ประเพณีสารทเดือนสิบ

ความเป็นมา ประเพณีสารทเดือนสิบ

ประเพณีสารทเดือนสิบวิวัฒนาการมาจากประเพณีเปตพลีของพราหมณ์ ซึ่งลูกหลานจัดขึ้น เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ต่อมาพวกพราหมณ์จำนวนมากได้หันมานับถือพระพุทธศาสนาและยังถือปฏิบัติในประเพณีดังกล่าวอยู่ ประเพณีนี้มีคุณค่า เป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ นำความสุขใจให้แก่ผู้ปฏิบัติ ประเพณีสารทเดือนสิบมีมาตั้งแต่พุทธกาลคาดว่า เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแพร่เข้ามาในนครศรีธรรมราชจึงรับประเพณีนี้มาด้วย

บ้างก็ว่าเป็นความเชื่อของพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราช ที่เชื่อว่าบรรพบุรุษอันได้แก่ ปู่ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หากทำความชั่วจะตกนรกกลายเป็นเปรต ต้องทนทุกข์ทรมานในอเวจี ต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานอุทิศส่วนกุศลให้แต่ละปีมายังชีพ ดังนั้นในวันแรม ๑ ค่ำเดือนสิบ คนบาปทั้งหลายที่เรียกว่าเปรตจึงถูกปล่อยตัวกลับมายังโลกมนุษย์เพื่อมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง และจะกลับไปนรกในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ

ในโอกาสนี้เองลูกหลานและผู้ยังมีชีวิตอยู่จึงนำอาหารไปทำบุญที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที

วันเวลา จัดงาน

ช่วงเวลา ระยะเวลาของการประกอบพิธีสารทเดือนสิบมีขึ้นในวันแรม ๑ ค่ำถึงแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ แต่วันที่ชาวนครศรีธรรมราชนิยมทำบุญคือวันแรม ๑๓-๑๕ ค่ำ

ในส่วนของพิธีกรรม

พิธีกรรมของประเพณีสารทเดือนสิบ มีดังนี้

1. การจัดหฺมฺรับ

เริ่มในวันแรม ๑๓ ค่ำ ชาวบ้านจะเตรียมซื้ออาหารแห้ง พืชผักที่เก็บไว้ได้นาน ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และขนมที่เป็นสัญลักษณ์ของสารทเดือนสิบ จัดเตรียมใส่หฺมฺรับ

การจัดหฺมฺรับ คือ การบรรจุและประดับด้วยสิ่งของ อาหาร ขนมเดือนสิบลงในภาชนะที่เตรียมไว้ เช่น ถาด กาละมัง เข่ง กระเชอ เป็นต้น ชั้นล่างสุดบรรจุอาหารแห้ง ชั้นสองเป็นพืชผักที่เก็บไว้นาน ชั้นสามเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน ขั้นบนสุด ประดับขนมสัญลักษณ์เดือนสิบ ได้แก่ ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมแต่ละชนิดมีความหมายดังนี้

#ขนมลา เป็นเสมือนเสื้อผ้าที่ให้บรรพบุรุษใช้นุ่งห่ม

#ขนมพอง เป็นเสมือนแพที่ให้บรรพบุรุษข้ามห้วงมหรรณพ

#ขนมกง เป็นเสมือนเครื่องประดับ ใช้ตกแต่งร่างกาย

#ขนมบ้า เป็นเสมือนเมล็ดสะบ้า ไว้เล่นในวันตรุษสงกรานต์

#ขนมดีซำ เป็นเสมือนเงินตรา ไว้ให้ใช้สอย

2. การยกหฺมฺรับ

ในวันแรม ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ ชาวบ้านจะยกหฺมฺรับที่จัดเตรียมไว้ไปวัด และนำภัตตาหารไปถวายพระด้วย โดยเลือกไปวัดที่อยู่ใกล้บ้านหรือวัดที่บรรพบุรุษของตนนิยมไป

3.การฉลองหฺมฺรับและบังสุกุล

เมื่อนำหมฺรับไปวัดแล้ว จะมีการฉลองหฺมฺรับ และทำบุญเลี้ยงพระเสร็จแล้วจึงมีการบังสุกุล การทำบุญวันนี้เป็นการส่งบรรพบุรุษและญาติพี่น้องให้กลับไปยังเมืองนรก

4. การตั้งเปรต

เสร็จจากการฉลองหมฺรับและถวายภัตตาหารแล้ว ชาวบ้านจะนำขนมอีกส่วนหนึ่งไปวางไว้ตามบริเวณลานวัด ข้างกำแพงวัด โคนไม้ใหญ่ เรียกว่า ตั้งเปรต เพื่อแผ่ส่วนกุศลเป็นทานแก่ผู้ล่วงลับที่ไม่มีญาติ หรือญาติไม่มาร่วมทำบุญให้ การชิงเปรตจะทำตอนตั้งเปรตเสร็จแล้ว เพราะเชื่อว่าถ้าหากใครได้กินของเหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ จะได้รับกุศลเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง

บางวัดนิยมสร้างหลาเปรต เพื่อสะดวกแก่การตั้งเปรต บางวัดสร้างหลาเปรตไว้บนเสาสูงเพียงเสาเดียว เกลาและชะโลมน้ำมันเสาจนลื่น เมื่อเวลาชิงเปรตผู้ชนะคือผู้ที่สามารถปีนไปถึงหลาเปรตซึ่งต้องใช้ความพยายามอย่างมาก จึงสนุกสนานและตื่นเต้น

#สาระสำคัญของประเพณีนี้

1.เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ โดยรำลึกถึงคุณความดีของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

2.เป็นโอกาสได้รวมญาติที่อยู่ห่างไกลได้มาพบปะซักถามสารทุกข์สุกดิบต่อกันและได้โอกาสทำบุญร่วมกัน

3.เป็นการเก็บเสบียงอาหารมีทั้งพืชผักอาหารแห้ง อาหารสำเร็จรูปจัดนำไปถวายในรูปหมรับหรือสำรับ เพื่อที่ทางวัดจะได้เก็บรักษาไว้เป็นเสบียงสำหรับพระภิกษุสงฆ์ในฤดูฝน

4.เป็นการทำบุญในโอกาสที่ได้รับผลผลิตทางการเกษตรที่เริ่มออกผลเพราะเชื่อว่าเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

#ซึ่งในปีนี้วันรับตายายจะตรงกับวันที่ 17 กันยายน เป็นวันแรม1ค่ำ เดือน10

#ส่งตายายวันที่ 1ตุลาคม เป็นวันแรม 15ค่ำ เดือน10



ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางสาวกิตติยา ยุติมิตร ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดยนางสาวกิตติยา ยุติมิตร