วัฒนธรรมประเพณี

การทำผ้าลายขี้ผึ้ง (โอโต๊ะจ๊ะ) ของชนเผ่าม้ง หมู่บ้านซัวตั๋ว ตำบลมหาวัน

ชาวหมู่บ้านซัวตั๋ว หมู่ที่ 12 ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวม้ง อยู่ในเขตการบริหารขององค์การบริหารส่วนตำบลมหาวัน มีจำนวนประชากรประมาณ 1,503 คน ส่วนใหญ่นับถือผีบรรพบุรุษและศาสนาพุทธ

ชาวหมู่บ้านซัวตั๋ว ส่วนใหญ่จะใช้ผ้าไหมดิบที่ผลิตเองมาปักเป็นลวดลายต่าง ๆ ซึ่งลวดลายเหล่านี้ คิดค้นออกแบบของลวดลายเอง จะมีความประณีตในการคิดลวดลาย และการปักลวดลายต่าง ๆ ซึ่งจะเห็น ได้จากกระโปรงของชาวหมู่บ้านซัวตั๋ว ใส่กันที่ทำจากผ้าบาติกกับผ้าปัก และเมื่อมีการปักลายเรียบร้อยแล้ว จะนำมาแปลรูปเป็นเสื้อผ้าที่จะส่วมใส่ในเทศกาลปีใหม่ หรือในวันสำคัญต่าง ๆ และสามารถที่จะประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้อย่างอื่นได้ เช่น ถุงย่าม กระเป๋าสะพาย กระเป๋าเป้ กระเป๋าใส่สตางค์ ถุงใส่โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้อื่น ๆ เป็นต้น ซึ่งผ้าปักจะมีลวดลายที่แตกต่างกันไป

ในอดีตชาวหมู่บ้านซัวตั๋ว มีการนำผ้าไหมดิบที่ทอเองมาเขียนเป็นลวดลายต่าง ๆ เพื่อที่จะทำเป็นกระโปรงของผู้หญิง ซึ่งผ้าไหมนั้นทำมาจากเปลือกของเส้นใยกัญชงที่แห้งสนิท จากนั้นจะนำมาฉีกออกเป็นเส้นเล็ก ๆ เพื่อที่จะได้เส้นด้ายที่มีขนาดเล็กเหมาะสมกับการทอผ้า ซึ่งทั่วไปจะนำเส้นใยกัญชง ที่แบ่งเป็น 4 ส่วน หรือแบ่งออกเป็นอีก 16-20 เส้น จากนั้นจะนำเส้นใยกัญชงไปตำในครกกระเดื่อง เพื่อให้เปลือกนอกที่หุ้มติดกับเส้นใยหลุดออกไป ให้เหลือแต่เส้นใยแท้ๆ เท่านั้น เพราะเส้นใยกัญชงแท้จะมีความอ่อนตัว และสะดวกแก่การปั่น

หลังจากที่มีการตำเส้นใยกัญชงเรียบร้อยแล้วก็จะนำมาพันม้วน ๆ เป็นก้อนโดยใช้ตีนดั่ว (ตีนดั่ว เป็นเครื่องมือเฉพาะในการพันเส้นใยกัญชง) ทำมาจากไม้กลม ๆ เส้นผ่าศูนย์กลางยาวประมาณ 8-10 นิ้ว มีที่ถือทำด้วยหวายถักในขณะที่นำมาพันแกนไม้นั้น จะมีการต่อเส้นใยกัญชงแต่ละเส้น โดยใช้นิ้วมือขยี้ส่วนปลายของเส้นใยกัญชงให้แตกออกเป็นสองเส้น จากนั้นก็จะนำอีกเส้นหนึ่งมาต่อกับเส้นเดิม เมื่อเส้นใยกัญชงเต็มแกนแล้วจะคล้ายกับรองเท้าจีน จากนั้นจึงถอดไม้ออกเก็บม้วนเส้นใยไว้ นำไปจุ่มน้ำร้อนให้อ่อนตัว แล้วนำไปตีเป็นเกลียว โดยผ่านการเข้าเครื่องตีเกลียว นั่นคือชั้วดั่ว เส้นใยที่ผ่านการปั่นเป็นเกลียวแล้วจะกรอไว้ในแกนที่เรียกว่า ซาย ซึ่งเครื่องชั่วดั่วเครื่องหนึ่งสามารถที่จะใจแกนเส้น ใยกัญชงได้ครั้งละ 4 - 6 แกนเมื่อเสร็จก็จะเปลี่ยนชุดใหม่อีก

จากนั้นก็ดึงด้ายออกจากแกนเข้าเครื่องโกลเพื่อเก็บต่อไป จากนั้นนำด้ายเส้นใยกัญชงมาฟอกสีและทำให้ด้ายอ่อนตัว โดยนำมาต้มกับน้ำขี้เถ้าประมาณ 4 กาละมัง นำมาร่อนเศษถ่านออกแล้วผสมน้ำใส่ลงในกะทะใบบัวเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 - 3 1/2 ฟุต เอาไจด้ายกัญชงลงต้มจนด้ายนิ่มยกลง และเอาไจด้ายคลุกกับขี้เถ้า แช่ไว้เช่นนั้น เมื่อแห้งสนิทแล้วนำไปต้มกับน้ำขี้เถ้า แช่ไว้ 1 คืน ล้างขี้เถ้าออกให้หมด ตากให้แห้ง ทำซ้ำเช่นนี้จนกว่าเส้นใยจะขาวจนพอใจ จึงซักให้สะอาด

จากนั้นก็นำเส้นด้ายที่ปั่นเรียบร้อยแล้วมาทอเป็นผ้าไหมดิบ เมื่อทอเรียบร้อยแล้วก็จะนำมารีดด้วยก้อนหิน ซึ่งก้อนหินนี้ใช้สำหรับในการรีดผ้าไหมดิบเท่านั้น หากว่าไม่รีดให้เรียบแล้ว เวลานำผ้าไหมดิบมาเขียนเป็นลวดลายจะไม่สามารถเขียนได้ เนื่องจากมีปมของเส้นด้ายที่ต่อกันด้วย หากว่าไม่เรียบก็จะเขียนลวดลายได้ไม่สวย

ตำแหน่งที่ตั้ง : บ้านปางวัว หมู่ 12 ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ผู้ให้ข้อมูล : นายไตรภพ แซ่กือ

ผู้เรียบเรียงข้อมูล : นางสาวณิชานันท์ วนามหาลาภ

ผู้ถ่ายภาพ : นางสาวณิชานันท์ วนามหาลาภ