อาณาจักรของพม่า
อาณาจักรของพม่า
(พุทธศตวรรษที่ ๑๔-ปัจจุบัน)
ในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ นั้น ชนชาติพม่าได้เข้าครอบครองดินแดนลุ่มแม่น้ำอิรวดี
และสาละวิน ซึ่งเดิมเป็นถิ่นที่อยู่ของชนเผ่ามอญและพวกปยุหรือพะยู พม่าได้ตั้ง
เมืองพุกาม (Pegan) หรือนครอริมัทนะ หรือนครศรีเกษตร เป็นเมืองหลวง
นับเป็นสมัยที่เจริญรุ่งโรจน์ที่สุด พระเจ้าอนิรุธ หรืออนุรุทร หรืออนวรตะ หรือ
อโนรธาช่อ (Anawrahta พ.ศ.๑๕๘๗–๑๖๒๐) แห่งอาณาจักรพุกามยุคต้น
พระองค์ส่งกองทัพไปโจมตีเมืองสะเทิมของอาณาจักรมอญจนพินาศ ต่อจากนั้น
พระเจ้าอนิรุธได้โปรดให้มีการสังคายนาศาสนาพุทธขึ้นในพม่า เพื่อให้
พระสงฆ์เคร่งครัดธรรมวินัย และมีการสร้างเจดีย์ชะเวดากองใน พ.ศ. ๑๖๐๒
ต่อมาใน พ.ศ. ๑๘๓๐(ค.ศ. 1287) สมัยพระเจ้านรสีหปติของพม่าถูกจักรพรรดิ์กุบไลข่าน
ของจีนมองโกล นำกำลังบุกเข้าโจมตีเมืองพุกาม จนพม่าต้องตกเป็นประเทศราชของจีน
พ.ศ.๑๘๔๑–๒๐๔๓(สมัยกรุงสุโขทัย) พวกไทยใหญ่หรือชาน ที่เคยรับราชการกับ
กษัตริย์พม่า ได้ใช้กำลังยึดเมืองหลวงพุกามได้ พวกไทยใหญ่จึงสร้างเมืองอังวะ(Ava)
เป็นเมืองหลวงและยึดดินแดนอาณาจักรพุกามของพม่าไว้ถึง ๒๕๐ ปี
ต่อมา ในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ อาณาจักรพม่าได้ฟื้นตัว พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ (Tabinshweti
พ.ศ. ๒๐๗๔–๒๐๙๓)รบชนะไทยใหญ่และมอญตั้งเมืองหลวงที่เมืองหงสาวดี หรือ
เมืองพะโค ได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์(คราวสงครามช้างเผือก)
ในครั้งนั้นอาณาจักรสยามได้เสียพระสุริโยทัยใน พ.ศ. ๒๐๙๑ พระเจ้าตะเบงชะเวตี้
ตีกรุงศรีอยุธยาไม่สำเร็จและเมื่อกลับไปเมืองหงสาวดีก็ถูกลอบปลงพระชนม์ในเวลาต่อมา
ทำให้พระเจ้าบุเรงนอง(Bayinnaung) ผู้เป็นแม่ทัพและได้อภิเษกกับพระพี่นางของ
พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ผู้รับการยกย่องว่าเป็นนักรบ”ผู้ชนะสิบทิศ”ได้ขึ้นครองราชย์แทนที่
เมืองหงสาวดี พระเจ้าบุเรงนองสามารถปราบอังวะของพวกไทยใหญ่ พวกมอญ พวกเชียงใหม่
และพ.ศ.๒๑๑๒ พระเจ้าบุเรงนองได้มีชัยชนะต่อกรุงศรีอยุธยาในสงครามเสียกรุงครั้งที่หนึ่ง
ด้วยกลอุบายใช้พระยาจักรีเป็นไส้ศึก(บุเรงนองเป็นแม่ทัพของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เคยเข้ามา
ทำสงครามสมัยพระเจ้าจักรพรรดิ์ คราวสงครามขอช้างเผือก จึงรู้เส้นทางและวิธีรบของคนไทย)
พระเจ้าบุเรงนองสามารถสร้างอาณาจักรพม่าคืนสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่ง อาณาจักรพม่าขยายตัว
ตั้งแต่ลุ่มน้ำมณีปุระถึงแม่น้ำโขง หลังจากบุเรงนองสวรรคตในปี พ.ศ.๒๑๒๔
พระเจ้านันทบุเรง โอรสพระเจ้า บุเรงนองครองราชย์ต่อ ทรงให้พระมหาอุปราชา (มังสามเกียด)
ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาจนเกิดสงครามยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเมื่อ พ.ศ.๒๑๔๒
หลังจากนั้นอาณาจักรมอญที่เมืองหงสาวดีเสื่อมโทรมลง พ.ศ.๒๑๕๘ พม่าโจมตีพวกมอญ
แล้วจึงย้ายเมืองหลวงจากอังวะมาตั้งที่เมืองหงสาวดี(หรือพะโค Pegdu) แล้วย้ายกลับไปอังวะอีก
พวกมอญทางหงสาวดีได้ก่อการกบฎ ต่อสู้พม่าไม่ได้ต้องหนีเข้ามาเมืองไทยจำนวนมาก
พ.ศ.๒๒๙๘ พระเจ้า อลองพญา(Alaungpaya พ.ศ. ๒๒๙๕–๒๓๐๓) พม่าได้ทำลาย
อาณาจักรมอญได้ทั้งหมด แล้วทำการย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่เมืองร่างกุ้งหรือย่างกุ้ง แปลว่า
“สิ้นสุดการแตกแยก” วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๓๑๐ พระเจ้ามังระ(Hsinbyushin
