ราชวงศ์จักรี
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ต่อมาพื้นที่ของกรุงธนบุรีหรือบางกอกนั้น ได้มีการสร้างพระนครแห่งใหม่คือ กรุงรัตนโกสินทร์ หรือ
กรุงเทพมหานคร (BANGKOK) ขึ้น หลังจากที่เกิดจลาจลในกรุงธนบุรีเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕
สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) และสมเด็จเจ้าพระยาสุรสีห์สิงหนาท (บุญมา)
สองพี่น้องผู้มีบทบาทสำคัญในการปราบจลาจลนั้น เมื่อตำนานสกุลวงศ์ของบุคคลสำคัญทั้งสองจึงปรากฏว่า
เป็นบุคคลที่สืบเชื้อสายมาแต่ราชวงศ์สุโขทัย นับแต่สมเด็จพระมหาธรรมราชา (ขุนพิเรนทรเทพ
เชื้อสายของราชวงศ์สุโขทัย) สมเด็จพระเอกาทศ (ได้พระมเหสีเป็นพระธิดาพระยาราม เชื้อสายขุนนางมอญ)
กรมพระเทพามาตย์ (เจ้าแม่วัดดุสิต-เป็นพระธิดาของสมเด็จพระเอกาทศ)
เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน-บุตรชายของกรมวรวงศาธิราช (ทอง) และพระยาราชนกูล (ทองคำ – ผู้อพยพครอบครัว
ผู้รับราชการเป็นพระอักษรสุนทรศาสตร์ ตั้งบ้านเรือนที่ป้อมเพชร กรุงศรีอยุธยา)
ผู้เป็นพระบรมชนกของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง-แต่งงานกับสมเด็จพระอมรินทรามาตย์
บุคคลในเชื้อสาย ณ บางช้าง) และสมเด็จเจ้าพระยาสุรสีห์สิงหนาท (บุญมา – ทหารเสือของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบรี)
ดังนั้นการที่บุคคลในราชวงศ์สุโขทัยได้มีบทบาทสำคัญในอาณาจักรสยาม และทำให้ราชวงศ์กษัตริย์โบราณ
คือราชวงศ์สุโขทัยของพระร่วงเจ้าหรือราชวงศ์เชียงเดิม ได้กลับมามีอำนาจและสถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้นครองราชย์
เป็นกษัตริย์ในกรุงรัตนโกสินทร์นั้น จึงถือว่าเป็นราชวงศ์กษัตริย์สยามที่สืบราชสมบัติครองแผ่นดินยาวนานที่สุดในโลก
ความเป็นมาของราชวงศ์กษัตริย์นี้ เริ่มจากอาณาจักรสุโขทัยเสื่อมอำนาจลงทางตอนเหนือนั้น
พระเจ้าอู่ทองได้สถาปนาอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาขึ้นใน พ.ศ. ๑๙๘๓ นั้น ต่อมาได้มีการขยายอาณาจักรขึ้นทางตอนเหนือ
จนเป็นเหตุมีการเจรจาเป็นไมตรีต่อกัน ดังนั้นบุคคลในราชวงศ์พระร่วงจึงเข้ามารับราชการอยู่ในสำนักกรุงศรีอยุธยาด้วย
ดังนั้นบุคคลในสกุลวงศ์ที่สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์พระร่วงหรือราชวงศ์สุโขทัย และเข้ามามีอำนาจ
ในกรุงศรีอยุธยานั้น จึงเป็นดังนี้
สมเด็จพระไชยราชาธิราช หรือพระชัยราชา ผู้สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์เชียงรายนั้น ทรงสืบเชื้อสายมาจาก
พระโอรสของพระเจ้าอู่ทอง (พระเจ้าอู่ทองนั้นนับว่าเป็นพระโอรสพระเจ้าชัยศิริเชียงแสน) ที่เกิดก่อนครองราชเป็นกษัตริย์
ต่อมาเมื่อได้หัวเมืองทางเหนือจึงให้ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก และแต่งงานกับสตรีผู้เป็นเชื้อสายราชวงศ์กษัตริย์ทางเหนือ
(คือสุโขทัย) ภายหลังได้ครองราชย์เป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา
พระเฑียรราชา พระอนุชาต่างพระมารดา ซึ่งมีเชื้อราชวงศ์กษัตริย์ทางเหนือเช่นกันก็เข้ามารับราชการอยู่ด้วย
จนเกิดกรณีท้าวศรีสุดาจันทร์และขุนวรศาธิราช ต่อมาได้รับเชิญให้ขึ้นครองเป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์
ซึ่งเชื่อกันว่าพระสุริโยทัยนั้นเป็นบุคคลที่มีเชื้อสายกษัตริย์ทางเหนือเช่นกัน
ขุนพิเรนเทพ มีเชื้อสายสืบมาจากราชวงศ์สุโขทัย มีพระมารดาเป็นพระญาติกับพระสุริโยทัย
จึงทำให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงสถาปนาให้ขุนพิเรนทรเทพผู้กอบกู้ราชบัลลังก์
ซึ่งบุคคลที่เป็นเชื้อสายราชวงศ์พระร่วงหรือราชวงศ์สุโขทัย (จากพระมหาธรรมราชาลิไทย) ขึ้นเป็นพระมหาธรรมราชา
ตำแหน่งอุปราชครองเมืองพิษณุโลกและหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งเจ็ด ในครั้งนั้นพระมหาธรรมราชา
ยังได้รับพระราชทานพระสวัสดิราชผู้เป็นพระธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์กับพระนางสุริโยทัยเป็นพระมเหสี
ทรงพระนามว่าพระวิสุทธิ์กษัตริย์ทำให้พระมหาธรรมราชาเชื้อสายราชวงศ์สุโขทัยมีฐานะเป็นราชบุตรเขย
ซึ่งต่อมาได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้าบุเรงนองเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
ดังนั้นตลอดรัชกาลของพระองค์นั้นทรงให้พระราชโอรสทั้งสิองทำการกอบกู้อิสรภาพของแผ่นดิน
จนสามารถชนะสงครามยุทธหัตถี ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นเอกราชโดยสมบูรณ์
พระองค์ทรงมีพระราชธิดาและพระโอรส ๓ พระองค์ คือพระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
และ สมเด็จพระเอกาทศ
เมื่อ พ.ศ. ๒๑๒๖ พระยาเกียน (บางแห่งเขียนพระยาเกียรติ์) พระยาราม (บางแห่งเขียนพระยาพระราม)
ขุนนางเชื้อสายมอญได้อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา
ครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศอิสรภาพเป็นไท ซึ่งมีปรากฏในพงศาวดารว่า
“ข้าพเจ้าจะนำพระองค์กับพระยาเกียน พระยาราม และญาติโยมทั้วปวงลงไปอยู่
ณ กรุงพระมหานครศรีอยุธยา จะได้ปฏิบัติภาระสนองคุณพระองค์ปลูกเลี้ยง พระยาเกียน
พระยาราม ก็พร้อมโดยพระราชบริพาร”
เมื่อสมเด็จพระเนรศวรมหาราชนำบุคคลดังกล่าวอพยพครอบครัวถึงกรุงศรีอยุธยา
ได้ให้พระมหาเถรคันฉ่องจำพรรษาอยู่ที่วัดมหาธาตุ พระยาเกียน พระยาราม อยู่ที่ตำบลบ้านขมิ้น
วัดขุนแสน ส่วนญาติพี่น้องนั้นอยู่ที่ตำบลบ้านหลังวัดนก
ต่อมา พระยาราม เชื้อสายขุนนางมอญผู้นี้มีลูกหลานสืบตระกูลอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด
นอกจากเล่ากันว่าพระราชธิดาในสมเด็จพระเอกาทศได้แต่งงานกับบุคคลที่สืบเชื้อสายจากขุนนางมอญ
ส่วนจะเป็นตัวพระยารามเองหรือลูกหลานในชั้นหลัง คือ เจ้าแม่วัดดุสิต
อีกความว่าสมเด็จพระเอกาทศ พระอนุชาธิราชนั้นทรงมีพระชายาเป็นสาวมอญ
เป็นบุคคลในเชื้อสาย (บางแห่งว่าเป็นบุตรี) ของพระยาพระราม หรือพระยาราม (บางแห่งเรียกพระยารามราช)
ขุนนางมอญที่พาครอบครัวและกลุ่มชาวมอญมาสวามิภักดิ์พึ่งพระบรมโพธิสมภารในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
พร้อมกับพระยาเกียน (บางแห่งเขียนพระยาเกียรติ์) ผู้เป็นพระชายาผู้นั้นมีพระราชธิดา
ชื่อบัว (บางแห่งเรียกหม่อมเจ้าหญิงบัว)
ความที่เล่าต่างกันจึงมีทั้งสมเด็จพระเอกาทศทรงมีพระชายาเป็นพระธิดาของพระยามอญคือพระยาราม
และมีธิดาด้วยกันชื่อบัว และอีกความพระราชธิดาของสมเด็จพระเอกาทศแต่งงานกับ
ผู้ชายเชื้อสายพระยามอญ (สายพระยาราม) แล้วมีพระราชธิดาด้วยกันชื่อ บัว
พระธิดาที่ชื่อบัวนี้ ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นท้าวสมศักดิ์วงศามหาธาตี นั่นเอง
ชื่อนี้อาจแต่งเติมกันในชั้นหลังให้สมฐานะ แต่มีบทบาทสำคัญมากในสมัยพระนารายณ์มหาราช
มีฐานะเป็นพระนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงถือเป็นบุคคลสำคัญที่ใกล้ชิดในราชสำนัก
นั่นคือทำให้บุตรชายทั้งสองของนางร่วมดื่มน้ำนมจากเต้าเดียวกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชด้วย
ภายหลังในบั้นปลายชีวิตท้าวสมศักดิ์วงศามหาธาตี (บัว) ผู้นี้ได้ออกบวชอยู่ที่วัดดุสิต
จึงได้รับสมัญญานามว่า “เจ้าแม่วัดดุสิต” เป็นที่เคารพสักการะของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
คือสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสนิทกับเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) และ
เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) บุตรชายของนางที่ได้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาลแห่งกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา
ท้าวสมศักดิ์วงศามหาธาตี (บัว) ผู้นี้ได้แต่งงานกับหม่อมเจ้าเจิดอำไพ (บางแห่งว่าเจิดอภัย)
เป็นบุคคลที่สืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีบุตรชายหญิงด้วยกัน ๓ คน คือบุตรชายคนโตชื่อ
เหล็ก ได้รับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีความชอบเป็นแม่ทัพในตำแหน่งเจ้าพระยาโกษาธิบดี
หรือที่รู้จักกันในนาม โกษาเหล็ก ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการรบ ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๖ คนต่อมาเป็นหญิง
ชื่อแช่ม (บางแห่งว่าชื่อแจ่ม) ต่อมาได้เป็นท้าวศรีสุดารักษ์ พระมเหสีของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
และบุตรชายคนเล็กชื่อ ปาน ได้เข้ารับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีความชอบเป็น
เจ้าพระยาโกษาธิบดี แทนพี่ชาย เดิมนั้นเป็นออกพระวิสูตรสุนทรราชทูตแห่งราชสำนักสยาม
นำคณะทูตแห่งราชสำนักสยาม นำคณะทูตเดินทางไปเจริญพระราชไมตรี ณ ราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔
แห่งประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. ๒๑๙๐ สร้างชื่อเสียงให้ชาวฝรั่งเศสประจักษ์ในความสามารถที่รู้จักกันดีในนาม
โกษาปาน ราชทูตแทนพระองค์
บุคคลในตระกูลนี้นับเป็นที่สนิทสนมกับราชสำนักของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นอย่างยิ่ง
ดังจะเห็นได้จากพงศาวดารครั้งเมื่อเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๖ ว่า
“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิอาจกลั้นน้ำพระเนตรไว้ได้ ทรงพระอาลัยในเจ้าพระยาโกษาเป็นอันมาก
ด้วยเจ้าพระยาโกษาขุนเหล็กคนนี้เป็นลูกพระนม และได้รับพระราชทานนมร่วมเสวยมาแต่ทรงพระเยาว์นั้น”
ครั้งนั้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงโปรดแต่งตั้งให้นายปานเป็น พระเจ้าโกษาธิบดี และ
พระองค์ทรงมีพระกรุณาธิคุณดังพระราชดำรัสว่า
“ขุนเหล็กพี่ท่านซึ่งถึงแก่มรณภาพนั้น ชำนิชำนาญในการเป็นแม่ทัพ และบัดนี้เราจะให้ท่านเป็นที่
เจ้าพระยาโกษาธิบดี และจะให้เป็นแม่ทัพแทนพี่ชายไปตีเมืองเชียงใหม่ ยังจะได้หรือมิได้”
ด้วยเหตุนี้เมื่อพระเพทราชาจางวางกรมช้างชาวบ้านพลูหลวงและขุนหลวงสรศักดิ์ (เดื่อ)
คิดการใหญ่เอาราชบัลลังก์ และได้สถาปนาราชวงศ์บ้านพลูหลวงขึ้น หลังจากที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ได้เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๑ แล้วนั้น พระเพทราชาจึงได้ปลดเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เสนาบดีคลัง
ออกจากตำแหน่งเนื่องจากเป็นผู้ไม่เห็นชอบในการที่พระเพทราชาสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์และ
ทำการสถาปนาราชวงศ์บ้านพลูหลวงขึ้น ประการสำคัญที่เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
ก็คือการที่พระเพทราชาได้แต่ตั้งพระบรมภคินีและพระราชธิดาของพระนารายณ์มหาราชเป็นพระมเหสี
ของพระเพทราชา ในคราเดียวกัน
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๒๓๒ เจ้าโกษาธิบดี (ปาน) ได้ถูกกล่าวหาว่าขาดความจงรักภักดีที่รู้เบาะแสว่า
เจ้าฟ้าอภัยทศ จะทำการกบฏแล้วปิดความ จึงถูกนำตัวมาลงทัณฑ์ โบยหลังด้วยหวาย ๑ ยก (๔๐ ที)
แม้แต่หมอจีนที่ทำการรักษาเจ้าพระยาโกษาธิบดีก็ยังถูกลงอาญาอย่างหนัก อันเป็นสาเหตุให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี
ได้ตรอมใจในเวลาต่อมา จนถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ. ๒๒๔๒ มีหลักฐานบางแห่งว่า
พระเพทราชาได้วางยาพิษเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) และทำการริบราชบาตร จึงทำให้ลูกหลานในตระกูลนี้
ถูกจับขังในเหตุนี้ด้วย เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะบรรดาลูกหลานของเจ้าพระยาโกษาธิบดีนั้นน่าจะหาโอกาส
หลบลี้หนีราชภัยไปอาศัยที่อื่น (พบพระพุทธรูปตรีกายศิลปลพบุรีในหีบเหล็กที่กลางบ้านสะแกกรัง และ
บ้านสะแกกรังเป็นถิ่นกำเหนิดของสมเด็จพระปฐมบรมชนกแห่งราชการที่ ๑ ในเวลาต่อมา)
หรือไม่ก็ถูกริดรอนอำนาจถูกเนรเทศให้ไปรับใช้อยู่ที่หัวเมืองให้ไกลจากเมืองหลวง
โดยน่าจะมีการร้องขอละเว้นจากพระบรมภคินีและพระราชธิดาผู้ที่พระเพทราชาอาจจะยังเกรงใจอยู่
ในฐานะเชื้อพระวงศ์ของกษัตริย์องค์เดิมไว้
สำหรับเชื้อสายสกุลวงศ์ของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) จึงมีบุคคลที่น่าสนใจในสกุลคือ
๑.เจ้าแม่วัดดุสิต พระนามเดิมว่าหม่อมเจ้าบัว (บางแห่งว่าชื่อหม่อมเจ้าอำไพ)
เป็นพระนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. ๒๑๗๕ นัยว่าน่าจะเป็นพระธิดาของสมเด็จพระเอกาทศ
และได้แต่งงานกับหม่อมเจ้าชายดำ (บางแห่งว่าหม่อมเจ้าเจิดอภัย หรือหม่อมเจ้าอภัย) ปรากฏว่ามีบุตร ๓ คน คือ
เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เกิด พ.ศ. ๒๑๗๕ มีภรรยาชื่อนิ่มซึ่งเป็นพระพี่เลี้ยงของ
เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ เมื่อครั้งยังเป็นเจ้าฟ้าหญิงศรีสุพรรณ ไม่ปรากฏหลักฐานชื่อบุตร
ได้รับราชการเป็นแม่ทัพในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๖ (บางแห่งว่า พ.ศ. ๒๒๐๔)
ท้าวศรีสุดารักษ์ (แช่ม) ได้รับสถาปนาเป็นพระสนมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๙ เดิมรับราชการเป็นราชทูตในตำแหน่งพระวิสูตรสุนทร
สมัยพระนารายณ์มหาราชได้รับแต่ตั้งให้เดินทางไปเจริญพระราชไมตรี ณ ราชสำนักของพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส
เมื่อ พ.ศ. ๒๑๙๐ ครั้นเมื่อเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) พี่ชายถึงแก่อสัญกรรมก็ได้ความชอบใหเป็น
เจ้าพระยาโกษาธิบดีแม่ทัพแทน และถึงแก่อสัญกรรมเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๒๓๑ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)
นั้นมีบุตร ๔ คนคือบุตรีคนโตไม่ปรากฏนาม บุตรชายคนที่สองชื่อขุนทอง ได้รับราชการเป็นพระยาอัษฎาเรืองเดช
ต่อมาได้เป็นพระยาวรวงศาธิราช เสนาบดีกรมคลังในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือ บุตรชายคนที่สามไม่ปรากฏนาม
และบุตรชายคนที่สี่ไม่ปรากฏนาม
ต่อมาในแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าเสือ บุคคลผู้เป็นทายาทในตระกูลดังกล่าวก็กลับมารับราชการ
ในตำแหน่งสูงขึ้นอีก หากไม่เช่นนั้นแล้วลูกหลานของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ก็คงไม่ฟื้นและ
กลับมามีอำนาจในสมัยหลังได้
การที่สมเด็จพระเพทราชาแต่ตั้งพระอัครมเหสีเดิม (กัน) ขึ้นเป็นพระมเหสีกลาง
แต่งตั้งพระราชกัลยาณี (เจ้าฟ้าหญิงศรีสุวรรณ) พระบรมภคินีของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นกรมหลวงโยธาทิพ
เป็นอัครมเหสีฝ่ายขวา และแต่งตั้งเจ้าฟ้าหญิงกรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาของพระนารายณ์มหาราช
เป็นอัครมเหสีฝ่ายซ้ายนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระยาโกษาธิบดี (ปาน) ไม่มีความจงรักภัคดีที่พระเพทราชา
บังอาจกระทำในเรื่องที่ไม่ควรดังกล่าวพระอัครมเหสีเดิม (กัน) นั้นเล่าก็เป็นพระมารดาเลี้ยงของขุนหลวงสุรศักดิ์ (เดื่อ)
ด้วย มีความปรากฏในพงศาวดาร ดังนี้
“ในขณะนั้นสมเด็จพระอัครมเหสีเดิม แห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกษซึ่งเป็นพระมารดาเลี้ยง
ของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้อภิบาลบำรุงรักษาพระองค์แต่ยังทรงพระเยาว์นั้น ครั้นเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
เสด็จสวรรคตแล้วจึงทูลสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินออกไปตั้งพระตำหนักอยู่ในที่ใกล้พระอารามวัดดุสิต และ
ที่พระตำหนักวัดดุสิตนี้เป็นที่พระตำหนักมาก่อนครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า และเป็นมารดา
เจ้าพระยาโกษาเหล็ก เจ้าพระยาโกษาปาน ซึ่งได้ขึ้นไปช่วยกราบทูลขอพระราชทานโทษสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน
ขณะเป็นหลวงสรศักดิ์และชกเอาปากเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ครั้งนั้น และเจ้าแม่ผู้เฒ่านั้นก็ได้ตั้งพระตำหนักอยู่ในที่นี่
ครั้นแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้และสมเด็จพระราชมารดาเลี้ยงก็เสด็จตั้งพระตำหนักอยู่ในที่นั้นสืบต่อมา
แล้วทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เป็นกรมพระเทพามาตย์ ส่วยสมเด็จพระอัครมเหสีฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา
แห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าในพระบรมโกษ ซึ่งทรงพระนามว่ากรมหลวงโยธาทิพและกรมหลวงโยธาเทพนั้น
ก็ทูลลาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแล้วเอาพระราชบุตรซึ่งทรงพระนามว่าตรัสน้อยนั้นออกไปตั้งพระตำหนัก
อยู่ในที่ใกล้พระอารามวัดพุทธไธสวรรค์”
สมเด็จพระอัครมเหสีเดิมขิงสมเด็จพระเพทราชานี้ นามเดิมชื่อกัน เป็นพระราชมารดาเลี้ยงของ
ขุนหลวงสรศักดิ์ (เดื่อ) เนื่องจากนางกุสาวดี (กุลธิดา) พระราชมารดาเดิมเป็นพระราชธิดาของเจ้าเมืองเชียงใหม่
ที่ถูกสมเด็จพระนารายณ์มหาราชพระราชทานให้สมเด็จพระเพทราชานำไปเลี้ยงดูในขณะที่มีพระครรภ์แล้ว
ครั้นเมื่อประสูติขุนหลวงสรศักดิ์ (เดื่อ) ที่ตำบลโพธิ์ประทับช้าง แขวงเมืองพิจิตรแล้วก็คงมิได้กลับมาด้วย
สมเด็จพระอัครมเหสีเดิม (กัน) จึงรับภาระเลี้ยงดูอย่างบุตรบุญธรรม ครั้นเมื่อสมเด็จพระเพทราชาเสด็จสวรรคต
ใน พ.ศ. ๒๒๔๐ นั้น สมเด็จพระอัครมเหสีเดิมจึงได้ขอลาออกมาตั้งพระตำหนักอยู่ใกล้วัดดุสิต พระตำหนักใน
พระอารามวัดดุสิตแห่งนี้เดิมเป็นของเจ้าแม่ผู้เฒ่า ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “เจ้าแม่วัดดุสิต” ผู้เป็นพระนมเอก
ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเป็นพระมารดาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)
ซึ่งครั้งหนึ่งขุนหลวงสรศักดิ์ (เดื่อ) ได้เคยไปขอร้องให้เจ้าแม่ผู้เฒ่าขึ้นไปกราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษ
จากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ พระราชวังที่เมืองลพบุรี คราวมีเรื่องกับสมเด็จเจ้าพระยาวิไชย์เยนทร์
มีความในพงศาวดารว่า
“ฝ่ายหลวงสรศักดิ์ก็ไปเฝ้าเจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งเป็นมารดาเจ้าพระยาโกษาเหล็ก โกษาปาน และ
เป็นพระนมผู้ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น และถวายบังคมแล้ว ก็กราบทูลแถลงการณ์อันพระเจ้าวิไชยเยนทร์
กระทำการร้อนในพระพุทธศาสนาเหมือนดังนั้นและได้กราบทูลพระกรุณาแล้วก็มิได้เอาโทษ
ข้าพระพุทธเจ้ามีความโทมนัสถึงพระพุทธศาสนา อันพระเจ้าพิไชยเยนทร์จะทำให้พระพุทธศาสนาให้พินาศเสื่อมสูญ
ดังนั้นจึงชกเอาปากเจ้าสมุหนายกแล้วหนีลงมา และบัดนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธ
จะลงอาญาแก่ข้าพระพุทธเจ้า ขอจงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม อัญเชิญเสด็จขึ้นไป
ขอพระราชทานโทษข้าพระพุทธเจ้าครั้งหนึ่งเถิด”
สมเด็จพระราชมาดาเลี้ยง หรือพระอัครมเหสีเดิม (กัน) ของสมเด็จพระเพทราชาผู้นี้
ได้ออกไปตั้งตำหนักอยู่ที่เดียวกับพระตำหนักของเจ้าแม่วัดดุสิจ เมื่อเป็นอย่างนี้น่าเข้าใจว่า
เจ้าแม่ดุสิต (หม่อมบัว หรือ เจ้าแม่ผู้เฒ่า) นั้น คงถึงแก่อสัญกรรมแล้ว และต่อมา
สมเด็จพระราชมารดาเลี้ยงองค์นี้มาอาศัยอยู่ และได้รับแต่งตั้งเป็นกรมพระเทพามาตย์ (กัน)
เมื่อ พ.ศ. ๒๒๔๓ ก็น่าจะถูกเรียกว่าเจ้าแม่วัดดุสิตได้เช่นกัน
ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือ (ขุนหลวงสรศักดิ์) บุตรชายของพระยาโกษาธิบดี (ปาน)
ชื่อ ขุนทอง ได้เข้ารับราชการมีความดีความชอบเป็นพระยาอัษฎาเรืองเดช และอยู่รับราชการจนมีตำแหน่งสูง
เป็นเจ้าพระยาวรวงศาธิราช ตำแหน่งเสนาบดีคลัง ตามลำดับ
เจ้าพระยาวรศาธิราช (ขุนทอง) ขุนนางราชสำนักกรุงศรีอยุธยาผู้มีบุตรชายคนโต ๑ คน ชื่อทองคำ
ได้ถวายตัวเข้ารับราชการเป็นที่จมื่นมหาสนิท หัวเมืองมหาดเล็กใน สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
เมื่อ พ.ศ. ๒๒๔๕ สมเด็จพระเจ้าเสือได้สั่งลงพระอาญาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเพชร กรมพระราชบวรสถานมงคล
และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระบัณฑูรน้อย โดยจับมัดเฆี่ยนยกละ ๓๐ ที ทุกเช้าเย็น เนื่องจากทรงพระพิโรธ
ที่ช้างพระที่นั่งตกหล่มลึก กล่าวหาว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอได้ทำถนนผ่านบึงเพื่อให้ช้างพระที่นั่งเดินข้ามติดหล่ม
หมายจะฆ่าเอาพระราชสมบัติถึงกับพระองค์ขับช้างพระที่นั่งไล่ฟันด้วยพระแสงของ้าวและให้ทหารจับตัว
มาลงพระอาญาดังกล่าว เรื่องนี้กรมพระเทพามาตย์ (กัน) พระตำหนักริมวัดดุสิตถึงกับต้องนั่งเรือพระที่นั่ง
ขึ้นมายังพลับพลาที่ตำบลบ้านพลูหลวง แขวงเมืองนครสวรรค์ ดังมีความปรากฏในพงศาวดารว่า
“ขณะนั้นนายผลข้าหลวงเดิมคนหนึ่ง เข้าไปเฝ้าเยียนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองในเรือนโทษ
จึงมีพระบัณฑูรตรัสว่า อ้ายผลบัดนี้สมเด็จพระราชธิดาทรงพระพิโรธ ดำรัสสั่งให้ลงพระอาญาแก่กูทั้งสอง
ทุกเพลาเช้าเย็นเป็นนิจทุกวันๆ กว่าจะเสด็จกลับลงไป ณ กรุงเทพมหานครและกูทั้งสองจะทนพระราชอาญาได้
หรือ จะมิตายเสียหรือ เองจะคิดประการใด นายผลได้ฟังดังนั้นก็เห็นว่าจะพ้นภัยจึงกราบทูลว่า
ขอพระราชทานจงดำรัสให้ตำรวจเอาเรือเร็วลงไปกราบทูลเชิญสมเด็จพระอัยกีกรมพระเทพามาตย์
ซึ่งเสด็จอยู่ ณ พระตำหนักริมวัดดุสิตนั้นมาช่วยกราบทูลโทษ เห็นว่าจะทรงพระกรุณาโปรดพระราชทาน
ให้เป็นมั่นคง ด้วยเหตุว่ากรมพระเทพามาตย์นี้มีคุณูปการเป็นอันมาก ได้อุปถัมภ์บำรุงเลี้ยงรักษา
สมเด็จพระราชบิดามาแต่ทรงพระเยาว์นั้น จะว่ากระไรก็ว่ากันได้ เห็นจะขัดกันมิได้ และ
ซึ่งจะอุบายคิดอ่านไปอย่างนั้น เห็นว่าจะพ้นโทษ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ตรัสได้ทรงฟังดังนั้นก็เห็นชอบด้วย ทรงพระปีติโสมนัสยิ่งนัก
จึงมีพระบัณฑูรตรัสใช้หลวงเกษตรรักษา ให้เอาเรือเร็วรีบลงไปเฝ้าสมเด็จพระอัยกีกรมพระเทพามาตย์ และ
ให้กราบทูลโดยมูลเหตุทั้งปวงให้ทราบสิ้นทุกประการ แล้วจงทูลว่าเราทั้งสองพี่น้อง
ขอถวายบังคมมาแทบฝ่าพระบาท สมเด็จพระอัยกีเจ้าขอจงทรงพระกรุณาโปรด
เชิญเสด็จขึ้นมาช่วยทูลขอพระราชทานโทษข้าพเจ้าทั้งสองโดยเร็วเถิด ข้าพเจ้าทั้งสองจึงจะรอดจากความตาย
และซึ่งบุคคลใดจะมาเป็นที่พึ่งที่พำนักช่วยชีวิตข้าพเจ้าทั้งสองในคราวนี้เห็นไม่มีตัวแล้ว และ
หลวงเกษตรรักษารับสั่งแล้วก็มาลงเรือรีบไป ณ กรุงสามวันก็ถึง จึงเข้าไปเฝ้ากรมพระเทพามาตย์
พระตำหนักริมวัดดุสิตนั้น แล้ากราบทูลโดยมีพระบัณฑูรสั่งมานั้นทุกประการ
สมเด็จพระอัยกีได้ทรงฟังดังนั้นก็ตกพระทัย จึงตรัสเรียกข้าหลวงสาวใช้สั่งให้ฝีพายผูกเรือพระที่นั่ง
มาประเทียบท่าเป็นการเร็วแล้วเสด็จโดยด่วนมาลงเรือพระที่นั่งให้รีบเร่งฝีพายขึ้นไปหลวงเกษตรรักษา
