อาชีวอนามัยและความปลอดภัย 

๒๐๐๐๑ – ๑๐๐๑ 

หน่วยที่ 3


โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย พระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๖๒ กำหนดให้ “โรคจากการประกอบอาชีพ” หมายความว่า โรคหรืออาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจากหรือเป็นผล เนื่องมาจากการทำงานหรือการประกอบอาชีพ “โรคจากสิ่งแวดล้อม” หมายความว่า โรคหรืออาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจากหรือเป็นผล เนื่องมาจากมลพิษ “มลพิษ” หมายความว่า ของเสีย วัตถุอันตราย สิ่งปนเปื้อน และมลสารอื่น ๆ รวมทั้งกาก ตะกอน หรือสิ่งตกค้างจากสิ่งเหล่านั้น ที่ถูกปล่อยทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ หรือที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อม ตามธรรมชาติซึ่งก่อให้เกิดหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือภาวะที่เป็นพิษภัย อันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ และให้หมายความรวมถึงรังสี ความร้อน แสง เสียง กลิ่น ความสั่นสะเทือน หรือเหตุอื่น ๆ ที่เกิดหรือถูกปล่อยออกจากแหล่งกำเนิดมลพิษด้วย

ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน และ กฏกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานบุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565 กำหนดให้จป.วิชาชีพมีหน้าที่ให้ความรู้ และอบรมด้านโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแก่ลูกจ้างก่อนเข้าทำงาน และระหว่างทำงาน เพื่อทบทวน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ดังนั้น เพื่อให้พนักงานทราบถึงการเกิดโรคและส่งเสริมสุขภาพอนามัยของพนักงานในสถานประกอบกิจการและปฏิบัติให้สอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนดจึง ควรอบรมหลักสูตร โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย

 

โรคจากการประกอบอาชีพ หมายความว่า ” โรคหรืออาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจากหรือเป็นผลเนื่องมาจากการทำงานหรือการประกอบอาชีพ “  มีอยู่ 5 โรค ดังต่อไปนี้

1. โรคจากตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่ว

2.โรคจากฝุ่นซิลิกา

3.โรคจากภาวะอับอากาศ

4.โรคจากแอสเบสตอส (ใยหิน) หรือโรคมะเร็งที่เกิดจากแอสเบสตอส (ใยหิน)

5. โรคหรืออาการสำคัญของพิษจากสารกำจัดศัตรูพืช

  

โรคจากสิ่งแวดล้อม หมายความว่า โรค หรือ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจากหรือเป็นผลเนื่องมาจากมลพิษ มีอยู่ 2 โรค ได้แก่

1. โรคจากตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่ว

2. โรคหรืออาการที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน

ซึ่ง พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 กำหนดไว้ว่า “ให้นายจ้างแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพแก่ลูกจ้าง” 

ถ้าหากเราเป็น จป.วิชาชีพ ต้องอบรมให้ความรู้ กับพนักงาน เราสามารถเอาหัวข้อที่นายจ้างต้องปฏิบัติมาอบรมให้กับพนักงาน เพื่อให้สามารถเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพตามข้อกำหนดข้างต้นได้

โรคจากการประกอบอาชีพ คืออะไร

โรคจากการประกอบอาชีพ (Occupational Disease) คือ ภาวะสุขภาพหรือความผิดปกติที่เกิดจากสภาพแวดล้อมในการทำงานหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น มะเร็ง ความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก ความเครียดหลังเกิดบาดแผล เป็นต้น

โดยทั่วไปภาวะสุขภาพหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่มีอาชีพคล้ายกันที่ได้รับสัมผัสที่มีความถี่สูงกว่าประชากรที่เหลือถือว่าเป็นโรคจากการทำงาน

 

โรคจากการทำงานเกิดจากอะไร

โรคจากการทำงานอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ

1. สารชีวภาพ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ปรสิต แมลง พืช นก สัตว์ หรือคน

2. สารเคมี เช่น เบอริลเลี่ยม ตะกั่ว เบนซีน ไอโซไซยาเนต

3. ปัญหาตามหลักการยศาสตร์  เช่น การเคลื่อนไหวซ้ำๆ การติดตั้งสถานีงาน แสงสว่างไม่เพียงพอ การออกแบบเครื่องมือที่ไม่เหมาะสม

