ปฐมราชวงศ์
กษัตริย์สยาม

ปฐมราชวงศ์กษัตริย์สยาม


การตั้งอาณาจักรของชาวไทยหรือชนชาติสยามนั้น มีความปรากฏในตำนานโยนกว่า พระเจ้าพรหม
ได้ลงมารบเอาแผ่นดินในดินแดนพายัพ (ปัจจุบันคือภาคเหนือ) จากขอมเมื่อราว พ.ศ. ๑๔๐๐ และ
สร้างเมืองฝางขึ้นเป็นเมืองของชนชาวไทย ตั้งแต่นั้นมาจนถึง พ.ศ. ๑๖๐๐ ชาวสยามหรือคนไทย
ก็ตั้งต้นอพยพลงมาอยู่ตามเมืองต่างๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนใต้ ซึ่งขอมยังคงมีอำนาจอยู่
จนมีชาวไทยพากันมาอยู่ในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยามากขึ้น เมื่อพระเจ้าอนุรุธได้ดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
จากขอมและขอมหมดอำนาจลง พม่าเมืองพุกามก็มีอำนาจปกครองดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้


เมื่อชาวไทยอพยพลงมามีจำนวนมากขึ้นสมทบกับผู้ที่อพยพมาก่อนแล้ว ก็สามารถช่วยกันปราบปราม
ทั้งพวกขอมและพม่าชาวพุกามจนสามารถครองแผ่นดินแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ในที่สุด ดังนั้นตั้งแต่
พ.ศ. ๑๖๕๐ เศษ จนถึง พ.ศ. ๑๘๕๐ ที่กล่าวว่าชาวไทยที่อยู่เมืองเดิมในฮุนหนำได้เสียบ้านเมืองแก่กุปไบข่าน
พวกมองโกลไดครองดินแดนจีน และพม่าเสียพุกามเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๗ นั้น ได้ทำให้พวกไทยน้อยพากันอพยพลงมา
กลับเป็นอิสรภาพในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาลงไปตลอดถึงแหลมมาลายู และยังได้ขยายอาณาเขตไปยัง
ดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงด้วยนั้น ปรากฏว่าภายหลังได้มีการวิเคราะห์กรณีจักรพรรดิกุปไลข่านพิชิตอาณาจักรต้าหลีได้แล้ว
เมื่อ พ.ศ. ๑๗๙๖ ก็ไม่ได้มีเหตุที่บีบบังคับกดดันให้ชนชาติไทยต้องอพยพลงทางใต้อย่างขนานใหญ่
ในสมัยหยวน (สมัยหงวน) ซึ่งสวดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีที่พบว่าชนชาติไทยนั้นอาศัยอยู่ในดินแดน
แถบนี้มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์


สรุปแล้วชนชาวไทยที่อยู่ในดินแดนพายัพต่างหากที่พากันแยกย้ายมาตั้งเมืองใหญ่ เช่น
เมืองสวรรคโลค เมืองสุโขทัย เมืองกำแพงเพชร เมืองอู่ทอง เมืองนครปฐม เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองไชยา
และเมืองศรีธรรมราช เป็นต้น สรุปแล้วคนไทยนั้นได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยา แม่น้ำโขง และ
เลยไปทางลุ่มแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำอิระวดี ซึ่งล้วนแต่นับถือพุทธศาสนาด้วยกันทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ตามผู้คนส่วนใหญ่
ก็ยังนับถือพราหมณ์เป็นครูอาจารย์ จึงพากันเครพศาสนาพราหมณ์ของครูบาอาจารย์ที่นับถือนั้นด้วย


ส่วยลาวนั้นก็ได้ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองเชียงแสนมาตั้งแต่ พ.ศ. ๑๖๐๐ ในตำนานฝ่ายเหนือ
มีเรื่องลาวผู้เป็นต้นวงศ์ว่า ลาวจก หรือ ลวจักกราช เป็นเจ้าแผ่นดินราชวงศ์ลวจักกราชหรือราชวงศ์เชียงแสน
ซึ่งมีเจ้าแผ่นดินจากราชวงศ์นี้ขึ้นครองเมืองปกครองมณฑลพายัพข้างฝ่ายเหนือสืบต่อมาหลายองค์
ต่อมาพวกไทยต่างก็พากันอพยพลงมาครอยครองบ้านเมืองในมณฑลพายัพและตั้งอาณาจักรล้านนาไทยขึ้น


อาณาจักรล้านนาไทยนั้น เดิมมีเมืองขนาดเล็กที่มีอิสระต่อกัน ๓ เมือง ได้แก่ เมืองหิริภุญชัย
เป็นลูกหลวงของขอมละโว้ มีฐานะเป็นราชธานีปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือที่อยู่ในอำนาจขอม
ซึ่งมีพระนางจามเทวีเป็นปฐมราชวงศ์ครองเมืองหริภุญชัยร่วมกับเมืองนครเขลางค์ เมืองเงินยาง (เมืองเชียงแสน)
ที่มีเจ้าแผ่นดินราชวงศ์เชียงแสนครองเมืองเช่นกัน ภายหลังเมืองพะเยาจึงได้รวมเข้าอยู่ในอาณาจักรลานนาไทย


เจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งชื่อขุนเจืองเป็นผู้มีอานุภาพเข้มแข็งสามารถตีได้เมืองหลวงพระบางออกไป
จนถึงเมืองญวน แล้วสิ้นพระชนในสงคราม และราชวงศ์ของขุนเจืองนี้ได้มีเชื้อสายสืบต่อมาจนถึงขุนเม็งราย
ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ และขุนงำเมือง เจ้าเมืองพะเยาซึ่งต่างเป็นอิสรภาพร่วมสมัยเดียวกันกับ
พ่อขุนรามคำแหง ผู้ครองกรุงสุโขทัย


ส่วนการที่เมืองแพร่ เมืองน่าน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอาณาจักรล้านนาไทยนั้น เนื่องจากเมืองทั้งสองนั้น
เป็นเมืองประเทศราชขึ้นกับกรุงสุโขทัย


เรื่องของราชวงศ์ที่ปกครองแผ่นดินพายัพนั้น ยังมีตำนานเล่าว่าเดิมมีราชวงศ์ของพระยาสิงหลวัติ
กษัตริย์เชียงแสนเพียงราชวงศ์เดียวที่ปกครองบ้านเมือง และทีเชื้อสายเป็นกษัตริย์ต่อมาถึง ๓๘ รัชกาล
รัชกาลสุดท้ายคือ พระเจ้าพังคราช กษัตริย์ราชวงศ์เชียงแสนพระองค์นี้ได้ตั้งเมือง ๔ เมืองเป็นเมืองหลวง คือ


เวียงชัยบุรี ครองโดยพระเจ้าพังคราชและพระเจ้าทุกขิตต พระโอรสองค์ใหญ่ เวียงชัยปราการ
ครองโดยพระเจ้าพรหมมหาราช มีพระโอรสชื่อ พระเจ้าชัยศิริ เวียงชัยนารายณ์ ครองโดยพระเจ้าเรือนแก้ว
ผู้เป็นน้องชาย และ เวียงพังคำ (หรือเวียงสีทอง) มีพระญาติใกล้ชิดซึ่งเป็นสตรีมาครอง


ภายหลังเชื้อสายของกษัตริย์จากสี่เวียงหรือราชวงศ์นี้ ได้พากันยกไพร่พลมาครองเมืองต่างๆ
มีอำนาจอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิและดินแดนแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น


เมืองศรีสัชนาลัยนั้นเป็นเมืองของพระนางประทุมเทวี พระมเหสีของพระเจ้าพังคราช
เมืองสุโขทัยภายหลังขุนบางกลางหาวกับขุนผาเมือง จากราชวงศ์ชัยบุรีได้ร่วมกันต่อสู้อำนาจขอม
ทำการตั้งอาณาจักรสุโขทัยได้ เมืองไตรตรึงษ์ (เมืองแพรกศรีราชา อยู่ใน อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท) เมืองเพชรบุรี
ครองโดยพระพนมทะเลศรีวรเชษฐา ซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้าศิริชัย เมืองนครศรีธรรมราชครองโดยพระพนมวัง
โอรสของพระพนมทะเลศรีบวรฯ ซึ่งแต่งงานกับพระนางสะเดียง ธิดาจากเวียงพังคำ และเมืองสองพันบุรี


โดยเฉพาะเมืองสองพันบุรีหรือเมืองสุพรรณภูมินั้น เมื่อกษัตริย์สวรรคตลงก็ขาดรัชทายาทสืบต่อ
พระยาสร้อยหล้าแห่งเวียงชัยนารายณ์ทราบเรื่องจึงจัดขบวนไพร่พลออกจากเมืองศรีสัชนาลัยมา
เมืองดังกล่าวบรรดาขุนนางเมืองสองพันบุรีเห็นท่าทีมีบุญจึงเชิญขึ้นเป็นกษัตริย์ครองเมืองสองพันบุรี และ
เสด็จประทับที่เมืองอู่ทอง จึงเรียกนามว่าพระเจ้าอู่ทอง (สร้อยหล้า) ถือเป็นต้นราชวงศ์ชัยนารายณ์
และสถาปนาราชวงศ์กษัตริย์ขึ้นเป็น ราชวงศ์สุวรรณภูมิ


แต่อีกความกล่าวว่าใน พ.ศ.๑๗๓๑ นั้น พระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งชื่อพระเจ้าชัยศิริ
ผู้สืบเชื้อสายของพระเจ้าพรหมได้ครองเมืองฝาง และแผ่อาณาจักรได้ดินแดนพายัพมาจนถึงเชลียง
ต่อมารามัญได้ยกทัพมาตีเมืองฝาง พระเจ้าศิริสู้ไม่ได้จึงอพยพหนีข้าศึกลงมาทางใต้ พบเมืองร้าง
ชื่อเมืองแปบต่อมาจนทิวงคต และมีเชื้อสายมาครอวเมืองต่อมาอีก ๔ องค์ จนล่วงมาได้ประมาณ ๑๖๐ ปี
พระเจ้าอู่ทองจึงได้เกิดขึ้น


เรื่องของพระเจ้าชัยศิรินี้ ในหนังสือพงศาวดารสังเขปเล่าว่าราชธิดาของเจ้าเมืองแปบประสูติกุมารองค์หนึ่ง
แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นบิดาจึงมีการสืบสวนเสี่ยงทายกันว่ากุมารจะรับของผู้ใด ปรากฏว่ากุมารนั้นรับข้าวก้อนจากชายผู้หนึ่ง
ซึ่งได้ความว่าบิดานั้นเป็นคนทุคตะชื่อนายแสนปม ไม่ได้เป็นราชตระกูล เจ้าเมืองแปบเกิดละอายพระทัย
จึงขับพระธิดากับกุมารนั้นไปกับนานแสนปมผู้เป็นบิดา นายแสนปมไปสร้างเมืองเทพนครเมื่อ พ.ศ. ๑๘๖๒
และขึ้นครองราชสมบัติทรงพระนามว่าพระเจ้าชัยศิริเชียงแสน และได้นำทองคำมาทำอู่ให้กุมารนั้นนอน
จึงให้นามว่าพระเจ้าอู่ทอง พระเจ้าศิริชัยเชียงแสนครองพระราชสมบัติเมืองเทพนครอยู่ ๒๕ ปี
ก็เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๑๘๘๗ พระเจ้าอู่ทองจึงได้ครองราชสมบัติต่อมา


แต่มีความเรื่องพระเจ้าอู่ทองในพงศาวดารเหนือว่า เมื่อพระยาแกรกสวรรคตแล้ว ได้มีเชื้อพระวงศ์
ขึ้นครองราชสมบัติสืบมา ๓ ชั่วอายุคน ก็เกิดมีแต่ราชธิดาที่จะสืบราชวงศ์ จึงทำให้โชฎึกเศรษฐีอภิเษก
กับราชธิดานั้นครองเมือง ไม่ปรากฏชื่อเมือง อยู่ได้ ๖ ปีก็เกิดห่าลงเมือง จนพระเจ้าอู่ทอง
ต้องมาสร้างกรุงศรีอยุธยาที่หนองโสณ


สรุปแล้วพระเจ้าอู่ทองนี้เป็นพระราชบุตรเขยของพระเจ้าศิริชัยเชียงแสน ได้รับราชสมบัติสืบพระวงศ์
ทางพระมเหสี ครองราชสมบัติอยู่ ๖ ปี เกิดโรคห่าขึ้นในพระนคร จึงย้ายมาตั้งราชธานี
ที่เมืองอยุธยา (จากพระราชนิพนธ์ของ ร.๔ ที่ลงในไจนีสเรโปสิตอรี พ.ศ. ๒๓๙๔ )


