อาณาจักรโยนก
เชียงแสน และล้านนา

อาณาจักรโยนก เชียงแสน และล้านนา

(พ.ศ. ๑๘๓๕–๒๔๓๕)



ในตำนานและพงศาวดารล้านนาหลายฉบับ เล่าว่า นานมาแล้ว (ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓) มีพวกลัวะ หรือละว้า
ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณใกล้ดอยตุง มีปู่เจ้าลาวจกหรือลวจักราช เป็นหัวหน้า(จกคือจอบขุดดิน) ต่อมาได้สร้างบ้านเมือง
ในทุ่งราบเรียกชื่อว่า “หิรัญนครเงินยางเชียงแสน” ลูกหลานของปู่เจ้าลาวจกหรือลวจักราช ได้ขึ้นครองเมืองต่อเนื่อง
กันมาหลายสิบคน และได้มีการสร้างเมืองใหม่เรียกว่า “ภูกามยาวหรือพะเยา” มีผู้ครองเมืองต่อมาหลายคนจนถึง
ขุนเจือง (พุทธศตวรรษที่ ๑๗) และพญางำเมือง


อาณาจักรหิรัญนครเงินยางเชียงแสนหรืออาณาจักรเงินยางนี้ประกอบด้วย เมืองเงินยาง เมืองไชยนารายณ์
เมืองล้านช้าง และเมืองเชียงรุ้งในสิบสองพันนา


พุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๘นั้นในพงศาวดารโยนก ได้กล่าวไว้ว่า ได้เกิดชุมชนนครสุวรรณโคมคำ
เมืองโยนกนาคนคร เชียงแสน และอาณาจักรล้านนาไทยขึ้น บริเวณ ลุ่มแม่น้ำโขง แม่น้ำกก แม่น้ำอิง
และแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน ตั้งแต่สิบสองปันนาลงมาจนถึงเมืองหริภุญชัย(ลำพูน)
นั้นได้มีเจ้าผู้ครองนครคนสำคัญคือ พญาสิงหนวัติ พระเจ้าพังคราช พระเจ้าพรหม และ
พระเจ้าเม็งรายมหาราช(ครองราชย์ที่เมืองเงินยางเมื่อ พ.ศ.๑๘๐๔)


พญาสิงหนวัติได้สถาปนาเมืองโยนกนาคพันธุสิงหนวัตินครขึ้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ดินแดนที่ราบ
ในเมืองเชียงราย ใน พ.ศ. ๑๑๑๗ โดยทำการแย่งชิงดินแดนมาจากพวกที่มีอิทธิพลอยู่ก่อนคือ
พวกขอมดำหรือกล๋อม ที่พากันหนีไปตั้งหลักแหล่งอยู่ทางใต้บริเวณถ้ำอุโมงค์เสลานคร พญาสิงหนวัติ
ทรงรวบรวมพวกมิลักขุหรือคนป่าคนดอยเข้ามาอยู่ในอำนาจของเมืองโยนกนาคนคร
มีอาณาเขตทิศเหนือจดเมืองน่าน ทิศใต้จดปากน้ำโพ ทิศตะวันออกจดแม่น้ำดำในตังเกี๋ย
ทิศตะวันตกจดแม่น้ำสาละวิน มีเมืองสำคัญ คือเมืองเวียงไชยปราการ อยู่บริเวณแม่น้ำฝางและแม่น้ำกก
ดินแดนทางใต้สุดคือที่เมืองกำแพงเพชร อาณาจักรโยนกนาคนครนี้มีพระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์
เช่น พระเจ้าพังคราช พระเจ้าพรหม พระเจ้าไชยสิริ ต่อมาประมาณ พ.ศ.๑๕๕๒
อาณาจักรโยนกนาคนครในสมัยพระเจ้ามหาชัยชนะ ได้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องมาจากพนังกั้นน้ำหรือ
เขื่อนเหนือน้ำพังทลายลง จนทำให้ที่ตั้งเมืองกลายเป็นหนองน้ำใหญ่ (เข้าใจว่าจะเป็นบริเวณที่เรียกว่าเวียงหนองล่ม
บ้านท่าข้าวเปลือก ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากทะเลสาปเชียงแสน และบริเวณที่แม่น้ำกกต่อกับแม่น้ำโขง
ใกล้วัดพระธาตุผาเงาและพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย) จนเป็นเหตุให้บรรดาราชวงศ์กษัตริย์และ
ขุนนางของโยนกนาคนครเสียชีวิตด้วยเหตุน้ำท่วมเมืองทั้งหมด พวกชาวบ้านที่เหลือรอดชีวิต
ได้ประชุมปรึกษากันเลือกตั้งให้คนกลุ่มหนึ่งที่มิใช่เชื้อสายราชวงศ์ขึ้นดูแลพวกตน เรียกว่า ขุนแต่งเมือง
และเรียกชุมชนแห่งนั้นว่า “เวียงปรึกษา”เป็นเวลาต่อไปอีก ๙๔ ปี อาณาจักรโยนกนาคนครจึงสิ้นสุดลง


ตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ พระยาเม็งราย(หรือพ่อขุนมังราย) ผู้สืบเชื้อสายมาจาก
ผู้ครองเมืองเงินยางเชียงแสน ได้ทรงทำการรวบรวมอาณาจักรล้านนาไทยที่กระจัดกระจายให้เป็นปึกแผ่นขึ้นมาใหม่
และทำการสร้างเมืองเชียงรายเมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๕ ครั้งนั้นพระองค์ทรงยกทัพเข้ายึดเอาอาณาจักรหริภุญชัย
จากพวกมอญเชื้อสายของพระนางจามเทวีได้ใน พ.ศ. ๑๘๓๕ แล้วทำการตั้งอาณาจักรใหม่ขึ้นเรียกชื่อว่า
อาณาจักรล้านนา


เรื่องราวของอาณาจักรแห่งนี้มีปรากฏในตำนานสุวรรณโคมคำ หิรัญนครเงินยางเชียงแสน
ตำนานพระธาตุดอยตุง ตำนานสิงหนวัติกุมาร ตำนานเมืองพะเยา ตำนานเมืองเชียงใหม่และวรรณคดีล้านช้าง
เรื่องท้าวฮุ่ง หรือเจือง รวมทั้งพงศาวดารโยนก เรียบเรียงโดย พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค)


ศิลาจารึกที่วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ ได้บันทึกไว้ว่า พ่อขุนเม็งรายแห่งแคว้นล้านนา
พ่อขุนงำเมืองแห่งแคว้นพะเยาและพ่อขุนรามคำแหงแห่งแคว้นสุโขทัย ได้ร่วมกันวางแผนสร้างเมือง
“นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่”เริ่มสร้างเมื่อวันที่๑๒เมษายนพ.ศ.๑๘๓๙ แล้วให้ย้ายเมืองหลวงของล้านนา
มาอยู่ที่เมืองนพบุรีนครพิงค์เชียงใหม่


พญาเม็งรายทรงเป็นนักรบและนักปกครองที่สามารถ ทรงขยายอาณาเขตไปครอบครอง
เมืองแม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เชียงใหม่ เชียงราย จดเขตแดนเมืองเชียงตุง เชียงรุ้ง
สิบสองพันนา ทรงครองราชย์อยู่ประมาณ ๕๐ ปี ปัจจุบันได้สร้างอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย
อยู่กลางเมืองเชียงราย ส่วนกษัตริย์ล้านนาองค์ต่อมาที่มีชื่อเสียงได้แก่พระเจ้าแสนภู
พระองค์ทรงสร้างเมืองเชียงแสนขึ้น บนสถานที่ที่เคยเป็นเมืองเก่ามาก่อนราว พ.ศ.๑๘๗๑


ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๑ กล่าวว่า พระเจ้าแสนภู(หลานพ่อขุนเม็งราย)ทรงสร้างเมืองเชียงแสน
ทรงสร้างวัดป่าสัก และครองเมืองอยู่ ๒๕ ปี แล้วจึงไปครองเมืองเชียงใหม่ในปีพ.ศ.๑๘๕๖
หลังจากพ่อขุนเม็งราย และขุนคราม พระราชบิดาสิ้นพระชนม์ พ.ศ.๒๐๒๐


ในพงศาวดารเหนือ กล่าวไว้ว่า “พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกทรงสร้างเมืองพิษณุโลกและ
ทรงสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีจอ
(ประมาณ พ.ศ.๑๙๐๗) แล้วปลูกต้นโพธิ์สามต้นไว้ที่หล่อพระพุทธรูปสามองค์นั้นเรียกว่า โพธิ์สามเส้า


สมัยพระเจ้าติโลกราชนั้นได้ มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘ ของโลกขึ้นที่วัดโพธาราม(วัดเจดีย์เจ็ดยอด)


อาณาจักรล้านนามีภาษาพูดและอักษรเขียนของตนเอง เรียกว่าอักษรไทยยวน(ไทยโยนก) ศิลปกรรม
ล้านนาที่เหลือถึงปัจจุบันมีหลายแห่ง เช่น พระพุทธสิหิงค์ ที่เชียงใหม่ เจดีย์วัดป่าสักที่เชียงราย
เจดีย์วัดเจ็ดยอดที่เชียงใหม่ พระธาตุลำปางหลวงที่จังหวัดลำปาง สำหรับที่เมืองเชียงแสนนั้น
มีพระพุทธรูปโลหะขนาดใหญ่องค์หนึ่งชื่อพระเจ้าล้านทอง หน้าตัก ๔ ศอกปลาย ๒ กำ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๐๓๒
โดยพระยาศรีรัชฎเงินกองเจ้าเมืองเงินยางเชียงแสน และยังมีพระเมาฬี(ยอดผม)
ของพระพุทธรูปโลหะขนาดใหญ่มากชิ้นหนึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑ์เชียงแสน เล่ากันว่า
มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งจมน้ำอยู่หน้าที่ว่าการอำเภอเชียงแสน ปัจจุบันยังสำรวจค้นหาไม่พบ
ในพ.ศ.๒๐๘๘ นั้นได้ เกิดแผ่นดินไหวในเชียงใหม่ จนทำให้ส่วนยอดของเจดีย์หลวงหักลง


กษัตริย์ราชวงศ์มังรายครองอาณาจักรล้านนาสืบต่อกันมาเป็นเวลา ๒๖๒ ปี จนถึง พ.ศ.๒๑๐๑
อาณาจักรล้านนาอ่อนแอ ในไม่ช้าก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์แห่งพม่า
ต่อมาได้เปลี่ยนสลับมาขึ้นกับอาณาจักรสยามกลับไปกลับมาหลายครั้ง ครั้งสุดท้าย พ.ศ.๒๓๑๗
เมืองเชียงใหม่ได้ตกเป็นประเทศราชขึ้นต่อกรุงธนบุรีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงรวบรวมเมืองเชียงใหม่เป็นส่วนหนึ่ง
ของราชอาณาจักรไทย และได้มีการพัฒนาบ้านเมืองนี้ในสมัยต่อมาเช่น พ.ศ.๒๔๖๔
ได้สร้างทางรถไฟจากกรุงเทพผ่านดอยขุนตาลถึงเชียงใหม่ และ
พ.ศ.๒๕๓๙เมืองเชียงใหม่ได้จัดงานฉลอง ๗๐๐ปี นครเชียงใหม่


สำหรับเหตุการณ์สำคัญนั้นคือวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ ได้เกิดแผ่นดินไหวที่เชียงใหม่
ทำให้ลูกแก้วบนยอดพระธาตุดอยสุเทพตกลงมาแตก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ได้พระราชทานลูกแก้วดวงใหม่ไปทดแทน




<< ย้อนกลับ ต่อไป การสร้างชุมชนของชาวสยาม >>