4. ทางกายภาพ เช่น รังสีที่แตกตัวเป็นไอออน สนามแม่เหล็ก อุณหภูมิ เสียง ความสั่นสะเทือน

5.ปัญหาทางสังคม เช่น ความเครียด ความรุนแรง การกลั่นแกล้ง การล่วงละเมิด และการขาดการยอมรับ เป็นต้น

นอกจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่กำหนดการพัฒนาหรือความรุนแรงของโรคจากการทำงาน ได้แก่

1.ปริมาณการสัมผัสหรือปริมาณที่เข้าสู่ร่างกาย

2.ระยะเวลาในการสัมผัส

3.ความเป็นพิษของสารเคมี

4.การขับสารออกจากร่างกาย

5.ความไวในการรับสัมผัสส่วนบุคคล

6.ผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ การสัมผัสสารเคมีชนิดอื่น

ความรุนแรงของโรค ขึ้นอยู่กับการรับสัมผัสสารด้วยเช่นกัน โดยทั่วไป หากยิ่งรับสัมผัสเป็นเวลานาน และปริมาณความเข้มข้นที่สูง ความเสี่ยงหรือการพัฒนาของโรคต่อสุขภาพ ก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย

 

โรคจากการทำงานสามารถป้องกันได้อย่างไร

การป้องกันโรคจากการทำงานสามารถทำได้ เพื่อทำให้ผู้ปฏิบัติงานปลอดภัยจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในขณะที่ปฏิบัติงาน โดยสามารถป้องกันได้ ดังนี้

 

1.เรียนรู้อันตรายในสถานที่ทำงาน เพื่อหาวิธีป้องกันผู้ปฏิบัติงานจากอันตรายนั้น

2.นายจ้างควรพัฒนาระบบความปลอดภัย โปรแกรม ข้อกำหนด และขั้นตอนการทำงาน ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ทำงานไม่ให้เกิดการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย และลูกจ้างควรปฏิบัติตาม

3.สื่อสารความเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความเสี่ยงต่อพนักงาน ให้ข้อมูลที่เหมาะสม และอบรมให้ความรู้กับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้สามารถป้องกันตนเองจากอันตรายเบื้องต้นได้

4.ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เพื่อสอบสวนการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วย ที่มีลักษณะบ่งชี้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับการทำงาน  เช่น บอกกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพว่าทำงานที่ไหน ทำงานอะไร และเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใด เพื่อให้ทราบถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน

 

โรคจากการทำงานตาม ILO

ILO ได้กำหนดโรคจากการทำงานไว้ จำนวนมาก ซึ่งแบ่งตามสิ่งที่ทำให้เกิดโรค ดังต่อไปนี้

โรคจากการทำงานที่เกิดจากการสัมผัสที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการทำงาน

โรคที่เกิดจากสารเคมี 41 โรคซึ่งจะยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

1. โรคที่เกิดจากเบริลเลียมหรือสารประกอบ

2. โรคที่เกิดจากแคดเมี่ยมหรือสารประกอบ

3. โรคที่เกิดจากฟอสฟอรัสหรือสารประกอบ

4. โรคที่เกิดจากแมงกานีสหรือสารประกอบ

5. โรคที่เกิดจากตะกั่วหรือสารประกอบ

6. โรคที่เกิดจากปรอทหรือสารประกอบ

7. โรคที่เกิดจากสารหนูหรือสารประกอบ

8. โรคที่เกิดจากฟลูออรีนหรือสารประกอบ

9. โรคที่เกิดจากคาร์บอนไดซัลไฟด์

10.โรคที่เกิดจากเฮกเซนและโรคอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก

 

 โรคที่เกิดจากกายภาพ 7 โรค ได้แก่

1. ความบกพร่องทางการได้ยินที่เกิดจากเสียง

2. โรคที่เกิดจากการสั่นสะเทือน ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ หลอดเลือดหรือเส้นประสาท

3. โรคที่เกิดจากอากาศอัด

4. โรคที่เกิดจากรังสี

5. โรคที่เกิดจากแสง (อัลตราไวโอเลต แสงที่มองเห็นได้ อินฟราเรด) รวมทั้งเลเซอร์

6. โรคที่เกิดจากการสัมผัสอุณหภูมิที่สูงเกินไป

7. โรคที่เกิดจากสารทางกายภาพอื่นๆ ในที่ทำงานที่ไม่ได้กล่าวถึง ตามข้างต้น

 