เป็นเรือนำเสด็จ รีบเร่งไปทั้งกลางวันกลางคืน สี่วันก็ถึงท่าเรือประทับ จึงเสด็จขึ้นไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน
ณ พระตำหนักพลับพลานั้น
จึงพระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรเห็นกรมพระเทพามาตย์
พระราชมารดาเลี้ยงเสด็จขึ้นมา ก็กระทำปัจจุคมน์มหาการต้อนรับเชิญเสด็จให้ขึ้นนั่งร่วมราชาอาสน์
ทรงพระถวายอภิวาทแล้วลำดับถามว่า ซึ่งเจ้าคุณขึ้นมานี้มีกิจธุระเป็นประการใด จึงกรมพระเทพามาตย์กราบทูลว่า
ได้ยินข่าวลงไปว่าพระราชบุตรทั้งสองเป็นโทษ จึงอุตสาหะขึ้นมาหา ทั้งนี้เพื่อจะทูลขอพระราชทานโทษ
จึงมีพระราชโองการตรัสเล่าให้กรมเทพามาตย์ทรงฟังว่า อ้ายคนทั้งสองนี้มันคิดการกบฏ
เดิมข้าพเจ้าให้มันเป็นแม่กองถมถนนข้ามบึงมันแสร้งทำเป็นพุหลุมไว้ให้ช้าง ซึ่งข้าพเจ้าขี่นั้นเหยียบถลำลงแล้ว
มันก็คิดจะฆ่าข้าพเจ้าเสีย จะเอาราชสมบัติ กรมพระเทพามาตย์จึงกราบทูลว่า
อันพระราชบุตรทั้งสองนี้เป็นลูกเพื่อนทุกข์เพื่อนยากของพ่อมาแต่ก่อน และซึ่งจะคิดกบฏประทุษร้าย
ต่อพ่อนั้นหามิได้ กรมพระเทพมาตย์ กราบทูลวิงวอนขอพระราชทานโทษไปเป็นหลายครั้ง
จึงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานโทษแก่กรมพระเทพามาตย์นั้น แล้วมีพระราชดำรัสมอบให้แก่
กรมพระเทพามาตย์ว่า เจ้าคุณ จงเอามันทั้งสองลงไปเสียด้วยเถิด อย่าให้มันอยู่กับข้าพเจ้าที่นี่เลย
และถ้าจะเอามันไว้ที่นี่ด้วยข้าพเจ้าไซร้มันจะคิดกบฏฆ่าข้าพเจ้าอีกเป็นมั่นคง และ
กรมพระเทพามาตย์รับสั่งแล้วก็ไปถอดสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสองพระองค์ออกจากโทษ
แล้วทูลลาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน พาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์มาลงเรือพระที่นั่ง
แล้วเสด็จกลับลงมายังกรุงเทพมหานคร”
ดังนั้นสมเด็จเจ้าฟ้าเพชร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จึงน่าจะไว้วางใจให้จมื่นมหาสนิท (ทองคำ)
หัวหมื่นมหาเล็กออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสะแกกรัง เพื่อคอยกะเกณฑ์สิ่งของ และทำราชการ
ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดการเสด็จประพาสล้อมช้างป่า และเมืองอุทัยธานีเป็นเมืองที่
อุดมสมบูรณ์ด้วยข้าว ช้างป่า มูลค้างคาว ไม้ ผลกระวาน เป็นต้น สำหรับใช้ในกองทัพและ
เป็นยุทธปัจจัยของสมเด็จเจ้าฟ้าเพชร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล
ในโอกาสเป็นรัชทายาทที่จะขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์ต่อไปด้วย
ครั้นสมเด็จเจ้าฟ้าเพชร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า
“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ” เมื่อ พ.ศ. ๒๒๕๑ จมื่นมหาสนิท (ทองคำ) มีความดีความชอบได้รับแต่งตั้งเป็น
พระราชนกูล (บางแห่งเขียนพระยาราชนิกูล) ปลัดทูลฉลองกรมมหาดไทย ดังนั้นครอบครัวนี้จึงได้ย้ายจาก
บ้านสะแกกรัง (ตำบลในเขตเมืองอุทัยธานี) ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ตรงเหนือป้อมเพชร
จนมีบุตรธิดาเป็นครอบครัวใหญ่แถวบริเวณวัดสุวรรณดาราม (ต่อมาบริจาคที่ดินให้สร้างวัดนี้เป็นวัดประจำตระกูล)
ขณะที่พระยาราชนกูล (ทองคำ) อยู่ที่บ้านสะแกกรังนั้น ภรรยาให้กำเนิดบุตรชายคนโตชื่อ “ทองดี”
มีความปรากฏเป็นหลักฐานในพระราชหัตเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีถึง
เซอร์ จอห์น เบาริ่ง ในหนังสือ THE KINGDOM AND PEOPLE มีความแปลดังนี้
“ผู้ซึ่งเป็นพระมหาชนกแห่งปฐมกษัตรย์ราชวงศ์จักรี และเป็นพระอัยกาของพระบิดาแห่กษัตริย์องค์ปัจจุบัน
(คือ ตัวข้าพเจ้าเอง) ของประเทศสยาม เป็นราชโอรสอันสูงศักดิ์ของราชวงศ์ที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนาง
กระทรวงต่างประเทศ ซึ่งได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา และต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่บ้านสะแกกรัง
อันเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำ อันเป็นสาขาของแม่น้ำใหญ่เชื่อมอาณาเขตติดต่อภาคเหนือและ
ภาคใต้ของประเทศสยาม ประมาณเส้นรุ้ง ๑๓” ๑๕” ๓๐ เหนือ ดูจะกว่าบ้างเล็กน้อย เส้นแวง ๙๙” ๙๐” ตะวันออก
เล่ากันว่าบุคคลผู้มีความสำคัญได้ถือกำเหนิดที่นี่ และกลายเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นพิเศษของราชวงศ์สยาม
ที่มาจากหมู่บ้านสะแกกรัง สู่กรุงศรีอยุธยา…”
บุคคลผู้มีความสำคัญถือกำเนิดที่บ้านสะแกกรังตามหลักฐานนี้ชื่อทองดี ก็คือ
สมเด็จพระปฐมบรมมหาราชนกนาถ (ทองดี) ผู้ซึ่งเป็นพระบรมชนกนาถของต้นราชวงศ์จักรีนั่นเอง
“นายทองดี” บุตรชายคนโตของพระยาราชนกูล (ทองคำ) ผู้นี้เกิดที่บ้านสะแกกรัง แขวงเมืองอุทัยธานี
ต่อมาบิดาได้นำตัวไปรับราชการอยู่ด้วยที่กรมมหาดไทย โดยช่วยงานอยู่กับตน ในแผ่นดินของ
สมเด็จพระเจ้าพระบรมโกษฐ์ (พ.ศ. ๒๒๗๕–๒๓๑๐) ในที่สุดได้รับตำแหน่งเป็น “หลวงพินิจอักษร”
เสมียนตรากรมมหาดไทย ต่อมาเมื่ออายุได้ ๒๐ ปี หลวงพินิจอักษรได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ
เมื่อลาสิกขาบทแล้วพระยานุกูล (ทองคำ) จึงได้สู่ขอ “ดาวเรือง” (บางแห่งว่าชื่อ “หยก”)
หลานสาวของพระยาอภัยราชา สมุหนายกว่าราชการแผ่นดินในกรุงศรีอยุธยาให้แต่งงานอยู่กินตามประเพณี
ต่อมาหลวงพินิจอักษร (ทองดี) ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอักษรสุนทรศาสตร์ เสมียนตรากรมมหาดไทย
มีหน้าที่ร่างพระราชสาสน์ตราต่างๆ ของพระมหากษัตริย์และรักษาพระราชลัญจกร อันเป็นตราประจำแผ่นดิน
เจ้าคุณพระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) และคุณนายดาวเรืองได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ภายในกำแพง
ตรงกันข้ามกับป้อมเพชรด้านหลังนั้นปรากฏว่าได้เป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป เมื่อมีฐานะดีขึ้นจึงได้ถวายที่ดินสร้างวัด
ชื่อวัดทอง (ต่อมาเปลี่ยนเป็น วัดสุวรรณดาราม) ไว้ใกล้ๆ บ้านและถือเป็นวัดประจำตระกูลตามคดีโบราณ
ที่นิยมสร้างวัดให้ลูกหลานไปวิ่งเล่นและใช้ทำบุญในหมู่ญาติที่รวมตัวกันเป็นชุมชนใหญ่
คุณนายดาวเรืองภรรยาของพระอักษรสุนทรศาสตร์ ได้มีบุตรคนแรกเป็นหญิงชื่อสา
คนที่สองเป็นบุตรชายชื่อราม และบุตรคนที่สามเป็นหญิงชื่อแก้ว
ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๙ คุณนายดาวเรืองได้ตั้งครรภ์บุตรคนที่สี่ พอเวลาครรภ์แก่จวนใกล้คลอดนั้น
พระภิกษุเจ้าฟ้านเรนทร์ กรมขุนสุเรนทร์พิทักษ์ พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
ซึ่งเสด็จออกทรงผนวชได้เสด็จมาเยี่ยม และได้ทำน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ให้นางคลอดบุตรง่าย
ครั้นถึงวันพุธ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ ปีมะโรงตรงกับวันพุธที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๗๙
คุณนายดาวเรืองได้คลอดบุตรเป็นชาย ในครั้งนั้นพระภิกษุเจ้าฟ้านเรนทร์ กรมขุนสุเรนทร์พิทักษ์
ทรงฉีกชายสบงผูกคอเด็กให้เป็นมงคล บุตรชายคนที่สี่นี้พระอักษรสุนทรศาสตร์ตั้งชื่อว่า “ทองด้วง”
เมื่อทองด้วงอายุได้ ๕ ขวบนั้น ชอบวิ่งเล่นตามประสาเด็กผู้ชาย ครั้งหนึ่งเด็กชายทองด้วง
ได้วิ่งถลาเข้าไปในกองไฟที่ลุกโชนโดยที่คุณนายดาวเรืองไม่ทันเห็น สา และ แก้ว
พี่สาวทั้งสองคนเห็นจึงช่วยกันดึงร่างเด็กชายทองด้วงออกมาจากกองไฟ ปรากฏว่าเนื้อตัวของเด็กชายด้วง
ไม่เป็นอันตราบแต่อย่างใด นับเป็นสิ่งอัศจรรย์ในบุญญาธิการที่เกิดขึ้นในสมัยยังเป็นเด็ก
ต่อมาเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๒๘๖ เวลา ๒ ยามเศษ
คุณนายดาวเรืองได้คลอดบุตรคนที่ ๕ เป็นชายชื่อบุญมา หลังจากนั้นไม่นานคุณนายดาวเรืองได้ถึงแก่กรรม
จึงทำให้พระอักษรสุนทรศาสตร์โศกเศร้าเป็นอย่างมาก
เนื่องด้วยเจ้าคุณพระฯ มีบุตรที่อายุยังน้อยและต้องการผู้เลี้ยงดูบุตรชายหญิง
จึงได้ตกลงใจสู่ขอน้องสาวของคุณนายดาวเรืองมาแต่งงานเพื่อดูแลครอบครัวต่อไป
ต่อมาได้มีบุตรด้วยกันคนหนึ่งเป็นหญิงชื่อกุน
เด็กชายทองด้วงอายุได้ ๑๓ ปี เจ้าคุณพระฯ และคุณนายน้องสาวฯ ได้จัดให้มีพิธีโกนจุก
พร้อมกับนิมนต์พระภิกษุเจ้าฟ้านเรนทร์ กรมขุนพรพินิจ ได้เสด็จมาโกนจุก และรดน้ำ
นายทองด้วงนั้นเมื่อมีอายุพอที่จะรับราชการได้แล้ว พระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี)
ได้นำตัวเข้าถวายเป็นมหาดเล็กในเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิจ ส่วนบุตรชายคนที่สองชื่อบุญมานั้น
ได้รับราชการเป็นทหารใน พ.ศ. ๒๒๙๓
ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๑ ได้มอบราชสมบัติให้แก่
เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิจเป็นกษัตริย์ พระองค์ทรงครองราชอยู่ได้ ๒ เดือนก็มีเหตุให้ต้องเวนคืนราชสมบัติ
ให้เจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมอนุรักษ์มนตรี ขึ้นได้ครองราชย์เป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสุริยามรินทร์”
พ.ศ. ๒๓๐๒ นายทองด้วงอายุได้ ๒๒ ปี พระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) บุดาได้จัดให้บวชตามประเพณี
และจำพรรษาอยู่ที่วัดมหาทะลาย อยู่ร่วมกับพระภิกษุสิน (คือ สมเด็จพระเจ้าตากสิน) ระหว่างที่อุปสมบทอยู่นั้น
จีนแสหมอดูได้ทำนายพระภิกษุทั้งสองไว้ว่าจะได้เป็นกษัตริย์ ดังพระนิพนธ์ในสามกรุงของ
พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยากรณ์ ว่า
“ท่านเป็นบุรุษต้องตามลักษณ์ ล้วนแล
บุญเด่นเห็นประจักษ์ เจิดหล้า
จักสู่กระภูศักดิ์ สุรกษัตริย์
สืบศุภวงษ์ตรงหล้า สฤษดิ์เลี้ยงเวียงสยาม”
ครั้นเมื่อพระภิกษุทองด้วงลาสิกขาบทแล้ว พระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) ได้ไปสู่ขอ “นาค”
บุตรีของเศรษฐีทอง และนางสั้นชาวบ้านอัมพวา แขวงบางช้าง เมืองราชบุรีมาแต่งงานกับนายทองด้วง
ส่วนนายบุญมานั้นพออายุได้ ๑๖ ปี ได้เข้ารับราชการเป็นมหาเล็กในเจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี
ต่อมานายบุญมาได้รับแต่งตั้งเป็นนายสุดจินดา มหาเล็กหุ้มแพรเมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๖
ส่วนนายทองด้วงนั้นได้รับแต่งตั้งให้ไปรับราชการอยู่ที่เมืองราชบุรีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๐๓
ภายหลังได้รับแต่งตั้งให้เป็นหลวงยกกระบัตรเจ้าเมืองราชบุรี จึงย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านอัมพวา
แขวงบางช้างอันเป็นบ้านของคุณนาคภรรยา
ใน พ.ศ. ๒๓๐๘ พระยาตาก (สิน) เจ้าเมืองตาก ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาวชิรปราการ (สิน)
เจ้าเมืองกำแพงเพชร ได้เดินทางมารับตำแหน่งในกรุงศรีอยุธยา ขณะที่มีข่าวพม่ายกทัพเข้ามาทำศึกสงคราม
จึงถูกขอตัวให้อยู่ช่วยราชการทัพที่กรุงศรีอยุธยาก่อน โดยแต่งตั้งให้เป็นนายกองทัพเรือ
ตั้งรับศึกพม่าที่ยกมาตีกรุงศรีอยุธยา ได้สู้รบเป็นสามารถ แต่เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ไม่สนใจ
ในการศึกสงคราม และมีความอ่อนแอไม่คิดจะสู้รบกับข้าศึก จึงเป็นเหตุให้เหล่าทหารหาญต่างท้อแท้หมดกำลังใจ
จนในที่สุดเมื่อวันเสาร์ที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๓๑๐ พระยาวชิรปราการ (สิน) จึงนำกำลัง ๕๐๐ คน
ตีฝ่าพม่าไปทางตะวันออก ผ่านบ้านหันตรา บ้านข้าวหันตรา บ้านข้าวเม่า หันหน้าสู่หัวเมืองชายทะเลตะวันออก
ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงในวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๑๐ เวลา ๑๖.๐๐ น. ตรงกับวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน
นพศกนั้น พม่าได้เข้ากรุงศรีอยุธยาเผาบ้านเรือนเสียหาย ผู้คนระส่ำระสายจนต้องพากันทิ้งกรุงหนีเอาตัวรอด
ไปอาศัยอยู่ตามเมืองต่างๆ ในครั้งนั้นพระอักษรศาสตร์ (ทองดี) และภรรยาที่ชื่อมา พร้อมบุตรชายที่เกิดจากคุณมาชื่อลา
ได้พากันอพยพขึ้นไปอยู่กับเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ซึ่งสนิทสนมกัน ประกอบกับเมืองพิษณุโลกเป็นบ้านของ
คุณมาภรรยาน้อยด้วย ส่วนนายสุดจินดา (บุญมา) นั้น พร้อมด้วยเพื่อนร่วมใจอีก ๒ คน ได้หลบหนีเล็ดลอดลงเรือโกลน
พร้อมด้วยฆ้องกระแต สมบัติของเจ้าคุณปู่ (พระยาราชนกูล) ล่องมาตามลำน้ำ ใช้กลอุบายหลอกพม่าเพื่อจะไปหา
หลวงยกกระบัตรผู้เป็นพี่ชายที่เมืองราชบุรี และได้ตามหาพี่ชายจนพบ ตอนนั้นหลวงยกกระบัตรได้พา
ครอบครัวหลบหนีพม่าอยู่ในป่า น้องชายจึงได้ชักชวนให้พี่ชายไปรับราชการอยู่กับพระยาวชิรปราการ (สิน) เจ้าเมืองตาก
ที่เข้ามาช่วยราชการทัพในกรุงศรีอยุธยาและได้หนีออกมารวบรวมกำลังกอบกู้อิสรภาพโดยตั้งมั่นอยู่ที่เมืองจันทรบุรี
แต่เนื่องจากคุณนาคภรรยาของหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) ขณะนั้นกำลังตั้งครรภ์อยู่ จึงได้ฝากพระธำรงค์ ๓ วง
และดาบทองคำเล่มหนึ่งไปให้พระยาวชิรปราการ (สิน) แทนตัว พร้อมกับแนะนำให้นายสุดจินดา (บุญมา) น้องชายไปรับ
นางนกเอี้ยงมารดาของพระยาวชิรปราการ (สิน) จากบ้านแหลม เมืองเพชรบุรีไปพร้อมกันเพื่อจะได้ไปอยู่กับ
พระยาวชิรปราการ (สิน) ผู้เป็นบุตรให้หายห่วงใยด้วย ส่วนตนเองนั้นจะติดตามไปสมทบด้วยในภายหลังขอให้
คุณนาคภรรยาคลอดบุตรเสียก่อน มีความปรากฏในพงศาวดารว่า
“ส่วนสุดจินดา มหาดเล็กนั้นหนีออกไปพำนักอยู่ ณ เมืองชลบุรี ครั้นเมื่อรู้ข่าวว่าเจ้าตากออกไปตั้งอยู่
ณ เมืองจันทบุรี จึงพาพรรคพวกบ่าวไพร่เดินบกออกไปพึ่งด้วยเจ้าตาก เจ้าตากก็รับไปชุบเลี้ยงตั้งเป็นพระมหามนตรี
เพราะรู้จักคุ้นเคยกันมาแต่ก่อนกรุงยังไม่เสียนั้น”
ขณะนั้นเจ้าเมืองอื่นๆ ได้ถือโอกาสตั้งตนเป็นใหญ่ในยามที่บ้านเมืองระส่ำระสาย สำหรับพระยาวชิรปราการ (สิน) นั้น
ได้พยายามรวบรวมกำลังจากทหารที่หนีออกจากกรุงศรีอยุธยาและทำการปราบปรามพม่าและบรรดาก๊กต่างๆ
พร้อมกับได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ หรือเรียกกันทั่วไปว่า
สมเด็จพระเจ้าตากสิน เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๑ และได้สร้างกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงของไทย
พระมหามนตรี (บุญมา) เจ้ากรมพระตำรวจในขวา ถือศักดินา ๒,๐๐๐ ไร่ ได้ทูลขอสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวออกไป
รับหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) เจ้าเมืองราชบุรี ผู้เป็นพี่ชายมารับราชการอยู่ด้วย และต่อมาหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง)
ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระราชวรินทร์เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา ถือศักดินา ๑,๖๐๐ ไร่ พี่น้องทั้งสองท่านนี้
ได้ทำความดีความชอบในการสงครามมาก จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น ดังนี้
พระมหามนตรี เป็น พระอนุชิตราชา จางวางพระตำรวจฝ่ายขวา พระราชวรินทร์ เป็น
พระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางพระตำรวจฝ่ายนอกขวา และได้รับพระราชทานบ้าน ที่ดิน
อยู่ใต้วัดบางหว้าใหญ่ (คือวัดระฆังโฆษิตาราม กรุงเทพฯ)
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ยกทัพขึ้นไปตีเมืองพิษณุโลกทั้งทางบกและทางเรือ
ในครั้งนั้นเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เจ้าเมืองพิษณุโลกได้สั่งให้หลวงโกษา (ฝัง) คุมกองทัพบกและ
กองทัพเรือมาตั้งรับที่ตำบลเกยชัย แขวงเมืองนครสวรรค์ รบพุงกันเป็นสามารถและยิงปืนต้องพระชงฆ์ข้างช้าย
สมเด็จพนะเจ้าตากสินมหาราชจึงได้สั่งให้ถอยทัพกลับกรุงธนบุรี เจ้าเมืองพิษณุโลก (เรือง)
จึงได้ใจกำเริบถือว่าตนเองมีบุญญาธิการชนะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ จึงตั้งตนเป็นกษัตริย์
และได้แต่งตั้งพระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) ซึ่งถือว่าเป็นเจ้านายผู้ใหญ่ที่ขึ้นไปหลบหนีพม่าอยู่ที่เมืองพิษณุโลกเป็น
“เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายกเสนาบดี”
ส่วนเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) นั้น ครั้นเมื่อสถาปนาตนเองและจัดพิธีราชาภิเษกได้ ๗ วัน
ก็ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคฝีละลอกในคอพระอินทรชากรน้องชายจึงปกครองเมืองพิษณุโลกแทนพี่ชาย
แต่ไม่ได้สถาปนาเป็นกษัตริย์
พระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) หลังจากได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ “เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายกเสนาบดี”
แล้ว ต่อมา พ.ศ. ๒๓๑๑ เจ้าพระยาจักรีฯ ได้ถึงแก่อสัญกรรม คุณนายมาภรรยาน้อย และนายลาบุตรชาย พร้อมด้วย
นายขวัญ (ต่อมาได้เป็นนายชำนาญกระบวน นายเวรกรมมหาไทย) นายยิ้ม นายแย้ม ได้ช่วยกันจัดการเรื่องศพและ
นำพระอิฐของเจ้าพระยาจักรีฯ ลงมาหาพระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง) ที่ตำบลเกยชัย แขวงเมืองนครสวรรค์
พระอัฐิของเจ้าพระยาจักรีองครักษ์ (ทองดี) นี้ ได้แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนหนึ่งเป็นของ
พระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง) และอีกส่วนหนึ่งเป็นของพระอนุชิตราชา (บุญมา) บุตรชายทั้งสองคน
แล้วต่างก็ร่วมกันรับคุณนายมา นายลา และพรรคพวกไว้ในอุปการะทั้งหมด
ในปี พ.ศ. ๒๓๑๒ เจ้าพระฝาง (เรือง) ได้ยกกองทัพล้อมเมืองพิษณุโลก ๓ วัน ๓ คืน
ก็สามารถตีเมืองและยึดครองเมืองพิษณุโลกได้ ชาวเมืองพิษณุโลก เมืองพิจิตรจึงพากันอพยพครอบครัว
ลงมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นอันมาก และ
ในที่สุดสมเด็จพระเจ้าตากสินสามารถปราบปรามก๊กเจ้าฝางได้
เมื่อทำการปราบปรามก๊กต่างๆ สำเร็จ และจัดแจงบ้านเมืองให้เหตุการณ์สงบเรียบร้อย
ประเทศสยามก็สามารถรวบรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่นดำรงความเป็นเอกราชได้แล้ว พระอนุชิตราชา (บุญมา)
จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นพระยายมราช และเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช ผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลกตามลำดับ
ส่วนพระอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง) นั้น ได้รับแต่งตั้งเป็น พระยายมราช เจ้าพระยาจักรีสมุหพระกลาโหม และ
สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก แม่ทัพ ตามลำดับ
บุคคลทั้งสองพี่น้องนี้ได้รับราชการอยู่กับพระเจ้าตากสิน จนกรุงธนบุรีเกิดระส่ำระสาย
มีการจราจลตอนปลายรัชกาล โดยพระยาสรรค์เข้ายึดอำนาจไว้
ขุนสรวิชิต (หน) นายด่านเมืองอุทัยธานี ได้ยกกำลังทหารด่านนำข้าราชการทางกรุงธนบุรีไปรายงาน
และนำทหารด่านเมืองอุทัยธานีออกไปรับกองทัพ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง)
ณ ทุ่งแสนแสบ (เขตบางกะปิ) แล้วนำกองทัพเข้ากรุง โดยตั้งทัพพักที่วัดสระเกศ ๑ คืน
ครั้นรุ่งเช้าวันเสาร์ที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ ตรงกับวันแรม๙ ค่ำ เดือน ๕ เวลา ๒ โมงเศษ
สมเด็จพระเจ้ามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) ได้จัดกระบวนกองทัพเดินตรงมานั่งเรือพระที่นั่งข้ามไปยังกรุงธนบุรี
ทำการปราบจราจลเสร็จแล้ว ได้ทำการชำระความบ้านเมืองซึ่งมีปรากฏในพงศาวดารว่า
“มุขมนตรีทั้งหลายพร้อมกับการกราบทูลว่าพระเจ้าแผ่นดินทุจริตธรรมเสียฉะนี้
ก็เห็นว่าเป็นเสี้ยนหนามหลังตออันใหญ่อยู่ในแผ่นดินจะละไว้มิได้ควรจะให้สำเร็จโทษเสีย
จึงรับสั่งให้มีการกระทู้ถามเจ้าตากเจ้าแผ่นดินผู้ทุจริตว่า ตัวเป็นเจ้าแผ่นดินใช้เราไปกระทำการสงครามได้ความลำบาก
กินเหงื่อต่างน้ำ เราอุตสหะทำศึกมิได้อาลัยต่อชีวิต คิดแต่จะทำนุบำรุงแผ่นดินให้สิ้นเสี้ยนหนาม
จะได้สมณพราหมณาจารย์และไพร่ฟ้าประชากรอยู่เย็นเป็นสุขสิ้นด้วยกัน ก็เหตุไฉนอยู่ภายหลังตัวจึงเอาบุตร
ภรรยาเรา มาจองจำโทษ แล้วโบยตีพระภิกษุสงฆ์ และลงโทษแก่ข้าราชการและอาณาประชาราษฎร์
เร่งเอาทรัพย์สินโดยพลการด้วยหาความผิดมิได้ กระทำให้แผ่นดินเดือดร้อนทุกเส้นหญ้า
ทั้งพระพุทธศาสนาก็เสื่อมทรุดเศร้าหมองดุจเมืองมิจฉาทิฐิฉะนี้โทษตัวมีประการใดจงให้การไปให้แจ้ง
และเจ้าตากสินก็รับผิดทั้งสิ้นทุกประการ”
วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ วันอาทิตย์ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล ไดทำพิธีตั้งเสาหลักเมืองกรุงเทพมหานคร
และต่อมาวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๕ วันจันทร์ เดือน ๘ ขึ้น ๑ ค่ำ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง)
ได้รับปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า “พระบามสมเด็จพระบรมราชาธิราช รามาธิบดี” และได้สถาปนาพระราชวงศ์
เป็นราชตระกูล พระอักษรสุนทรศาสตร์ ผู้เป็นพระบิดาที่ถึงแก่อสัญกรรม ณ เมืองพิษณุโลก
มาสถาปนาเป็น “สมเด็จพระชนกาธิบดี” และนำมหาสังข์อุตราวัฏของประจำตระกูลเข้าพิธีปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์
ประดิษฐานพระราชวงศ์ใหม่โดยนำเอานามบรรดาศักดิ์ของ “เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์” และ
ได้สถาปนาพระราชวงศานุวงศ์ มีสมเด็จพระพี่นาง ๒ พระองค์ และพระเจ้าน้องยาเธออีก ๑ พระองค์ รวมเป็น ๑๙ พระองค์
เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช (บุญมา) นั้น ได้รับสถาปนาให้เป็น “สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” ตำแหน่งพระมหาอุปราชวังหน้า
พระอัฐิของพระชนก ส่วนที่เป็นของพระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราช รามาธิบดี (ทองด้วง) นั้นได้อัญเชิญ
เข้าประดิษฐานในพระโกศทองคำประดับพลอยและทับทิม ตั้งไว้บนหอนมัสการในพระบรมมหาราชวัง
สำหรับพระองค์ทรงสักการบูชาและให้พระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนข้าราชการ ได้ถวายบังคม
ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาแทนธรรมเนียมเดิม ที่นิยมถวายบังคมพระเชษฐบิดร อันได้แก่
รูปสมเด็จพระรามาธิบดี (พระเจ้าอู่ทอง) ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา ส่วนพระอัฐิของพระชนกอีกส่วนหนึ่ง
ซึ่งเป็นของสมเด็จกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท (บุญมา) สันนิษฐานว่าคงจะอัญเชิญเข้าประดิษฐานในพระเจดีย์ทอง
ที่มณฑปวัดมหาธาตุ จึงต้องตั้งเครื่องทองน้อยสำหรับพระองค์ทรงสักการะบูชาเป็นพิเศษ
ณ พระเจดีย์ทองในพระมณฑปสืบต่อมา
สำหรับการถวายพระเพลิงพระยรมอัฐิของ สมเด็จพระชนกาธิบดีสนองพระเดชพระคุณ
เพราะเมื่อสมเด็จพระชนกาธิบดีสวรรคตเป็นเวลาบ้านเมืองเกิดจลาจล พระราชวงศานุวงศ์กระจัดพลัดพรากกัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระพี่นาง สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
ก็หาได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระชนกาธิบดีไม่ จึงโปรดให้สร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่
