VDO ประกอบการสอน


ความหมายของตัวโน้ต

ตัวโน้ตในทางดนตรี มีความหมายได้สองทาง หมายถึง สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการนำเสนอระดับเสียง และความยาวของเสียง หรือหมายถึงตัวเสียงเองที่เขียนแทนด้วยสัญลักษณ์เหล่านั้น โน้ตดนตรีแต่ละเสียงจะมีชื่อเรียกประจำของมันเองในแต่ละภาษา มี 7 ระดับเสียงคือ โด-เร-มี-ฟา-ซอล-ลา-ที

โน้ตดนตรีไทยและโน้ตดนตรีสากล

สัญลักษณ์ของโน้ตดนตรีไทยจะแตกต่างกับโน้ตดนตรีสากล โดยโน้ตดนตรีไทยจะใช้สัญลักษณ์เป็นพยัญชนะไทยใน ส่วนโน้ตดนตรีสากลก็จะใช้แทนด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษ ดังภาพ

ในส่วนของการบันทึกโน้ตเพลงไทย จะบันทึกในตารางบรรทัดละ 8 ห้องเพลง ใน1ห้องจะเท่ากับ 1 จังหวะเคาะ และสามารถบันทึกโน้ตได้ห้องละ 4 ตัวโน้ต ตัวโน้ตตัวสุดท้ายจะลงพร้อมกับจังหวะเคาะพอดีดังเช่นเพลงช้างในภาพ

แต่ในการบันทึกโน้ตเพลงสากลนั้น ไม่ได้เป็นรูปแบบเดียวกันกันโน้ตดนตรีไทย ซึ่งจะมีสัญลักษณ์ต่างๆอีกมากมายที่นักเรียนจะต้องเรียนรู้ในเบื้องต้น ดังนี้

บรรทัด 5 เส้น

คือกลุ่มของเส้นตรงตามแนวนอน 5 เส้น และอยู่ห่างเป็นระยะเท่ากัน มีจำนวน 4 ช่อง ใช้สำหรับบันทึกตัวโน้ตตามระดับเสียงซึ่งสามารถแสดงได้ด้วยความสูงต่ำของตัวโน้ตที่ปรากฏบนบรรทัดห้าเส้น การนับเริ่มต้นเส้นที่หนึ่งจากล่างสุดแล้วนับขึ้นมาตามลำดับจนถึงเส้นที่ห้า การนับช่องก็นับจากล่างขึ้นบนเช่นกัน


เส้นน้อย

ตัวโน้ตสามารถบันทึกให้คาบเกี่ยวกับเส้น หรือเขียนลงในช่องระหว่างเส้น เหนือหรือใต้บรรทัด ดังนั้นบรรทัดห้าเส้นจึงสามารถบันทึกระดับเสียงของตัวโน้ตได้ 11 ระดับ สำหรับเสียงที่สูงกว่าหรือต่ำกว่านี้ จะใช้เส้นน้อย (ledger line) เข้ามาช่วย

ตัวโน้ตดนตรีสากล

ชื่อตัวโน้ตที่เห็นในภาพคือตัวโน้ตที่แสดงถึงความยาวของตัวโน้ตในแต่ละตัวซึงจะมีความยาวแตกต่างกันไป ดังนี้

ความยาวของตัวโน้ต หรือค่าตัวโน้ต

โน้ตแต่ละตัวมีความยาวแตกต่างกัน โดยโน้ตตัวกลม จะมีความยาวมากที่สุด 4 จังหวะ จะยกตัวอย่างดังนี้

-โน้ตตัวกลม1ตัว (4 จังหวะ) จะต้องบรรเลงพร้อมเคาะจังหวะไป 4 ครั้ง จึงจะหยุดบรรเลง

- โน้ตตัวขาว1ตัว (2 จังหวะ) จะต้องบรรเลง พร้อมเคาะจังหวะ 2 ครั้ง จึงจะหยุดบรรเลง

- โน้ตตัวดำ1ตัว (1 จังหวะ) จะต้องบรรเลง พร้อมเคาะจังหวะ 1 ครั้ง จึงจะหยุดบรรเลง

- โน้ตตัวเขบ็ด 1 ชั้น (1/2 จังหวะ) จะต้องบรรเลงโน้ต 2 ตัว ในการเคาะจังหวะ 1 ครั้ง

- โน้ตตัวเขบ็ด 2 ชั้น (1/4 จังหวะ) จะต้องบรรเลงโน้ต 4 ตัว ในการเคาะจังหวะ 1 ครั้ง

- และโน้ตตัวเขบ็ด 3 ชั้น (1/8 จังหวะ) จะต้องบรรเลงโน้ต 8 ตัว ในการเคาะจังหวะ 1 ครั้ง

กุญแจประจำหลัก

คือสัญลักษณ์ทางดนตรีชนิดหนึ่งที่ใช้แสดงถึงระดับเสียงของตัวโน้ตที่บันทึก กำกับไว้ที่ตำแหน่งเริ่มต้นของบรรทัดห้าเส้น ซึ่งจะเป็นตัวบ่งบอกชื่อและระดับเสียงของตัวโน้ตที่อยู่บนเส้นนั้น เช่น

  • กุญแจซอล กุญแจประจำหลัก G (G-clef)

  • กุญแจฟา กุญแจประจำหลัก F (F-clef)

  • กุญแจโด กุญแจประจำหลัก C (C-clef)

การอ่านโน้ตในกุญแจซอล

กุญแจซอล เป็นเครื่องหมายประจำหลักที่ใช้กันมากสำหรับบันทึก ระดับเสียงของเครื่องและควรเรียนรู้ในการอ่านโน้ตเบื้องต้น ในการเขียนกุญแจซอลจะบันทึกโดยหัวกุญแจให้คาบเส้นที่ 2 ของบรรทัด 5 เส้น ซึ่งการที่มีกุญแจซอลจะส่งผลให้โน้ตทุกตัวที่คาบอยู่บนเส้นที่ 2 ของบรรทัด 5 เส้น มีเสียงเดียวกับชื่อกุญแจคือ “ซอล”


บันไดเสียง C Major

เมื่อเราได้ตำแหน่งเสียงของเสียงซอลแล้ว นักเรียนจะสามารถไล่เสียงส่วนที่เหลืออีก 6 เสียงได้โดยง่าย โดยยืดเสียงซอลเป็นหลัก จากนั้น โน้ตที่ต่ำกว่าเสียงซอล คือ ฟา มี เร โด จะไล่ระดับลงมาตามตำแหน่งของบรรทัด 5 เส้น และเสียงที่สูงกว่าเสียงซอล คือ ลา ที และโดเสียงสูง ก็จะไล่ระดับขึ้นไปตามตำแหน่งของบรรทัด 5 เส้นเช่นกัน

แบบทดสอบ

พร้อมแล้ว....เริ่มทำแบบทดสอบได้เลยครับ...