ตำนานมนุษย์ในสุวรรณภูมิ
คนสองกลุ่มคือชนชาติมอญ-ขอมนั้น ต้องถือว่าเป็นต้นแบบของตระกูลมนุษย์ที่อาศัยในแถบอินโดจีน
ก่อนที่จะผสมผสานกับคนพื้นเมืองเป็นชนกลุ่มอื่นต่อไป มีเรื่องราวที่น่าศึกษาไว้ว่า
เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑ คือประมาณ ๒๕๐๐ ปีก่อนพุทธศาสนานั้น กลุ่มคนที่มีชาติพันธ์มอญ-ขอม หรือ
กลุ่มออสโตรเอเซียติค ซึ่งน่าจะอยู่แถบจีนตอนใต้นั้น ได้พากันเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิ
โดยกลุ่มชาติพันธ์มอญนั้นได้อพยพลงมาตามลำน้ำสาละวินลงมาทางดินแดนของเมียนมาร์แล้วตั้งบ้านเมืองขึ้น
ตามลุ่มแม่น้ำนี้ ในที่สุดก็จัดตั้งอาณาจักรมอญของตนขึ้นที่เมืองสุธรรมวดีคือเมืองสะเทิม อยู่ทางตอนใต้ของเมียนม่าร์
ส่วนกลุ่มชาติพันธ์ขอมนั้นได้อพยพมาตามลำน้ำโขง ลงมาทางตอนใต้ สร้างบ้านแปงเมืองจนในที่สุด
ได้ตั้งอาณาจักรขอมที่ยิ่งใหญ่ขึ้นในดินแดนปากแม่น้ำโขง คือประเทศเขมรในปัจจุบัน
สรุปแล้วทั้งชนชาติมอญและชนชาติขอมนั้น เดิมนั้นต่างมีถิ่นฐานอยู่ทางจีนตอนใต้แหล่งเดียวกัน
ต่อมาต่างก็พากันแยกย้ายอพยพลงมาตามลุ่มแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำโขง
สำหรับชนชาติไทยนั้น ถิ่นกำเนิดอยู่ที่ใด เดิมเชื่อกันว่าน่าจะอยู่แถบภุเขาอัลไตโดยหมายเอาชื่อ อัลไตมาเป็น ไต
หรือไท ภายหลังได้มีการศึกษาความเป็นไปได้แล้ว ชนชาติไทยนั้นน่าจะอยู่แถว ภาคเหนือของไทยหรือ
อยู่ขึ้นมาทางตอนใต้ของจีนเป็นกลุ่มไทลื้อ ไท-ยอง หรือไม่ก็นับเอาแหล่งมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์
ที่จังหวัดกาญจนบุรีเป็นถิ่นของคนไทยหรือคนสยาม
เรื่องของชนชาตินั้น มีปรากฏเป็นตำนานเล่าไว้ในพงศาวดารล้านช้าง ปริเฉทที่ ๒ ถึงการกำเนิดของมนุษย์
ในกลุ่มแหลมอินโดจีนนี้(ตามอักขระเดิม) ว่า
๐ กาลเมื่อก่อนนั้น ก็เป็นดินเป็นหญ้า เป็นฟ้าเป็นแถน ผีแลคนเที่ยวไปมาหากันบ่ขาด
๐.เมื่อนั้นยังมีขุนใหญ่ ๓ คน ผุ้หนึ่งชื่อว่า ปู่ลางเชิง ผู้หนึ่งชื่อขุนคาน อยู่สร้างบ้านเมืองลุ่ม กินปลาเฮ็ดนาเมืองลุ่มกินเข้า
เมื่อนั้นแถนจึงใช้ให้มากล่าวแก่คนทั้งหลายว่า ในเมืองลุ่มนี้กินเข้าให้บอกให้หมาย กินแลงกินงายก็ให้บอกแก่แถน
ได้กินขึ้นก็ให้ส่งขาได้กินปลาก็ให้ส่งรอยแก่แถน
เมื่อนั้นคนทั้งหลายก็บ่ฟังคามแถนแม้นใช้มาบอกสองทีสามที ก็บ่ฟังหั้นแล
๐ แต่นั่นแถนจึงให้น้ำท่วมเมืองลุ่มลีดเลียง ท่วมเมืองเพียงละลาย คนทั้งหลายฉิบหายมากนักชะแล
๐ ยามนั้นปู่ลางเชิงแล ขุนเด็กขุนคาน รู้ว่าแถนเคียดแก่เขาๆจึงเอาไม้ขาแรงเฮ็ดแพเอาไม้แปงเรือนเฮ็ดพวง
แล้วเขาจึงเอาลูกเอาเมียเข้าอยู่ในแพนั้น แล้วน้ำจึงพัดเขาขึ้นเมือบน ขนเอาเมือเมืองฟ้าพู้นแล
๐ พระยาแถนจึงถามเขาว่า สูจักมาเมืองฟ้าตูพี้เฮดสัง เขาจึงบอกเหตุการณ์ทั้งมวญ
พระยาแถนจึงว่าตูใช้ให้ไปกล่าวแก่สูสองสามที ให้ยำแถนยำผีเถ้าเจ้ายืนกาย สูงสั่งบ่ฟังคำกูจึงเท่าสูแล้ว
๐ ทีนั้นพระยาแถน จึงให้เขาไปอยู่ที่บึงดอนแถนลอหั้นแล แต่นั้นน้ำจึงแห้งจึงบกเป็นพื้นแผ่นดิน
เขาจึงไหว้ขอพระยาแถนว่า ตูข้อยนี้อยู่เมืองบนบ่แกว่นแล่นเมืองฟ้าบ่เปน ตูข้อยขอไปอยู่เมืองลุ่มลิดเลียง
เมืองเพียงพักยอมพู้นเทอญ
เมื่อนั้นพระยาแถนจึงให้เอาลงมาส่ง ทั้งให้ควายเขาลู่แก่เขา จึงเอากันลงมาตั้งอยู่ที่นาน้อยอ้อยหนูนก่อหั้นแล
แต่นั้นเขาจึงเอาควายนั้นเฮ็ดนากิน นานประมาณ ๓ ปีควายเขาก็ตายเสีย เขาละซากควายเสียที่นาน้อยอ้อยหนูหั้นแล้ว
อยู่บ่อนานเท่าใด เครือหมากน้ำก็เกิดออกฮูดังควายตัวตายนั้นออกยาวมาแล้ว ก็ออกเป็นหมากน้ำเต้าปูง ๓ หน่วย
แลหน่วยนั้นใหญ่ประมาณเท่ารินเขาปลูกข้าวนั้น
เมื่อเครื่องหมากนั้นแก่แล้ว คนทั้งหลายก็เกิดมาอาไศรยซึ่งหมากน้ำ เปนดังนางอาสังโนเกิดในท้องดอกบัว
เจ้าฤาษีเอามาเลี้ยงไว้ คนทั้งหลายฝูงเกิดในผลหมากน้ำเต้าฝูงนั้นก็ร้องก้องนีนันมากนัก ในหมากน้ำนั้นแล
๐ ยามนั้นปู่ลางเชิงจึงเผาเหล็กชีแดงชีหมากน้ำนั้น คนทั้งหลายจึงบุเบียดกันออกมาทางฮูทีชีนั้น
ออกมาทางฮูทีนั้น ก็บ่เบิ่งคับคั่งกัน ขุนคานจึงเอาสิ่วไปสิ่วฮู ให้เป็นฮูแควนใหญ่แควนกว้าง
คนทั้งหลายก็ลุไหลออกมานานประมาณ ๓ วัน ๓ คืน จึงหมดหั้นแล
คนทั้งหลายฝูงออกมาทางฮูชีนั้นแบ่งเป็น ๒ หมู่ๆหนึ่งเรียกชื่อ ไทยลม หมู่หนึ่งเรียกว่าไทยลี
ผู้ออกทางฮูสิ่วนั้นแบ่งเป็น ๓ หมู่ หมู่หนึ่งเรียกชื่อไทยเลิง หมู่หนึ่งเรียกชื่อ ไทยลอ
หมู่หนึ่งเรียกชื่อ ไทยควาง แล
๐ แต่นั้นฝูงปู่ลางเชิง จึงบอกสอนเขาให้เฮ็ดไฮ่ไถนา ทอผ้าทอสิ้นเลี้ยงชีวิตรเขา
แล้วก็ปลูก แบ่งเขาให้เปนผัวเปนเมีย มีเย่ามีเรือนก็จึงมีลูกหญิงลูกชายมากนักแล
เมื่อนั้นปู่ลางเชิงเล่าบอกให้เขารักพ่อเลี้ยงรักแม่เลี้ยง เคารพยำเกรงผู้เถ้าผู้แก่กว่าตนเขาแล อยู่หึงนานไปพ่อแม่เขาก็ตาย
ท่านปู่ลางเชิงเล่าบอกให้เขาไหว้พ่อแม่เขาแล้วส่งสการเมี้ยนซากฝูงออกมาทางฮูสิ่วให้เผาเสีย
เก็บถูกล้างสร้อยสีแล้วให้แบ่งเถียง ใส่ลูกไว้ให้ไปส่งเข้าส่งน้ำชุมื้อ ฝูงออกทางฮูชีนั้นให้ฝังเสียแล้ว
แปงเถียงกวมไว้เล่า ให้ไปส่งเข้าน้ำชุวัน คั้นเขาไปบ่ได้ปู่ลางเชิงบอกให้แต่งเพื่อน
เข้าเหล้าไว้ห้าห้องเรือน เขาแล้วให้เขาเรียกพ่อแม่เขาฝูงตายนั้นมากินหั้นแล
๐ แต่นั้นคนทั้งหลายฝูงเกิดมาในน้ำเต้า ฝูงออกมาทางฮูสิ่วนั้นเปนไทย ฝูงออกมาทางฮูชีนั้นเปนข้า
คนฝูงนั้นลวดเปนข้อยเป็นไพร่เขาเจ้าขุนทั้งสามนั้นแล
เมื่อนั้นคนแผ่พวกมามากนัก มากอย่างหลายทรายหลายอย่างน้ำ ท่อว่าหาท้าวพระยาบ่ได้
ปุ่ลางเชิงทั้งขุนเด็กขุนคานบอกสอนเขาก็บ่แพ้ แม้ว่าใคเขาก็บ่เอาคำ
ขุนทั้งสามก็จึงขึ้นเมือขอหาท้าวพระยากวนแถนหลวง พระยาแถนจึงให้ขุนครูและขุนครอง
ลงมาเปนท้าวพระยาแก่เขาหั้นแล
๐ เมื่อขุนทั้งสองลงมา สร้างบ้านก็บเปลือง สร้างเมืองก็บ่กว้าง สูกินเหล้าชุมื้อชุวัน
นานมาไพร่ค้างทุกข์ค้างยากก็บ่ดูนา
๐ เมื่อนั้นขุนเด็กขุนคาน จึ่งขึ้นเมือไหว้สาแก่พระยาแถน ๆจึงถกเอาทังสองหนีเมือบนหนเมือฟ้าดังเก่าเล่าแล
พาหิระนิทานํนิฎฐิตํ
๐ ปางนั้นพระยาแถนหลวงจึงให้ท้าวผู้มีบุญ ชื่อว่าขุนบูลมมหาราชาธิราช
อันได้อาชญาพระยาแถนแล้วก็จึ่งเอารี้พลทั้งหลายลงเมือ เมืองลุ่มลีดเลียงเมืองเพียงคักค้อย
มาอยู่ที่นาน้อยอ้อยหนู อันมีลุ่มเมืองแถนหั้นก่อนแล
๐ ทีนั้นคนทั้งหลายฝูงออกมาแต่น้ำเต้าปูงนั้น ผู้รู้หลักนักปราชญ์นั้นเขาก็มาเป็น
ลูกท่านเบ่าเธอขุนบูลมมหาราชา แลผู้ใบ้ช้านั้นเขาก็อยู่เปนไพร่ไปเปนป่า สร้างไฮ่เฮ็ดนากินแล
จากข้อความข้างต้นนั้นเป็นสำนวนเก่าที่ต้องทำความเข้าใจความเสียก่อนว่า การเกิดขึ้นมนุษย์นั้นเริ่มต้น
ที่พ่อขุนทั้งสามคือ ปู่ลางเชิง ขุนคาน และขุนเด็ก อยู่เมืองลุ่ม โดยมีพระยาแถนซึ่งเป็นเทวดาอยู่เมืองฟ้าเป็นผู้ดูแล
ต่อมาเกิดไม่เชื่อฟังพระยาแถน พระยาแถนเคืองจึงให้น้ำท่วมเมืองลุ่ม คนกลุ่มนี้จึงพาเอาลูกเมียลงแพ
แต่น้ำได้พัดขึ้นไปเมืองฟ้า พระยาแถนได้กล่าวเตือนพ่อขุนทั้งสามว่าว่าที่สั่งให้กินข้าวให้บอกให้หมาย
กินแลงกินงายให้บอกแถน กินขึ้นให้ส่งขากินปลาให้ส่งรอยแก่แถนนั้นเป็นการยำแถนยำผีเถ้ายำเจ้ายืนกาย ก็ไม่ฟังกัน
แล้วพระยาแถนก็จัดให้คนเหล่านั้นไปอยู่ที่บึงดอนแถนลอ แต่น้ำแห้งจึงกลายเป็นแผ่นดิน
ต่อมาพ่อขุนเหล่านั้นขอว่าอยู่เมืองบนเมืองฟ้าบ่เป็นขอกลับไปอยู่เมืองลุ่มลีดเลียง เมืองเพียงคัดค้อย(หรือเพียงพักยอม)
พระยาแถนจึงส่งลงมาพร้อมกับควายเขาลู่ และตั้งบ้านที่นาน้อยอ้อยหนู
ควายนั้นทำนาได้สามปีก็ตาย เขาและซากควายนั้นได้เกิดเครือต้นน้ำเต้าออกเป็นลูกน้ำเต้าใบใหญ่
ภายในน้ำเต้าใบใหญ่นั้นได้เกิดผู้คนร้องส่งเสียงกันอยู่ภายในหลายเผ่าพันธ์ จนปู่ลางเชิงต้องไชให้คนเหล่านั้น
ออกมาจาก โดยปู่ลางเชิงนั้นเอาเหล็กแดงมาไชน้ำเต้าใบใหญ่ พอไชก็มีผู้คนเบียดเสียดกันออกมากคับคั่ง
จึงทำให้มีผิวดำเพราะร้อนไหม้(เรียกรูชี) เมื่อผู้คนผิวดำเช่นนั้นปู่ลางเชิงก็เอาสิ่วเจาะรูให้ใหม่
ทำให้ใหญ่ขึ้น(เรียกว่า รูสิ่ว) ขึ้นทำให้คนพวกที่ออกทางรูสิ่วมีผิวขาวกว่า คนที่ออกมาทางรูสิ่วนั้นเป็น
คนไทย คนที่ออกมาทางไช(รูชี))นั้นเป็นพวก ข่า(ข้า) จึงลวด(เลย) เป็นข้อยเป็นไพร่ไป
น้ำเต้านี้เมื่อแตกออกมานั้นมีคนเผ่าๆออกมาจากน้ำเต้าอีก ๕ พวก คือ ไทยลม ไทยลี ไทยเลิง
ไทยลอ ไทยควาง มีผู้รู้บอกว่าว่าไทยพวกนี้ได้แก่พวกข่าแจะ ผู้ไทดำ ลางพุงขาว ฮ่อ แกว
ทั้งหมดนี้ต่างเคารพนับถือ เป็นพี่น้องท้องเดียวกัน ผู้คนทั้งหมดนั้นปู่ลางเชิง ได้บอกสอนให้รู้จักทำไร่ทำนา
ทอผ้าทอซิ่น เลี้ยงชีวิต แล้วทำการปลุกแบ่งแต่งให้เป็นผัวเป็นเมีย มีเหย้ามีเรือน มีลูกหญิงชายออกมา
เป็นเผ่าพันธ์ใหญ่ พวกที่อาศัยอยู่บนที่ราบสูงมีอาชีพทำไร่ พวกที่อยู่ในเขตที่ราบลุ่มมีอาชีพทำนา
พระยาแถนได้ให้ ขุนครู ขุนครอง ลงมาเป็นท้าวพระยาดูแลช่วยเหลือมนุษย์กลุ่มนี้ โดยสร้างบ้านก็บ่เปลือง
สร้างเมืองก็บ่กว้าง ได้แต่กินเหล้าทุกมือ้ทุกวัน จนไพร่ค้างทุกข์ค้างยาก จนขุนเด็กขุนคานต้องไหว้สาพระยาแถน
ให้เอาท้าวพระยาทั้งสองกลับไปเมืองบนเมืองฟ้า แล้วให้ขุนบูลมมหาราชาธิราช นำรี้พลลงมาเมืองลุ่มลีดเลียง
เมืองเพียงคักค้อย อยู่ที่นาน้อยอ้อยหนู คนที่ฉลาดก็เป็นบ่าวรับใช่แก่ขุนบูลมมหาราชาธิราช
ส่วนคนที่ไม่ฉลาด(ใบ้ช้า)ก็เป็นไพร่เป็นข้าอยู่ป่าทำไร่ทำนา
ตำนานมนุษย์จากพงศาวดารลานช้างนี้ ได้ทำให้มีความเชื่อตามตำนานว่า ชนชาติต่างๆที่เกิดขึ้น
ในดินแดนสุวรรณภูมิหรือแหลมอินโดจีนนี้ เป็นผู้คนที่ออกมาจากจากน้ำเต้าใบเดียวกันคือ แหล่งที่อยู่เดียวกัน
ส่วนข้อเท็จจริงของน้ำเต้าใบใหญ่นี้จะหมายถึง ลุ่มแม่น้ำที่อยู่อาศัย หรือ บรรพบุรุษคนเดียวกัน
ก็น่าจะพอฟังได้และสอดคล้องกับการเคลื่อนย้ายของมนุษย์กลุ่มนี้ลงมาทางตอนใต้สู่แหลมอินโดจีน
หมายถึงพากันมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองลุ่มลีดเลียง และเมืองเพียงคักค้อย นาน้อยอ้อยหนู
ส่วนจะเป็นเมืองใดในแหลมอินโดจีนบ้างต้องศึกษาหาภูมิสถานกันต่อไป
ขุนบูลมมหาราชาธิราชนั้น เป็นท้าวพระยาที่พระยาแถนไว้วางใจส่งลงมาปกครองบ้านเมืองลุ่มฯ
ส่วนจะหมายให้เป็น พระพรหม ในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู คือ ท้าวมหาพรหม หรือพระพรหม
ผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ก็ย่อมใช้ได้ และยังมีเรื่องราวของท้าวฮุ่งท้าวเจือง ผู้มีลูกหลานมากมายหลายคน
จนพากันแยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในเมืองต่างๆ มาเกี่ยวพันด้วยอีก จึงทำให้มองเห็นมนุษย์หลายท้องถิ่น
กำลังสร้างบ้านแปงเมืองขึ้น
สำหรับขุนบูลมมหาราชาธิราช ต้องมีฐานะเป็นผู้ครองเมืองหรือกษัตริย์ ดังนั้นการค้นหาผู้นำแต่ละชนเผ่า
จึงถือเป็นเรื่องสำคัญของการดูแลอาณาจักร ภายหลังได้มีขุนควาง ขุนวี ขุนเลิง ขุนเลน ขุนลอ
ผู้นำกลุ่มคนไทยจากน้ำเต้ามาร่วมกันสร้างบ้านแปงเมืองในดินแดนสุวรรณภูมินี้ด้วย
เมืองเชียงแสน
ในตำนานเมืองเชียงแสนนั้นมีข้อความที่เล่าไว้น่าศึกษาว่า
ในสมัยก่อนได้มีการนับศักราช ซึ่งมหาศักราช ปัทมศักราช สามตุติศักราช และตติยสักราช
