ประวัติความเป็นมา

การทำกล้วยเล็บมือนางอบแห้ง บ้านแม่ทะเล หมู่ที่ ๑ ตำบลท่ามะพลา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร สืบทอดมาจากบรรพบุรุษมายาวนานที่จะเก็บรักษาถนอมอาหารไว้รับประทานในระยะเวลาที่ยาวนาน พื้นที่ตำบลท่ามะพลาเป็นพื้นที่ปลูกไม้ผล เช่น มังคุด ทุเรียน เงาะ ลองกอง การปลูกกล้วยเล็บมือนาง เป็นการปลูกแซมไม้ผลและพื้นที่ว่างเปล่า ลักษณะของสภาพดินในพื้นที่ตำบลท่ามะพลา เป็นดินร่วนปนดินเหนียว มีค่าความเป็นกรด เป็นด่างอยู่ในช่วง ๕.๐ – ๖.๕ มีความอุดมสมบูรณ์ มีอินทรียวัตถุ ที่เป็นธาตุอาหารที่สำคัญและจำเป็นต่อการปลูกกล้วยเล็บมือนาง เช่น โพแทสเซียมและฟอสฟอรัสทำให้กล้วยเล็บมือนางตำบลท่ามะพลามีคุณภาพและทำให้ได้ผลผลิตดี อีกทั้งตำบลท่ามะพลาเป็นพื้นที่ที่ไม่มีลมแรง อุณหภูมิเหาะสมกับการเจริญเติบโตประมาณ ๒๕-๓๐ องศาเซลเซียส ความชื่นสัมพัทธ์เฉลี่ยในอากาศทั้งปี ๘๑ % และมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีอยู่ในช่วง ๑๕๐๐-๒๓๐๐ มิลลิเมตรต่อปี ทำให้กล้วยเล็บมือนางสามารถออกผลผลิตได้ตลอดทั้งปี กล้วยเล็บมือนางเป็นกล้วยที่มีลำต้นค่อนข้างเล็กไม่สูงมากนัก ออกผลเร็ว ระยะเก็บผลทุก ๗ วัน ผลขนาดเล็ก ปลายผลเรียวแหลม ผลสุกมีสีเหลืองทอง เนื้อแน่น รสชาติหอมหวาน ใช้สำหรับรับประทานสุกหรือแปรรูปเป็นกล้วยเล็บมือนางอบแห้งส่วนมากจะปลูกไว้รับประทานที่เหลือนำมาแปรรูปเป็นกล้วยเล็บมือนางอบแห้งหรือจำหน่าย

อัตตลักษณ์/จุดเด่นของผลิตภัณฑ์

ลักษณะที่โดดเด่นของกล้วยเล็บมือนางอบแห้ง คือ เนื้อกล้วยจะเป็นสีเหลืองทอง มีกลิ่นหอม

รดชาดของกล้วยและที่สำคัญมีความหวานในเนื้อของกล้วยตามธรรมชาติไม่ได้เคลือบด้วยน้ำตาลหรือสารเคมี

กลุ่มกล้วยเล็บมือนางบ้านสวนเพชรใช้แรงงานคนในชุมชน กล้วยเล็บมือนางดิบที่นำมาแปรรูปเป็นของสมาชิกในชุมชน คณะกรรมการได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การแปรรูปกล้วยเล็บมือนางอบแห้งให้กับเยาวชนในโรงเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่ตำบลท่ามะพลา องค์กรสตรี และประชาชนผู้สนใจโดยทั่วไป เพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้อยู่สืบไป จึงทำให้คนในชุมชนมีความผูกพันกันเหมือนญาติพี่น้อง