ประตูชัยอรัญประเทศ

ตั้งอยู่ระหว่างพรมแดนไทย-กัมพูชา ที่บ้านคลองลึก ตำบลท่าข้าม สร้างในปี พ.ศ. 2482 มีลักษณะเป็นป้อม 2 ป้อม อยู่กันคนละฟากถนน โดยป้อมด้านซ้ายมือรักษารูปลักษณ์เดิมไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ทหารกล้าที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการสู้รบบริเวณชายแดนด้านคลองลึก ตัวป้อมมีลักษณะเป็นรูปหกเหลี่ยมด้านเท่า สูงประมาณ 15 เมตร ฐานประตูทำเป็นห้องรักษาการณ์ แต่ชำรุดทรุดโทรมจากภัยสงคราม จึงมีการบูรณะซ่อมแซม เมื่อปี พ.ศ. 2502 สำหรับทางด้านขวามือได้ก่อสร้างเป็นเสมาขนาดใหญ่ทำด้วยหินอ่อนสลักรูปครุฑพ่าห์ (ธงมีรูปครุฑ)ไว้ด้านบน ใต้ครุฑจารึกคำว่า "ประเทศไทย" หันออกไปทางประเทศกัมพูชา

พระสยามเทวาธิราช

รูปจำลองพระสยามเทวาธิราชองค์นี้ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภออรัญประเทศรวมทั้ง ชาวสระแก้วและประชาชนในจังหวัดใกล้เคียง โดยพระอุทัยธรรมธารี เจ้าอาวาสวัดป่ามะไฟได้ สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2518 และต่อมาประชาชนได้ร่วมกันสร้างบุษบกเป็นที่ประทับ ซึ่งมีการประกอบพิธี วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2528 เหตุที่มีการสร้างรูปจำลองพระสยามเทวาธิราชขึ้นมานั้น สืบเนื่องจากเหตุการณ์สู้รบกันบริเวณชายแดน ท่านพระครูอุทัยธรรมธารีจึงได้อัญเชิญพระสยามเทวาธิราช องค์นี้ซึ่งอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรียาวนานถึง 7 ปี มาประดิษฐาน ณ ชายแดนเพื่อความเป็นสิริมงคลและเป็นขวัญ กำลังใจแก่พี่น้องประชาชนตามแนวชายแดนอรัญประเทศ ด้วยเชื่อว่าพระบารมีของพระสยามเทวาธิราช จะช่วยปกป้องคุ้มครองชาวอรัญประเทศให้อยู่รอดปลอดภัยจากการสู้รบที่ปะทะกันอยู่หลายครั้งตามแนวชายแดนนั่นเอง

ปราสาทเขาน้อยสีชมพู โบราณสถาน

ปราสาทเขาน้อยสีชมพู ตั้งอยู่ในวัดเขาน้อยสีชมพู ตำบลคลองน้ำใสห่างจากตัวอำเภออรัญประเทศไปทางทิศใต้ประมาณ 12 กิโลเมตร โบราณสถานตั้งอยู่บนยอดเขาน้อยซึ่งเป็นเขาหินปูนสูงจากพื้นประมาณ 130 เมตร มีบันไดทางขึ้น254ขั้น แล้วเดินขึ้นต่อไปไม่ไกลก็จะถึงบริเวณตัวปราสาท หรือสามารถไปทางรถโดยผ่านวัดเขาน้อยสีชมพู ไปตามทางอ้อมเขาประมาณ 1 กิโลเมตร เดินเท้าต่อขึ้นไปอีกประมาณ 250 เมตร สันนิษฐานว่าปราสาทนี้สร้างในพุทธศตวรรษที่ 12 และมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ในพุทธศตวรรษที่ 15 และคงความสำคัญจนถึงพุทธศตวรรษที่ 16 เชื่อว่าเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ประกอบด้วยปรางค์ 3 หลังคือ ปรางค์ทิศเหนือ ปรางค์องค์กลาง และปรางค์ทิศใต้ แต่คงเหลือเพียงปรางค์องค์กลางเท่านั้นที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ส่วนปรางค์ทางทิศเหนือและวิหารทิศใต้เหลือเพียงฐานเท่านั้น ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2478 ปราสาทเขาน้อยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติจากกรมศิลปากรและมีการสำรวจขุดพบโบราณวัตถุจำนวนมากเช่นโบราณวัตถุทำจากโลหะเครื่องปั้นดินเผา ทับหลังหินทราย 5 ชิ้น และค้นพบแผ่นจารึกบ่งบอกถึงอายุการสร้างปราสาทเรียกว่า จารึกเขาน้อยและทับหลังหินทรายแบบสมโบร์ไพรกุกอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 ศิลาจารึกระบุมหาศักราช 559 ตรงกับ พ.ศ. 1180 ซึ่งเป็นจารึกที่ระบุศักราชเก่าที่สุดในประเทศ โบราณวัตถุต่างๆ ที่ได้จากการขุดค้นปัจจุบันเก็บรักษาและตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี การเดินทาง จากถนนทหารร่วมจิตรผ่านวัดชนะไชยศรีตามทางหมายเลข 3067 ไปประมาณ 500 เมตร เลี้ยวซ้ายไป 12 กิโลเมตร ผ่านด่านตรวจนาดง วัดป่าอรัญวาสี จะเห็นวัดเขาน้อย (สีชมพู) อยู่ทางขวามือขับเลยวัดไปจนถึงทางแยกเลี้ยวขวาอ้อมไปตามทางขึ้นเขาประมาณ1กิโลเมตรมีที่จอดรถขนาดพอประมาณแล้วเดินเท้าต่อขึ้นไปประมาณ 250 เมตร