แผนกเวชศาสตร์นิวเคลียร์

การแพทย์ที่เกี่ยวกับรังสีวิทยา มี 3 สาขาย่อย คือรังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์

เวชศาสตร์นิวเคลียร์เป็นหนึ่งในสาขาของรังสีวิทยา ที่เกี่ยวกับการนำสารกัมมันตรังสีมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรค

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับการตรวจจากแพทย์สาขาอื่นมาก่อนแล้ว และต้องการการวินิจฉัยหรือรักษาเพิ่มเติม จึงถูกส่งต่อมาที่แผนกเวชศาสตร์นิวเคลียร์

ความแตกต่างระหว่างการตรวจทางรังสีวินิจฉัย และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ มีดังนี้

1. เครื่องมือการตรวจของรังสีวินิจฉัย มักจะให้เป็นเครื่องที่ให้กำเนิดรังสี อาทิ เอ็กซเรย์ หรือเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซึ่งให้รังสีเอ็กซ์) โดยขณะตรวจผู้ป่วยจะได้รับรังสีที่ออกมาจากตัวเครื่อง หลังจากนั้นจะใช้ฟิล์มหรืออุปกรณ์ตรวจรับรังสีเพื่อรับรังสีส่วนที่เหลือที่ออกมาจากตัวผู้ป่วย แล้วนำฟิล์มหรือภาพที่ได้มาแปลผล, ส่วนการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ต้องให้ผู้ป่วยรับสารกัมมันตรังสีเข้าไป ด้วยการกิน ฉีด หรือสูดดม (ถ้าใช้ทางการแพทย์ จะเรียกสารกัมมันตรังสีอีกอย่างว่า สารเภสัชรังสี) เมื่อผู้ป่วยได้รับสารเภสัชรังสีแต่ละชนิดเข้าไป สารจะเข้าไปจับตามอวัยวะต่างๆที่เราต้องการตรวจ แล้วแผ่รังสีออกมา รังสีส่วนใหญ่เป็นรังสีแกมมา(gamma ray, γ-ray) เครื่องมือตรวจจึงเรียก Gamma camera ซึ่งมีทั้งชนิดที่ตรวจได้แบบ 2 มิติ (planar) และ 3 มิติ (SPECT, Single Photon Emission Computed Tomography) ปัจจุบันมีการใช้สารเภสัชรังสีชนิดใหม่ที่ให้รังสีโพซิตรอน (positron, β+) ซึ่งเครื่องมือตรวจต้องเป็นเครื่องมือชนิดที่รับรังสีโพซิตรอนได้ เรียกว่า PET scan (Positron Emission Tomography)

2. การตรวจของรังสีวินิจฉัยให้ภาพทางกายวิภาคที่คมชัด (anatomy) แต่อาจไม่สามารถประเมินการทำหน้าที่ของอวัยวะนั้นๆได้, ส่วนการตรวจของเวชศาสตร์นิวเคลียร์ช่วยบอกการทำงานและสรีรวิทยาของอวัยวะได้ดี (function and physiology) โดยที่อาจให้ภาพทางกายวิภาคไม่ชัดเจน

3. การส่งตรวจของรังสีวินิจฉัยมักจะต้องระบุส่วนของการตรวจ เช่น เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ส่วนท้อง ซึ่งเราจะได้ภาพที่ประกอบด้วยอวัยวะทุกอย่างในช่องท้อง อาทิ ตับ ไต ม้าม ลำไส้, ส่วนการตรวจของเวชศาสตร์นิวเคลียร์จะต้องระบุชื่ออวัยวะส่วนที่ต้องการตรวจ เช่น สแกนกระดูก (bone scan) เราจะได้ภาพกระดูกของผู้ป่วย โดยแทบจะไม่มีอวัยวะอื่นมาปะปน และเห็นเป็นภาพกระดูกทั้งตัว

จะเห็นได้ว่าการตรวจทั้งสองอย่างมีข้อดีข้อเสีย และประโยชน์ต่างกัน ดังนั้นการส่งตรวจจึงขึ้นกับแพทย์เป็นผู้พิจารณาว่าต้องการข้อมูลใดที่จะเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาผู้ป่วยแต่ละราย

ตัวอย่างภาพ bone scan

สารเภสัชรังสี (Radiopharmaceutical)

มักอยู่ในรูปของเหลว ประกอบด้วยสารกัมมันตรังสี (radionuclide หรือ radioisotope) ติดฉลากกับสารเภสัช/ยา (pharmaceutical) โดยเมื่อกินหรือฉีดสารเภสัชรังสีเข้าไปในผู้ป่วย สารเภสัชจะทำหน้าที่พาสารกัมมันตรังสีไปตามอวัยวะต่างๆ ที่แพทย์ต้องการตรวจ

สารเภสัชรังสีที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัย เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายจะไม่มีผลต่อองค์ประกอบใดๆ ของร่างกาย ไม่มีพิษต่อตับ ไต หรืออวัยวะอื่นๆ ปัจจุบันยังไม่มีรายงานการแพ้สารเภสัชรังสี แม้ผู้ป่วยจะมีประวัติโรคภูมิแพ้ เคยแพ้ไอโอดีนหรือแพ้สารทึบรังสีที่ใช้ในการตรวจทางเอ็กซเรย์ก็ยังสามารถรับการฉีดสารเภสัชรังสีได้อย่างปลอดภัย

ข้อห้ามอย่างเดียวในการตรวจคือ หญิงตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบต่อทารกในครรภ์อย่างชัดเจน

