“สะดืออีสาน หรือบึงกุย”

สะดืออีสาน หรือบึงกุย เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของ ตำบลแก้งแก ตำบลหัวขวาง และตำบลเหล่า อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม และเป็นสะดืออีสาน มีสิ่งก่อสร้างที่มีสัญลักษณ์ของสะดืออีสาน มีพื้นที่ 2,750 ไร่ จุน้ำได้ 4.3 ล้านลูกบาศก์ ชาวบ้านในเขตอำเภอโกสุมพิสัยและอำเภอใกล้เคียงได้อาศัยบึงกุยเป็นแหล่งทำมาหากิน โดยเฉพาะการประมงมีการจับปลาจากบึงกุยมาขาย แลกเปลี่ยนเป็นอาชีพหลักและอาชีพรอง ถือเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนโดยรอบ สะดืออีสานถูกเรียกตามตำแหน่งของสถานที่ที่มีความเชื่อกันว่าเป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานโดยได้ยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องภูมิศาสตร์ว่าบริเวณนี้เป็นศูนย์กลางหรือสะดืออีสานอย่างแท้จริง

สะดืออีสานอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำมากมายเป็นแหล่งทำมาหากินที่สำคัญของชาวมหาสารคามรอบ ๆ บึงยังมีทัศนียภาพที่สวยงาม บรรยากาศเงียบสงบ เหมาะสำหรับการมาเที่ยวพักผ่อนมีสถาปัตยกรรมสวยงามตั้งเป็นสัญลักษณ์โดดเด่นซึ่งแนวคิดเรื่องการออกแบบสัญลักษณ์สะดืออีสานนี้ยังสะท้อนถึงความสำคัญเกี่ยวกับภูมิปัญญาบรรพบุรุษและเป็นศูนย์รวมแห่งใหม่ของชาวอีสานด้วยบริเวณรอบๆ สะดืออีสานมีอาณาเขตที่กว้างขวาง จัดตกแต่งเป็นสวนสาธารณะที่ร่มรื่นสวยงาม สามารถมองเห็นทัศนียภาพที่รื่นรมย์ของบึงกุย คนท้องในท้องที่และนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นนิยมเดินทางมาพักผ่อนหย่อนใจ และเก็บภาพประทับใจกับสถาปัตยกรรมสะดืออีสานไว้เป็นที่ระลึก ว่าครั้งหนึ่งได้เคยมายืนอยู่ ณ ศูนย์กลางของภาคอีสานแล้

วนอุทยานโกสัมพี ป่าหนองบุ้งเป็นป่าดงดิบมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบอยู่ริมแม่น้ำชี ในเขตสุขาภิบาล- อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ภายในบริเวณป่าหนองบุ้ง ซึ่งเป็นหนองน้ำธรรมชาติ ขนาดเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ มีน้ำตลอดอีกประมาณ 1- 1.50 เมตร บริเวณป่าหนองบุ้งด้านทิศใต้มีอาณาเขตติดต่อกับถนนข้างมณฑปหลวงพ่อมิ่งเมือง และวัดกลางโกสุมพิสัย จะมีลักษณะเป็นป่าดงดิบตามธรรมชาติมาตั้งแต่เดิม เนื้อที่ประมาณ 60 ไร่ และบริเวณที่อยู่ถัดลงไปทางด้านทิศตะวันตกจนจดลำชีหลง เนื้อที่ประมาณ 45 ไร่ส่วนที่ดินที่เหลืออีกประมาณ 20 ไร่ นั้นเป็นที่เคยถูกบุกรุกแผ้วถางป่ามาแล้วเป็นหย่อม ๆ และปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าโดยไม่มีผู้ใดเข้ายึดครองกรรมสิทธิ์ สำหรับที่ดินบริเวณที่ไม่ได้บุกรุกแผ้วถางทำลายป่าจะมีไม้ยางขึ้นอยู่เป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 50 - 70 ต้น ซึ่งเป็นยางนา

มีพรรณไม้หลายชนิดส่วนใหญ่ที่สำคัญได้แก่ กะเบา ยาง ชมภู่ป่า หว้า ทองกวาว กระโดดสำหรับไม้พื้นล่างส่วนใหญ่ ได้แก่ เถาวัลย์เปรียง หวาย ตดตะกั่ว มะดัน นมแมว คัดเค้า และไม้ไผ่ นอกจากนั้นยังมีต้นจามจุรี หรือก้ามปู ซึ่งชาวบ้านนำไปปลูกไว้ เพื่อเป็นร่มเงาในการเข้าไปพักผ่อนหย่อนใจ อนึ่ง จากคำบอกเล่าของราษฎรท้องถิ่นได้ทราบว่า ป่าหนองบั้ง เดิมสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งป่ายังไม่ถูกบุกรุกแผ้วถาง นอกจากจะมีพรรณไม้ดังกล่าวมาแล้ว ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้มีค่านานาชนิด อาทิเช่น มะค่าโมง ตะเคียนทอง ตะแบกใหญ่ เป็นต้น

ชนิดสัตว์ป่าที่ยังมีเหลืออยู่ในปัจจุบันที่สำคัญได้แก่ ลิง ซึ่งมีอยู่ 2 ฝูง จำนวนประมาณ 500 ตัว และยังมีนกกางเขนบ้าน นกกิ้งโค้ง นกสาริกา นกเอี้ยงหงอน นกปรอดสวน นกปรอดหัวโขน นกอีเสือหัวดำ และพวกนกกระจิบธรรมดา