หล่อเทียนพรรษา

หล่อเทียนพรรษาและแห่เทียนพรรษา

ประเพณีแห่งเทียนพรรษานั้น เนื่องจากสมัยก่อนพระภิกษุสงฆ์ไม่มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านจึงหล่อเทียนต้นใหญ่ขึ้น เพื่อถวายพระภิกษุสงฆ์จุดให้แสงสว่างในการปฏิบัติกิจวัตรต่างๆ เป็นพุทธบูชาตลอดเวลา 3 เดือน การนำเทียนไปถวายชาวบ้านมักจัดขบวนแห่กันอย่างเอิกเกริกสนุกสนานและปฏิบัติสืบทอดกันมาจนกลายเป็นประเพณีที่ต้องทำกันเป็นประจำทุกปี

วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่ต่อเนื่องมาจาก วันอาสาฬหบูชา โดยในประเทศไทยเราจะมี ประเพณีถวายเทียนพรรษา ที่สืบทอดกันเรื่อยมาเป็นเวลานาน ชาวบ้านในตำบลนางัว ก็มีการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมนี้สืบทอดกันมาในทุกๆปี เพื่อรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมที่สืบต่อกันมานาน และเพื่อเป็นการสร้างความรักความสามัคคีในชุมชนแต่ละชุมชน จึงได้จัดมีการหล่อเทียนพรรษาและแห่เทียนพรรษา เพื่อถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ที่จะจำพรรษา ณ วัดนั้นๆ เพื่อให้พระภิกษุใช้ในการทำกิจของพระศาสนา

ทั้งนี้งานหล่อเทียนพรรษาและแห่เทียนพรรษา นับว่าเป็นงานประเพณีที่รวมความผูกพันของชุมชนท้องถิ่นของชาวตำบลนางัว โดย นายอิทธิกร ไชยภูวงศ์ กำนันตำบลนางัว และ นายสนาน อุดมกัน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนางัว เล่าให้ฟังว่า “ประเพณีนี้เริ่มมีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยปู่ย่า ตายาย คนเฒ่าคนแก่ ได้ร่วมกันทำมานานกว่ามากแล้วจนถึงปัจจุบันนี้เท่าที่จำความได้เกิดมาก็มีประเพณีนี้มาตลอด” ซึ่งประเพณีนี้เริ่มต้นตั้งแต่การที่ชาวบ้านร่วมบริจาคเทียนเอามาหลอม หล่อเป็นเทียนเล่มใหญ่เล่มเดียวกัน เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่คณะไปในตัว การสรรหาภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่มีฝีมือทางช่าง มีความรู้ ความชำนาญในเรื่อง การทำลวดลายไทย การแกะสลักลวดลายลงบน ต้นเทียน การทำเทียนให้เป็นลายไทย แล้วนำไปติดบนต้นเทียน การประดับด้วยผ้าฝ้าย ผ้าไหม ดอกไม้สด ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของช่างในท้องถิ่น ส่วนการจัดขวนแห่ก็ล้วนแต่ใช้ของพื้นเมือง เช่น เครื่องแต่งกายขอขบวนฟ้อน จะใช้ผ้าพื้นเมืองเป็นหลัก การฟ้อนรำจะใช้ท่ารำที่ดัดแปลงมาจาก วิถีชีวิต การทำมาหากินของชาวบ้าน เป็นท่ารำในรูปแบบของศิลปะที่งดงาม ดนตรีประกอบก็เป็น เครื่องดนตรีประจำถิ่น ผสมเข้ากับการขับร้องที่สนุกสนานเร้าใจ ทำให้งานประเพณีนี้ยิ่งใหญ่ ประชาชนต่างเฝ้ารอคอย

ศิลปะการฟ้อนรำที่นิยมนำมาประกอบการแสดงในขบวนแห่ คือ การรำเซิ้งต่างๆ เช่น เซิ้งกระลอ เซิ้งกระติบ เซิ้งสวิง เซิ้งแหย่ไข่มดแดง ซึ่งดัดแปลงมาจากการประกอบอาชีพในวิถีชีวิต ประจำวันทั้งสิ้น

งานหล่อเทียนพรรษาและแห่เทียนพรรษานี้จัดขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชาตามที่สืบทอดกันมา ซึ่งจะทำกันในช่วงเข้าพรรษาของทุกปี เป็นงานที่ทำให้คนวัยรุ่นหนุ่มสาวได้มีโอกาสได้ใกล้ชิดและสัมผัส กับศิลปวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่การเข้าเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือ เป็นลูกมือช่างของทางวัด ในการแกะสลักทำลวดลายต้นเทียน ค้นคว้าหาวิธีการทำเทียนพรรษาให้วิจิตร งดงาม แต่ประหยัด การเข้าร่วมในขบวนแห่จะเป็นการผสมผสานระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ เช่น การเล่นดนตรีพื้นบ้าน โปงลาง หรือเป่าแคน จะมีทั้งผู้สูงอายุและคนหนุ่มสาว ส่วนขบวนฟ้อนรำ จะใช้เด็กๆ รุ่นเยาว์ ถึงวัยหนุ่มสาวมากกว่าคนสูงวัย ซึ่งคาดหวังได้ว่า ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น จะสืบทอดต่อไปอีกยาวไกล

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก

http://arts.pnru.ac.th/th/km/tradition-culture

กศน.ตำบลนางัว สังกัด ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอบ้านแพง

สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดนครพนม

โทร. 042-519069 หรือ 095-6699215 E-Mail tumbon.nagua299@gmail.com