พิพิธภัณฑ์พระพุทธวิถีนายก  

  พิพิธภัณฑ์พระพุทธวิถีนายกก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2526 เพื่อระลึกถึงหลวงปู่บุญ หรือ ท่านเจ้าคุณพระพุทธวิถีนายก โดยมีการจัดแสดงสิ่งของทั้งหมด 3 ชั้น พิพิธภัณฑ์พระพุทธวิถีนายก จัดแสดงเรื่องราวโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ดังนี้ ชั้นล่างส่วนพระ พุทธวิถีนายกจัดแสดงประวัติพระเครื่อง และข้าวของเครื่องใช้ของหลวงปู่บุญ (พระพุทธวิถีนายก บุญ ขันธโชติ) และหลวงปู่เพิ่ม (พระพุทธวิถีนายก เพิ่ม ปุญญวสโน ) โดยทางซีกตะวันออก (ซ้ายมือ) จัดแสดงพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง วัตถุมงคลและพระบูชาของหลวงปู่ ซึ่งมีอายุการสร้างเกือบร้อยปีแล้ว อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของตัวยาไทย สมุนไพร ยารักษาโรค และเครื่องมือช่างสารพัดรูปแบบในฐานะที่หลวงปู่เป็นนักพัฒนาก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดมาโดยตลอดกับเอกสารที่เป็นการปฏิบัติงานในหน้าที่คณะสงฆ์ และบันทึกหรือจดหมายติดต่อกับบรรดาผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ ปฏิทินโหราศาสตร์แต่ละปีที่หลวงปู่คำนวณและเขียนขึ้นด้วยลายมือรูปปั้นของหลวงปู่บุญและรูปถ่ายของหลวงปู่ทั้งสองติดเรียงรายไว้ตามฝาผนังส่วนคัมภีร์และสมุดข่อยจัดแสดงในห้อง กระจกซีกตะวันตก (ขวามือ) มีคัมภีร์ใบลาน เนื้อหาเป็นพระธรรม หนังสือเทศน์และเรื่องราวที่เป็นความรู้ต่าง ๆ จารตัวอักษรขอมเป็นส่วนใหญ่ และจารในใบลานขนาดยาวสั้นต่าง ๆ กัน ห่อในผ้าห่อคัมภีร์เก่า บรรจุในกลักไม้และในหีบพระธรรม ส่วนสมุดข่อยมี ทั้งสมุดขาวและสมุดดำขนาดใหญ่และเล็กต่าง ๆ กัน มีทั้งอักษรไทยและอักษรขอม มีชนิดที่มีภาพสวยงาม คือสมุดภาพพระมาลัยและสมุดภาพพุทธประวัติ นอกจากนี้มีเนื้อหาเป็นพระราชพงศาวดาร ตำราพิชัยสงคราม วรรณคดี หนังสือเรียน ตำรายาไทย และการรักษาโรค ตำราโหราศาสตร์ เลขยันต์และคาถาอาคมต่าง ๆ มีทั้งในลักษณะของสมุดที่เป็นตำราและสมุดที่แสดงให้เห็นว่า  ใช้ในการศึกษาเล่าเรียน ในห้องนี้ยังมีตู้พระธรรม หีบพระอภิธรรมลายรดน้ำและพานแว่นฟ้าซึ่งเกี่ยวข้องกัน จัดรวมไว้ด้วย ชั้นที่สองจัดแสดงของใช้ประเภทต่าง ๆ เครื่องเบญจรงค์ เครื่องลายคราม  ถ้วยชามของใช้ ปั้นชา แก้วเจียระไน เครื่องทองเหลือง เครื่องเขิน เครื่อง ไม้ ถาดเคลือบ และห้องมุก  ซึ่งมีธรรมาสน์มุกของหลวงปู่บุญ  ซึ่งพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 สร้างถวาย โดยมีสัญลักษณ์รูปพระอาทิตย์ฯ และตัวอักษรจีนอยู่พนักธรรมาสน์ ชั้นที่สาม จัดแสดงพระบุเงินและพระบูชาไม้แกะ พระเนื้อทองเหลืองทรงเครื่องและพระมาลัยโปรดสัตว์นรก ในห้องซีกตะวันตก  ซึ่งมีธรรมาสน์บุษบก ไม้แกะปิดทองของเก่าคู่กับวัดตั้งเป็นประธานในด้านนี้ ส่วนซีกตะวันออกจัดแสดงพระบูชาขนาดใหญ่ มีทั้งที่เป็นของเก่าและที่พุทธบริษัทสร้างถวายในสมัยหลวงปู่บุญ ตรงส่วนกลางของชั้นสาม คือกุฏิเก่าของหลวงปู่ ส่วนประกอบที่เนื้อไม้ยังพอใช้ได้ โดยเฉพาะบรรดาฝาปกนต่าง ๆ  และลายฉลุช่องลมกับประตูหน้าต่าง ได้นำมาประกอบเป็นกุฏิของท่านในลักษณะเดิม เพื่อประดิษฐานรูปหุ่นขี้ผึ้งของหลวงปู่  ประกอบกับข้าวของเครื่องใช้ของท่านเหมือนกับสมัยเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ พระพุทธรูปขนาดใหญ่ตรงกลางภายในกุฏิ  คือพระสัมพุทธมหามุนี พุทธวิถีนายก ปุญญวสนนิมมิตสมัยเชียงแสน ซึ่งหลวงปู่เพิ่มได้พระเศียรมาจากเมืองเชียงแสน แล้วได้สร้างซ่อมแซมจนเป็นองค์ที่สมบูรณ์ กว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์พระพุทธวิถี การสร้างพิพิธภัณฑ์นั้นเป็นงานใหญ่ นอกจากงบประมาณในด้านค่าก่อสร้างอาคารแล้ว การรวบรวมวัตถุต่าง ๆ ภายในวัดก็เป็นเรื่องยากลำบาก จำต้องอาศัยกำลังสนับสนุนจากหลายฝ่าย เมื่อคณะผู้จัดสร้างหารือกันเองแล้ว จึงได้นำความคิดไปหารือกับท่านพระครูสิริชัยคณา รักษ์ (สนั่น) ท่านเจ้าอาวาสในขณะนั้น ท่านก็เห็นดีด้วย เพราะท่านก็คิดเรื่องนี้อยู่เช่นกัน งานพิพิธภัณฑ์จึงได้เริ่มขึ้น ครั้งแรกท่านเจ้าอาวาสได้ดำเนินการหาแบบแปลนที่เหมาะสมและกำหนดสถานที่ ณ บริเวณกุฏิเก่าของหลวงปู่ จึงได้สร้างพิพิธภัณฑ์พระพุทธวิถีนายกขึ้นนับแต่นั้นมาจนถึง
ปัจุปัน ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ ตำบลนครชัยศรี อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม 73120 โทรศัพท์ : 034 331 462
เว็บไซต์ : http://www.watkbk.com/ วันและเวลาทำการ เปิดวันพฤหัสบดี - วันอาทิตย์ ตั้งแต่ 09.00 - 16.00 น. ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 20 บาท นักศึกษา 10 บาท การเดินทาง รถยนต์ส่วนตัว จากกรุงเทพฯ ทางหลวงหมายเลข 338 และกลับรถเข้าสู่ทางหลวงพุทธมณฑลสาย 8 ขับตรงไปจนถึงทางแยก ให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทาง 3235 ปลายทางอยู่ทางซ้ายมือรถโดยสารประจำทาง รถโดยสารจาก กรุงเทพ - นครปฐม 

ผู้ให้ข้อมูล พระภัทธีระ ญาณวุฑโฒ พระวัดกลางบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

ผู้เรียบเรียง นายกิตติพันธ์ ก้านขวา ครู กศน.ตำบลนครชัยศรี กศน.อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม 

พิพิธภัณฑ์พระพุทธวิถีนายก

https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/373

พิพิธภัณฑ์พระพุทธวิถีนายก 

https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/373