และเครื่องมหรสพสมโภชเหมือนอย่างการพระบรมโกศพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า เจ้าอนัมก๊ก
และองค์สมเด็จพระนารายณ์ รามาธิบดี เจ้ากรุงกัมพูชาเมื่อได้ทราบข่าวก็แต่งทูตให้คุมสิ่งของ
เข้ามาทูลถวายช่วยในการพระเมรุทั้ง ๒ เมือง
ครั้น ณ เดือน ๕ ปีมะโรง อัฐศก จุลศักราช ๑๑๕๘ การพระเมรุสร้างเสร็จแล้ว วันขึ้น ๑๓ ค่ำ
โปรดให้แก่พระบรมสารีริกธาตุออกมาสู่พระเมรุมีการมหรสพสมโภช ๓ คืน ๓ วัน
ครั้นวันแรม ๑ ค่ำ จึงแห่พระบรมอัฐิ ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชโยงพระบรมอัฐิเอง
สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ก็ทรงพระราชฐานโปรยข้าวตอกนำมาในกระบวนและ
พระราชวงศ์ทรงรูปสัตว์สังเค็ด ประคองผ้าไตรเข้าในกระบวนแห่ด้วยหลายพระองค์ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล
ในครั้งนั้นเป็นเอนกประการ
อนึ่งในการมหรสพสมโภชพระบรมอัฐิครั้งนั้น มีโขนชักรอกโรงใหญ่ ทั้งโขนวังหลวงและวังหน้า
แล้วประสมโรงเล่นกลางแปลง เล่นเรื่องศึกทศกัณฐ์ยกทัพกับ ๑๐ ขุน ๑๐ รถ โขนวังหน้าเป็นทัพทศกัณฐ์
ยกออกจากพระราชวังบวรฯ มาเล่นรบในท้องสนามหลวงหน้าพลับพลาถึงมีปืนบาเรียมลางเกวียนลากออกมา
ยิงกันสนั่นไป
ครั้นถึงวันแรม ๔ ค่ำ เชิญพระบรมธาตุแห่กลับแล้ว เวลานั้นถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิ
นั้นด้วยไม้หอมต่างๆ และในเวลาที่ถวายพระเพลิงพระบรมอัฐินั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับ
สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคลช่วยกันทรงเชิญพระจิตกาธานซึ่งประดิษฐาน
พระบรมอัฐิไว้ด้วยพระหัตถ์ จนถวายพระเพลิงเสร็จรุ่งขึ้นโปรดให้แห่พระอังคารไปลอยตามประเพณี”
สำหรับราชวงศ์กษัตริย์นั้นแม้จะมีเชื้อสายเดิมจากราชวงศ์พระร่วงหรือราชวงศ์สุโขทัย
แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชรัชการที่ ๑ ได้สถาปนาราชวงศ์จักรีแล้ว
จึงต้องนับเริ่มจากสมเด็จพระชนกาธิบดี (ทองดี) สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถแห่งปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี
ซึ่งทรงมีพระอัครชายาพระนามเดิมว่า “ดาวเรือง” (บางแห่งว่าชื่อหยก) มีพระราชโอรส และพระราชธิดา ๗ พระองค์
นับเป็นราชสกุลชั้นที่ ๑ ของลำดับ ราชสกุลพระราชวงศ์จักรีคือ
๑. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมพระยาเทพสุดาวดี (พ.ศ. ๒๒๗๒–๒๓๔๒) พระนามเดิมว่า “สา”
มีภัสดาชื่อหม่อมเสน เป็นที่พระอินทรรักษา เจ้ากรมพระตำรวจวังหน้าในสมัยกรุงศรีอยุธยา และ
ถึงแก่กรรมในสมัยนั้น
สิ้นพระชนม์เมื่อวันศุกร์ เดือน ๑๒ แรม ๑๐ ค่ำ ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๔๒ พระชันษาได้ ๗๐ เศษ
๒. พระเจ้ารามณรงค์ ไม่ปรากฏเดิมมีพระนามอย่างไร ได้เข้ารับราชการเป็นทหาร เป็นขุนรามณรงค์
และสิ้นพระชนม์เสียตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา
๓. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมพระศรีสุดารักษ์ (พ.ศ. ๒๒๘๒–๒๓๔๒) พระนามเดิมว่าแก้ว มีภัสดาชื่อ
เจ้าขรัวเงิน ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมในสมัยกรุงธนบุรี
๔. พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราช รามาธิบดี (พ.ศ. ๒๒๗๙–๒๓๕๒) พระนามเดิมว่า “ทองด้วง”
ทรงพระราชสมภพในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ เมื่อวันพุธที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๗๙ ตรงกับ
วันพุธ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ ปีมะโรง ได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิจ และ
อุปสมบทร่วมสำนักวัดมหาทะลายกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสิน ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นหลวงยกกระบัตร
เจ้าเมืองราชบุรี พระราชวรินทร์เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา พระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางพระตำรวจฝ่ายขวา
พระยายมราช เจ้าพระยาจักรี สมุหกลาโหม และสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก แม่ทัพในแผ่นดินกรุงธนบุรี
เมื่อมีชันษาได้ ๔๖ พรรษาได้เสด็จผ่านพิภพปราบดาภิเษกเป็นพระปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี
ในวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ ปีขาล ดำรงสิริราชสมบัติอยู่ ๒๘ พรรษา
พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๒ เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ ปีมะเส็ง
พระชนมพรรษาได้ ๗๓ พรรษา
พระนามที่ใช้เรียกกันทั่วไปนี้อัญเชิญจากพระนามพระพุทธรูปที่รัชกาลที่ ๓ สร้างอุทิศถวายในพระอุโบสถ
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ และ
ก่อนนั้นนิยมเรียกพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินต้น
๕. สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (พ.ศ. ๒๒๘๖–๒๓๔๖) พระนามเดิมว่า “บุญมา”
ทรงพระราชสมภพในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๒๘๖ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีกุน
เวลา ๒ ยามเศษได้รับราชการเป็นมหาดเล็กในเจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรีต่อมา
ได้รับแต่งตั้งเป็นนายสุจินดา มหาดเล็กหุ้มแพร ครั้นเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ได้ลอบหนีออกจากกรุงมาเข้ารับราชการ
อยู่กับพระยาตาก (สิน) หรือพระยาวชิรปราการ ซึ่งต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระมหามนตรีเจ้ากรมพระตำรวจในขวา
พระอนุชิตราชา จางวางพระตำรวจฝ่ายขวา พระยายมราช และเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช
ผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก ตามลำดับ
เมื่อพระชันษาได้ ๔๐ พรรษา พระบรมเชษญาธิราชได้สถาปนาราชวงศ์และมีพิธีอุปราชาภิเษกเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ตำแหน่งพระมหาอุปราช เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ พระองค์เสด็จสวรรคต
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๔๖ เดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ ปีกุน พระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา
พระนามที่เรียกกันทั่วไปคือ พระยาเสือ หรือพระเจ้าเสือ
นอกจากนี้ยังมีพระธิดาและพระโอรสของสมเด็จพระชนกาธิบดีที่ประสูติจากพระอัครชายาและ
พระชนนีพระองค์อื่นๆ นั้นมี
๖. เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์เทวี พระนามเดิมชื่อกุ เป็นพระธิดาที่เกิดจากพระชนนี ผู้เป็นน้องนางของ
พระอัครชายาเดิม (ดาวเรือง) พระองค์เสด็จอยู่วังริมวัดโพธาราม (วัดพระเชตุพน) จึงเรียกกันว่า “เจ้าครอกวัดโพธิ์”
ได้รับสถาปนาให้เป็น พระองค์เจ้าหญิงกุ มีพระชนม์อยู่ถึงรัชกาลที่ ๓ สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๐
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงสถาปนาพระนามพระอัฐิเป็น กรมหลวงนรินทรเทวี (ต้นสกุลนรินทรกุล)
๗. เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา พระนามเดิมว่าลา เป็นโอรสพระองค์น้อยที่เกิดจากเจ้าจอมมารดามา
เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ได้ติดตามเสด็จพระชนกาธิบดี (ทองดี) และเจ้าจอมมารดามาขึ้นไปอยู่ที่เมืองพิษณุโลก
เมื่อสมเด็จพระชนกาธิบดีพระบิดาถึงแก่อสัญกรรมได้ปลงพระศพและได้อัญเชิญพระอัฐิมาถวาย
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระราชวังบรมมหาสุรสิงหนาท
ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นกรมหลวงจักรเจษฎา (ต้นสกุล เจษฎากูร) วังที่ประทับอยู่ตรงบางลำภู
พระองค์สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อ เดือน ๗ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๕๐
ส่วนราชกุลวงศ์ชั้นที่ ๒ ของพระราชวงศ์จักรีนั้น เป็นดังนี้
๑. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระยาเทพสุดาวดี (สา) มีภัสดาชื่อพระอินทรรักษา (หม่อมเสน)
ทีพระโอรสพระธิดา ๔ พระองค์ คือ
(๑) เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ (พ.ศ. ๒๒๘๐–๒๓๔๙)พระนามเดิมชื่อทองอิน ได้เป็นพระยาสุริยอภัย
ในสมัยกรุงธนบุรีไปแจ้งให้ทราบเมื่อคราวยกทัพไปตีเมืองเขมร ต่อมาได้สถาปนาเป็นกรมพระราชวังหลัง
มีวังอยู่ในสวนลิ้นจี่ ริมคลองบางกอกน้อย (ต้นสกุลปาลกวงศ์ และเสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา)
(๒) เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศร์บดินทร์ (พ.ศ. ๒๒๙๐–๒๓๒๘) พระนามเดิมชื่อบุญเมือง ได้เป็นพระอภัยสุริยา
ในสมัยกรุงธนบุรีอยู่ที่พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี
(๓) เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ (พ.ศ. ๒๓๐๐–๒๓๔๐) พระนามเดิมชื่อทองจีน ได้เป็นหลวงนายฤทธิ์
อุปทูตไปปักกิ่งมีวังอยู่ที่สวนมังคุด เหนือวัดบางหว้าใหญ่ (ต้นสกุลนรินทรากูร ณ อยุธยา)
(๔) เจ้าฟ้าหญิงทองคำประสูตเมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๔ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๑
๒. พระเจ้ารามณรงค์ มีพระธิดา ๑ พระองค์คือ กรมขุนรามินทรสุดา คนทั้งหลายเรียก “เจ้าครอกชี”
สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๑ ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้สถาปนาพระอัฐิเป็น กรมขุนรามินทรสุดา
๓. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว) มีภัสดาชื่อ เจ้าขรัวเงิน สกุลเศรษฐี
มีพระโอรสพระธิดา ๖ พระองค์ คือ
(๑) เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพพิทักษ์ (พ.ศ. ๒๓๐๒–๒๓๔๘) พระนามเดิมชื่อ “ตัน” (ต้นสกุล เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
(๒) เจ้าฟ้าหญิงกรมขุนอนัคฆนารี ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๕ พระนามเดิมชื่อ “ฉิม” ในสมัยราชกาลที่ ๔
ได้สถาปนาพระอิฐเจ้าฟ้าหญิงฉิม เป็นกรมขุนอนัคฆนารี
(๓) เจ้าฟ้าชาย สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
(๔) สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี (พ.ศ. ๒๓๑๐–๒๓๗๙) พระนามเดิมชื่อ “บุญรอด”
เป็นอัครมเหสีของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ คนทั้งหลายเรียก “สมเด็จพระพันวษา”
สวรรคตเมื่อพรรษาได้ ๗๐ ปี ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยเป็น “สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์”
(๕) เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี (พ.ศ. ๒๓๑๖–๒๓๖๕) พระนามเดิมชื่อ “จุ้ย” กำกับกรมวัง กรมมหาดไทย
(ต้นสกุล มนตรี ณ อยุธยา)
(๖) เจ้าฟ้ากรมขุนอิสรานุรักษ์ (พ.ศ. ๒๓๑๖–๒๓๗๓) พระนามเดิมชื่อ “เกศ” ทรงกำกับกรมมหาดไทยต่อจาก
พระเชษฐา (ต้นตระกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา)
๔. พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราช รามาธิบดี (ทองด้วง) ทรงมีพระราชโอรสพระราชธิดากับ
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี (๙ มีนาคม ๒๒๘๐–๒๕ พฤษภาคม ๒๓๐๙) รวม ๙ พระองค์ด้วยกันที่ปรากฏชื่อ มี
