วัฒนธรรมประเพณีกำฟ้าไทยพวน

ประเพณีกำฟ้าไทยพวนบ้านป่าแดง ตำบลหนองพยอม อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร

ประเพณีกำฟ้าไทยพวน

บ้านป่าแดง ตำบลหนองพยอม อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร

“งานประเพณีกำฟ้า” เป็นงานบุญพื้นบ้านของชาวไทยพวน บ้านป่าแดง อำเภอตะพานหิน ที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เป็นการบูชาหรือเคารพเทวดาฟ้าดิน เชื่อกันว่าเมื่อได้ทำบุญประกอบพิธีกรรมตั้งบายศรีบูชาขอพรจากเทพยดา ผู้รักษาฟ้าแล้วจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เชื่อกันว่าเสียงฟ้าร้องคือ “สัญญาฟ้าเปิดประตูนํ้า” เพื่อให้ชาวนา ชาวไร่ มีนํ้าประกอบอาชีพเกษตรกรรม การพยากรณ์เสียงฟ้าร้องของลาวพวน มีดังนี้เสียงฟ้าร้องดังมาจากทิศเหนือหรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พยากรณ์ว่าฝนจะดีมีนํ้าเพียงพอ พืชพันธุ์ธัญญาหารสมบูรณ์ ประชาชนจะมั่งมีศรีสุข ถ้าฟ้าร้องดังมาจากทิศใต้ ฝนจะมีน้อยเกิดความแห้งแล้งพืชผลได้รับความเสียหายถ้าฟ้าร้องเสียงมาจากทิศตะวันออก ฝนจะตกปานกลาง พืชในที่ลุ่มได้ผลดี พืชในที่ดอนจะเสียหายถ้าเสียงฟ้าร้องมาจากทิศตะวันตกจะเกิดความแห้งแล้งข้าวยากหมากแพงจะรบพุ่งฆ่าฟันกัน

“กำฟ้า” เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยพวนได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล หมายถึง การนับถือ สักการะ บูชาฟ้า ไทยพวนมีอาชีพทำนาเป็นหลัก ซึ่งต้องพึ่งพาธรรมชาติ ชาวนาจึงมีความเกรงกลัวต่อฟ้ามาก ไม่กล้าทำให้ผีฟ้าพิโรธ ถ้าผีฟ้าพิโรธ หมายถึง ฝนจะไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรือไม่ฟ้าก็จะผ่าคนตาย ความแห้งแล้งจะมาเยือนเกษตรกร หรืออีกนัยหนึ่งชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รู้สึกสำนึกในบุญคุณของฟ้าที่ให้นํ้าฝนอันหมายถึง ความชุ่มชื้น ความอุดมสมบูรณ์ ความมีชีวิตของคน สัตว์ หรือ พืชพรรณต่าง ๆ จึงได้เกิดประเพณีกำฟ้าขึ้น ประชาชนในตำบลหนองพยอม ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพวน และประกอบอาชีพทำนา และอาชีพเกษตรกรรมด้วย ชาวบ้านจึงได้จัดประเพณีกำฟ้าขึ้น กล่าวคือ ตอนเช้าวันขึ้น ๓ คํ่า เดือน ๓ ทุกครัวเรือนจะจัดอาหารคาวหวานไปถวายพระที่วัด มีการใส่บาตรพระด้วยข้าวหลาม ข้าวจี่ หลังจากถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์แล้ว มีการรับประทานอาหารร่วมกัน ช่วงกลางคืนจะมี งานพาข้าวแลง มีดนตรี มีการประกวดธิดากำฟ้ารูปแบบการจัดกิจกรรมจะกำหนดการจัดงานเป็น ๒ วัน คือวันกำต้อน (ขึ้น ๒ คํ่า เดือน ๓) เป็นวันเตรียมการก่อนวันงาน ๑ วัน ทุกคนจะหยุดทำงานกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอนของตน ตั้งศาลพระภูมิบายศรีขอพรจากเทพยดา โดยจัดเตรียมอาหารคาวหวาน ข้าวปุ้น (ขนมจีน) เผาข้าวหลาม ไว้ทำบุญในรุ่งขึ้นซึ่งเป็น “วันกำฟ้า”วันกำฟ้า (ขึ้น ๓ คํ่า เดือน ๓) เป็นวันงาน ตอนเช้ามีพิธีทำบุญใส่บาตรสู่ขวัญข้าว ตอนกลางวันแสดงการละเล่นพื้นบ้าน เช่น นางกวัก นางด้ง นางสาก ถ่อเส้า ฯลฯ ตอนเย็นจะนำข้าวปลาอาหารมาร่วมรับประทานกัน ปัจจุบันทางราชการ ส่งเสริมให้เป็นงานประเพณีสำคัญ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของอำเภอ ระยะเวลาการจัดงานขึ้น ๒ คํ่า เดือน ๓ และขึ้น ๓ คํ่า เดือน ของทุกปีความสำคัญชาวไทยพวนจะจัดงานประเพณีกำฟ้าขึ้นในขึ้น ๓ เดือน๓ คํ่า เพื่อทำการเคารพฟ้า หรือการเคารพเจ้าฟ้ามหากษัตริย์หรือเคารพเทวดาผู้เป็นใหญ่ ผู้ศักดิ์สิทธิ์บนฟากฟ้า และในวันงาน "กำฟ้า" นี้ชาวไทยพวนจะเป็นงานวันขึ้นปีใหม่ด้วย ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบกันมาว่า ผู้ใดฝ่าฝืนทำงานในวัน "กำฟ้า" จะถูกฟ้าฝ่าพิธีกรรมวันขึ้น ๒ คํ่า ชาวไทยพวนเรียกว่า "วันกำต้อน" ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านไทยพวน จะพากันหยุดงานตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกดิน เพื่อให้พวกหนุ่มสาวมาช่วยกันตำข้าวเพื่อทำข้าวปุ้น (ขนมจีน) ไว้เลี้ยงดูกัน และทำข้าวจี่ เตรียมไว้สำหรับทำบุญตักบาตรตอนเช้าวันรุ่งขึ้น แต่ในบางท้องถิ่นกจะทำข้าวหลามไว้สำหรับเลี้ยงดูแจกญาติพี่น้อง และเอาไว้ทำบุตรตักบาตรในตอนเช้าด้วย สำหรับชาวไทยพวนบ้านป่าแดง อำเภอตะพานหิน ในวันกำต้อน บุตรหลานทุกคนที่ทำงานอยู่ต่างจังหวัด หรือกรุงเทพฯ จะเดินทางกลับมาภูมิลำเนาเดิมเพื่อร่วมทำบุญและสนุกสนานกับญาติพี่น้องของตน ในวันนี้ชาวบ้านจะนำข้าวสารข้าวเหนียว น้ำตาล ไข่ ไปรวมกันที่วัดห้วยเกตุเกษม (ป่าแดงเหนือ) เพื่อเข้ามงคลในพิธีสงฆ์ และพิธีพราหมณ์ทำการบวงสรวงเทพยดา ก่อนที่จะทำการเผาข้าวหลาม และชาวบ้านป่าแดงในแต่ละคุ้มบ้านจะแต่งกายด้วยชุดผ้าพื้นเมืองแบบสมัยโบราณ หาบอาหารคาวหวานมาเลี้ยงต้อนรับผู้ที่มาร่วมพิธีและรับประทานอาหารร่วมกัน ซึ่งเรียกว่า "งานพาข้าวแลง" จนถึงในเวลากลางคืน หนุ่มสาวก็พากันไปรวมตัวที่วัด ร่วมร้องรำทำเพลง เล่นกีฬาประเพณีพื้นเมือง เช่น เตะหมากเบี้ย ขี่ม้าหลังโกง ถ่อเส้า นางดัง นางกวักและต่อไก่กัน อย่างสนุกสนาน ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้พบปะกันทั้งหมู่บ้าน ซึ่งตามประเพณีนี้ เรียกว่า " ไปงันข้าวจี่" ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่หรือคนที่มีครอบครัวแล้วที่อยู่ภายในครัวเรือน จะเอาไม้ไปเคาะเตาไฟแล้วกล่าวคำเป็นมงคลว่า "กำปลอก" กำดีเน้อ ไฮ่บ่หา นาบ่เอา ชกบ่ย้อง ร้องบ่ตำกำปลอดกำดี กำเหย้ากำเฮือน กำผู้ กำคน กำงัว กำควาย กำหมู หมา เป็ดไก่เน้อ" วันขึ้น ๓ คํ่า ซึ่งเป็นวันพิธีกำฟ้า ยังเชื่อกันอีกว่า เสียงฟ้าร้องจะเป็นสิ่งบอกเหตุการณ์ในอนาคตอีกด้วย เพราะฉะนั้นเขาจะคอยฟังเสียงร้องของฟ้าว่าจะดังมาจากทิศไหน เขาถือกันว่า "เสียงฟ้าร้องก็คือ ฟ้าเปิดประตูนํ้า" เพื่อให้ชาวบ้านมีนํ้าทำนาปีต่อไป และทำให้คาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าควรจะทำนาช้าหรือเร็วอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับฤดูกาลที่จะมาถึงอันใกล้นี้ เกี่ยวกับเสียงฟ้าร้อง นี้มีผู้ปูมทำนายกันต่อ ๆ มา"กำฟ้า" แยกออกเป็น ๒ ทาง คือ ๑. การทำนายเกี่ยวกับอาชีพและความเป็นอยู่ ฟ้าร้องทางทิศเหนือหรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทำนายว่า ฝนจะดีทำนาได้ข้าวบริบูรณ์ จะมั่งมีศรีสุข ฟ้าร้องทางทิศใต้ ทำนายว่า ฝนจะแล้ง นํ้าท่าไม่บริบูรณ์ การทำนาจะเสียหาย ฟ้าร้องทางทิศตะวันออก ทำนายว่า ฝนจะตกปานกลาง นํ้าบริเวณที่ลุ่มดี นาที่ดอนจะเสียหาย ฟ้าร้องทางทิศตะวันตก ทำนายว่า จะเกิดแห้งแล้งฝนตกไม่แน่นอน ข้าวจะยาก หมาก จะแพง ๒. การทำนายเกี่ยวกับอาชีพและเหตุการณ์ ฟ้าร้องทางทิศเหนือ ทำนายว่า จะอดข้าว ฟ้าร้องทางทิศใต้ ทำนายว่า จะอดเกลือ ฟ้าร้องทางทิศตะวันตก ทำนายว่า จะต้องเอาจา (จอบ) ทำหอก คือจะรบราฆ่าฟันกัน ฟ้าร้องทางทิศตะวันออก ทำนายว่า จะต้องเอาหอกทำจา คือจะอยู่เย็นเป็นสุข ในวันกำฟ้านี้ชาวไทยพวนจะนำอาหารคาวหวาน พร้อมข้าวหลามไปทำบุญเลี้ยงพระ และให้พราหมณ์ ในหมู่บ้านทำพิธีสู่ขวัญจนเสร็จพิธี จากนั้นจะมีการละเล่นกีฬาพื้นเมืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับเลี้ยงดูญาติพี่น้องที่มาเยี่ยมเยียนก่อนที่จะอำลาเดินทางกลับภูมิลำเนาของตน

ผู้เรียบเรียง นางสาวภิชญาพร น้อมระวี