การสานแห
หมู่ 10 บ้านสี่แยก ตำบลสระแก้ว อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว

การสานแห

การสานแห เริ่มมาจากสมัยก่อนนั้นครอบครัวไทยเป็นครอบครัวภาคเกษตรกรรม มีการทำมาหากินตามธรรมชาติ จับปลาโดยใช้เป็ด ยกยอ และใช้แหเป็นเครื่องมือในการจับสัตว์น้ำ เพื่อนำมาประกอบเป็นอาหารการกินเลี้ยงดูครอบครัว ซึ่ง นายลำยอง พันไร ชาวบ้านหมู่ 10 บ้านสี่แยก ตำบลสระแก้ว อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว ได้สืบทอดภูมิปัญญาการสานแห หรือการถักแถมาจากบิดาโดยเริ่มมีความสนใจการสานแหมาตั้งแต่วัยเด็ก และได้ลองผิดลองถูกเรื่อยๆ รวมทั้งได้ศึกษาหาความรู้และเทคนิคใหม่ๆ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกมามีความแข็งแรง และทนทานอีกด้วย

ครื่องมือจับปลาพบเห็นได้ทุกครัวเรือน แหเป็นผืนตาข่ายกลมใช้หว่านคลุมสัตว์ที่อาศัยในแหล่งน้ำทั่วไปได้ตลอดปี แหทำจากเส้นเชือกถักด้วยชุน ซึ่งเป็นไม้ไผ่เหลาแบนปลายแหลมมีเดือยอยู่ตรงกลางใช้สำหรับพันเชือกแหมีส่วนประกอบได้แก่

- จอมแห คือ ส่วนที่อยู่ปลายบนสุด อยู่กึ่งกลางปากแห ถักเป็นห่วงใช้ดึงลากให้แหหุบเข้ารวมกัน
- ตาข่าย คือตัวแหที่ถักเป็นรัศมีให้กว้างกลมออกไปเรื่อย ๆ ช่องตาข่ายมีความกว้างตั้งแต่ครึ่งนิ้วถึง 2 นิ้ว มีความยาว 6 ถึง 12 ศอก ใช้เลือกจับปลาตามแหล่งน้ำที่มีขนาดต่างกัน
- ลูกแห ทำจากเหล็กเส้นเล็ก ๆ ตัดเป็นเส้นสั้น ๆ ตัดเป็นวงแหวน คล้องต่อกันเป็นเส้นยาวคล้ายโซ่ ผูกมัดติดริมรอบปากแห วัดลูกแหประมาณ 1 คืบ ผูกเชือกที่ลูกแหแล้วใช้เชือกผูกต่อขึ้นบนตาข่าย คล้ายเป็นถุงกรอง รอบปากแห ลูกแหมีหน้าที่ถ่วงดึงให้ตาข่ายจมน้ำ

แหมีความยาว 11-12 ศอกมีช่องตาห่าง มุ่งจับปลาตัวใหญ่จะหว่านลงในน้ำลึก หรือ หว่านบนเรือ ผู้ใช้ต้องแข็งแรง เชี่ยวชาญ มีเชือกผูกที่จอมแห เมื่อหว่านลงน้ำแล้วปล่อยไว้สักครู่ จึงค่อย ๆ ดึงเชือกขึ้น ปากแหที่วางครอบปลาที่พื้นจะค่อย ๆ หุบตัวรวมกันครอบรวบปลาให้อยู่ภายในตัวแห แหขนาด 9-10 ศอก ใช้หว่านลงในน้ำทั่วไป ขนาด 6-8 ศอก ช่องตาแหกว้าง 1 นิ้ว หว่านจับปลาได้ทุกขนาดในแหล่งน้ำที่น้ำไม่ลึกมาก ชาวบ้านเรียก “แหขยัน” หมายถึงผู้หว่านต้องหว่านบ่อย ๆ ไม่เลือกปลาถือคติว่า “ไม่ได้ต้มก็ได้ป่น” หากได้ปลาขนาดพอต้มก็ต้มแต่ถ้าได้ปลาขนาดเล็กก็ต้มกับน้ำปลาร้า ขูดเนื้อปลาตำพริก (ตำป่น) ถ้าแหห่างประมาณครึ่งนิ้ว ใช้หว่านปลาซิว ตัวใหญ่ในช่วงต้นฤดูฝน หรือใช้หว่านปลาหลดตามลำธาร คลองน้ำ ที่น้ำเริ่มไหลเชี่ยวในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม