หากพูดถึงการศึกษาหรือการเรียนการสอน หลายท่านคงนึกถึงอาคารเรียน ห้องเรียนสี่เหลี่ยม มีโต๊ะเก้าอี้ กระดานดำ มีนักเรียน มีครูยืนสอนอยู่หน้ากระดาน มีเสียงเด็กท่องอาขยานเจื้อยแจ้ว เป็นบางช่วง แต่หลายท่านคงยังไม่เคยรู้ และไม่เคยเห็นการจัดการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่งที่มีครูมีนักเรียนเป็นองค์ประกอบเหมือนกัน ความแตกต่างจะอยู่ที่ไม่มีอาคาร ไม่มีห้องเรียน และไม่จำกัดอยู่ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง เพราะทุกๆที่คือห้องเรียน องค์ประกอบสำคัญที่เหมือนกันที่สุดคือเป้าหมายในการจัดการศึกษา และก็คือ การศึกษานอกโรงเรียน นั่นเอง

“พิมพ์มือยันป้าย อับอายไม่น้อย รู้ดีว่ามีปมด้อย เดินอ้อยส้อยน้ำตาไหลริน เขาเชิดเหมือนหุ่น ทารุณหัวใจไม่สิ้น เหตุเกิดอยู่เป็นอาจิณ อยากบินได้เหมือนนกกา บินไปไม่ได้ หนีอายไม่พ้น ต้องตายด้วยใจยับย่น กรรมเบื้องต้นที่เคยทำมา คิดว่าฟ้าใหม่ อำไพไฉไลเจิดจ้า ได้ครูผู้ที่อาสา สมดังว่า ที่เฝ้าคอยครู ”เนื้อเพลงที่บ่งบอกถึงคุณค่า และสภาพปัญหาการศึกษาของไทยได้อย่างชัดเจน ประเทศไทยในห้วงเวลานั้นมีผู้ไม่รู้หนังสืออยู่ค่อนประเทศ เนื้อเพลงทำให้เรามองเห็นภาพการศึกษาที่เรียกกันว่า การศึกษานอกโรงเรียนหรือการศึกษาผู้ใหญ่ แล้วแต่ว่าใครจะเรียกขานอย่างไร เนื้อเพลงที่สะท้อนให้เห็นคุณค่าทางการศึกษา คุณค่าของครูผู้สอน เนื้อหาของเพลงแต่ละเพลง คนแต่งล้วนบรรจงเรียงร้อยถ้อยคำมาจากสภาพความเป็นจริงของชีวิตและจิตวิญญาณของครู ที่มุ่งหวังให้ศิษย์ได้รับการศึกษา เป็นคนดี คนเก่งของสังคม และสะท้อนถึงความทุ่มเทในการทำหน้าที่ของครู และหากมองภาพลึกลงไปในเนื้อหาของเพลง ทุกท่านคงรู้แล้วว่า นักเรียนในเพลงนี้คือใครและครูในเพลงนี้คือใคร

บทเพลงที่เกี่ยวกับการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ปัจจุบันมีหลายๆท่านได้ประพันธ์ขึ้น ซึ่งล้วนแต่มีความไพเราะ กินใจ บ่งบอกความรัก ความทุ่มเทในงานของ กศน. ในบทความนี้อยากนำเสนอบทเพลงอีกบทเพลงหนึ่ง ที่ผู้ประพันธ์เพลงนี้ ท่านคงเป็นคนภาคอิสาน และผูกพันกับการศึกษานอกระบบ (การศึกษานอกโรงเรียน)เป็นอย่างยิ่ง จึงได้ประพันธ์เพลง คือกศน. เป็นจังหวะลำเต้ย มีเนื้อหาบ่งบอกถึงความรัก ความหวังดี ที่มีต่อศิษย์และการศึกษาไทย ในสมัยก่อนที่การศึกษานอกระบบยังไม่รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในสังคม และความยากลำบากของการเป็นครูอาสาสมัคร (สมัยนั้น) ที่ต้องเข้าถึงประชาชนทุกหัวระแหงในทุกรูปแบบ เพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักและให้ประชาชนได้มองเห็นคนความสำคัญการศึกษา ซึ่งแตกจ่างกับการจัดการศึกษาในระบบ อย่างสิ้นเชิง

เนื้อเพลง เต้ย กศน.“ศึกษานอกโรงเรียน (ซ้ำ)หัดอ่านหัดเขียนเล่าเรียนใฝ่หา อยากให้เรามีวิชา อยากให้เราพัฒนา ว่าเรานี่หนาเกิดมาเป็นคน ต้องหมั่นฝึกฝนเล่าเรียนวิชา เป็นคนไม่รู้หนังสือ (ซ้ำ)ผู้คนเขาลือว่าโง่หนักหนา ไม่มีอาชีพวิชา ไม่มีการพัฒนา จะไปทำมาหากินอะไร จะไปทางไหนก็อายผู้คน มาเรียนกันไว้ (ซ้ำ)เร็วๆไวๆมาเรียนกันก่อน การศึกษานอกโรงเรียนเขากะมาฮอดแล้ว แนวนั้นแม้นเจริญ นั้นละนานวลนา/ ละนานวลนา ศึกษาดีเขากะมีเงินใช้ ไปทางไดกะบ่มีทางย้าน ไปหางานทำกะดีแท้ ไปหางานทำกะดีแท้ (ซ้ำ) ดีแท้ ดีแท้...กะดีแท้ ”

บทเพลงที่นำเสนอข้างบน ๒ บทเพลง เป็นการขับร้องทำนองหมอลำทางภาคอิสาน ซึ่งเป็นการร้องต่อๆกันมา โดยไม่ทราบนามผู้แต่ง ต้องขอขอบพระคุณท่านผู้อำนวยการกศน.จังหวัดหนองคายนายปุณณพัฒน์ ศรีทาพุฒ ที่อนุญาตให้เผยแพร่ บทเพลงนี้ ผ่านบทความ ขอขอบพระคุณ นางนิรมล หนองเหล็ก ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย และผู้อำนวนการ กศน.อำเภอศรีเชียงใหม่ นางชลธิชา โคตรชมภู ที่อนุเคราะห์เนื้อเพลงมาให้เผยแพร่ เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นความภาคภูมิใจของชาวกศน. (ภาคอิสาน)ต่อไป