สารชีวภาพและโรคติดเชื้อหรือปรสิต 9 โรคได้แก่

1. บรูเซลโลซิส

2. ไวรัสตับอักเสบ

3. ไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องของมนุษย์

4. บาดทะยัก

5. วัณโรค

6. กลุ่มอาการที่เป็นพิษหรืออักเสบที่เกี่ยวข้องกับสารปนเปื้อนจากแบคทีเรียหรือเชื้อรา

7. โรคแอนแทรกซ์

8. โรคฉี่หนู

9. โรคที่เกิดจากสารชีวภาพอื่นๆ ในที่ทำงาน ที่ไม่ได้กล่าวถึง

โรคจากการทำงานตามระบบอวัยวะเป้าหมาย

โรคระบบทางเดินหายใจ 12 โรค เช่น

1. โรคปอดบวมที่เกิดจากฝุ่นแร่ไฟโบรเจนิค (ซิลิโคซิส แอนทราโคซิลิโคซิส ใยหิน)

2. วัณโรคซิลิโคทูเบอร์คูโลสิส

3. โรคปอดบวมที่เกิดจากฝุ่นแร่ที่ไม่ใช่ไฟโบรเจนิค

4. ไซด์โรซิส

โรคผิวหนัง

โรคผิวหนัง 4 โรค ได้แก่

1. ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสและลมพิษที่เกิดจากการแพ้ จากกิจกรรมการทำงาน

2. การระคายเคืองผิวหนังที่เกิดจากกิจกรรมการทำงาน

3. โรคด่างขาวที่เกิดจากกิจกรรมการทำงาน

4. ไม่รวมโรคผิวหนังอื่นๆ ที่เกิดจากสารทางกายภาพ เคมี หรือชีวภาพในที่ทำงาน

ความผิดปกติของกล้ามเนื้อและกระดูก 8 โรคเช่น

1. Radial styloid tenosynovitis เนื่องจากการเคลื่อนไหวซ้ำๆ ออกแรงอย่างหนัก บริเวณข้อมือ

2. โรคเอ็นอักเสบเรื้อรังและข้อมือ เนื่องจากการเคลื่อนไหวซ้ำๆ

3. Olecranon bursitis เนื่องจากแรงกดบริเวณข้อศอกเป็นเวลานาน

4. Prepatellar bursitis เนื่องจากอยู่ในท่าคุกเข่าเป็นเวลานาน

ความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรม 2 โรค

1. ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง

2. ความผิดปกติทางจิตหรือพฤติกรรมอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึง ที่เกิดจากการสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากกิจกรรมการทำงาน

มะเร็งจากการทำงาน

มะเร็งที่เกิดจาก 21 สารตัวอย่างเช่น

1. แอสเบสตอส

2. เบนซิน

3. โครเมี่ยม 6

4. ไวนิล คลอไรด์

5. ส่วนประกอบนิคเกิล

6. แคดเมี่ยมและสารประกอบ

5.โรคอื่นๆ เช่น โรคของคนงานเหมือง

ซึ่งหากต้องการทราบรายชื่อโรคจากการทำงานทั้งหมด ตาม ILO สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก ILO List of  Occupational Disease

  

หัวข้อการสอนเกี่ยวกับโรคจากการประกอบอาชีพ

1. สาเหตุของการเกิดโรคจากการทำงาน

2. ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคจากการทำงาน

3. การควบคุมโรคจากการทำงาน

4.การเฝ้าระวังโรคจากการทำงาน โดยการตรวจวัดสิ่งแวดล้อม และ การตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง

5. ความสำคัญของการสวมใส่อุปกรณ์ PPE ตลอดระยะทำงานเพื่อป้องกันโรคจากการทำงาน

 สรุป

จป วิชาชีพ ที่จะสอนคนงานเกี่ยวกับโรคจากการทำงานตามกฎหมายใหม่ก่อนเริ่มงาน และ ระหว่างทำงานนั้นจะต้องทำการประเมินความเสี่ยงเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้พนักงานในบริษัทของเราเกิดโรคจากการทำงาน การตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงถือเป็นอีกวิธีที่จะช่วยติดตาม (Monitoring) สุขภาพของพนักงานที่มีแนวโน้มจะเกิดโรคจากการทำงานได้