มะม่วงเบา
มะม่วงเบาสิงหนคร .. อร่อยไม่เกี่ยงน้ำหนัก
แซวกันเล่นๆในหมู่นักเดินทางว่า หิ้วมะม่วงเบาขึ้นเครื่องบินสักกี่กิโลก็ย่อมได้ เพราะมะม่วงเบาไง? (ไม่มีน้ำหนัก)
ผลไม้ท้องถิ่นที่เคยเอามาปาหัวกันเล่น เพราะไม่มีราคา ทุกวันนี้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ นอกจากแพง แล้วใช่ว่าจะหาซื้อในจำนวนมากได้ง่าย ๆ หลังจากมะม่วงเบาแช่อิ่มกลายเป็นสินค้าของฝากชื่อดังจังหวัดสงขลา ทำรายได้ให้จังหวัดสงขลาหลักร้อยล้านบาทต่อปี
อำเภอสิงหนคร ปลูกมาก่อนใคร มีหลักฐานจากทวดต้นมะม่วงอายุร้อยกว่าปีอยู่ที่นี่ แหล่งปลูกมะม่วงเบาที่ดีที่สุดในประเทศไทย มีมะม่วงเบากว่า 2,000 ไร่ งอกงามบน ดินร่วนปนทรายมีแร่ธาตุสมบูรณ์ ของอากาศริมทะเล แดดดี แต่ไม่ร้อนไม่ชื้น จึงให้ผลผลิตมะม่วงเบา กลิ่นหอม รสเปรี้ยวกำลังดีที่ไม่เปรี้ยวจัดเกิน เนื้อกรอบ และเปลือกบาง แตกต่างจากมะม่วงเบาที่ปลูกพื้นที่อื่น ๆ
คำว่า “เบา” ในที่นี้ไม่เกี่ยวกับน้ำหนัก ภาษาเกษตรกรทางใต้ใช้เรียกพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตเร็วกว่าพันธุ์อื่นในตระกูลเดียวกัน อะไรก็แล้วแต่มีลักษณะดังกล่าวต่อท้ายด้วยคำว่าเบาทั้งนั้นไม่ว่า ข้าวเบา มะพร้าวเบา “ลูกม่วงเบา” หรือ มะม่วงเบาก็เช่นเดียวกัน เพราะปลูกง่ายได้ผลเร็ว จึงปลูกแทบทุกหัวกระไดบ้าน ปลูกง่ายด้วยเมล็ด กินเสร็จโยนๆทิ้งก็ขึ้น ต้นไม่สูงใช้พื้นที่ไม่มาก ออกดอกมาก ติดผลได้ตลอดปี มะม่วงขนาดผลเล็ก เปลือกสีเขียวอ่อน ออกเป็นช่อ
ยุคที่ยังไม่มีราคา คนที่มองเห็นเป็นเงิน ช่วงฤดูร้อนออกผลเยอะขายกันเป็นปี๊บราคาถูก ๆ ส่วนที่เจ้าของไม่สนใจปล่อยสุกเน่า ร่วงหล่นกองกับพื้นไร้ค่า
ทุกวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว สวนมะม่วงเบา ที่อำเภอสิงหนคร มีการปลูก รักษา ดูแล อย่างดี เกษตรกรเรียนรู้การดูแลมะม่วงอย่างจริงจังจนสามารถทำมะม่วงเบา ออกนอกฤดูได้ จึงมีมะม่วงเบาออกสู่ตลาดให้รับประทานได้ทั้งปี เพื่อให้ได้คุณภาพนิยมเก็บเมื่อมะม่วงยังดิบ ขนาด 20 ลูก ต่อ กิโลกรัมหรือ เท่าไข่ไก่เบอร์ 5
มะม่วงเบาที่ยังอ่อน ๆ ยังไม่เข้าเมล็ด เก็บมาจากต้น ก็พร้อมรับประทาน ไม่จำเป็นต้องปอกเปลือกล้างให้สะอาด หั่นชิ้นตามใจชอบ จิ้มกินกับเครื่องปรุงติดบ้าน น้ำตาลปี๊บ มันกุ้ง กะปิ เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วดำ ก็อร่อย คนเจเนเรชั่นใหม่นิยมกินมะม่วงเบากับน้ำปลาหวานสูตรละครบุพเพสันนิวาสก็ไม่ถือว่าผิด
มะม่วงเบา กรอบ ไม่เปรี้ยวจัด ติดกลิ่นหอมบาง ๆ จากเปลือกที่ตัดกับเครื่องจิ้มทุกชนิดขึ้นจมูกพอดิบพอดี ถ้าเจอต้นที่รสเปรี้ยวจี๊ด ก็ถือว่าอร่อยเข็ดฟันอีกแบบ
นอกจากกินดิบ ชาวบ้านนิยมนำมายำมะม่วงกับข้าวสูตรคนสงขลา ที่ไม่เหมือนใคร เริ่มจากสับมะม่วงเป็นเส้นเล็กๆ คลุกหัวหอมแดงซอย กุ้งแห้งทอด ใส่ลงไปในกะปิที่ตำกับพริกขี้หนูสวน น้ำตาลปี๊บ และเกลือ คลุกให้เข้ากันด้วยมะพร้าวคั่วหอมๆ ที่ต่างอย่างเห็นได้ชัดน่าจะเป็นมะพร้าวคั่วนั่นเอง