แม้ว่าตำนานการสร้างเมืองจะเกิดขึ้นเป็นเรื่องเล่าขานตำนานโบราณคดีของท้องถิ่นอยู่หลายแห่ง
เช่น พระยากงพระยาพาน ตำนานเมืองนครปฐม พระพันวสา ตำนานเมืองสุพรรณบุรีและเมืองกาญจนบุรี
ท้าวแสนปมเมืองไตรตรึงษ์ พระเจ้าสายน้ำผึ้ง เมืองอโยธยา และพระร่วงส่วยน้ำเมืองสุโขทัย เป็นต้น
ดูเป็นนิทานมากกว่าใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์


อาณาจักรสยาม (กรุงสุโขทัย) ตอนบนนั้นจีนเรียกว่า “เสียมก๊ก” หรือ “เสียม” และ
อาณาจักรสยามตอนล่าง (กรุงศรีอยุธยา) จีนเรียกว่า “หลอฮกก๊ก” ดังนั้นเมื่อมีการรวมอาณาจักรสยามตอนบน
และตอนล่างเป็นหนึ่งเดียวกัน จีนจึงเรียกอาณาจักรนี้ว่า “เสียมหลอก๊ก”


ด้วยเหตุนี้การจัดตั้งสยามเป็นอาณาจักรเดียวกัน จึงได้มีพวกไทยใหญ่ได้มีอำนาจครองเมืองพุกาม
และเป็นใหญ่ในดินแดนพม่า ทางดินแดนตอนใต้มีมะกะโท รามัญผู้ออกไปจากเมืองสุโขทัยแล้วไปตั้งตนเป็นใหญ่
ครองอาณาจักรรามัญหรือดินแดนมอญมาตลอดราชวงศ์ของพระเจ้าราชาธิราช


สำหรับอาณาจักรสยามที่อยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานั้น มีเรื่องของพระเจ้าอู่ทองเป็นต้นราชวงศ์กษัตริย์อยู่
โดยเชื่อว่าพระเจ้าอู่ทองนั้นอยู่ที่เมืองสุพรรณบุรี ด้วยมีเมืองอยู่ทองอยู่ริมแม่น้ำจระเข้สามพัน
ผู้ครองเมืองนี้เรียกพระเจ้าอู่ทองทุกพระองค์


กษัตริย์ราชวงศ์นี้ได้ครองเมืองอู่ทองสืบต่อมาจนถึงพระเจ้าอู่ทองรัชกาลที่ ๓ พระองค์มีพระโอรสชื่อ
ขุนหลวงพะงั่ว (ต่อมาได้เป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา) และพระธิดาไม่ปรากฏนาม ต่อมา พ.ศ. ๑๘๗๖
พระราชธิดาผู้นี้ได้อภิเษกกับเจ้าราม รัชทายาทจากเมืองเทพนครชัยศิริ เมื่อพระเจ้าอู่ทอง (ผู้เป็นพ่อตา)
สวรรคตประมาณ พ.ศ. ๑๘๗๘ เจ้ารามผู้นี้ได้ครองเมืองอู่ทอง นามว่าพระเจ้ารามราชา ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า
พระเจ้าอู่ทอง (เจ้าราม) ครองเมืองอยู่ ๑๐ ปี พระเอกาทศรถ (พระบิดาของเจ้าราม)
นั้นหลังจากครองเมืองเทพนครศิริชัยได้ ๒๕ ปี ก็สวรรณคตในปี พ.ศ. ๑๘๘๖ พระเจ้าอู่ทอง (เจ้าราม)
จึงได้ครองราชที่เมืองเทพนครชัยศิริ และให้ขุนหลวงพะงั่วซึ่งเป็นพี่พระมเหสีเดิมครองเมืองสองพันบุรี
อยู่นั้นขึ้นไปครองเมืองอู่ทอง


ต่อมา พ.ศ. ๑๘๙๐ เมืองอู่ทองเกิดเส้นทางน้ำเปลี่ยนทางเดินทำให้เกิดโรคระบาดในเมือง
จึงย้ายมาครองสองพันบุรีตามเดิม ส่วนพระเจ้าอู่ทอง (เจ้าราม)นั้นต่อมาเห็นว่าเสนาราชนคร (น่าจะเป็นอโยธยา)
ซึ่งเป็นเมืองท่าของเมืองละโว้ เหมาะสมกับจะเป็นราชธานี จึงได้ตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นใหม่
ที่ตำบลหนองโสนเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ และพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาพระองค์แรก ทรงพระนามว่า
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ครองราชสืบเชื้อสายราชวงศ์กษัตริย์สืบต่อมา


สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ กษัตริย์กรุงศรีอยุธยานั้นมีพระโอรสองค์หนึ่ง แต่เกิดก่อนพระองค์จะขึ้นครองราชย์
(หากกรณีพระเจ้าอู่ทองเป็นพระโอรสของพระเจ้าศิริเชียงแสน ราชวงค์เชียงแสน พระมเหสีผู้นี้น่าจะ
เป็นเชื้อพระวงค์ทางเหนือด้วย) เมืองกรุงศรีอยุธยามีอำนาจหัวเมืองทางเหนือจึงได้ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก
ต่อมาพระโอรสองค์นี้ก็ได้สตรีผู้เป็นเชื้อสายของราชวงศ์กษัตริย์ทางเหนือเป็นภรรยาอีก และมีโอรสด้วยกันคือ
พระชัยราชา


พระชัยราชานี้ถือว่าเป็นกษัตริย์เชื้อสายทางเหนือด้วย และมีฐานะเป็นพระอนุชาของสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔
(เจ้าอาทิตย์วงค์) ด้วย ต่อมาได้ครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าชัยราชาธิราช


คำว่าราชวงศ์กษัตริย์ทางเหนือเดิมนั้นปรากฏว่าชื่อ ราชวงศ์เชียงแสน (เมืองเงินยาง-จากพระเจ้าชัยศิริ)
น่าจะเป็นวงศ์เดียวกับราชวงศ์เชียงราย (จากพระยาเม็งราย) และเมื่อคนในราชวงศ์นี้ได้ครองสุโขทัย
จึงเป็นราชวงศ์สุโขทัย (เชื้อสายของพระร่วง)


พระเจ้าชัยศิริเชียงแสน ที่ปรากฏในตำนานว่าเป็นบิดาของพระเจ้าอู่ทองนั้น หากเชื่อว่าเป็น
พระเจ้าครองเมืองชัยศิริหรือศิริชัยอย่างพระนามพระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้าอู่ทองแล้ว น่าจะหมายความได้ว่า
พระเจ้าชัยศิรินี้น่าจะตั้งอยู่ที่เมืองชัยศิริ หรือศิริชัย คือเมืองนครปฐม ด้วยเมืองนครปฐมนั้นร้างมาเกือบ ๑๐๐ ปี
ตั้งแต่พระเจ้าอนุรุธตีเอาเมืองและกวาดต้อนผู้คนไป (จากพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตเลขา)
ดังนั้นเมืองพระเจ้าอู่ทอง ได้ครองเมืองอู่ทองและเมืองนครปฐม ก็ดูจะเหมาะสมด้วยอยู่ใกล้กัน
มากกว่าเมืองเทพนคร (อยู่ใต้เมืองกำแพงเพชรลงมา)


ดังนั้นเมื่อ พ.ศ. ๑๗๓๑ ราชวงศ์ของพระเจ้าอู่ทองที่อพยพงลงมาครองเมืองอู่ทอง (หรือเมืองนครปฐม)
สืบพระวงศ์ต่อกันมาถึง ๑๖๐ ปี คือ พ.ศ. ๑๘๙๓ จึงเกิดพระเจ้าอู่ทองผู้สร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้น ในระหว่างนี้ช่วง ๑๖๐ ปี
อาณาจักรสุโขทัยก็มีพระเจ้าแผ่นดินในพระราชวงศ์พระร่วงครองราชแล้ว ๔ พระองค์ และ
ได้สร้างเมืองนครชุม (เมืองกำแพงเพชรเก่า) ขึ้นเป็นราชธานีฝ่ายตะวันตกริมแม่น้ำพิง (หรือไตรตรึงษ์
เมืองใต้กำแพงเพชร)


สรุปแล้วดินแดนสยามประเทศนั้น ได้มีการรวมตัวเป็นประเทศใหญ่ตั้งเป็นอิสระอยู่ ๒ อาณาจักรคือ
อาณาจักรสยามที่มีกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และอาณาจักรล้านนาไทยหรือหริภุญชัย มีเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานี
จน พ.ศ. ๑๘๙๓ จึงเกิดอาณาจักรสยามที่มีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีโดยพระเจ้าอู่ทอง
ซึ่งเป็นต้นราชวงศ์กษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา ดังนั้นพระเจ้าอู่ทองจึงทรงเป็นเชื้อสายราชวงศ์กษัตริย์ทางเหนือ
เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าชัยศิริเชียงแสนนั่นคือสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์เชียงแสนนั่นเอง
แต่เกิดได้ครองงเมืองอู่ทองจึงเป็นราชวงศ์อู่ทองหรือราชวงศ์สุพรรณภูมิในฐานะราชบุตรเขยได้อีกสายหนึ่ง


บุคคลในราชวงศ์ที่สืบต่อจากพระเจ้าอู่ทองนี้ได้เป็นกษัตริย์ขึ้นครองราชย์ต่อมาหลายพระองค์
และมีการแย่งชิงอำนาจและสับเปลี่ยนราชวงศ์กษัตริย์กันต่อมาจนถึง พ.ศ. ๒๓๑๐ ก็เกิดการเสียกรุงศรีอยุธยา
และมีการตั้งราชธานีแห่งใหม่ขึ้น


ส่วนตำนานราชวงศ์กษัตริย์ของอาณาจักรสยาม ในคำให้การชาวกรุงเก่านั้น มีความเล่าไว้เหมือนคำพยากรณ์ว่า


ตั้งแต่พระพุทธองค์เสด็จประทับขันธ์ปรินิพพานแล้ว พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ได้ผ่านภิภพ
ณ กรุงปาตลีบุตรมหานคร พระองค์เสด็จประพาสรอบสากลชมพูทวีป เสด็จมาถึงเมืองสังขบุรี ทรงพยากรณ์ว่า

เมื่อพระพุทธศาสนากาลล่วงได้ ๒๑๓ ปี จะมีผู้มีบุญญาภินิหารสร้างพระนครอยู่ตำบลสังขบุรีนี้

เมื่อพระพุทธศาสนากาลล่วงได้ ๕๐๑ ปี พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์สร้างพระนครอินทปัตพระพุทธศักราช ๑๑๑๑ ปี
พระยาแกรกได้ครองราชสมบัติ ลบศักราชเสีย คงไว้แต่ ๕๐๑ ปี ในปีนั้น พระเจ้าอู่ทองเสด็จมาสร้างพระนคร
ที่ตำบลหนองโสน ขนานนามว่า กรุงทวารวดี (ศรีอยุธยา) ตั้งแต่สร้างกรุงทวารวดีมา
ไม่มีศึกสงคราม (มาติดพระนคร) ๒๑๕ ปีจนจุลศักราช ๗๒๕ ปี พระเจ้าหงสาวดียกกองทัพมาตีกรุงทวาราวดี
เสียกรุงทวาราวดีแก่พระเจ้าหงสาวดีครั้งที่หนึ่ง ตั้งแต่นั้นก็มิได้เสียกรุงแก่ใคร ไม่มีศึกสงคราม (มาติดพระนคร) ๒๕๔ ปี

พระเจ้าติโลกนาถเสวยราชย์เมื่อจุลศักราช ๙๗๘ ปี ว่างศึกสงครามอีก ๑๔๘ ปี
จนถึงจุลศักราช ๑๑๒๘ ปี (มัง) มหานรธา แม่ทัพพระพม่ายกมาตีกรุงทวาราวดีๆ เสียแก่พม่า
คำนวณตั้งแต่สร้างพระนคร (ศรีอยุธยา) ที่หนองโสนมาจนเสียพระนครแก่พม่ารวมได้ ๖๑๓ ปี


ถ้านับตั้งแต่พระเจ้าปทุมสุริวงศ์สร้างพระนคร (อินทปัต) ที่สิงขบุรีเมื่อพุทธศักราช ๒๑๓ ปี
มาจนถึงเสียกรุงทวาราวดีแก่พม่าเป็นปีได้ ๑๗๓๘ ปี มีพระมหากษัตริย์ (ได้เสวยราชย์ยุคแรก) ๓๒ พระองค์
มีระยะเวลาที่ว่างพระมหากษัตริย์บ้าง ต่อมา (ยุคหลัง) มีพระมหากษัตริย์อีก ๙๐ พระองค์ รวมทั้ง ๒ ยุค
ได้มีพระมหากษัตริย์ครองราชสมบัติมา ๑๒๒ พระองค์ด้วยกัน


เรื่องของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่โบราณนั้น ในคำให้การชาวกรุงเก่าปรากฏ ดังนี้


“พระมหากษัตริย์ที่สร้างพระนครสวรรคโลก พระมเหสีเป็นนาคพระโอรสคือพระร่วง
พระมหากษัตริย์ที่สร้างพระนครสุโขทัย มีพระธิดาทรงพระนามว่า สุพรรณเทวีๆ นั้น เป็นพระมเหสีของมะกะโท
พระมหากษัตริย์ที่เสวยไม้งิ้วดำนั้น สร้างพระนครสัง (สรรคบุรี) พระองค์มีม้าและแพะที่เหาะได้
พระมหากษัตริย์พระองค์นี้สร้างพระนครพิษณุโลกอีกด้วยแห่งหนึ่ง พระมหากษัตริย์ที่สร้าง
พระนครวิเชียรปราการ (เมืองกำแพงเพชร) เป็นพระราชบุตรของเจ้าเมืองกำแพงเพชร
พระมหากษัตริย์ที่สร้างเมืองสวรรค์ (สรรค์) นั้น มีโอรส (สืบพระวงศ์) สองพระองค์ พระองค์ได้ช้างเผือก
พระมหากษัตริย์ที่สร้างพระนครชัยนาทนั้น ไม่มีพระโอรสธิดาเมืองชัยนาทนั้นเดิมเป็นบ้านพรานเนื้อ
พระมหกษัตริย์ที่ครองเมืองชัยนาททรงพระนามว่า นราธิเบศร์ ทรงตั้งพระศรีแสน (พระศรีศิลป์)
เป็นพระมหาอุปราช พระมหากษัตริย์ที่สร้างพระนครวิไชตไชย (เมืองพิจิตรหรือเมืองพิไชย)
ถูกพระอนุชากับพระมเหสีคบคิดกันจับปลงพระชนม์เสีย แล้วพระอนุชาไปสร้างพระนครเพชรบุรี
พระรามาธิบดีศิริวงส์ เมื่อทรงสร้างกรุงทวาราวดีนั้น มีนิมิตปลาร้อง ฆ้องดังและขุดทรัพย์แผ่นดินได้
พระราชโอรสของพระรามาธิบดีที่สร้างกรุงทวาราวดี ทรงพระนามว่า พระเฑียร (ราชา) พระองค์หนึ่งพระราชา
พระไชย (ราชา) พระองค์หนึ่ง พระไชยนั้นถูกพระมเหสีกับอำมาตย์คบคิดกันปลงพระชนม์
พระบรมราเมศวรนั้น มีราชธิดาทรงพระนามว่า พระบรมธิปัตพระราชโอรสทรงพระนามว่า
พระมหินทร์ เมื่อพระองค์ได้เสวยราชย์ทรงพระนามว่า (พระมหา) จักรพรรดิ์ เพราะมีช้างเผือกถึงเจ็ดช้างพระสุธรรมราชา
ซึ่งเสวยราชย์ ณ เมืองพิษณุโลกนั้นมีพระธิดาทรงพระนามว่า จันทรกัลยา มีพระโอรสทรงพระนามว่า พระนเรศ (วร)
พระองค์หนึ่ง พระเอกาทศรถ พระองค์หนึ่ง สองพระนามนี้เรียกอย่างภาษารามัญ”


พระเจ้าติโลกนาถซึ่งครองราชสมบัติกรุงทวาราวดี มีพระราชโอรส ๒ พระองค์ พระราชบุตรเขย
เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าอู่ทอง ด้วยพระโอรสของพระราชโอรสใหญ่ของพระเจ้าอู่ทองพระราชบุตรเขยพระองค์นี้
ทรงพระนามว่า พระรามาธิเบศร์ พระรามาธิเบศร์นี้พระนามเดิม พระเจ้าปราสาททอง
แต่เดิมพระองค์เป็นอำมาตย์พระเจ้าปราสาททองมีราชโอรส (สืบพระวงศ์) ทรงพระนามว่า พระนารายณ์


