รู้จักส้มจุก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Citrus reticulata Blanco
วงศ์
RUTACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
่ส้มจุก เป็นส้มในกลุ่มส้มเปลือกล่อนเช่นเดียวกับส้มโชกุน และส้มเขียวหวาน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างจากส้มชนิดอื่น คือบริเวณขั้วผลมีปุ่มยื่นออกมาคล้ายจุก ภาษาท้องถิ่นภาคใต้เรียกส้มชนิดนี้ว่า "ส้มแป้นหัวจุก" แหล่งปลูกดั้งเดิมอยู่ที่ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ตามประวัติที่เล่าสืบต่อกันมาส้มจุกมีการเพาะปลูกมาก่อน ปี พ.ศ. 2444 ซึ่งเป็นการเพาะปลูกของเกษตรกรรายย่อย ต่อมาเมื่อได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจึงมีการขยายพื้นที่ปลูกไปทุกตำบลในอำเภอจะนะ ในสมัยนั้นผลผลิตแพร่หลายไปสู่ผู้บริโภค ในภูมิภาคต่างๆ จากชื่อเสียงและรสชาดที่ดีของส้มจุกทำให้มีการขยายพื้นที่ปลูกไปยังแหล่งอื่นๆ
การขยายพันธุ์
การตอน/ การติดตา / การเพาะเมล็ด
การปลูก
วิธีปลูก : ไม่ว่าจะเป็นที่ลุ่มและพื้นที่ดอน ต้องมีการยกร่อง เพื่อให้ระบบรากระบายน้ำออกจากระบบรากอย่างรวดเร็ว
ระยะปลูก คือ ระยระหว่างแถว 5-6 ม. ระยะระหว่างต้น 4-5 ม. ขุดหลุมขนาด 50x50 ซม. รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกก่อนปลูก
การตัดแต่งและควบคุมทรงพุ่ม
เริ่มตั้งแต่เริ่มปลูก และตัดแต่งทรงพุ่มหลังการเก็บเกี่ยวทุกครั้ง เพื่อสร้างความสมบูรณ์ของต้น โดยตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค กิ่งกระโดง และกิ่งที่ทำมุมแคบกับลำต้น การจัดการทรงพุ่มของส้มมีผลในการลดต้นทุนการผลิต ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพสูง สะดวกต่อการจัดการดูแลรักษา
การให้ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักร่วมกับปุ๋ยเคมี 2-3 เดือนต่อครั้ง ตั้งแต่เริ่มปลูกพร้อมกับการฉีดพ่นปุ๋ยธาตุอาหารเสริมทางใบ โดยใส่ปุ๋ยเคมีในระยะต่างๆ ดังนี้
ช่วงการเจริญเติบโตก่อนการให้ผลผลิต หลังการเก็บเกี่ยวและตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15
ช่วงก่อนการออกดอก ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 หรือ 9-24-24
ช่วงก่อนการเก็บเกี่ยว 1 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 หรือ 0-0-50
การให้น้ำ
การให้น้ำสามารถทำได้หลายวิธีจะเลือกใช้วิธีการใดนั้นจะต้องพิจารณาจากลักษณะภูมิประเทศ คุณสมบัติของดิน ลักษณะของพื้นที่ วิธีการเพาะปลูก เงินค่าลงทุน ตลอดจนปริมาณของน้ำที่จะหาได้ในพื้นที่นั้นๆ
การเก็บเกี่ยว
ใช้กรรไกรตัดช่อผลแล้วจึงตัดก้านออกไม่ให้เหลือติดอยู่กับผล เพราะก้านผลที่เหลืออยู่อาจทิ่มแทงส้มจุกผลอื่นทำให้เกิดแผล
เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วควรใส่ในภาชนะที่ไม่ลึกมากนัก เพราะจะทำให้ส้มช้ำได้
แหล่งปลูก
สงขลา, สตูล, ประจวบคีรีขันธ์, กระบี่
ผลผลิต
เฉลี่ย 7,000 กิโลกรัม/ไร่/ปี