ชุมชนกลุ่มน้อยในไทย

ชุมชนกลุ่มน้อยในไทย


สำหรับชนพื้นเมืองโบราณที่ยังเหลืออยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันนี้ปรากฏว่ามีอยู่หลายชนเผ่า
เช่น ลั๊วะ ไทยลื้อ ถิ่น ม้ง ลีซอ อาข่า มูเซอร์ เย้า ข่า ขมุ ชอง ฯลฯ ต่างแยกย้ายกันอยู่กระจัดกระจาย
อยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ดังนี้


ลั๊วะอยู่กันมากในบ้านละอุบ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน


ถิ่นหรือทิ่น อยู่มากในจังหวัดน่าน


อาข่า มูเซอร์ ม้ง ลีซอ เย้า มีมากในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย


ไทยลื้ออยู่มากในอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา


ข่า ขมุ ส่วย กวย เยอ อยู่มากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


กะเหรี่ยง อยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันตก


พวกชองอยู่มากในภาคตะวันออกคือจันทบุรีและตราด


ภูไทหรือผู้ไท อยู่มากที่อำเภอวาริชภูมิ บ้านม่วงบ้านขมิ้น อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่บ้านคำพอก
อำเภอหนองสูง และอำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร


ไทยกะเลิง อยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ที่บ้านบัว อำเภอกุดบาก บ้านนายอ
บ้านดงมะไฟ(ตีมีด ตีขวาน) บ้านกุดแฮด


ไทยโย้ย อยู่ที่อำเภอวานรนิวาส และที่บ้านม่วงริมยาม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร


ไทยโส้ อยู่ที่อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร


ไทยทรงดำ หรือไทยโซ่ง เคยอยู่ที่แคว้นสิบสองจุไท เดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม
อพยพมาเมืองไทยสมัยกรุงธนบุรีถึงรัชกาลที่ 3 ปัจจุบันอยู่กันมากที่ อำเภอบ้านแหลม และ
อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี บางส่วนอยู่ที่จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดพิษณุโลก


ไทยพวน อยู่ที่สระบุรี


ไทยกวย หรือกูย หรือส่วย อยู่บริเวณจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ
มีความสามารถพิเศษในการเลี้ยงช้าง


ข่าหรือขมุ เป็นชนพื้นเมืองโบราณอยู่แถบแม่น้ำโขง มีหลายพวก เช่น ข่าระแด ข่าจะราย
ข่าขมุ รูปร่างเตี้ย ผิวดำ พูดภาษาคล้ายละว้าไม่มีหนังสือเขียน โพกผ้าบนศรีษะ หญิงนุ่งซิ่นสีครามแก่
ชำนาญการจับปลาและสัตว์ป่า อยู่แถบเหนือจังหวัดน่าน อำเภอบึงกาฬ จังหวัดนครพนม และอุบลราชธานี


ทิ่น หรือถิ่น เป็นกลุ่มชนโบราณอยู่ตามภูเขาแถบจังหวัดน่าน มีภาษาพูดคล้ายภาษาขมุ
รูปร่างเล็ก ผิวดำ นับถือผี มีอาชีพเพาะปลูก


ซาไก เป็นมนุษย์โบราณอาจจะที่มีมาตั้งแต่สมัยหิน ประมาณ ๑,๕๐๐–๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว
รูปร่างเตี้ยมีผิวดำ ฝีปากหนา ท้องป่อง น่องสั้นเรียว ผมหยิกเป็นก้นหอยติดศรีษะ ชาติพันธ์เนกรอยด์
หรือเนกริโต ตระกูลออสโตร เอเชียติก อยู่กระจายกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ราว 7-60 คน ในรัฐเคดาห์ มาเลเซีย
ในส่วนลึกของเกาะนิวกินี เกาะฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะอันดามัน เรียกตนเองว่า “มันนิ” ส่วนผู้อื่นเรียกว่า
เงาะ เงาะป่า ชาวป่า ซาแก หรือ โอรัง อัสลี (Orang Asli) สำหรับในภาคใต้ของประเทศไทยมีซาไกอยู่สี่กลุ่ม
วมประมาณ ๒๐๐ คน คือ ซาไกกันซิว อยู่ในอำเภอธารโต จังหวัดยะลา ซาไกยะฮาย อยู่ในอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส
ซาไกแตะเดะหรือเยแด อยู่ บริเวณภูเขาสันกาลาคิรีแถบจังหวัดยะลาและอำเภอระแวะ จังหวัดนราธิวาส
และซาไกแต็นเอ็น อยู่บริเวณเทือกเขาบรรทัดแถบคลองตง คลองหินแดง บ้านเจ้าพระและถ้ำเขาเขียด
อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง(ประมาณ ๑๐๐ คน) จังหวัดพัทลุงและจังหวัดสตูล
กลุ่มชนชาวซาไกกินเผือกมัน กล้วยป่า มะละกอ และสัตว์ป่า จับสัตว์น้ำด้วยมือเปล่าหรือเบ็ด
พืชผักผลไม้ โดยมักไม่เพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ อาศัยสมุนไพรจากป่าเป็นยารักษาโรค
ใช้ไม้ซางลูกดอกอาบยาพิษเป็นอาวุธ


เมื่อพ.ศ.๒๕๔๑ ได้มีการพบชนโบราณเผ่าเงาะป่าอัสรี ซึ่งเป็นภาษายาวี แปลว่าคนโบราณหรือเก่าแก่
ในภาคใต้ของประเทศไทยอยู่ประมาณ ๓๐ คน อาศัยอยู่ในบริเวณป่าลึก ของเทือกเขาสันกาลาคิรี
รอยต่อระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย เช่นที่ ฝายทดน้ำโต๊ะโม๊ะ ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส
ลักษณะของพวกเงาะกลุ่มนี้มีผิวดำ ผมหยิกหยอง ร่างกายสูงใหญ่แข็งแรงบึกบึน กินหัวเผือกมันปิ้ง
ใช้ธนูไม้และลูกดอกอาบยาพิษเป็นอาวุธ นุ่งโสร่งหรือผ้าเตี่ยวผืนเดียว สร้างที่พักด้วยไม้ไผ่และ
หวายเป็นกระท่อมคล้ายสุ่มไก่ พูดภาษายาวีปนภาษามือ นอกจากนี้ยังเคยพบพวกเงาะป่าในป่าลึก
ของบ้านวังสายทอง และบ้านทับทุ่ง อำเภอละงู จังหวัดสตูล รวมทั้งที่จังหวัดพัทลุงและที่อำเภอเบตง
จังหวัดยะลาอีกด้วย


(ข้อมูลจาก ผ.ศ.ไพบูลย์ ดวงจันทร์ นสพ.เดลินิวส์ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๒ และเมธี เมืองแก้ว
หนังสือพิมพ์ข่าวสด ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๔๒)


สำหรับแถบฝั่งทะเลอันดามัน มีพวกชาวเลทำอาชีพประมงที่ เกาะอาดัง เกาะบูโหลนจังหวัดสตูล คือ ชาวเล
พวกอุรักละโว้ย ที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และชาวเล พวกมอร์แกน ที่จังหวัดภูเก็ต


ในภาคเหนือ ยังมีชนโบราณเผ่าผีตองเหลือง หรือ มลาบรี(Mlabry) จำนวนประมาณ ๑๐๐ คน อ
ยู่ที่บ้านห้วยห้อม อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ที่ ตำบลบ้านพี้ อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน และ
ที่ อำเภอ เวียงสา จังหวัดน่าน ชาวตองเหลืองไม่ปลูกพืช มีผัวเดียวเมียเดียว ชอบอพยพย้ายถิ่นไปเรื่อย ๆ
สร้างที่พักมุงด้วยใบตองกล้วย พอใบตองที่พักเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองก็จะย้ายที่อยู่ใหม่
ชอบกินมันหมูเผาในกระบอกไม้ไผ่ นับถือผี


นอกจากนี้เมื่อพ.ศ.๒๕๔๐ ได้พบชุมชนที่ใช้ภาษามอญโบราณ อยู่บนภูเขาแถบแม่น้ำป่าสักในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์
และนครราชสีมา โดยเฉพาะที่จังหวัดชัยภูมิอยู่ในเขตอำเภอหนองบัวระเหวและอำเภอจัตุรัส
กลุ่มชนดังกล่าวเรียกตนเองว่า “ญัฮกุ้ร (Nyah-Kur)” แปลว่าคนภูเขา ส่วนคนไทยในเมืองเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “ชาวบน”
ซึ่งพูดภาษาที่คนไทยภาคต่าง ๆ ฟังไม่รู้เรื่อง นักโบราณคดีบางกลุ่มสันนิษฐานว่าคนกลุ่มนี้น่าจะสืบเชื้อสาย
มาจากชาวทวารวดีโบราณ นอกจากนี้ที่บ้านดง ตำบลเหมืองหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
ก็ยังมีชุมชนอีกแห่งหนึ่งพูดภาษาธิเบต ที่คนไทยทั่วไปฟังไม่รู้เรื่อง เช่นกัน


ชาวชอง เป็นชนเผ่าโบราณอีกเผ่าหนึ่งในกลุ่มชาติพันธ์ ออสโตร เอเชียติก ตระกูล มอญ- เขมร
มีภาษาพูดของตนเองแต่ไม่มีภาษาเขียน นับถือศาสนาพุทธ มีวัฒนธรรมประเพณีเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่า
ซึ่งอาจมีมาแต่ก่อนสมัยสุโขทัยสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่นการใช้ต้นคลุ้ม มาจักสานสมุก ชนาง เสวียน
มีประเพณีผีโรง ผีหิ้ง ทำมาหากินด้วยการหาของป่า ล่าสัตว์ ทำไร่ ทำนา และปลูกต้นกระวาน
ซึ่งชาวอินเดียและอาหรับชอบมาก ชาวชองอยู่กันมากแถบเชิงเขารอยต่อกับกัมพูชา
เช่นที่บริเวณเขาสอยดาวเหนือ บ้านคลองพลู บ้านกะทิง บ้านตะเคียนทอง บ้านคลองพลู
บ้านคลองน้ำเย็นในใกล้น้ำตกกะทิง กิ่งอำเภอเขาคิชกูฎ บ้านวังแซม บ้านปิด อำเภอมะขามจังหวัดจันทบุรี
รวมไปถึงชาวชองที่บ้านคลองแสง บ้านด่านชุมพล และบ้านปะเดา อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราดด้วย
มีจำนวนทั้งหมดประมาณ ๖,๐๐๐ คน ปัจจุบันชาวชองนี้ได้ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมใหม่เหมือนกับคนทั่วไป


<< ย้อนกลับ ต่อไป ตำนานมนุษย์ในสุวรรณภูมิ >>