(๑) สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมขุนกษัตรานุชิตพระนามเดิมว่า “ฉิมใหญ่” เรียกกันว่า “เจ้าครอกฉิมใหญ่” เป็น
“พระราชชายาของสมเด็จพระเจ้าตากสิน” สิ้นพระชนม์ครั้งกรุงธนบุรี พ.ศ. ๒๓๒๒ มีพระราชโอรสคือ
เจ้าฟ้าสุพันธุ์วงศ์
(๒) สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๓๑๐–๒๑ กรกฎาคม ๒๓๖๗) พระนามเดิมว่า “ฉิม”
ได้เป็นพระมหาอุปราชา กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ ต่อมาได้เสวยราชสมบัติเป็น
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ ๒ พระองค์ทรงมีพระราชโอรสอันประสูติ
แต่พระศรีสุริเยนทราบรมราชชนนี (เจ้าฟ้าบุญรอด) พระอัครมเหสี ๓ พระองค์ ดังนี้
๒.๑ เจ้าฟ้าชาย สิ้นพระชนม์ในวันประสูติ พ.ศ. ๒๓๔๔
๒.๒ เจ้าฟ้าชายมงกุฏ สมมุติเทวาวงศ์พงศาอิศรกษัตริย์ ขัตติราชกุมาร (๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๔๗–๒๔๑๑) คือ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
๒.๓ เจ้าฟ้าชายจุฑามณี (๔ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๑–๒๔๐๘) ได้เป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์
ต่อมาภายหลังได้บรมราชาภิเษกเป็น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนหลวงอิศรสุนทร (รัชกาลที่ ๒) ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดาที่ประสูติจาก
เจ้าจอมมารดาอื่นๆ อีกรวมทั้งสิ้น ๗๓ พระองค์ พระราชโอรสที่สำคัญ คือ
๒.๔ พระองค์เจ้าชายทับ (๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๓๐-๒ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๔) ได้เป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
และคือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ประสูติจากสมเด็จพระศรีสุลาลัย (เจ้าจอมมารดาเรียม)
(๓) สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ (พ.ศ. ๒๓๑๓–๒๓๕๐) พระนามเดิมชื่อ “แจ่ม”
(๔) สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ (๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๑๕–๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๐) พระนามเดิม
ชื่อ “จุ้ย” ได้รับสถาปนาเป็น พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๒
อยู่ที่พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี
(๕) สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี (พ.ศ. ๒๓๒๐–๒๓๖๖) พระนามเดิมชื่อ “เอี้ยง” ได้เป็น
เจ้าฟ้าประไพวดี (บางแห่งว่าประภาวดี) เป็นพระธิดาคนสุดท้องของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี
นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราช รามาธิบดี ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดาอื่นๆ
รวม ๔๒ พระองค์ สำหรับองค์ที่สำคัญควรทราบ ได้แก่
- -พระองค์เจ้าชายอรุโณทัย (๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๒๘-๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๗๓)
พระนามเดิมชื่อ “พระองค์ช้าง” ได้เป็นกรมหมื่นศักดิ์พลเสพ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๐ และได้อุปราชาภิเษกเป็น
กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๐ และได้อุปราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๓
เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๗ พระองค์ประสูติจากเจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่
-พระองค์เจ้าชายวาสุกรี (๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๓๓–๒๓๙๖) พระนามเดิมชื่อ “วาสุกรี”
ทรงผนวชเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๕ ประทับอยู่ ณ วัดพระเชตุพน ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้สถาปนาเป็น
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔
พระองค์ประสูติจากเจ้าจอมมารดาจุ้ย (ท้าวทองกันดาล)
- พระองค์เจ้าหญิงจันทบรี (พ.ศ. ๒๓๔๑–๒๓๘๑) ได้เป็นพระราชชายานารีในรัชกาลที่ ๒ และ
ทรงมีเจ้าฟ้า ๔ พระองค์ ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นเจ้าฟ้ากุลฑลทิพยวดี พระองค์ประสูติจากเจ้าจอมมารดาทองสุก
๕. สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) ทรงมีพระโอรสพระธิดาที่ประสูติจาก
เจ้าจอมมารดาหลายคน รวม ๔๓ พระองค์ สำหรับที่สำคัญควรทราบ คือ
(๑) เจ้าฟ้าหญิงพิกุลทอง (พ.ศ. ๒๓๒๐–๒๓๕๓) ในรัชกาลที่ ๑ ทรงสถาปนาเป็นกรมขุนศรีสุนทร
ประสูติจากเจ้าศิริรดจา น้องนางของพระเจ้ากาวิละ เจ้าเมืองเชียงใหม่
(๒) พระองค์เจ้าหญิงดาราวดี ประสูติเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๘ ได้เป็นพระชายาของ
กรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ ประสูติจากเจ้าจอมมารดาน้อย
๖. เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทรเทวี (กุ) หรือ “เจ้าครอกวัดโพธิ์” มีภัสดาคือ
พระองค์เจ้ากรมหมื่นนรินทร์พิทักษ์ (หม่อมมุก) บุตรของเจ้าพระยามหาสมบัติในรัชกาลที่ ๑ สิ้นชีพิตักษัยเมื่อ
พ.ศ. ๒๓๕๗ มีพระโอรสด้วยกัน ๒ พระองค์ คือ
(๑) พระองค์เจ้ากรมหมื่นนรินทรเทพ ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๓ พระนามเดิมชื่อ “ฉิม”
สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๒
(๒) พระองค์เจ้า กรมหมื่นนเรนทรบริรักษ์ (๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๒๙–พ.ศ. ๒๓๗๔) พระนามเดิมชื่อ “เจ่ง”
๗. เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา (ลา) มีพระโอรสและพระธิดากับเจ้าจอมมารดาหลายพระองค์
ไม่ปรากฏพระนามที่สำคัญ
กษัตริย์ราชวงศ์จักรีนั้น เริ่มนับราชวงศ์ตั้งแต่ สมเด็จพระชนกาธิบดีแห่งพระปฐมกษัตริย์ และ
มีราชสกุลวงศ์จักรีสืบราชสันตติวงศ์ต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ทรง
เป็นสมเด็จพระมหาราชาธิราช ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่ออาณาประชาราษฎร์
ทรงมีมหากรุณาธิคุณที่มากพ้นสุดพรรณา ธ สถิตอยู่ในดวงใจของปวงประชาชนชาวไทยทั้งมวล
อย่างยั่งยืนตลอดกาลนาน
สมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม จึงเป็นราชวงศ์กษัตริย์ที่สืบราชวงส์ดำรงสิริราชสมบัติ สามารถครองอาณาจักรมา
ตั้งแต่อาณาจักรโบราณมาจนถึงปัจจุบันนี้ กล่าวคือนับได้ตั้งแต่กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย เมื่อพ.ศ. ๑๗๘๑ พ.ศ. ๒๕๔๔
รวม ๗๖๓ ปี (หากนับตั้งแต่ต้นราชวงศ์เชียงแสนเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๖๐๐ แล้วจะเป็น ๙๔๔ ปี)แล้ว
ราชวงศ์กษัตริย์ของอาณาจักรสยามจึงเป็นราชวงศ์กษัตริย์ที่สืบราชสันตติวงศ์ที่มีอายุยาวนานกว่า
ราชวงศ์กษัตริย์ประเทศใดในโลก
สมเด็จพระปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรีรัชกาลที่ ๑
สมเด็จพระปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรีที่สถาปนากรุงรัตนโกสินทรนั้นคือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินต้น
หรือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เดิมชื่อนายทองด้วง เกิดที่บ้านใกล้ป้อมเพชร ในเกาะเมือง
กรุงศรีอยุธยา เมื่อ วันพุธ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ ปี มะโรง ตรงกับวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๗๙
พระราชบิดาของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ชื่อ ทองดี เดิมนั้นคนในตระกูลนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ริมแม่น้ำสะแกกรัง
จังหวัดอุทัยธานี และได้รับราชการในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มียศเป็นหลวงพินิจอักษร และ พระอักษรสุนทรศาสตร์
มีหน้าที่ร่างพระราชสาส์น ต่อมาครอบครัวนี้ได้ย้ายเข้ามารับราชการและ ตั้งบ้านเรือนในกรุงศรีอยุธยา
อยู่ภายในกำแพงเมืองตรงข้ามป้อมเพชร ติดกับวัดสุวรรณดาราม
พระอักษรสุนทรศาสตร์(ทองดีหรือ หลวงพินิจอักษร)นี้ มีบุตรธิดา ๕ คน คือ
๑.คนโตเป็นหญิงชื่อ สา ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าพี่นางเธอ กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี
๒.คนที่สองเป็นชายชื่อ ขุนรามณรงค์ ได้ถึงแก่กรรมก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา มีบุตรชายหนึ่งคน คือ
พระองค์เจ้าขุนเณร(พ่อขุนเณร) เป็นนักรบกองโจรสำคัญครั้งสงครามเก้าทัพ และมีธิดาองค์หนึ่ง
คือพระองค์เจ้าชี(กรมขุนรามินทรสุดา)
๓.คนที่สามเป็นหญิงชื่อ แก้ว ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าพี่นางเธอกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์
๔.คนที่สี่เป็นชายชื่อ ทองด้วง ได้เข้ารับราชการเป็น หลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี เจ้าพระยาจักรี
สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ต่อมาได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริยทรงพระนามว่า
สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินต้นหรือ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
๕.คนที่ห้าเป็นชายชื่อบุญมา ได้เข้ารับราชการเป็นนายสุดจินดา ต่อมาได้เข้าช่วยพระยาตากสิน
ทำการกู้อิสรภาพ เมื่อพระยาตากทำการปราบพม่าได้ นายสุดจินดา(บุญมา) จึงได้รับแต่งตั้งเป็นพระมหามนตรี
เจ้ากรมพระตำรวจขวา และได้ไปชวนหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี(ทองด้วง)มารับราชการกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย
ต่อมานายสุดจินดาได้รับแต่งตั้งเป็นเป็นพระอนุชิตราชา พระยายมราช เจ้าพระยาสุรสีห์เจ้าเมืองพิษณุโลก
และได้รับการสถาปนาเป็น กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
(ข้อมูลจากประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๓, บุรพภาคพระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ,
องค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ.๒๕๑๐ หน้า ๑๐–๑๑)
นายทองด้วงเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในเจ้าฟ้าอุทุมพร และออกบวชเมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๒ ที่วัดมหาทะลาย
โดยอยู่ร่วมกับพระภิกษุสิน วันหนึ่งซินแสหมอดูจีนมาทำนายว่า พระสินจะได้เป็นกษัตริย์ และ
พระทองด้วงก็จะได้เป็นกษัตริย์ด้วย เมื่อลาสิกขาแล้วนายทองด้วงได้แต่งงานกับ นาค ลูกคหบดีชาวอัมพวา
แขวงบางช้าง เมืองสมุทรสงคราม พ.ศ.๒๓๐๓ นายทองด้วงได้รับแต่งตั้งเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี
พ.ศ.๒๓๐๘ นายสิน ได้เข้ารับราชการเป็นทหารที่เมืองตาก ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร
ชาวบ้านจึงเรียกว่าพระยาตาก ขณะนั้นกรุงศรีอยุธยามีข้าศึกจึงถูกขอตัวและกำลังให้อยู่ช่วยป้องกันกรุงศรีอยุธยา
ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะแตกในวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๓๑๐ พระยาตาก(สิน)รวมกำลังไพร่พลตีฝ่าค่ายพม่าไปทางเมืองจันทบุรี
ส่วนนายสุดจินดา(บุญมา)นั้นได้หลบหนีจากกรุงศรีอยุธยาไปหานายทองด้วง พี่ชายผู้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี
ซึ่งแนะนำให้น้องชายลงไปรับนางนกเอี้ยง มารดาพระยาตาก(สิน)จากบ้านแหลม เมืองเพชรบุรี
ไปหาพระยาตากที่จันทบุรีด้วย โดยหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรีได้ฝากแหวนและดาบเล่มหนึ่งไปด้วย
