การประมงเป็นกิจกรรมพื้นฐานในทุกท้องถิ่น ประชาชนส่วนใหญ่ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้แหล่งน้ำในลุ่มน้ำโขงของประเทศไทย มีทักษะและประสบการณ์ถ่ายทอดการทำการประมงสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ มีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่พัฒนาและสืบสานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

แต่เดิมการประมงเป็นเพียงกิจกรรมหาอาหารเพื่อบริโภคกันภายในครัวเรือน เมื่อได้ผลผลิตมากก็แปรรูปและถนอมไว้ในรูปแบบของ ปลาร้า ปลาแห้ง ฯลฯ เพื่อบริโภคในยามขาดแคลนหรือใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้าประเภทอื่น ๆ ต่อเมื่อมีการพัฒนาเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพสามารถจับสัตว์น้ำได้คราวละมาก ๆ หรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่บางแห่งมีความอุดมสมบูรณ์มีผลผลิตสูง ประชาชนบางส่วนจึงยึดการประมงเป็นอาชีพและขยายกิจกรรมขึ้นเป็นลำดับส่วนใหญ่เป็นการประมงในน้ำหนองบึงและอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำตลอดปี

ข้าวกับปลาเป็นอาหารหลักของชนทุกกลุ่มในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หลักฐานที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของปลาที่มีผลต่อชีวิตมนุษย์สมัยโบราณคือภาพเขียนสีที่ผาแต้มซึ่งมีอายุราว 3000-4000 ปีอยู่ในอำเภอโขงเจียมจังหวัดอุบลราชธานี มีรูปปลาอยู่ร่วมกับสัตว์อื่น ๆ เช่น วัว ควาย ช้าง เต่า คน และรูปสัญลักษณ์อื่น ๆ

การประมงเป็นกิจกรรมพื้นฐานในทุกท้องถิ่นประชากรส่วนใหญ่ที่ตั้งถิ่นฐานใกล้แหล่งน้ำลุ่มแม่น้ำโขงของประเทศไทยมีทักษะและประสบการณ์ในการทำการประมง เมื่อประชากรในภูมิภาคเพิ่มขึ้นจำนวนของของชาวประมงก็เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปลาที่ชาวประมงนั้นจับได้จากการทำการประมงของแต่ละคนเริ่มลดลง นอกจากนั้นมีการแข่งขันทำให้เสียเวลาในการทำการประมงมากขึ้น ซึ่งบางครั้งก็ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการพัฒนาทางด้านการเลี้ยงสัตว์น้ำจนเป็นที่มั่นใจในกระบวนการผลิตซึ่งเป็นโอกาสและทางเลือกในการประกอบอาชีพที่ประชาชนและชาวประมงบางส่วนให้ความสนใจในการลงทุนดำเนินการและมีการพัฒนามาเป็นลำดับจนประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในลำในระดับโลก

นอกเหนือจากปัจจัยที่ทำให้ผลประกอบการของอาชีพประมงลดลงอันเนื่องมาจากความเพิ่มขึ้นของคู่แข่ง แล้ว ยังมีเรื่องของสภาวะความผันผวนของระดับน้ำที่ขึ้นลงอย่างฉับพลัน อันเป็นผลมาจากเขื่อน ยังทำให้ระบบนิเวศในแม่น้ำโขงอันเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำถูกทำลาย จนในที่สุดชาวประมงสองฝั่งโขงจะไม่มีปลาแม่น้ำโขงให้จับอีกต่อไป ภูมิภาคแม่น้ำโขงประสบกับสภาวะฝนแล้งมาตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2562 แล้ว สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้แม่น้ำโขงก็มีสภาพแห้งขอดผิดปกติแม้ในช่วงฤดูน้ำหลาก ส่งผลให้น้ำจากแม่น้ำโขงไม่เอ่อล้นเข้าไปยังลำน้ำสาขาดังเช่นทุกปี ทำให้ปลาแม่น้ำโขงไม่สามารถว่ายน้ำเข้าไปวางไข่ ขยายพันธุ์ในพื้นที่ชุ่มน้ำตามลำน้ำสาขาได้

แม้ว่าตอนนี้กรมประมงได้เข้ามาบรรเทาผลกระทบจากความเสียหายของทรัพยากรประมงในแม่น้ำโขง โดยการนำพันธุ์ปลามาปล่อยทดแทนลงในแม่น้ำโขงแล้วก็ตาม แต่นั่นยังเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

ด้วยเหตุนี้ชาวประมงจึงเรียกร้องให้รัฐบาลของทุกประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ยกเลิกแผนการสร้างเขื่อนใหม่บนแม่น้ำโขงทั้งหมด และร่วมกันฟื้นฟูระบบนิเวศของแม่น้ำเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรประมงในแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน