สำรับคาวหวาน ตำนานคนชุมชน

ตำบลหนองฉาง

ชาวบ้านในอำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธาน ีมักจะนิยมทำสำรับกับข้าวประจำทุกบ้าน ทั้งยังนิยมใช้สำรับในการเลี้ยงอาหารต้อนรับแขก การหาบสำรับคาวหวานที่ชาวบ้านได้จัดทำกัน จะทำในวันสำคัญ ๆ ทางพระพุทธศาสนาหรือในเทศกาลต่าง ๆ เช่น วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันเทโวโรหณะ วันสลากภัต วันสงกรานต์ หรือในโอกาสที่มีแขกผู้ใหญ่มาเยือน แต่ละบ้านจะจัดสำรับคาวหวานใส่หาบไปทำบุญ หรือต้อนรับแขก

สำรับ จะประกอบด้วยถาดทรงกลมหรือสี่เหลี่ยม ทำจากไม้หรือโลหะใช้ใส่ถ้วยอาหารประมาณหกถ้วย อาหารในถ้วยจะเป็นอาหารที่ใช้บริโภคในชีวิตประจำวัน การนำอาหารใส่สำรับก็เพื่อความสะดวกในการยกหรือนำไปในที่ต่าง ๆ ซึ่งอาจใช้การยกไปหรือใส่หาบไป

เครื่องหาบ ประกอบด้วยสาแหรกและไม้คาน ไม้คานทำจากไม้ไผ่สีสุกไผ่ป่า หรือไผ่เลี้ยง โดยจะเลือกไม้ไผ่ที่มีข้อประมาณแปดข้อ ถือเคล็ดในการนับข้อให้ครบแปดข้อตามความหมายแปดประการคือ คาน แคน ยาก แค้น มั่ง มี ศรี สุข ถ้าได้ไม้ไผ่ที่มีข้อแปดข้อครบแปดประการดังกล่าวมาทำไม้คาน จะทำให้ผู้ใช้ทำมาหากินได้ดี อยู่เย็นเป็นสุข ไม้คานอาจทำจากไม้โมกมัน หรือไม้อื่นที่หาได้ในท้องถิ่นก็ได้ แต่ที่นิยมกันมากที่สุดคือ ไม้ไผ่ดังกล่าวแล้ว เมื่อเอามาผ่าซีก และเหลาให้เรียวงาม ช่วงกลางจะแบนใหญ่ ทำให้เวลาหาบจะไม่กดบ่ามาก ส่วนปลายเรียว และมีข้อไม้ไผ่แต่งไว้ให้นูนพองาม สำหรับแขวนหูสาแหรกไม่ให้หลุด ไปจากปลายคานทั้งสองข้าง เวลาหาบจะให้ด้านผิวไม้ไผ่อยู่ข้างล่าง ดังนั้นส่วนที่เป็นข้อไม้ไผ่ที่ปลายคานทั้งสองจะหงายขึ้นบนไว้ สำหรับกันไม่ให้หูสาแหรกหลุดไปจากปลายคาน ขณะหาบไม้คานจะอ่อนโค้งลงเล็กน้อย และเวลาเดินไม้คานจะเคลื่อนไหวขึ้นลงที่ปลายทั้งสองตามจังหวะการเดิน สำหรับสาแหรกนั้นทำจากหวายอย่างดี สานอย่างประณีตสวยงาม ส่วนมากจะใช้สาแหรกหกมุม ส่วนบนของสาแหรกจะรวบเป็นหู สำหรับสอดใส่ไม้คาน ส่วนล่างของสาเแหรกโดยทั่วไปมักใส่กระจาด ซึ่งสานด้วยไม้ไผ่อย่างประณีตสวยงามและแข็งแรง ใช้ใส่ของที่ต้องการนำไปด้วยการหาบได้ปริมาณมาก

ภาชนะสำหรับรองถ้วยชามใส่อาหารคาวหวาน มีหลายอย่างด้วยกันคือ โตก เป็นถาดทรงสูง มีหลายขนาด ทำด้วยไม้หรือหวายมีเชิงและขอบส่วนบน มีลวดลายสวยงาม ถาดทองเหลือง มีรูปทรงกลมใต้ถาดจะมีปุ่มสำหรับรองถาดอยู่สี่ปุ่ม มีลวดลายโปร่ง ตรงกลางถาดจะมีลวดลายสวยงาม ถาดกี๋ มีรูปทรงกลมทำด้วยอลูมิเนียมชุบโครเมียม พื้นถาดทำเป็นภาพดอกไม้ขนาดใหญ่สวยงาม มีขอบโปร่ง มีหูจับสองข้าง และมีปุ่มรองถาดสี่ปุ่ม ภาชนะใส่อาหารคาวหวาน เป็นเครื่องถ้วยธรรมดา แบบมีฝาปิด และเครื่องถ้วยเบญจรงค์แบบมีฝาปิด สำหรับถ้วยขนมหวานจะเป็นถ้วยแก้วรูปทรงต่าง ๆ มีฝาปิดเพื่อจะได้เห็นสีสันต่าง ๆ ของขนมหวานที่สวยงาม ขันหรือโถข้าว เป็นองค์ประกอบสำคัญของสำรับคาวหวานจะขาดเสียไม่ได้

สำหรับ การหาบสำรับนี้ ปัจจุบันเป็นประเพณีที่นิยมในการทำบุญวันสำคัญทางศาสนา และ มีในขบวนแห่นาคในทุกปี ของงานบุญเดือนสาม ของ อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางสาวกนลรัตน์ เก่งเขตรกรณ์

ภาพถ่าย / ภาพประกอบ โดย นางสาวกนลรัตน์ เก่งเขตรกรณ์