พระนามพระเจ้าแผ่นดินต่อจากพระนารายณ์ นั้น คือ


นอกราชสมบัติ ในราชสมบัติ พระชนมพรรษา


๑. เจ้าพระยาสุรสีห์ ๕๔ ๑๔ ๖๘


๒. พระสุรินทราชา ๔๙ ๗ ๕๖


๓. พระภูมินทราชาธิราช (โอรส ๒) ๓๐ ๒๔ ๕๔


๔. พระธรรมราชา (อนุชา ๓) ๕๑ ๒๑ ๗๒


๕. พระอุทุมพรราชา (โอรส ๔) ๒๐ ๓ เดือน -

๖. พระเอกาทัศราชา (เชษฐา ๕) ๔๐ ๙ ๔๙


พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาจึงสิ้นสุดราชวงศ์ใน พ.ศ. ๒๓๑๐


ครั้นเมื่อตรวจสอบพระนามของกษัตริย์ที่ครองราชย์มาตั้งแต่จุลศักราช ๕๐๑ ปี คือ พ.ศ. ๑๖๘๑ นั้น
ทั้งในคำให้การชาวกรุงเก่า กับ พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา แล้ว ชื่อและลำดับการครองราชย์ไม่ตรงกัน ฅ
จึงได้ตรวจสอบและนำมาเป็นข้อมูลเพื่อศึกษาต่อไปได้ ดังนี้


ในคำให้การชาวกรุงเก่า


นอกราชสมบัติ ในราชสมบัติ พระชนมพรรษา


๑. พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ๑๖ ๓๕ ๕๑


๒.พระเจ้าจันทราชา (โอรส ๑) ๒๕ ๓๐ ๕๕


๓. พระร่วงเจ้า (โอรส ๒) ๓๕ ๔๐ ๗๕


๔. พระเจ้าลือ (อนุชา ๓) ๓๐ ๓๕ ๖๕


๕. พระเจ้าโคตรตะบอง


๖. พระยาแกรก ๑๕ ๔๕ ๖๐


๗. พระยาสายน้ำผึ้ง


๘. พระสุธรรมราชา (โอรส ๗)


ต่อจากนี้ว่างกษัตริย์อยู่หลายปี จึงมีกษัตริย์ครองราชสืบต่อไป คือ


๙. พระเจ้าพิไชยราช


๑๐. พระเจ้าพิไชยราช


๑๑. พระศรีแสน (พระศรีศิลป์) (โอรส ๑๐)


๑๒. พระไชยนาท (อนุชา ๑๒)


๑๓. พระสุรินราชา


๑๔ พระอนุทราชา (อนุชา ๑๓)


๑๕. พระอินทราชา (โอรส ๑๔)


๑๖. พระเจ้าอู่ทอง มีพระนามว่า พระรามาธิบดีศิริวงศ์ (โอรส ๑๕)


ต่อนี้ว่างกษัตริย์อีกคราวหนึ่ง แล้วจึงมีพระมหากษัตริย์ครองราชสมบัติคือ


๑๗. พระบรมราเมศวร


๑๘. พระกระเจียรนเรศวร


๑๙. พระเฑียร (ราชา) คือ พระมหาจักรพรรดิ์ ซึ่งเป็นพระเจ้าช้างเผือก ๗ ช้าง


๒๐. พระไชยราชา (อนุชา ๑๙)


ต่อจากนี้ว่างพระมหากษัตริย์อีกหลายปีจึงถึง


๒๑. พระเจ้าสุรพันธ์ อินทพยัคฆ์ (พระเจ้าสุพรรณปราสาท จะหมายความว่า พระเจ้าปราสาททอง)
ซึ่งพระนคร (ปราสาท) เทวดานฤมิตนั้น มีพระโอรส ๔ พระองค์ พระราชธิดา ๓ พระองค์รวม ๗ พระองค์
สืบราชสมบัติต่อมา


เมื่อตรวจสอบกับพระนามของกษัตริย์ และเรียงลำดับตามตารางรายนามพระเจ้าแผ่นดินที่พม่าทำขึ้นแล้ว
ปรากฏว่ายังมีข้อผิดพลาดอยู่มาก ดังนั้นข้อความในเอกสารดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานที่อ้างถึงไม่ได้
นอกจากใช้ประกอบความเช่นเดียวกับนิทาน จนกว่าจะมีหลักฐานอื่นมาตรวจสอบเพิ่มอีก



<< ย้อนกลับ ถัดไป อาณาจักรสุโขทัย>>