เมื่อพระยาตากทำการปราบพม่าได้ นายสุดจินดา(บุญมา) จึงได้รับแต่งตั้งเป็นพระมหามนตรี เจ้ากรมพระตำรวจขวา
และได้ไปชวนหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี(ทองด้วง)มารับราชการกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย (ต่อมานายสุดจินดา
ได้รับแต่งตั้งเป็นเป็นพระอนุชิตราชา พระยายมราช เจ้าพระยาสุรสีห์เจ้าเมืองพิษณุโลก และกรมพระราชวังบวรราช
เจ้ามหาสุรสิงหนาท)
หลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี(ทองด้วง) รับราชการจนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาจักรี
นำทัพไปรบกับอะแซหวุ่นกี้ที่พิษณุโลก ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
นำทัพไปตีเวียงจันทร์ และเมืองเขมร ขณะที่กรุงธนบุรีเกิดการจลาจลได้นำทัพกลับมาจากเขมร เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕
วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕( ตรงกับวันแรม ๙ ค่ำ เดือน ๕) สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ได้ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี เดิมทรงเรียกพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินต้น
ภายหลังในสมัยรัชกาลที่ ๓ ถวายพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตามพระพุทธรูปยืนที่สร้างอุทิศถวาย
ในอุโบสถ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ที่บางกอกฝั่งตะวันออก
สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดให้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีมาตั้งที่ฝั่งบางกอกตะวันออก
และทำการสร้างพระราชวังโดยพระราชทานนามว่า “ กรุงรัตนโกสินทร์อินทอยุธยา” (ต่อมา สมัย ร.๓ ทรงแก้นามพระนครเป็น
“กรุงรัตนโกสินทร์มหินทราอยุธยา” สมัย ร.๔ ทรงเปลี่ยนเป็น “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา”
ต่อมาเปลี่ยนคำว่า “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์” แล้วเติมสร้อยนามต่อมา(หนังสือกินเนสบุ๊ค
ได้ยกให้เป็นชื่อเมืองที่ยาวที่สุดในโลก)คือ
“กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยามหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมนิเวศน์มหาสถาน
อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”
ในพ.ศ. ๒๓๒๕ นั้น ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี(รัชกาล ๑) ได้ทรงสถาปนาราชวงศ์จักรีและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
โดยเฉพาะพระอัฐิสมเด็จพระชนกนาถนั้นทรงสถาปนาเป็น สมเด็จพระชนกาธิบดี และได้สถาปนาให้
เจ้าพระยาสุรสีห์ พิษณวาธิราช(นายสุดจินดา บุญมา) พระอนุชาดำรงพระอิศริยยศเสมอพระเจ้าแผ่นดินเป็น
สมเด็จกรมพระราชวังบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท หรือวังหน้า และต่อมาทรงแต่งตั้งพระเจ้าหลานเธอ
เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ ขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข หรือวังหลัง
สถานที่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์นั้นเป็นชุมชนเก่าที่เรียกว่าบางกอก คำว่าบางกอก นั้นสันนิษบานว่าน่าจะมาจาก
บริเวณแห่งนั้นที่มีต้นมะกอกมาก หรือมาจากคำว่า “บางเกาะ” “บางโคก”เนื่องจากพื้นที่บางกอกทั้งฝั่งธนบุรี
และกรุงเทพนั้นมีคลองและแม่น้ำล้อมรอบ คล้ายเกาะ และเป็นที่เนินสูงเหมือนเกาะ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ทรงขอให้คนจีน(บรรพบุรุษของพระยาโชฏึกเศรษฐี ต้นสกุล โชติกเสถียร)
ที่ทำแปลงสวนผักอยู่บริเวณที่จะสร้างพระบรมมหาราชวังนั้นไปอยู่ที่สำเพ็งหรือ สามเพ็ง(วัดปทุมคงคา)และ
วัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิ์ราชาวาส)แทน เพื่อใช้สถานที่นั้นสร้างพระบรมมหาราชวังตามแบบอย่างกรุงศรีอยุธยา
ประตูพระบรมมหาราชวังชั้นนอก มีชื่อประตู วิมานเทเวศร์ วิเศษชัยศรี มณีนพรัตน์ สวัสดิโสภา เทวาพิทักษ์
ศักดิ์ชัยสิทธ์ วิจิตรบรรจง อนงคารักษ์ พิทักษ์บวร สุนทรทิษา เทวาภิรมย์ อุดมสุดารักษ์ ส่วนประตูพระราชวังชั้นใน
มีชื่อว่า สุวรรณบริบาล พิมานชัยศรี สีกรลีลาศ เทวราชดำรงศร อุดรสิงหรักษ์ จักรพรรดิ์ภิรมย์ กมลาสประเวศ
อมเรศร์สัญจร สนามราชกิจ ดุสิตศาสดา กัลยาวดี ศรีสุดาวงษ์ อนงคลีลา ยาตราสตรี ศรีสุนทร พรหมศรีสวัสดิ์
พรหมโสภา แถลงราชกิจ ปริตประเวศ ราชสำราญและพิศาลทักษิณ (บางประตูถูกรื้อไปแล้ว)
สร้างป้อมหอรบไว้รอบกำแพงพระบรมมหาราชวัง บางป้อมมีหลังคาคลุม มีชื่อ ป้อมอินทรังสรรค์(อยู่มุมกำแพง
ด้านตะวันตก สร้างสมัย ร.๑ รูปแปดเหลี่ยม ป้อมนี้ถูกรื้อสมัย ร. ๖ เพื่อสร้างถนนนอกกำแพงด้านตะวันตก)
ป้อมขันธ์เขื่อนเพชร(อยู่ทางตะวันออกของประตูวิเศษชัยศรี สร้างสมัย ร. ๑ รูปแปดเหลี่ยม)
ป้อมเผด็จดัสกร(มุมกำแพงด้านตะวันออกข้างเหนือ ใกล้ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง สร้างสมัย ร. ๑ รูปแปดเหลี่ยม
เคยมีเสาธงสูงตั้งอยู่) ป้อมสัญจรใจวิง (อยู่ด้านตะวันออก สร้างสมัย ร. ๔) ป้อมสิงขรขันฑ์ (สร้างสมัย ร. ๑)
ป้อมขยันยิงยุทธ(อยู่ด้านเหนือของพระที่นั่งสุทไธสวรรค์ สร้างสมัย ร. ๔)
ป้อมฤทธิรุดโรมรัน(อยู่ด้านใต้ของพระที่นั่งสุทไธสวรรค์ สร้างสมัย ร. ๔) ป้อมอนันตคิรี (อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
อยู่ใกล้พระที่นั่งสุทไธสวรรค์ถนนสนามไชย ตรงข้ามสวนสราญรมย์ กระทรวงการต่างประเทศ สร้างสมัย ร.๑)
ป้อมมณีปราการ(อยู่มุมวังด้านตะวันออก สร้างสมัย ร. ๑ บุรณะสมัย ร.๒ เป็นรูปหอรบ) ป้อมพิศาลสีมา(สร้างสมัย ร. ๑
ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นป้อมสัตตบรรพต ) ป้อมภูผาสุทัศน์ (อยู่มุมวังด้านตะวันตกใกล้ประตูพิทักษ์บวร สร้างสมัย ร. ๑)
ป้อมสัตตบรรพต (อยู่ทางตะวันตกของป้อมอนันตคิรี สร้างสมัย ร. ๒ รูปหอรบ ป้อมนี้ถูกรื้อสมัย ร. ๖ เ
พื่อสร้างถนนนอกกำแพงด้านตะวันตก) ป้อมโสฬสศิลา(ปรับปรุงสมัย ร. ๒ รูปหอรบ) ป้อมมหาโลหะ(ปรับปรุง
สมัย ร. ๒ รูปหอรบ) ป้อมทัศนานิกร(สร้างสมัย ร. ๕) ป้อมพรหมอำนวยศิลป และ ป้อมอินทรอำนวยศร
สำหรับป้อมรอบกำแพงพระราชวังบวรสถานมงคล(ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงละคอนแห่งชาติ
และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ) มีชื่อ ป้อมทับทิมศรี เขื่อนขันธ์ นิลวัฒนา มุกดาพิศาล เพชรบูรพา วิเชียรอาคเนย์
เพชรไพฑูรย์ เขื่อนเพชร และมณีมรกต ป้อมเหล่านี้ได้ถูกรื้อลงหมดแล้ว
พ.ศ. ๒๓๒๖ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ โปรดให้ทำการรื้อป้อมวิชาเยนทร์ และกำแพงเมืองธนบุรี
ข้างฟากตะวันออกเสีย เพื่อขยายพระนคร
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สร้างสมัย ร.๑ ใช้แบบใกล้เคียงกับพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์สมัยอยุธยา
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทใช้อาคารแบบฝรั่ง ส่วนบนใช้ทรงไทยยอดปราสาทสร้างสมัย ร.๕ ใน พ.ศ.๒๔๑๙
พระที่นั่งบรมพิมาน สร้างสมัย ร.๕ แบบยุโรป
สิ่งก่อสร้างสมัย ร. ๑ นี้ ส่วนหนึ่งใช้อิฐซึ่งรื้อมาจากป้อมกำแพงและสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงศรีอยุธยา
ทำให้โบราณสถานต่าง ๆ ในกรุงศรีอยุธยาถูกทำลายเสียหายไปมาก
กำแพงพระราชวังที่สร้างครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๑ นั้น ใช้ เป็นระเนียดปักกันดินและ
เรียงอิฐที่ขนมาจากกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี ต่อมาจึงปรับปรุงเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูน
มีการสร้างป้อมรอบกรุงรัตนโกสินทร์สำหรับป้องกันการโจมตีของข้าศึก ๑๔ ป้อมตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา
และคลองคูเมือง มีชื่อป้อมเรียงทวนเข็มนาฬิกาดังนี้
ป้อมพระสุเมรุ อยู่ที่ปากคลองบางลำพูบน ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของพระนคร
ป้อมอิสินทร อยู่ระหว่างป้อมพระสุเมรุกับป้อมพระอาทิตย์ปากคลองคูเมืองเดิมหรือคลองหลอดด้านเหนือ
ป้อมพระอาทิตย์ อยู่สุดถนนพระอาทิตย์ ปากคลองคูเมืองเดิมด้านใต้
ป้อมพระจันทร์ อยู่ที่บริเวณท่าพระจันทร์ ตรงข้ามโรงพยาบาลศิริราช
ป้อมมหายักษ์ อยู่ริมน้ำ เยื้องหน้าพระอุโบสถวัดพระเชตุพน ตรงข้ามวัดอรุณราชวราราม ปัจจุบันเป็นตลาดท่าเตียน
ป้อมมหาฤกษ์ ป้อมนี้น่าจะสร้างทับบนพื้นที่ของป้อมวิชาเยนทร์แบบฝรั่งเศส สมัยสมเด็จพระนารายณ์
อยู่ตรงข้ามป้อมวิชัยประสิทธิ์ ที่เป็นกองทัพเรือฝั่งธนบุรี อยู่ใกล้ปากคลองตลาดด้านเหนือ สมัย ร.๕ โปรดให้ใช้ที่
ของป้อมมหาฤกษ์นี้สร้างโรงเรียนสุนันทาลัยซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนราชินี ที่ปากคลองตลาด
ป้อมผีเสื้อ อยู่ปากคลองตลาดหรือคลองคูเมืองเดิมฝั่งใต้ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา
ป้อมจักรเพชร เหนือปากคลองโอ่งอ่าง ใกล้สะพานพุทธ
ป้อมมหาไชยอยู่เหนือคลองคูพระนครหรือคลองโอ่งอ่างด้านสะพานหัน ติดถนนมหาไชย ใกล้วังบูรพาภิรมย์
ป้อมนี้ต่อมาถูกรื้อเพื่อสร้างตึกแถวก่อนสงครามโลกครั้งที่ สอง ปัจจุบันคืออาคารรวมทุนไทย
ป้อมเสือทยาน อยู่เหนือประตูสามยอดตรงสะพานดำรงสถิต
ป้อมหมูทลวง อยู่ตรงข้ามสวนรมณีย์นาถในปัจจุบัน ซึ่งเดิมเคยเป็นเรือนจำคลองเปรม
ป้อมมหากาฬ อยู่ใกล้สะพานผ่านฟ้าลีลาศ
ป้อมมหาปราบ อยู่ระหว่างสะพานผ่านฟ้ากับสะพานวันชาติ
และป้อมยุคนธร อยู่ใกล้วัดบวรนิเวศ
ภายหลังต่อมา ป้อมต่างๆนี้ได้ถูกรื้อไปหลายป้อม สำหรับป้อมที่ยังคงเหลืออยู่นั้นได้แก่ป้อมมหากาฬ
ที่ผ่านฟ้าใกล้วัดสระเกศ และป้อมพระสุเมรุ ที่ถนนพระอาทิตย์ บางลำพูเท่านั้น
กำแพงเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ที่สร้างขึ้นนี้ มีประตูเมืองอยู่หลายแห่งซึ่งจะเปิดเมื่อเวลาย่ำรุ่ง(พระอาทิตย์ขึ้น)
และปิดเมื่อย่ำค่ำ (พระอาทิตย์ตก) ในสมัยรัชกาลที่ ๑ นั้น สร้างประตูเมืองเป็นประตูทรงมณฑปเครื่องไม้
ทาดินแดงแบบกรุงศรีอยุธยา ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้เปลี่ยนประตูจากยอดไม้ทรงมณฑปเป็นประตูก่ออิฐ
ด้านบนประตูทำเป็นหอรบ ไม่มียอด สมัยรัชกาลที่ ๕ เปลี่ยนแบบประตูเมืองจากทรงหอรบเป็นประตูยอด เช่น
ประตูสามยอด อยู่ใกล้กองปราบสามยอด ใกล้สะพานดำรงสถิตย์ถนนเจริญกรุง ประตูนี้ถูกรื้อในสมัย ร.๕
เพื่อขยายสร้างเป็นถนนเจริญกรุง
ประตูพฤฒิมาศ หรือ พฤฒิบาศ หรือ พฤฒาบาศ อยู่ด้านตะวันออก ตรงผ่านฟ้าใกล้ป้อมมหากาฬ
ออกไปวัดปรินายก ประตูนี้ถูกรื้อสมัย ร. ๕ เพื่อสร้างสะพานผ่านฟ้าและถนนราชดำเนิน
ประตูสำราญราษฎร์ อยู่ที่ถนนมหาชัยใกล้วัดราชนัดดา ตรงข้ามกับคุก ชาวบ้านเรียกกันว่า ประตูผี
เพราะเป็นประตูเดียวที่ให้นำศพของราษฎรที่ตายในกำแพงพระนคร ออกไปเผานอกพระนครที่วัดสระเกศ
ประตูสะพานหัน เป็นประตูพระนคร ที่จะออกไปสู่ย่านคนจีนที่สำเพ็ง สะพานหันเป็นสะพานเหล็ก
ข้ามคลองคูพระนคร สร้างสมัย ร.๔ สามารถหมุนหันให้เรือผ่านได้ ประตูนี้ถูกรื้อสมัยรัชกาลที่ ๖ แล้วสร้างตึกแถวแทน
สำหรับถนนในกรุงรัตนโกสินทร์สมัยแรกนั้นเป็นถนนดินแคบ ๆ พอที่คน ช้างม้า และเกวียนเดินได้เท่านั้น
สมัยรัชกาลที่ ๔ โปรดให้สร้างถนนบำรุงเมืองทำด้วยอิฐตะแคง พอถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงมีการปรับปรุงถนนบำรุงเมือง
และเฟื่องนคร เป็นแบบสิงคโปร์และอินเดีย สร้างตึกแถวริมถนนตามแบบตึกของหลวงที่กำหนดไว้
