กรุงธนบุรี
กรุงธนบุรี
ก่อนกรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่อาณาจักรพม่านั้น พระยาตาก(สิน ) ซึ่งมีบิดาเป็นจีน ตระกูลแต้
อพยพมาจากอำเภอเถ่งไฮ่ มณฑลแต้จิ๋ว มารดาเป็นไทย ชื่อนกเอี้ยง เกิดในฐานะสามัญชน เมื่อ พ.ศ.๒๒๗๗
ในวัยเด็กสินได้บวชเรียนอยู่ที่วัดเชิงท่า ใกล้วัดหน้าพระเมรุ นอกกรุงศรีอยุธยา ต่อมาทำอาชีพค้าขายสินค้า
โดยใช้เกวียนเดินทางไปยังบริเวณภาคเหนือตอนบน หลังจากนั้นได้เข้ารับราชการตำแหน่งหลวงยกกระบัตร
ที่เมืองตากเคยรบพม่าได้ชัยชนะคราวศึกอลองพญา เมื่อพระเจ้ามังระให้เนเมียวสีหบดี และมังมหานรธาเป็นแม่ทัพ
ยกกำลังพม่าเกือบแสนคนมาล้อมกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๒๓๐๘ นั้น ทหารพม่าบุกเข้าตีทางเมืองตาก เมืองระแหง
พระยาตากสู้ไม่ได้จึงนำทหารจากเมืองตากหนีมาร่วมป้องกันกรุงศรีอยุธยาตั้งค่ายที่วัดพิชัย ระหว่างที่ช่วยทำศึก
อยู่ในกรุงศรีอยุธยานั้น เจ้าเมืองกำแพงเพชรเสียชีวิต พระยาตากจึงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งพระยาวชิรปราการ
เจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่คนทั่วไปยังเรียกกันว่า “พระยาตาก” ต่อมาพระยาตากประเมินสถานะการณ์ว่ากรุงศรีอยุธยา
จะต้องเสียแก่พม่าในอีกไม่นาน ดังนั้น ในเดือนยี่ ปีจอ อัฐศก วันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๓๐๙ ก่อนกรุงแตกราว ๓ เดือน
พระยาตากซึ่งขณะนั้นมีอายุ ๓๒ ปี จึงนำทหารไทยจีน ราว ๕๐๐ คน(บางแห่งว่า ๒๐๐ คน) ตีฝ่าพม่าออกจากวัดพิชัย
นอกกำแพงกรุงศรีอยุธยา (ปัจจุบันคือวัดพิชัยสงคราม ใกล้สถานีรถไฟอยุธยา ริมแม่น้ำป่าสัก) ไปทางบ้านข้าวเม่า
สำบัณฑิต บ้านโพสามหาว หรือโพธิ์สาวหาญ (อยู่ในอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
บ้านพรานนก (ทหารพระยาตาก ๕ ม้า ต่อสู้กับทหารพม่า ๒๐ ม้า เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ.๒๓๐๙ บ้านบางดง
ตำบลหนองไม้ทรุงแขวงเมืองนครนายก เดินทาง ๒ วัน ถึงบ้านนาเริ่ง เมืองปราจีนบุรี
ผ่านด่านกบแจะ(อยู่ในอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี) ปากน้ำเจ้าโล้ บ้านคู้ลำพัน
ชายทุ่งพระศรีมหาโพธิ์ (ต้นมหาโพธิ์ต้นนี้ เล่ากันว่า เจ้าเมืองมโหสถ ส่งทูตไปขอหน่อพระศรีมหาโพธิ์
จากเจ้าเมืองปาตลีบุตร ประเทศอินเดีย) บ้านทองหลาง ตะพานทอง บางปลาสร้อย บ้านนาเกลือ
พัทยา (เมื่อวันอังคาร แรม ๖ ค่ำเดือนยี่) นาจอมเทียน ทุ่งไก่เตี้ย สัตหีบ บ้านหินโด่ง บ้านน้ำเก่า เมืองระยอง
วัดลุ่ม(วัดลุ่มมหาชัยชุมพล) บ้านประแส บ้านคา บ้านกล่ำ เมืองแกลง ชลบุรี ระยองและจันทบุรี
