วัดเกษ อยุธยาซึ่งมีความงดงามมาก และพระพุทธไตรรัตนนายกหรือหลวงพ่อโตวัด พนัญเชิง

อยุธยา เป็นต้น ศิลปอโยธยานั้นมีเจดีย์แบบอโยธยา(บางคนเรียกว่าแบบอู่ทอง) เป็นเจดีย์ที่มี

รูปแบบเป็นองค์เจดีย์รูปแปดเหลี่ยมตั้งอยู่บนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม ระฆังกลมเป็นเส้นตั้ง

แบบเจดีย์ปาละ(เจดีย์อยุธยาเป็นเส้นเอียงผายออก) ปั้นปูนกลีบบัวประดับที่องค์ระฆัง

ก่ออิฐดินเผาที่ฝนจนเรียบ ที่สำคัญคือเจดีย์อโยธยาไม่ใช้ปูนสอ แต่ใช้ดินผสมยางไม้และ

มโนศิลาจนเนื้อแนบสนิทตามระบบการก่อสร้างโบราณของอินเดีย ข้างในเจดีย์มักจะกลวง

เช่น เจดีย์วัดอโยธยา(ซึ่งอยู่ริมคลองกุฎีดาว) เจดีย์วัดเขาดิน ข้างสระแก้ว ที่สุพรรณบุรี

เจดีย์วัดแก้วที่สรรค์บุรี เจดีย์วัดมณฑป ที่อยุธยา เจดีย์วัดขุนเมืองใจกลางตัวเกาะเมืองอยุธยา

เจดีย์วัดกะซ้ายทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเมืองอยุธยา เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลที่อยุธยา

เจดีย์วัดกลางทุ่งประเขต (อาจเป็นวัดป่าแก้ว)อยุธยา เจดีย์บนเกาะในบึงพระรามอยุธยา

(บึงพระรามอาจเป็นหนองโสน) เจดีย์วัดสุวรรณาวาส อยุธยา เจดีย์ที่วัดพระรูปและ

เจดีย์รายด้านเหนือของวัดมหาธาตุ ลพบุรี ฐานเจดีย์ใหญ่ที่วัดนครโกษา ลพบุรี และ เจดีย์

วัดสนามไชย ที่สุพรรณบุรี


ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เมืองอโยธยาได้ร้างผู้ครองนครไปชั่วเวลาหนึ่ง ซึ่งยังหาเหตุผลไม่พบ

แต่เชื่อว่าบ้านเมืองและชุมชนยังคงอยู่ต่อมา ด้วยปรากฏว่ามีการสร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อโต

วัดพนัญเชิง ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ มีความระบุไว้ว่า

“สร้างขึ้นในปีชวด จุลศักราช ๖๘๖ หรือ พ.ศ.๑๘๖๗”

พระพุทธรูปนี้สร้างก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง ๒๖ ปี น่าเสียดายที่พระพักตร์ของ

หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิงได้พังทลายลงใน พ.ศ. ๒๔๗๑ ต่อมาศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี

ได้จัดการซ่อมแซมพระพักตรใหม่ จึงไม่มีเห็นพระพักตรเดิม



<< ย้อนกลับ ต่อไป อาณาจักรตามพรลิงค์หรือตัมพะลิงค์ >>