ถนนตั้งแต่ป้อมพระสุเมรุถึงป้อมมหากาฬชื่อถนนพระสุเมรุ ถนนไปทางท่าช้างวังหน้าชื่อถนนพระอาทิตย์
ถนนมหาไชยเริ่มจากโรงไฟฟ้าวัดเลียบ ผ่านประตูผีถึงผ่านฟ้า
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ มีเรือพระที่นั่งหลายลำ เช่นเรือบุศบกพิศาล(ใช้เสด็จไปรบพม่า
ที่ลาดหญ้า พ.ศ.๒๓๒๘) และมีเรือรบที่เรียกเรือพิฆาฏหลายลำเช่น เรือมังกรจำแลง เรือมังกรแผลงฤทธิ์
เรือเหราลินลาสมุทร เรือสางกำแหงชาญ เรือสางชาญชลสินธุ์ เรือโตขมังคลื่น เรือโตฝืนสมุทร
เรือกิเลนประลองเชิง เรือกิเลนระเริงชล เรือเสือทยานชล เรือเสือคำรณสินธุ์ และมีเรือแซ คือ
เรือรบเดินในลำแม่น้ำอีก ๑๒ ลำ
พระองค์ทรงให้มีการชำระพระราชพงศาวดารชาติไทย ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาจากสมัยอยุธยา
พงศาวดารฉบับนี้ปัจจุบันเรียกว่า พงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ
พ.ศ.๒๓๒๖ เกิดกบฎไต้เซินที่เมืองญวน องเชียงสือเจ้าเมืองไซ่ง่อนหนีกบฏเข้ากรุงสยาม
ร.๑ ทรงเอื้อเฟื้ออุดหนุนองเชียงสือ พระราชทานที่ดินทางใต้บ้านต้นสำโรง (ปัจจุบันคือสถานทูตโปรตุเกส
ตรอกกับตันบุช) องเชียงสือได้นำวัฒนธรรมญวนมาเผยแพร่หลายอย่างเช่นญวนรำกระถาง สิงโตคาบแก้ว
และหนีลงเรือกลับไปเมืองญวนเมื่อ พ.ศ.๒๓๓๐ โดยมิได้ทูลลา องเชียงสือได้ไปขอความช่วยเหลือจาก
ฝรั่งเศสตีเมืองไซ่ง่อน เมืองเว้และฮานอย คืนได้ แล้วสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิ์ยาลองว่างเด๊ เจ้าอนัมก๊ก
เมื่อ พ.ศ.๒๓๔๕ แต่ยังส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองจากเวียดนามมาถวายพระเจ้ากรุงสยามทุกปี
มีวัดญวนสมัยองเชียงสือสืบทอดมาที่ใกล้คลองผดุงกรุงเกษมและตำบลบ้านบางโพ
สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง
พ.ศ.๒๓๒๗ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดให้ทำการสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว
เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกต ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง
ในบริเวณพระบรมมหาราชวังนั้น มีพระปรางค์ประดับด้วย กระเบื้องเคลือบสี ๘ องค์ทางหน้าวัดด้านตะวันออก
มีชื่อดังนี้ พระสัมมาสัมพุทธมหาเจดีย์(สีขาว) พระสัทธรรมปริยัติวรามหาเจดีย์(สีน้ำเงิน) พระอริยสงฆ์สาวกมหาเจดีย์ (สีชมภู) พระอริยสาวกภิกษุณีสังฆมหาเจดีย์(สีเขียว) พระปัจเจกโพธิสัมพุทธามหาเจดีย์(สีม่วง) พระจักรวัติราชมหาเจดีย์(สีน้ำเงิน)
พระโพธิสัตวกฤษฎามหาเจดีย์(สีแดง) พระศรีอริยเมตยมหาเจดีย์(สีเหลือง) วัดพระศรีรัตนศาสดารามนี้จะมีการบูรณะใหญ่
ทุก ๕๐ ปี เริ่มแต่สมัย ร.๓ ร.๕ ร.๗ และในรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงเป็นแม่กองซ่อมใหญ่ในการฉลองพระนครครบ ๒๐๐ ปี ของ กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.๒๕๒๕
ปีมะเส็ง พ.ศ.๒๓๒๘ มีการสมโภชพระนครกรุงรัตนโกสินทร์แห่งใหม่ โดยนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นสวดพระพุทธมนต์
บนเชิงเทินบนใบเสมารอบพระนคร เสมาละ ๑ องค์ ตั้งโรงทานรอบพระนครและมีมหรสพต่าง ๆ
(ตั้งแต่นั้นมากรุงรัตนโกสินทร์ได้เจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับตั้งแต่ รัชกาลที่.๑-๙ )
ชนชาติสยามนั้นมีราชวงศ์กษัตริย์ทางเหนือคือราชวงศ์เชียงแสนหรือราชวงศ์เชียงรายเป็นต้นราชวงศ์มาตั้งแต่ พ.ศ. ๑๖๐๐
มีกษัตริย์ครองเมืองสืบต่อมา จนเกิดอาณาจักรสยามทางตอนใต้คือกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงรัตนโกสินทร์ ตามลำดับ
อาณาจักรสยามยุคกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
ราชวงศ์พระร่วง
๑. ขุนศรีอินทราทิตย์ ครองราชย์ พ.ศ. ๑๗๘๑
๒. ขุนบาลเมือง ประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐–๑๘๒๐ (๒๐ ปี)
๓. ขุนรามคำแหง พ.ศ. ๑๘๒๐–๑๘๖๐ (๔๐ ปี)
๔. ปู่ไสสงคราม พ.ศ. ๑๘๔๒
๕. พญาเลอไทย พ.ศ. ๑๘๑๖–๑๘๙๗ (๓๖ ปี)
๖. พญางั่วนำถม พ.ศ. ๑๘๘๒–๑๘๙๐ (๘ ปี)
๗. พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไทย)พ.ศ. ๑๘๙๗–๑๙๑๙ (๒๒ ปี)
๘. พระมหาธรรมราชาที่ ๒ (พญาเลอไทย) พ.ศ. ๑๙๑๒–๑๙๔๒ (๒๐ ปี)
๙. พระมหาธรรมราชาที่ ๓ (พญาไสเลอไทย) พ.ศ. ๑๙๑๙–๑๙๒๐ (๑ ปี)
๑๐. พระมหาธรรมราชาที่ ๔ (พญาปาลราช) พ.ศ.๑๙๖๒–๑๘๘๑ (๑๙ ปี)
หมายเหตุ ศักราชนั้นยังไม่มีข้อมูลสรุปที่ชัดเจน
อาณาจักรสยามยุคกรุงศรีอยุธยา
ราชวงศ์เชียงราย
๑. สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)พ.ศ. ๑๘๙๓–๑๙๑๒ (๑๙ ปี)
๒. สมเด็จพระราเมศวร (ครองราชย์ครั้งแรก)พ.ศ. ๑๙๑๒ (๑ ปี)
สมเด็จพระราเมศวร (ครองราชย์ครั้งที่สอง)พ.ศ. ๑๙๓๑–๑๙๓๘ (๗ ปี)
๓. สมเด็จพระรามราชาธิราช พ.ศ. ๑๙๓๘–๑๙๕๒ (๑๔ ปี)
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
๑. สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว)พ.ศ. ๑๙๑๓–๑๙๓๑ (๑๘ ปี)
๒. พระเจ้าทองจันทร์ หรือ พระเจ้าทองลัน พ.ศ. ๑๙๓๑ (๗ วัน)
๓. สมเด็จพระอินทราราชาธิราชที่ ๑ พ.ศ. ๑๙๕๒–๑๙๖๗ (๑๕ ปี)
๔. สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) พ.ศ. ๑๙๖๗–๑๙๙๑ ( ๒๔ ปี)
๕. สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. ๑๙๙๑–๒๐๓๑ (๔๐ ปี)
๖. สมเด็จพระอินทราชาธิราชที่ ๒ พ.ศ. ๑๙๙๒–๒๐๓๔ (๒๒ ปี)
แทรก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ พ.ศ. ๒๐๓๑–๒๐๓๔ (๓ ปี)
ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ไม่มีรัชกาลนี้
๗. สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พระบรมราชา)พ.ศ.๒๐๓๔–๒๐๗๒ (๓๘ ปี)
๘. สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร หรือ สมเด็จพระบรมราชธิราชที่ ๔พ.ศ. ๒๐๗๖
๙. สมเด็จพระรัษฎาธิราชกุมารพ.ศ. ๒๐๗๖ (๕ เดือน)
๑๐. สมเด็จพระชัยราชาธิราช พ.ศ. ๒๐๗๗–๒๐๘๙ (๑๒ ปี)
๑๑. สมเด็จพระยอดฟ้า หรือ พระแก้วฟ้าพ.ศ. ๒๐๘๙–๒๐๙๑ (๒ ปี)
แทรก ขุนวรวงศาธิราช พ.ศ. ๒๐๙๑ (๔๒ วัน) ไม่นับเป็นราชวงศ์
๑๒. สมเด็จพระสหาจักรพรรดิ์ราชาธิราช (พระเจ้าช้างเผือก)ครองราชย์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๐๙๑–๒๐๙๗ (๖ ปี)
๑๓. สมเด็จพระมหินทราธิราชครองราชย์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๐๙๗ (๑ ปี)
แทรก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ราชาธิราชครองราชย์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๐๙๗–๒๑๑๑
แทรก สมเด็จพระมหินทราธิราช ครองราชย์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๐๙๘–๒๑๑๒
หมายเหตุ ศักราชตั้งแต่รัชกาลของสมเด็จพระชัยราชาธิราชถึงสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ยังมีข้อมูลที่ต้องศึกษา
และตรวจสอบอีก ยังไม่มีข้อสรุปบางแห่งสรุปศักราชรวมไว้ครั้งเดียวว่า
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ราชาธิราชพ.ศ. ๒๐๙๑–๒๑๑๑ (๒๐ ปี)
สมเด็จพระมหินทราธิราชพ.ศ. ๒๑๑๑–๒๑๑๒ (๑ ปี)
สำหรับศักราชตั้งแต่รัชกาลของสมเด็จพระมหาธรรมราชาเป็นต้นไป ศักราชนี้น่าจะถูกต้องกว่าศักราช
ที่เขียนในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา
ราชวงศ์สุโขทัย
๑.สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช หรือ สมเด็จพระสรรเพชญที่ ๑ พ.ศ. ๒๑๑๒–๒๑๓๓ (๒๑ ปี)
๒. สมเด็จพระนเรศวรมหาราชาธิราช หรือ สมเด็จพระสรรเพชญที่ ๒ พ.ศ. ๒๑๓๓–๒๑๔๘ (๑๕ ปี)
๓. สมเด็จพระเอกาทศ หรือ สมเด็จพระสรรเพชญที่ ๓ พ.ศ. ๒๑๔๘–๒๑๖๓ (๑๕ ปี)
๔. สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ หรือ สมเด็จพระสรรเพชญที่ ๔ พ.ศ. ๒๑๖๓ (ไม่ถึงปี)
๕. สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ ๑ พ.ศ. ๒๑๖๓–๒๑๗๑ (๘ ปี)
๖. สมเด็จพระเชษฐาธิราช หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ ๒ พ.ศ. ๑๗๑–๒๑๗๓ (๒ ปี)
๗. สมเด็จพระอาทิตย์วงศ์ พ.ศ. ๒๑๗๓ (๓๖ วัน)
ราชวงศ์ปราสาททอง
๑. สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หรือ สมเด็จพระสรรเพชญที่ ๕ พ.ศ. ๓๑๗๓–๒๑๙๘ ๒๕ ปี)
๒. สมเด็จเจ้าฟ้าชัย หรือ สมเด็จพระสรรเพชญที่ ๖ พ.ศ. ๒๑๙๘ (๑ ปี)
๓. สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา หรือ สมเด็จพระสรรเพชญที่ ๗ พ.ศ. ๒๑๙๙ (๓ เดือน)
๔. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ พ.ศ. ๒๑๙๙–๒๒๓๑ ๓๒ ปี)
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
๑. สมเด็จพระเพทราชา หรือ สมเด็จพระมหาบุรุษ พ.ศ. ๒๒๓๑–๒๒๔๖ (๑๕ ปี)
๒. สมเด็จพระเจ้าเสือ หรือ สมเด็จพระสรรเพชญที่ ๘ พ.ศ. ๒๒๔๖–๒๒๕๑ (๖ ปี)
๓. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ หรือ สมเด็จพระสรรเพชญที่ ๙ พ.ศ. ๒๒๕๑–๒๒๗๕ (๒๔ ปี)
๔. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ หรือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ พ.ศ. ๒๒๗๕–๒๓๐๑ (๒๖ ปี)
๕. สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ พ.ศ. ๒๓๐๑ (๒ เดือน)
๖. สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ พ.ศ. ๒๓๐๑ (๙ ปี)
อาณาจักรสยามยุคกรุงธนบุรี
กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร (บางกอก-BANGKOK)
๑. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๔ (ภายหลังนิยมเรียกเป็น
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ของกรุงรัตนโกสินทร์) พ.ศ. ๒๓๒๕–๒๓๕๒ (๒๗ ปี)
๒. พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ.ศ. ๒๓๒๕–๒๓๖๗ (๑๕ ปี)
๓. พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๓๖๗–๒๓๙๔ (๒๗ ปี)
๔. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๓๙๔–๒๔๑๑ (๑๗ ปี)
๕. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๑๑–๒๔๕๓ (๔๒ ปี)
๖. พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๕๓–๒๔๖๘ (๑๕ ปี)
๗. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๖๘–๒๔๗๗ (๙ ปี)
๘. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล พ.ศ. ๒๔๗๗–๒๔๘๙ (๑๒ ปี)
๙. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิพลอดุลยเดช ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙–ปัจจุบัน
ขอจงทรงพระเจริญ มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน
หนังสืออ้างอิง
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จฯ แสดงบรรยายพงศาวดารสยามทรงบรรยายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ : โรงพิมพ์คุรุสภา, พ.ศ. ๒๔๙๓
บริติชมิวเซียม. พระราชพงศาวดารกรุงสยาม : สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, พ.ศ. ๒๔๐๗
หอสมุดแห่งชาติ. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน
: สำนักพิมพ์คลังวิทยา, พ.ศ. ๒๔๐๕.
หอสมุดแห่งชาติ. คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
: สำนักพิมพ์คลังวิทยา, พ.ศ. ๒๕๑๐
หอสมุดแห่งชาติ. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงนิพนธ์พระอธิบายประกอบ
: โอเดียนสโตร์, พ.ศ. ๒๕๐๕
กรมยุทธศึกษาทหารบก. แนวสอนประวัติศาสตร์สยาม : โรงพิมพ์กรมยุทธศึกษาทหารบก, พ.ศ. ๒๔๗๘
ขอขอบคุณ หอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร
กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มหาวิทยาลัยศิลปากร
ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาไทย