การสานสุ่มไก่

การสานสุ่มไก่ เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีการสืบทอดต่อๆกันมาจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน เป็นการ จักรสานวิถีไทย นับพันปีมาแล้ว ที่มนุษย์ได้ รู้จักวิธีการนำวัตถุดิบที่อยู่ใกล้ตัว มาดัดแปลงเป็นสิ่งของ เครื่องใช้ จากขั้นตอนที่ง่ายจนวิวัฒนาการสู่ความละเอียด อ่อน ประณีตงดงามในเชิงศิลปะและประโยชน์ใช้สอยจน สนองความต้องการได้เป็นอย่างดี และสืบทอดมาจนปัจจุบัน กรรมวิธีดังกล่าว ช่วยให้มนุษย์ได้ผลิตสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ไว้ เป็นจำนวนมาก เราเรียกสิ่งประดิษฐ์นั้นว่า “หัตถกรรม” อัน หมายถึง การสร้างสิ่งของเครื่องใช้ด้วยมือ เครื่องมือ ภูมิปัญญา เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน และถ้าสิ่งประดิษฐ์นั้นมีค่ามากกว่าการใช้สอย โดยรวมความงาม เน้นให้เห็นถึงการสร้างสรรค์ ประณีตงดงามเป็นความละเอียดอ่อนในทางศิลป เรามักเรียกสิ่งประดิษฐ์นั้นว่า “หัตถกรรมศิลป์ ” เครื่องจักสาน คือ เครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้ไผ่หรือหวาย จากฝีมือความคิด ภูมิปัญญาของชาวบ้านมีลักษณะรูปทรงแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศ วัสดุอุปกรณ์คตินิยม และอาชีพของคนในท้องถิ่นนั้นๆ คำว่า “ จักสาน” คำว่า จัก คือ การทำให้เป็นแฉก เป็นหยักๆ ด้วยฟันเลื่อย หรืออีกวิธีการหนึ่ง การที่ชาวบ้านใช้คมมีดผ่าไม้ไผ่แล้วทำให้เป็นเส้นบางๆ วิธีการอย่างนี้ก็เรียกว่า จัก เช่นกัน ส่วนไม้ไผ่ หรือ หวาย ที่จักออกมาเป็นเส้นบางๆ นั้นเรียกว่า ตอก ถึงตอนนี้การที่ชาวบ้านนำตอกมาขัดกันจนเกิดลวดลายที่ต้องการ เราเรียกว่า สาน ต่อจากนั้นแล้วก็จะเป็นการสร้างสรรค์ให้เกิดรูปทรงต่างๆ จนท้ายที่สุดเป็นภาชนะสามารถนำไปใช้สอยได้ตามต้องการ ความเป็นมาของการสานสุ่มไก่ ความเป็นมาของการทำสุ่มในหมู่บ้านมีชาวบ้านจำนวนมากที่ชื่นชอบและนิยมกีฬาชนไก่ จึงมีการเลี้ยงไก่ชนเป็นจำนวนมาก และอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเลี้ยงดูไก่ชนอย่างใกล้ชิดคือสุ่มไก่ ซึ่งสุ่มไก่นี้สานได้ง่าย มีราคาถูกและใช้ประโยชน์ได้ดี การสานสุ่มไก่นี้ได้สืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านานมากสืบทอดมาทั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ จึงได้มีการสานสุ่มสืบต่อกันมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันก็ได้สานสุ่มเป็นอาชีพ เพราะด้วยวัยที่มากขึ้นทุกวัน ไม่สามารถออกไปทำงานได้ จึงยึดอาชีพสานสุ่มไก่ขายเป็นหลัก

อุปกรณ์

1. ไม้ไผ่

2. มีดเหลา

3. มีดพร้า

4. เลื่อยคันธนู

5. ค้อน

วิธีทำ

1. การจักตอกไม้

- ใช้เลื่อยคันธนูเลื่อยตัดข้อปล้องแรกของไผ่ทิ้งเพื่อให้ผ่าลำไผ่ได้สะดวก

- ผ่าลำไผ่ออกมาเป็นเส้น ๆ

- จักตอกเส้นไผ่เป็นตอกยืน ตอกยาว และตอกไผ่ตีน (ส่วนข้อไผ่ที่มีตาไผ่) ความกว้างของตอกแต่ละแบบโดยประมาณ คือ ตอกยืน 1.3–1.7 ซม. ตอกยาว 0.8 ซม. และตอกไผ่ตีน 1.6–2.0 ซึ่งไผ่หนึ่งลำเหลาจักตอกได้ตอกยืนใช้สานสุ่มไก่ได้ 1 ใบ และตอกยาวสานสุ่มไก่ได้ 2 ใบ ส่วนที่เป็นข้อไผ่นำมาเหลาเป็นตะขอข้อไผ่หลักหมุดยึดหัวสุ่ม เพื่อไม่ให้สุ่ม ขยับเขยื้อนในขณะ สานขึ้นรูป

2. การสานสุ่มไก่

- เริ่มจากสานตอกยาวและตอกยืนเป็นหัวสุ่มแบบลายขัด

3. กระบวนการผลิต

- ใช้ค้อนตอกตะขอข้อไผ่หลักหมุดยึดหัวสุ่มบนพื้นดินลานกว้าง เพื่อยึดสุ่มไก่ ไว้ใน การสาน ขึ้นรูป

- ใช้ตอกยาวสานรอบ ๆ สุ่มไก่เพื่อขึ้นรูปแบบลายหนึ่ง (ยกหนึ่งข้ามหนึ่ง) โดยจุดเริ่มต้นของตอก ยาวแต่ละเส้นเปลี่ยน ตำแหน่งไปเรื่อย ๆ เพื่อให้สุ่มไก่ได้รูปทรงกลม

- สานตีนสุ่มไก่ โดยใช้ตอกไผ่ตีนประมาณ 5 เส้น

- ใช้เลื่อยคันธนูเลื่อยตัดส่วนตอกยืนที่ยื่นยาวตีนสุ่มไก่ทิ้งไป

อ้างอิงข้อมูลจาก : องค์การบริหารส่วนตำบลไทรเดี่ยว ( อบต.ไทรเดี่ยว )

อ้างอิงรูปภาพจาก : องค์การบริหารส่วนตำบลไทรเดี่ยว ( อบต.ไทรเดี่ยว )

นายหนูเรียม บริบูรณ์

สถานที่ตั้ง เลขที่ 23 หมู่ที่ 3 บ้านกุดโดน ตำบลไทรเดี่ยว อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว