แหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิตวิถีชุมชนคนอีสานบ้านเพชรกาฬสินธุ์

แหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิตวิถีชุมชนคนอีสานบ้านเพชรกาฬสินธุ์

การที่ชาวอีสานต้องอพยพย้ายถิ่นฐานจากบ้านเกิดเมืองนอน ส่วนหนึ่งมีการดำรงชีวิต ตามความเชื่อ ความคิด และวิถีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมที่นำติดตัวมากจากบ้านเกิด และส่วนหนึ่งจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับพื้นที่ของบ้านเพชรกาฬสินธุ์ ตำบลตลุกดู่ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ จึงมีการผสมผสานวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมอีสานและวัฒนธรรมชุมชนดั้งเดิมเข้าด้วยกัน แต่ก็มีคำถามตามติดมาว่าวิถีชีวิตและการปรับตัวของชาวอีสานในพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างไร และจะมีวิธีการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางอัตลักษณ์วัฒนธรรมที่ดีงามให้ดำรงอยู่สืบไปอย่างไร

ปีสองห้าหนึ่งแปดจากดินแดนกำเนิด ได้ก่อเกิดหมู่บ้านใหม่ไทยอีสาน

อพยพจากแดนไกลใจร้าวราน จากอีสานกาฬสินธุ์ถิ่นบ้านเฮา

มาขอมีสิทธิ์ทำกินบนถิ่นใหม่ อยู่อุทัยเมืองอุดมนิยมขาน

ตลุกดู่หมู่สิบสี่ท้องถิ่นงาม นามลือขานเพชรกาฬสินธุ์ถิ่นบ้านเฮา

บ้านเพชรกาฬสินธุ์ เป็นหมู่บ้านชาวอีสานที่มีการอพยพของประชากรชาวอีสานจาก จังหวัดกาฬสินธุ์มาอาศัยอยู่ ณ บ้านวังเตย หมู่ที่ 11 ตำบลตลุกดู่ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งมีอยู่จำนวน 4 ครอบครัว ต่อมาพ่อตัน นาสินพูล ได้มีการชักชวนญาติพี่น้องจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ให้มาตั้งรกรากใหม่ที่บ้านวังเตย เมื่อมีจำนวนประชากรมากขึ้น จึงได้เรียกว่า “กลุ่ม” จนกระทั่งปี พ.ศ.2524 ได้แยกตัวออกจากหมู่บ้านวังเตย แบ่งอาณาเขตจากหมู่ที่ 11 เป็นหมู่ที่ 14 บ้านเพชรกาฬสินธุ์ ตั้งแต่นั้นมา โดยมีนายสำรวย คันศร เป็นผู้นำชุมชนหรือผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น ชาวบ้านในชุมชนบ้านเพชรกาฬสินธุ์ ในสมัยนั้นประชากรส่วนใหญ่ ทำบุญที่วัดวังเตย แต่ก็มีปัญหาเกิดขึ้นในเรื่องอาหารถวายพระเพราะวัดวังเตยเป็นวัดคนไทยภาคกลางซึ่งจะใช้ข้าวจ้าวในการทำบุญ ปี พ.ศ. 2526 จึงได้แยกออกมาตั้งเป็นวัดใหม่ชื่อ วัดเพชรกาฬสินธุ์ และปี พ.ศ.2528 ได้นิมนต์พระมาจากปากคลองมะขามเฒ่า มาวางศิลาฤกษ์ตั้งศาลาการเปรียญ จึงก่อตั้งเป็นหมู่บ้านที่สมบูรณ์ ประชากรส่วนใหญ่ของหมู่บ้านเพชรกาฬสินธุ์ ดำเนินชีวิตตามโบราณของทางอีสาน และประยุกต์ให้เข้ากับภาคกลางมากที่สุด หมู่บ้านเพชรกาฬสินธุ์จึงเป็นหมู่บ้านที่เกิดขึ้นในลำดับที่ 84 ของอำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี

บ้านเพชรกาฬสินธุ์ เป็นหมู่บ้านชาวอีสานที่ยังดำเนินการใช้ชีวิตแบบชาวอีสานที่ยังถือฮีตสิบสอง ครองสิบสี่บุญประเพณีทั้ง 12 เดือน อาทิเช่น บุญเดือนสามบุญผะเหวด บุญเดือนสี่บุญข้าวจี่ บุญเดือนหกบุญบั้งไฟ นอกจากบุญประเพณีทั้ง 12 เดือนแล้ว ก็ยังมีแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาอีสานที่สำคัญอีกมากมาย อาทิเช่น การทอเสื่อกก การทอผ้า ซึ่งเหมาะสำหรับใครที่ต้องการเรียนรู้วิถีชีวิตชาวอีสาน

เนื่องจากชาวบ้านเพชรกาฬสินธุ์ อพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศลาวภาษาที่ใช้ในการสื่อสารจึงเป็นภาษาที่มีสำเนียงคล้ายกับภาษาประเทศลาว ซึ่งเรียกว่า ภาษาอีสาน

การแต่งกาย ชาวบ้านเพชรกาฬสินธุ์ เป็นกลุ่มชนที่อพยพมาจากภาคอีสาน มีความรักและหวงแหนในวัฒนธรรม ประจำถิ่น ซึ่งในอดีตสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวอีสานอย่างปฏิเสธมิได้ คือการแต่งกายและเราอาจเห็นได้ไม่บ่อยนัก โดยชาวบ้านจะแต่งกายด้วยผ้าทอพื้นเมืองเพื่อแสดงถึงวัฒนธรรมอีสานโดยเฉพาะการแต่งกายในงานบุญประเพณีต่างๆ

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นายมนตรี บุญไชโย

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นายมนตรี บุญไชโย