ทหารจของพระยาตากคนที่เป็นกำลังสำคัญต่อบ้านเมืองในเวลาต่อมานั้น คือ พระเชียงเงิน
พระท้ายน้ำ(ต่อมาเป็นเจ้าเมืองสุโขทัย) หลวงชำนาญไพรสนฑ์ พะทำมะรงอิ่ม นายแสง นายอยู่ นายนาค
นายทองดี นายบุญรอด แขนอ่อน นายชื่น บ้านค่าย หลวงพิพิธ (ทหารจีนถือง้าว)หลวงพิชัยราชา ขุนจ่าเมือง
เสือร้าย หมื่นท่อง หลวงพรหมเสนา บุคคลสำคัญที่สุดท่านหนึ่งคือ นายสุดจินดา(บุญมา)ซึ่งต่อมาได้เป็น
เจ้าพระยาสุรสีห์ และกรมพระราชวังบวรเจ้ามหาสุรสิงหนาท
หกเดือนหลังจากกรุงแตก พระยาตากได้รวมรวบผู้คนและศาสตราวุธอยู่ที่เมืองจันทบูรณ์(จันทบุรี )
แล้วยกกำลังออกจากเมืองจันทบูรณ์ด้วยเรือประมาณ ๑๐๐ ลำ ในปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐ ผ่านชลบุรี ถึงปากน้ำบางเจ้าพระยา
แล้วบุกเข้าตีป้อมวิชัยประสิทธิ์ ที่เมืองธนบุรี และเดินทางกลางคืนเข้าไปตีค่ายโพธิ์สามต้นของพม่า (อยู่ในอำเภอบางปะหัน
ใกล้พะเนียดคล้องช้างทางเหนือของเมืองอยุธยา) กองทัพของพระยาตากเข้าโจมตีค่ายโพธิ์สามต้นตั้งแต่เก้าโมงเช้า
ถึงเที่ยงก็ตีได้สำเร็จ สุกี้พระนายกองหัวหน้าทหารพม่าตายในที่รบ ทหารพม่าพากันหนีกลับไปเมืองพม่า
อาณาจักรสยามจึงเป็นอิสระภาพจากอำนาจของพม่า เมื่อเวลาบ่ายโมงเศษ
ในวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ จุลศักราช ๑๑๒๙ ตรงกับวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๑๐
รวมเวลาที่อาณาจักรสยามยุคกรุงศรีอยุธยาตกอยู่อำนาจพม่าเป็นเวลา ๗ เดือน
สมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ. ๒๓๑๐–๒๓๒๕)
เมืองธนบุรี เคยเป็นเมืองหน้าด่านทางทะเลที่สำคัญของสยาม มาตั้งแต่ก่อนสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์
พ.ศ.๒๐๙๑ โดยมีชื่อเมืองในพงศาวดารว่า “เมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร” โดยมีบางกอกหรือบางเกาะเป็นชุมชนอยู่ในเมืองธนบุรี
นี้ด้วย พ.ศ. ๒๐๗๗–๒๐๘๙ สมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช มีการขุดคลองลัดที่แม่น้ำเจ้าพระยาระหว่างปากคลองบางกอกน้อย
และคลองบางกอกใหญ่ที่หน้าวัดแจ้ง เกิดเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ ตอนหน้าโรงพยาบาลศิริราชและพระบรมมหาราชวัง
ในปัจจุบัน ต่อมาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีการก่อสร้างป้อมวิชาเยนทร์สองป้อมที่ปากคลองบางกอกใหญ่และ
ฝั่งตรงข้าม มีปืนใหญ่และสายโซ่เหล็กขึงกั้นแม่น้ำ ออกแบบป้อมเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๐ โดยวิศวกรฝรั่งเศสชื่อเดอ ลา มาร์
แล้วให้ทหารฝรั่งเศสชื่อ ฟอร์แบง(ต่อมาได้เป็นออกพระศักดิ์สงคราม)เป็นผู้บังคับการรักษาป้อม
ในปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ได้มีการต่อสู้ระหว่างทหารไทยนำโดยพระเพทราชากับฝรั่งเศส
นำโดยพลเอก เดสฟาร์จ ที่ป้อมวิชาเยนทร์แห่งนี้ ทหารฝรั่งเศสสู้ไทยไม่ได้ จึง ลงเรือถอยกลับไปเมืองฝรั่งเศส
เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่สองในวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๓๑๐ พม่าได้ให้คนไทยชื่อนายทองอิน
คุมไพร่รพลรักษาเมืองธนบุรีและป้อมวิชาเยนทร์ไว้ ต่อมาพระยาตาก(สิน)ได้นำกำลังทัพเรือจากเมืองจันทบูรณ์(จันทบุรี)
เข้ายึดป้อมวิชาเยนทร์นี้ไว้ได้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๑๐ แล้วขึ้นไปตีค่ายพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น
เมื่อพระยาตากกู้อิสรภาพจากพม่าได้ จึงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔หรือพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๐ ในการสร้างบ้านเมืองนั้น
พระองค์ทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองใหญ่ที่เสียหายเกินจะซ่อมแซมและห่างไกลจากทะเล
จึงทรงให้ย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาสถาปนาเมืองธนบุรีศรีสมุทรเป็นเมืองหลวง เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๑๓
ครั้งนั้นได้ใช้ไม้ทองหลางทั้งต้นล้อมพระนครทั้งสองฟากแม่น้ำ มูลดินทำเป็นเชิงเทินทำค่ายที่มั่น และ
ทรงให้เปลี่ยนชื่อป้อมวิชาเยนทร์เป็นป้อมวิชัยประสิทธิ์ ในครั้งนั้นบาทหลวงชาวฝรั่งเศส บันทึกไว้ว่า
“อาหารการกินยังแพงมาก เพราะบ้านเมืองไม่เป็นอันทำมาหากินมา ๑๕ ปีแล้ว เพราะเหตุว่าสงครามมิได้หยุดเลย”
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๑–๒๓๑๒ เกิดฝนแล้งติดต่อกัน ทำนาไม่ได้ผล หนูนาระบาดกินข้าวในนาและยุ้งฉาง
พระองค์มีรับสั่งให้ราษฎรดักหนูนาส่งมากรมพระนครบาล เพื่อกำจัดหนู และทรงให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาท
ผู้ใหญ่ผู้น้อยทำนาปรัง
พ.ศ.๒๓๑๒ ชาวโปรตุเกส ที่อยุธยานั้นเนื่องจากหมู่บ้านถูกเผาทำลายจากสงครามจึงได้อพยพ
ตามพระเจ้ากรุงธนบุรีมาตั้งบ้านเรือนที่วัดซางตาครูส ชุมชนกุฎีจีน ใกล้วัดกัลยาณมิตร ติดวัดประยุรวงศาวาส ธนบุรี
ภายใต้การนำของบาทหลวง กอร์ยาคอเบ บริเวณดังกล่าวมีชาวจีนอาศัยอยู่ด้วย ส่วนโปรตุเกสอีกพวกหนึ่งอยู่ที่
วัดคอนเซปชั่น ตำบลสามเสนและบริเวณสถานทูตโปรตุเกสปัจจุบัน
พ.ศ.๒๓๑๒( ค.ศ.1769) นโปเลียน โบนาปาร์ต เกิดที่เกาะคอร์สิกา
พ.ศ.๒๓๑๒ เจมส์ วัตต์ ประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำได้สำเร็จ