มะม่วงเบายังนำไปใช้แทนน้ำมะนาวหรือน้ำมะขามเปียกในอาหารหลายจาน ไม่ว่ามะม่วงดิบในน้ำพริก ข้าวคลุกกะปิ คนสงขลายังใส่มะม่วงเบาลงอาหารพื้นบ้าน ไม่ว่า ข้าวยำ ขนมจีนน้ำยา ข้าวราดแกงไตปลา
แกงส้มมะม่วงเบา ใช้เครื่องแกงส้มแบบใต้ ตำพริก หอมแดง พริก ขมิ้น เกลือป่น และกะปิ เข้าด้วยกัน ใส่ลงไปหม้อน้ำ ตั้งไฟจนเดือด ใส่มะม่วงเบาที่ผ่าเอาเม็ดออกและแช่น้ำเกลือกันดำมาแล้วลง รอจนเนื้อมะม่วงนิ่มแล้วค่อยใส่เนื้อสัตว์ ปลาหรือกุ้งลงไป ราดกินกับข้าวสวยร้อน ๆ ผลสุกรสเปรี้ยวอมหวานของมะม่วงเบา คนสมัยก่อนนำมากินเป็นกับข้าว เช่นเดียวกับผลไม้ อื่น เช่น แตงโม กล้วย
นอกจากกลิ่นและรสที่เป็นเอกลักษณ์ คุณค่าทางโภชนาการของมะม่วงเบามีทั้งวิตามินเอและวิตามินซี รวมทั้งเส้นใย และแร่ธาตุต่าง ๆ อย่างแคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินบีหนึ่ง บีสอง และไนอาซิน รวมทั้งยังมีสารเบต้าแคโรทีน ที่ช่วยบำรุงสายตา ช่วยผิวพรรณสดใสเปล่งปลั่ง
เนื่องจากความต้องการของตลาดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทางการส่งเสริม ชาวบ้านหันมาปลูกมะม่วงเบากันอย่างแพร่หลาย ผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการตลาด นอกจากบริโภคแบบเดิม ยังนำมาสร้างมูลค่าด้วยการแปรรูปได้หลากหลาย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้านนาออก อำเภอสิงหนคร ผลิตมะม่วงเบาแช่อิ่ม น้ำมะม่วงพร้อมดื่ม แยมมะม่วงสุก มะม่วงอบแห้ง และน้ำพริกมะม่วง เป็นต้น
มะม่วงเบาแช่อิ่ม กลายเป็นของฝากสงขลาที่โด่งดังที่สุดของยุคสมัยนี้ ขั้นตอนการผลิต ไม่ยุ่งยาก นำมะม่วงดิบที่ไม่แก่ ไม่แก่ไม่อ่อนเกินไป มาล้างด้วยน้ำเปล่า แล้วปาดหัวมะม่วงเพื่อให้น้ำยางไหลออก ปอกเปลือกให้เกลี้ยง นำไปล้างน้ำเปล่าอีกรอบ ผ่าครึ่งผล นำไปแช่น้ำเกลือ 1 คืน แล้วนำออกไปแช่น้ำปูนแดง 1 คืน แช่ในน้ำเชื่อมอีก 1 คืน รวม 3 คืนก็จะได้มะม่วงแช่อิ่มนำไปแพ็กใส่ถุง แช่ไว้ในตู้เย็นเก็บไว้ได้นาน มะม่วงเบามีเนื้อบางจึงทำให้รสหวานเค็มซึมเข้าง่ายเมื่อผสมกับรสเปรี้ยวหอมของตัวมันเอง ก็ยิ่งอร่อย
มะม่วงเบา 1 กิโลกรัม ปอกเปลือกแกะเมล็ดออกได้เนื้อ 500 กรัม นำมาแช่อิ่มขายได้กิโลกรัมละ 200 บาท นอกจากเนื้อ เมล็ดมะม่วงเบาที่เคยทิ้งเพราะรสฝาด ยังมีการนำมาแช่อิ่มตามสูตรแช่อิ่มมะขามป้อมก็ได้รับความนิยม
ทุกวันนี้ มะม่วงเบาแช่อิ่มเป็นที่รู้จัก มีการส่งไปจำหน่ายยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยเฉพาะร้านค้าในสนามบินนิยมวางขาย กลายเป็น สินค้าขายดีที่นักท่องเที่ยว ต้องถือติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝาก
สำนักงานเกษตรอำเภอสิงหนคร ส่งเสริมให้มะม่วงเบาเป็นพืชอัตลักษณ์สงขลา และเป็นพืช GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ปัจจุบันชาวสวนมะม่วงเบาสิงนคร มีการรวมกลุ่มเกษตรกร ทำเกษตรแบบปลอดภัย ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จากกรมวิชาการเกษตร มีการรวมกลุ่มแม่บ้าน นำมะม่วงเบาไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมการตลาด