อาชีพท้องถิ่น

กลุ่มเกษตรปลอดสารข้าวชาวนา


ตำบลป่ามะคาบ อยู่ในเขตอำเภอเมืองพิจิตร อยู่ทางตอนเหนือของอำเภอเมืองพิจิตร อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองพิจิตร ประมาณ 15 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 51,250 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ และพื้นที่ทำนา การปกครองเป็นหมู่บ้านจำนวน 14 หมู่บ้าน มีจำนวนประชากรในตำบลจำนวน 8,313 คน ประชาชนมีอาชีพทำนาเป็นส่วนใหญ่แล้ว ยังมีอาชีพที่หลากหลาย เช่น เลี้ยงสัตว์ ปลูกผัก ผลไม้ เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เพาะเห็ด เป็นต้น ในพื้นที่ก็ยังประสบปัญหาทางธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง ภาวะน้ำท่วมและน้ำแล้ง สภาพดินเสื่อมโทรมจากการใช้สารเคมีการเกษตร จนประชาชนในพื้นที่มีสารตกค้างในร่างกาย พบจากการตรวจเลือด สินค้าทางการเกษตรมีสารพิษตกค้าง ชุมชนพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวตลอดมาแต่ปัญหาก็ยังไม่คลี่คลาย จึงได้รวมกลุ่มภายในชุมชนขึ้น และมีจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลป่ามะคาบเพื่อการเป็นเวทีกลางประสานงานการดำเนินงานการพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชนในตำบลและแก้ปัญหาดังกล่าวร่วมกัน

ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลป่ามะคาบ เล่าว่าเมื่อปี 2557 จนถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่ไม่มีโครงการรับจำนำข้าว ทำให้ทุกฝ่ายเป็นห่วงว่าราคาข้าวเปลือกเหลือเพียงตันละ 6-7 พันบาท ชาวนาจะอยู่ได้อย่างไร ดังนั้นจึงได้ร่วมกลุ่มของเกษตรปลอดสารร่วมกันขึ้นที่บ้านแหลมยาง ตำบลป่ามะคาบ อำเภอเมือง จ.พิจิตร ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกชาวนาทำนาแบบเกษตรอินทรีย์และปลอดสาร รวมถึงการลดต้นทุนการผลิต มีชาวนาหัวก้าวหน้าเริ่มต้น จำนวน 5 คน จนมีสมาชิกถึงปัจจุบัน จำนวน 25 คน ที่ลงมือทำจริง โดยส่วนใหญ่ชาวนากลุ่มนี้จะปลูกและแปรรูปเป็นข้าวสารขายเอง จึงทำให้ข้าวมีราคาขายได้สูงถึงตันละ 15,000-18,000 บาท ซึ่งถือว่าอยู่ได้ในยุคที่ไม่มีโครงการรับจำนำข้าว ด้วยพื้นที่ในตำบลป่ามะคาบ ชาวนาส่วนใหญ่ยังปลูกข้าวแบบเดิม (ข้าวแข็ง ข้าวเคมี ขายข้าวกับพ่อค้าโรงสี) ชาวนาเข้าสู่ระบบนี้อยู่รอดยาก ประกอบกับสถานการณ์นโยบายการจำนำข้าวของรัฐบาลมีปัญหา เกษตรกรต้องประสบปัญหาแน่ ดังนั้นทางกลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวกันได้ประชุมและพิจารณาร่วมกันว่าควรเปลี่ยนมาสู่ชาวนาผู้ประกอบการ ข้าวอินทรีย์ ข้าวปลอดสาร ซึ่งยังมีจำนวนน้อยหากเทียบชาวนาทั้งตำบล แต่อย่างน้อยกลุ่มพวกเราก็ได้ตระหนักและเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่ปี 2557 และจดแจ้งจัดตั้งกลุ่มองค์กรของสภาองค์กรชุมชนตำบลป่ามะคาบเมื่อปี 2558 จนถึงปัจจุบัน จนนำสู่การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวขาย เพื่อเพิ่มข้าวเชิงคุณภาพที่สามารถจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรงได้กว้างขึ้น

แนวคิดสำคัญในการพัฒนากลุ่มเกษตรปลอดสารบ้านดงโฮจิมินห์ เน้นเรื่องการวางแผนการพัฒนาคุณภาพข้าว พันธุ์ข้าว ให้ความรู้ในการเพาะปลูกในการลดต้นทุนการผลิตเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และส่งเสริมกลุ่มอาชีพเกษตรปลอดสารให้มีการใช้ปุ๋ยชีวภาพเพื่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภคเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายต้นทุนการผลิตให้กับกลุ่ม และมีผลผลิตที่มีคุณภาพสู่ตลาดผู้บริโภคสร้างอำนาจในการต่อรองราคา และเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนมาบริโภคข้าวที่มีคุณภาพสูงในราคาที่เป็นธรรมและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ รวมทั้งดูแลสิ่งแวดล้อมจากการนำระบบนิเวศมาใช้ และบูรณาการความร่วมมือสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ขององค์การบริหารส่วนตำบลป่ามะคาบ เช่น การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยวางเป้าหมายให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้เพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายจากกลุ่มนักท่องเที่ยว ตำบลมีสินค้าผลิตภัณฑ์จากข้าวที่มีคุณภาพ ได้รับมาตรฐานสินค้าจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ และเชื่อมโยงข้อมูลทุนศักยภาพของตำบล ตลอดจนสามารถแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างสภาองค์กรชุมชนตำบล กองทุนสวัสดิการชุมชน กับหน่วยงานภาคีความร่วมมือ

นอกจากนี้การพูดคุยกับกลุ่มเกษตรปลอดสารบ้านดงโฮจิมินห์ ได้แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายการพัฒนาและการยกระดับของกลุ่มในการเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว และภาคส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนกระบวนการทำงานเพื่อพัฒนาระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มเกษตรปลอดสารบ้านดงโฮจิมินห์ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการเป็นชาวนา ที่คุ้นเคยกับการผลิตที่เป็นปัจเจก ประกอบอาชีพทำนาตามวิถีที่เคยชิน ความมีอิสระในการตัดสินใจ กับการเป็นชาวนาที่มารวมกลุ่มกันทำการผลิตร่วมกัน จะต้องมีมาตรฐานการผลิต การมีกติกา กฎระเบียบ ข้อตกลงร่วมกัน การเรียนรู้การบริหารจัดการ การประเมินและวิเคราะห์ระบบตลาด การบริหารเงินทุน การใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการผลิต การพัฒนาระบบบรรจุภัณฑ์และขนส่ง ฯลฯ ซึ่งผลจากการวิเคราะห์ควรมีแผนพัฒนาทักษะความสามารถทางธุรกิจในการเป็นผู้ประกอบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อดำเนินการแก้ไขข้อจำกัดที่เป็นอยู่และเพื่อที่พัฒนาความรู้ความสามารถและการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรปลอดสารบ้านดงโฮจิมินห์ ในฐานะการเป็นผู้ประกอบการก็น่าจะเป็นโจทย์อนาคตที่สำคัญในการท้าทายเพื่อยกระดับการทำงาน และการสนับสนุนความเข้มแข็งต่อกลุ่มจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาต่อไปเพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน

สนใจติดต่อ

39 ม.5 ต.ป่ามะคาบ อ.เมืองพิจิตร จ.พิจิตร 66000

โทร.090-3282614

ผู้เขียน นางสาวปภัสรา ขวัญหอม