พ.ศ.๒๓๑๗ พระยาเจ่ง ชาวมอญ ได้พาพรรคพวก ๓,๐๐๐ คน หลบหนีพม่าจากเมืองเมาะตะมะ มาสวามิภักดิ์
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงให้ตั้งบ้านเรือนที่ปากเกร็ด นนทบุรี จนถึงสามโคก นนทบุรี ( ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๑
พระยาเจ่งได้ทำความดีความชอบในการรบกับพม่าจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยามหาโยธา)
พ.ศ.๒๓๑๗ อะแซหวุ่นกี้ให้งุยอคงหวุ่นแม่ทัพพม่ายกทัพตามครัวมอญที่หนีมาเมืองไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์
รบกันที่บ้านบางแก้ว อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี(ศึกบางแก้ว) เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ นำทัพออกสู้รบ
พม่าถูกล้อมและถูกตีแตกพ่ายไป
พ.ศ. ๒๓๑๘ อะแซหวุ่นกี้ยกทัพมาทางเมืองพิษณุโลก(ศึกอะแซหวุ่นกี้) เจ้าพระยาจักรีทำการรบอย่างเข้มแข็ง
จนอะแซหวุ่นกี้ขอดูตัว และทำนายว่าจะได้เป็นกษัตริย์
พ.ศ.๒๓๑๘ กองทัพไทยขับไล่พม่าออกจากเชียงใหม่
พ.ศ.๒๓๑๙ กองทัพไทยขับไล่พม่าออกจากสุโขทัย
วันที่ ๔ กรกฎาคมพ.ศ.๒๓๑๙(ค.ศ.1776)สหรัฐอเมริกาประกาศอิสระภาพจากอังกฤษ
พ.ศ.๒๓๑๙ องเชียงสือ ได้นำชาวญวนมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
วันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ นางพระยาช้างเผือกล้ม จึงให้ฝังไว้ ณ วัดสำเพ็ง
ที่ฝังเจ้าพระยาปราบไตรจักร
พ.ศ.๒๓๑๙ พระเจ้ามังระ แห่งกรุงอังวะสวรรคต ราชสมบัติจึงตกแก่จิงกูจา พระราชโอรส
พ.ศ.๒๓๒๐(ค.ศ. 1777 ) กัปตัน ฟรานซิสไลท์ ชาวอังกฤษ เจ้าเมืองปีนังคนแรก ได้สนองพระราชบัญชา
พระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งทรงให้จัดซื้อปืนเพิ่มจากของที่ซื้อจากฮอลันดาที่ปัตตาเวีย อีก ๖,๐๐๐ กระบอก
ราคากระบอกละ ๑๒ บาท และทรงแต่งตั้งให้กัปตันฟรานซิสไลท์เป็นพระยาราชกปิตัน
พบหลักฐานว่ามีจดหมายของคุณหญิงจัน และชาวเมืองถลาง เขียนถึงฟรานซิสไลท์ ด้วยอักษรไทย
กว่า ๖๐ ฉบับด้วย(ขณะนี้เก็บรักษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ และมีสำเนาที่กองวรรณคดี
และประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร)
พ.ศ.๒๓๒๐–๒๓๒๑ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก(ทองด้วง) ได้ยกทัพไปตีเวียงจันทน์ได้สำเร็จ
พ.ศ.๒๓๒๑พระเจ้าตากสินไม่พอพระทัยที่พระเจ้าศิริบุญสารแห่งนครเวียงจันทน์ไม่ช่วยไทยรบพม่า
จึงทรงให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกพลทางบก ผ่านนครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ พระยาสุรสีห์
ยกพลทางเรือผ่านเขมร มา สมทบกับทัพบกที่เมืองจำปาศักดิ์ เข้าตีเมืองนครพนม หนองคาย เวียงคุก
ยึดเวียงจันทน์ได้ในเดือน ๑๐ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๒๒ แล้วอัญเชิญพระแก้วมรกตจากเวียงจันท์ ขึ้นช้างมาที่กรุงธนบุรี
วันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๓๒๑( ค.ศ. 1778) นักพฤกษ์ศาสตร์ชาวเดนมาร์ค ชื่อ ดอกเตอร์ เจ จี โกนิก
เดินทางจากอินเดียมาประเทศไทยโดยเรือบริสตอล เขียนบันทึกไว้ในเอกสารชื่อ
Voyage from India to Siam and Malacca ว่า เห็นภูเขาร้อยยอด ที่มีทองคำเนื้อดี
ผ่านเมืองบางกอกเห็นป้อมที่ฝรั่งเศสสร้างไว้ (ป้อมวิชัยประสิทธิ์) พระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่ในพระราชวังหลังป้อม
พระราชวังเป็นไม้ มีตำหนักแพสำหรับพระเจ้าแผ่นดินด้วย พระเจ้าตากสินทรงโปรดเรื่องการค้า
เขาเขียนว่า บางกอกเป็นเมืองที่มีแม่น้ำคั่นกลาง มีป้อมตามริมแม่น้ำ มีเชิงเทินแข็งแรง มีกำแพงล้อมเมือง
มีคูลึกในด้านที่ต่อกับที่ราบ มีกองร้อยปืนใหญ่อยู่บนกำแพงนอกป้อม ครั้งนั้นเกิดไฟไหม้เรือชาวจีนลำหนึ่ง
พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จออกมาทรงบัญชาการดับไฟด้วยพระองค์เอง เขาแล่นเรือขึ้นไปทางเหนือผ่าน
สามโคก ผ่านค่ายโปรตุเกส และ โบสถ์เซนต์ปอลซึ่งถูกไฟไหม้เหลือแต่ซาก เห็นวิทยาลัยใหญ่ของ
พวกโรมันคาทอลิกริมแม่น้ำ เห็นกรุงศรีอยุธยาเป็นที่รกร้าง กำแพงเมืองแตกร้าว มีคนนำช้างมาเลี้ยง ๕๐๐ เชือก
ดร.โกนิก ชอบขลุ่ยไทยเพราะมีเสียงไพเราะมาก เขาได้เดินทางไปจังหวัดเพชรบุรีด้วย
สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี(พระเจ้าตากสิน)ได้มีการสั่งซื้อปืนใหญ่จากเดนมาร์ค จำนวน ๑๐,๐๐๐ กระบอก
โดยจ่ายค่าปืนด้วยดีบุก เดนมาร์คได้ส่งปืนใหญ่ ๓,๐๐๐ กระบอก มาจากโคเปนเฮเกน แต่ปรากฏว่าปืน ๕๒๑ กระบอก
เกิดระเบิดทำให้สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงปฏิเสธการซื้อปืนจากเดนมาร์ค
มีการค้นพบปืนใหญ่เดนมาร์คยี่ห้อ Frederiksvaerk อายุราวปี พ.ศ. ๒๓๐๑ ที่บริเวณป้อมปราการเก่า
ในสมุทรสาครและสงขลา ส่วนที่หน้าทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ มีปืนใหญ่โบราณจากฮอลแลนด์ อายุราวสี่ร้อยปี
สองกระบอก ยี่ห้อ VOC ตั้งอยู่ด้วย สำหรับที่หน้ากระทรวงกลาโหมมีปืนใหญ่โบราณจำนวนมากรวมทั้งปืนพญาตานี
ที่หล่อจากปัตตานีด้วย
พ.ศ.๒๓๒๓ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปปราบเขมร นำเจ้าเขมรคือ นักองเอง
มาชุบเลี้ยงในกรุงเทพฯแล้วตั้งพระยาอภัยภูเบศร์(แบน ต้นตระกูล อภัยวงศ์)ออกไปครองเมืองเขมร
พ.ศ.๒๓๒๔ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือพระเจ้าตากสิน(จีนเรียก เจิ้งเจา หรือ แต้อ๋อง)ทรงให้
เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช และ พระยามหานุภาพนำคณะทูตไปเมืองจีนโดยเดินทางออกจากกรุงธนบุรี
เมื่อวันอังคาร เดือน ๗ แรม ๑๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๓ ปีฉลู เดินทางไปเมืองกวางตุ้ง โดยเรือสำเภา ๑๑ ลำ
บรรทุกไม้ฝาง งาช้าง ดีบุก นอแรด ไม้ดำ ไม้แดงและช้างหนึ่งเชือก ใช้เวลาเดินทาง ๓๓ วันเพื่อนำพระราชสาส์นไ
ปเจริญทางพระราชไมตรี กับพระเจ้ากรุงปักกิ่ง เคี่ยนหลง ฮ่องเต้ หลังจากที่ไม่ได้ติดต่อกับกรุงจีนมายี่สิบสี่ปี
เรือสำเภาสยามใช้ใบแล่นออกไปทางปากน้ำ ติดสันดอน รอน้ำขึ้นสองวัน แล่นทวนลมไปพัทยา ผ่านสามร้อยยอด
พุทไธมาศ เกาะขวาง เขาขนุน เกาะกุ๋นตุ๋น เกาะทราย เมืองปาสัก(ญวน) ปากน้ำญวน เขาช้างข้าม
ข้ามทะเลถึงเมืองกวางตุ้ง รวมระยะทางสามร้อยโยชน์ คณะทูตเห็นป้อมปืนกลางน้ำที่เมืองกวางตุ้ง และ
เห็นฝรั่งอังกฤษวิลันดาจำนวนมาก บ้านเรือนก่อเป็นตึก หญิงจีนรัดเท้าเล็ก มีขอทานมาก จงตกดูหมูอี๋
อุปราชเมืองกวางตุ้งให้ม้าเร็วเดินทางไปปักกิ่ง เพื่อขออนุญาตให้ทูตสยามเข้าเฝ้าที่(พระยามหานุภาพ
เรียกกรุงปักกิ่งว่า กรุงราชคฤห์) ใช้เวลาไปกลับ ๒๗ วัน คณะทูตจึงลงเรือไปเฝ้าเคี้ยนหลงฮ่องเต้ที่ปักกิ่ง
ได้รับพระราชทานเลี้ยงอย่างสมเกียรติ คณะทูตซื้ออาวุธจากจีน และอุปกรณ์ก่อสร้าง กลับมากรุงสยามเมื่อ
พ.ศ.๒๓๒๕ อุปกรณ์ก่อสร้างดังกล่าว ได้นำมาใช้ในการก่อสร้างพระบรมมหาราชวังในสมัยรัชกาลที่ ๑ ด้วย
เหตุการณ์เมื่อทูตไทยไปเฝ้าพระเจ้ากรุงจีนนี้ ได้บันทึกไว้ในจดหมายเหตุจีน ชื่อ หวงเฉียวบุ๋ยเหียนทงเค้า
เล่ม ๓๔ หน้า ๔๐–๔๑ เรียกประเทศสยามว่า “เสียมหลอก๊ก” และอ้างว่าในสมัยราชวงศ์สุย ราชวงศ์ถัง
เรียกประเทศสยามว่า “เซียะโท้วก๊ก”
พ.ศ.๒๓๒๔สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปเขมร เพราะเขมรต่อต้านอำนาจของไทย
ไปฝักไฝ่กับญวน กองทัพไทย จึงเข้ายึดเสียมราฐและพระตะบองเอาไว้ แต่เกิดเรื่องวุ่นวายทางกรุงธนบุรี
เนื่องจากพระยาสรรค์ยึดอำนาจจับพระราชวงศ์มาจองจำไว้ จึงต้องยกทัพกลับมาปราบกบฎ แล้วสิ้นสมัยกรุงธนบุรี
พ.ศ.๒๓๒๕ พระเจ้าจิงกูจาแห่งกรุงอังวะเมืองพม่าถูกตะแคงปดุง อะตวนหวุ่นกับอะแซหวุ่นกี้
กำจัดประหารชีวิต ขณะมีพระชนมายุ ๒๗ พรรษา ตะแคงปดุงขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าปดุง
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือพระเจ้าตากสิน ทรงมีพระโอรส คือ กรมขุนอินทรพิทักษ์(พระองค์เจ้าจุ้ย)
และกรมขุนกษัตรนุชิต(หม่อมเหม็น)
<< ย้อนกลับ ต่อไป ประวัติศาสตร์ไทยฉบับตุรแปง >>