สารเภสัชรังสีที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัย ให้ปริมาณรังสีน้อย และเข้าไปจับค่อนข้างจำเพาะเจาะจงต่ออวัยวะที่ต้องการตรวจ (organ specific) ทำให้อวัยวะข้างเคียงอื่นๆ ได้รับรังสีน้อยมาก

นอกจากนี้กัมมันตรังสียังเป็นไอโซโทป มีคุณสมบัติพิเศษคือมีค่าครึ่งชีวิต (half-life) นั่นหมายถึง ปริมาณรังสีที่ฉีดเข้าไปจะลดน้อยลงไปเองตามธรรมชาติ รวมถึงการขับถ่ายของผู้ป่วยก็ช่วยให้รังสีหมดไปเร็วขึ้นด้วย

สารเภสัชรังสีที่บรรจุในกระบอกฉีดยา แล้วบรรจุลงกระบอกตะกั่วเพื่อป้องกันรังสี

การให้บริการของแผนกเวชศาสตร์นิวเคลียร์ กองรังสีกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เริ่มมานานกว่า 40 ปี และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันการให้บริการ แบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ดังนี้

1. การตรวจวินิจฉัย แบ่งตามชนิดเครื่องมือที่ใช้ คือ

1.1 SPECT (Single Photon Emission Computed Tomography) ชนิด 2 หัวตรวจ เรียก Dual-Detector SPECT ซึ่งมีให้บริการ 2 เครื่อง ใช้ตรวจสแกนหลายชนิด อาทิ

- การตรวจสแกนกระดูก (bone scan)

- การตรวจสแกนไทรอยด์ (thyroid scan)

- การตรวจสแกนการทำงานของไต (renal scan)

- การตรวจสแกนหัวใจ ชนิด Myocardial perfusion scan และ Multigated blood pool scan (MUGA)

- การตรวจสแกนพาราไทรอยด์ (parathyroid scan)

- การตรวจสแกนปอด (ventilation and perfusion lung scan)

ฯลฯ

1.2 Thyroid uptake ใช้ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ ส่วนใหญ่ใช้ในกรณีที่สงสัยต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือไทรอยด์อักเสบ

เครื่อง Dual-Detector SPECT

1. การรักษา

ดังได้กล่าวข้างต้นว่า เวชศาสตร์นิวเคลียร์มีการรักษาโรคด้วยสารกัมมันตรังสี ซึ่งได้ผลดีและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้น้ำแร่ไอโอดีนรังสี (I-131)

น้ำแร่ไอโอดีนรังสี (I-131, Iodine-131, radioactive iodine หรือ radioiodine)

น้ำแร่ไอโอดีนรังสีใช้ในการรักษาโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษและมะเร็งไทรอยด์มานานกว่าครึ่งศตวรรษ เป็นกัมมันตรังสีที่ให้ทั้งรังสีบีตา (beta ray, β-) เพื่อลดการทำงานของต่อมไทรอยด์ในโรคไทรอยด์เป็นพิษ และทำลายเซลล์มะเร็งในโรคมะเร็งไทรอยด์ กับให้รังสีแกมมา (gamma ray) เพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรคของไทรอยด์ด้วย gamma camera

รูปแบบบรรจุของน้ำแร่ไอโอดีนรังสีมี 2 แบบ คือ

- ชนิดน้ำ เป็นของเหลวใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรสชาติ และไม่ร้อน/เย็น

- ชนิดเม็ดแคปซูล

โดยทั้งสองแบบให้ผลในการรักษาและการวินิจฉัยไม่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ยังมีการให้การรักษาอื่นด้วยกัมมันตรังสีชนิดอื่น เช่น การรักษาบรรเทาความเจ็บปวดจากมะเร็งที่แพร่กระจายไปกระดูก (palliative therapy for metastatic bone cancer pain) ด้วย Samarium-153

น้ำแร่ไอโอดีนรังสีชนิดเม็ดแคปซูล และถังตะกั่วที่ใช้บรรจุ

1. การตรวจความหนาแน่นกระดูก

แผนกเวชศาสตร์นิวเคลียร์ให้บริการการตรวจความหนาแน่นกระดูก หรือมวลกระดูกด้วยเครื่อง DXA (Dual energy x-ray absorptiometry) ซึ่งมี 2 เครื่อง การตรวจความหนาแน่นกระดูกในสมัยก่อนเคยใช้สารกัมมันตรังสี แม้ปัจจุบันเครื่องมือถูกพัฒนาเป็นเครื่องที่ตรวจโดยใช้รังสีเอ็กซ์ (X-ray) แผนกเวชศาสตร์นิวเคลียร์ก็ยังคงให้บริการต่อมาจนถึงปัจจุบัน

เครื่องตรวจความหนาแน่นกระดูกชนิด DXA

1. บริการอื่นๆ

- อัลตร้าซาวด์ต่อมไทรอยด์และต่อมพาราไทรอยด์ เพื่อประกอบการตรวจการสแกนไทรอยด์และพาราไทรอยด์ตามลำดับ

- ติดตามการรักษาผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษและมะเร็งไทรอยด์ หลังได้รับการรักษาด้วยน้ำแร่ไอโอดีนรังสี

เวลาเปิดทำการ

- ในเวลาราชการ วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น.

- นอกเวลาราชการ วันจันทร์, วันอังคาร และวันพฤหัสบดี เวลา 16.00 – 19.30 น.

*หมายเหตุ วันหยุดยังไม่เปิดบริการ

ที่ตั้ง แผนกเวชศาสตร์นิวเคลียร์ กองรังสีกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อาคารเวชศาสตร์นิวเคลียร์

โทรศัพท์ 02-3547660 ต่อ 93197

โทรศัพท์สายตรงและโทรสาร 02-3547632