ต่อมาพญาสิงหนตน ซึ่งเป็นพ่อของพญาสุทโทธนะ พร้อมด้วยราชเทวี..เห็นว่าศักราชนั้นเก่า
อาณาจักรของชาวสยาม ได้ตั้งเป็นอาณาจักรได้นั้นสืบเนื่องมาจากอาณาจักรทวารวดี
ซึ่งเป็นอาณาจักรที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนครชัยศรี เมืองศรีเทพ เมืองพงตึกและเมืองอู่ทอง
ดังนั้นดินแดนดังกล่าวจึงถูกชาวสยามเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่แทนหลังจากที่เสื่อมอำนาจลงในเวลาต่อมา
กล่าวคือตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๑ กลุ่มชนชาวไทยได้รวมตัวกันตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณอาณาจักรล้านนา
และบริเวณเมืองแถนหรือเดียนเบียนฟู ในประเทศเวียดนามปัจจุบัน โดยมีเมืองสำคัญคือ เมืองเชียงแสน เชียงราย
และพะเยา แล้วตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ซึ่งสามารถขยายอาณาเขตครอบคลุมไปทางใต้
ของแหลมทอง ถึงเมืองนครศรีธรรมราช
ชนชาวสยาม ได้เริ่มปรากฏความสำคัญในประวัติศาสตร์เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ในจารึกของชาวจาม
ที่ปราสาทโพนคร เมืองญาตรัง ประเทศเวียดนาม ได้กล่าวถึง ทาสหรือเชลยศึกชาวสยาม ร่วมกับชาวจีน ญวน
ขอมและพม่า ในเหตุการณ์สงครามของชาวจาม ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ได้ปรากฏในภาพสลักที่ระเบียง
ผนังทิศใต้ของปราสาทนครวัด เป็นกลุ่มภาพนักรบที่แต่งตัวแปลกประหลาดกว่าทหารขอม มีแม่ทัพนั่งบนหลังช้าง
และมีจารึกสั้น ๆ ว่า “สยม กก” หมายความว่านักรบแห่งสยาม (สันนิษฐานว่า เป็นชาวสยามจากลุ่มแม่น้ำกก
ใกล้เชียงแสนหรือจากสุพรรณบุรี)”
คำว่า “สยาม” นั้นน่าจะมาจากคำภาษาจีนที่เรียกแคว้นสุวรรณภูมิว่า “เสียน SIAN” หรือ “เสียม SIAM”
เชื่อว่ามีศูนย์กลางอยฅู่ที่เมืองสุพรรณบุรี โดยผู้ครองนครนั้นมีเชื้อสายทางสุโขทัย จีนเรียกกลุ่มชนที่ตั้งอยู่บริเวณนี้ว่า
“เสียมก๊ก” และเรียกเจ้าผู้ครองแผ่นดินนั้นว่า “เสียนข่านหมู่ตึง” นอกจากนั้นยังเรียกแคว้นละโว้ว่า “หลอหู”
ครั้นเมื่อแคว้นละโว้และดินแดนสุวรรณภูมิได้รวมกันด้วยความสัมพันธ์การแต่งงานในพุทธศตวรรษที่ ๑๙
ดังกล่าวมาแล้ว โดยมีการสร้างกรุงศรีอยุธยาสถาปนาเป็นราชธานีของอาณาจักรสยามขึ้น ในเอกสารจีน
เรียกอาณาจักรทั้งสองที่รวมกันนี้ว่า “เสียนหลอหู” สมัยต่อมาได้มีการเรียกชื่ออาณาจักรนี้เป็นภาษาสำเนียงจีนกลาง
ว่า “เสียนโหล” และสำเนียงภาษาจีนแต้จิ๋วว่า “เสียมล้อ”
เรื่องราวเกี่ยวกับอาณาจักรสยามที่อยู่ในเอกสารราชการจีนนั้น ขุนเจนจีนอักษร(สุดใจ)
ได้แปลเป็นภาษาไทย และ พิมพ์ไว้ในชุดประชุมพงศาวดารเล่ม ๔
ในหนังสือหวงเฉียวบุ๋นเหียนทงเค้า เล่มที่ ๓๔ หน้า ๔๐–๔๑ ซึ่งเป็นหนังสือหลวงเรียบเรียง
ในสมัยราชวงศ์ไต้เชง เมื่อครั้งแผ่นดินเขียนหลงปีที่ ๔๒ เตงอีว(ตรงกับปีระกา จ.ศ ๑๑๓๙ พ.ศ.๒๓๒๐ )
สมัยกรุงธนบุรี ได้ สรุปไว้ว่า
“เสียมหลอก๊ก(กรุงศรีอยุธยา) อยู่ฝ่ายทิศตะวันออกเมืองก้วงหลำ เฉียงหัวนอน(เฉียงใต้)
เมืองกั้งพู้จ้าย(กัมพูชา) ครั้งโบราณมีสองก๊ก เสี้ยม(สยามคือสุโขทัย) ก๊กหนึ่ง หลอฮก(ละโว้)
ก๊กหนึ่ง อาณาเขตพันลี้เศษ(๓๖๐ก้าวเท้า เรียกว่า ลี้) ปลายแดนมีภูเขาล้อมตลอด… แผ่นดินเปียกแฉะ
ชาวชนต้องอยู่เรือนหอสูง หลังคามุงด้วยไม้หมากเอาหวายผูก ที่มุงด้วยกระเบื้องก็มี
ประชาชนนับถือเซกก่า(พุทธศาสนา)…….. หากชาวชนถึงแก่ความตายก็เอาน้ำปรอทกรอกปากแล้วจึงเอาไปฝังศพ
ถ้าเป็นคนจนเอาศพไปทิ้งไว้ที่ฝั่งทะเล ในทันใดก็มีกาหมู่หนึ่งมาจิกกิน…. สิ่งของที่มีในประเทศ
คืออำพันทองที่หอม ไม้หอมสีทอง ไม้หอมสีเงิน ไม้ฝาง ไม้แก่นดำ งาช้าง หอระดาน กระวาน พริกไทย
ผลไม้ ทองคำและหินสีต่าง ๆ ตะกั่ว แรด ช้าง นกยูง นกแก้วห้าสี เต่าหกขา ไม้ไผ่ ทับทิม แตง ฟัก”
(จากประชุมพงศาวดารเล่ม ๔ องค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ.๒๕๐๖ หน้า ๔๒–๕๐)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ให้ความเห็นไว้ว่า
“อันดินแดนสยามประเทศนี้ เดิมเป็นภูมิลำเนาของพวกชาวละว้าหรือลัวะ อาณาเขตด้านทิศตะวันออก
ติดต่อกับประเทศเขมรและทิศตะวันตกจรดรามัญประเทศ ด้วยเหตุที่ชาวละว้าไม่มีความเจริญและสามารถเท่าใดนัก
จึงตกเป็นประเทศราชของขอมและชาติอื่นเป็นครั้งคราว”
(ข้อมูลจากหนังสือสยามในอดีตและหนังสือศิลปวัฒนธรรม ตุลาคม ๒๕๔๒ หน้า ๑๖)
<< ย้อนกลับ ต่อไป ปฐมราชวงศ์กษัตริย์สยาม >>