พ.ศ. ๒๓๐๖–๒๓๑๙) ได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาแตกพินาศ แล้วยกทัพมาตีกรุงธนบุรี อีก
ใน พ.ศ. ๒๓๑๗ (ศึกบางแก้ว) และ พ.ศ.๒๓๑๘(ศึกอะแซหวุ่นกี้) พระเจ้ามังระ
สวรรคตเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๘ จิงกูจาราชโอรสขึ้นครองราชย์แทน ต่อมาพระเจ้าจิงกูจา
ถูกปลงพระชนม์ โดยคณะอำมาตย์ประกอบด้วย อะตวนหวุ่น ตะแคงปดุง และอะแซหวุ่นกี้
เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ ตะแคงปดุงขึ้นครองราชเป็นพระเจ้าปดุงบอดอพญา
ในรัชสมัยพระเจ้าปดุง(Bodawpaya พ.ศ.๒๓๒๕–๒๓๖๒) พม่าส่งกองทัพใหญ่มาตี
กรุงสยามหวังจะให้พินาศใน พ.ศ.๒๓๒๙(ศึกเก้าทัพ) และ พ.ศ.๒๓๓๐ (ศึกรบพม่าที่
ท่าดินแดง) แต่ไม่สำเร็จ สมัยพระเจ้ามินดง(Mindon พ.ศ. ๒๓๙๖–๒๔๒๑)
มีการก่อกบฎในเมืองพม่าหลายครั้ง ในสมัยพระเจ้าปดุงและพระเจ้าจักกายแมง(หรือ
บาจีดอ Bagidaw พ.ศ.๒๓๖๒–๒๓๘๐) มีการรวบรวมพงศาวดารพม่าฉบับหอแก้ว
(Itmannan Yazawin หรือ The Glass Palace Chronical of Burma เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๒(ค.ศ.1829)
พม่าเริ่มเกิดบาดหมางกับอังกฤษเนื่องจากความขัดแย้งที่แคว้นยะไข่ ในปี
พ.ศ. ๒๓๖๗( ค.ศ.1824สมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) แล้วเสียเมืองอังวะ
ให้แก่อังกฤษในสมัยพระเจ้าธีบอโอรสพระเจ้ามินดง พม่าตกเป็นเมืองขึ้นอังกฤษใน
พ.ศ.๒๔๒๘(ค.ศ.1885 ตรงกับสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) โดยอังกฤษ
ได้รวมพม่าเข้าเป็นแคว้นหนึ่งของอินเดีย มีการรวบรวมพงศาวดารพม่า
ฉบับคองบอง (Konbowngzet Mahqyazawin) เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๙ พวกขบวนการชาตินิยมพม่า
เรียกร้องเอกราชจนพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐ สำหรับเส้นทางที่พม่า
ใช้เดินทัพเข้ามายังกรุงศรีอยุธยานั้นมีหลายทาง เช่น
๑.ด่านพระเจดีย์สามองค์ เป็นเส้นทางสายใต้จากหงสาวดีผ่านเมืองกะเตา เมืองคัดเคล้า
เมืองสะเทิม เมืองยางเงิน ลงเรือออกจากเมืองเมาะตะมะมาทางแม่น้ำอัตรัน
ผ่านเมืองเชียงกราน(มอญเรียกเมืองเดิงกรายน์) ผ่านเมืองสมิ เดินบกข้ามแม่น้ำแม่สะลิก
แม่น้ำกษัตริย์ ข้ามภูเขาเข้าแดนไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ลงแม่น้ำแควน้อยที่บ้านสามสบ
ซึ่งเป็นที่แม่น้ำสามสายมารวมกัน คือ ลำน้ำน้อย ลำน้ำลันเต และลำน้ำบีคี่ ผ่านคลองปิล๊อก
ด่านผาวนไทรโยค แล้วเข้าจังหวัดกาญจนบุรี(ปากแพรก)
๒.ด่านแม่ละเมา เป็นเส้นทางสายเหนือ ลงเรือออกจากเมืองเมาะตะมะ ขึ้นทางแม่น้ำถึง
เมืองตะพู(เมืองแครง) เดินบกมาข้ามแม่น้ำกลีบ(เกาะกริต) แม่น้ำเม้ย(เม้ยวดี หรือ เมยวดี)
แม่น้ำแม่สอดผ่านด่านแม่ละเมา มาลงแม่น้ำปิง ตรงบ้านระแหงในเขตเมืองตาก
รวมระยะทางจากบ้านระแหงถึงเมาะตะมะ ๑๐,๔๐๐ เส้น จากเมาะตะมะถึงหงสาวดี
๗,๖๐๐ เส้น
๓.ด่านวังปอ เป็นทางลัดสู่เมืองทวายแต่ต้องข้ามเขาสูงชัน ช้างต้องใช้งวงพันต้นไม้
ดึงตัวขึ้นไปแต่ตกเขาลงมาตายมาก เริ่มแต่เมืองทวายผ่านเมืองกลิอ่อง ด่านวังปอ
เขาสูงชันแล้วถึงท่าตะกั่วแม่น้ำน้อยที่กาญจนบุรี
๔.ด่านบ้องตี้ เป็นเส้นทางจากเมืองทวาย ผ่านบ้านบ้องตี้ พุตะไคร้ ช่องสะเดาสู่
พนมทวนและกาญจนบุรี
๕.ด่านสิงขร เป็นเส้นทางที่เข้าทางด่านที่อยู่ในเขตจังหวัดประจวบคิรีขันธ์ในปัจจุบัน
มีทางติดต่อกับเมืองมะริด
<< ย้อนกลับ ต่อไป อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ล้านช้างและลาว >>