พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี


วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี 

๓ มิถุนายน 

ความสำคัญ

วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ตรงกับวันที่ 3 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 3 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เป็นวันหยุดราชการประจำปี ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอ 

พระราชประวัติ 

สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2521ณ ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีพระนามเดิมว่า สุทิดา ติดใจ เป็นธิดาของคำ ติดใจ กับคุณหญิงจั่งเฮียง ติดใจครอบครัวของพระองค์เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ทรงเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา จากนั้นจึงทรงเข้าศึกษาระดับปวช.(เทียบเท่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย) ที่พณิชยการพระนคร ต่อมาได้ทรงศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต ณ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จนจบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2543 และทรงเข้าเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท แจลเวย์ จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2546 และทรงเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อปี พ.ศ. 2546 - พ.ศ. 2551 

การรับราชการ 

ทรงดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอกพิเศษ) ทั้งยังทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรง พระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นราชองครักษ์เวรในพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ 

การปฏิบัติหน้าที่ในราชการทหาร 

ย้อนกลับไปในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557 สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ (ในเวลานั้นคือพลเอกหญิงสุทิดา วชิราลงกรณ์) ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในพิธีพระราชทานธงชัยเฉลิมพล

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ได้ตามเสด็จในพิธีสังเวยพระป้ายในเทศกาลตรุษจีน ณ พระที่นั่งอัมพรสถานฯ และปรากฏตัวอีกครั้งในวันประสูติพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ในปีเดียวกัน

ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ทางกองพระราชพิธี สำนักพระราชวังได้เผยแพร่รายงานการเสด็จพระราชดำเนินที่พระองค์ได้ตามเสด็จพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติไปทอดพระเนตรพระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพลเอกหญิงสุทิดา วชิราลงกรณ์ ได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเพิ่มเติมเป็น วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา (มีหมายกำหนดการระบุชื่อสกุลดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีเดียวกัน) 

วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะที่ยังทรงเป็นสยามมกุฎราชกุมาร พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชพิธีถวายน้ำสรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ต่อมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 พระองค์ทรงนำทำการแสดงทางทหารประกอบดนตรี "ราชวัลลภ เริงระบำ” (Hop to the Bodies Slams) ในงานวันราชวัลลภได้อย่างสง่างามและเข้มแข็ง ในฐานะผู้บังคับการกองผสม

วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2560 มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจตุลจอมเกล้า (ฝ่ายใน) ให้แก่ พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา อีกทั้งได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเพิ่มเติมเป็น ท่านผู้หญิงสุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา 

สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชินีสุทิดา 

วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต จึงทรงได้รับการสถาปนาเป็น "สมเด็จ พระราชินีสุทิดา” ทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

"สมเด็จพระราชินี” องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี

หากไล่เรียงรายพระนาม "สมเด็จพระบรมราชินี” แห่งราชวงศ์จักรีไทย พบว่า "สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี” ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมราชินีองค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี โดยมีรายพระนามสมเด็จพระราชินีทั้งหมด ได้แก่

- สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 1

- สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 2

- สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 4

- สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 6

- สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7

- สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 9

- สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 10

(*หมายเหตุ: ผู้ที่จะได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็น "สมเด็จพระราชินี” คือ พระอัครมเหสีในพระมหากษัตริย์ยังไม่ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และหากพระมหากษัตริย์ทรงผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ก็สามารถสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีขึ้นเป็น "สมเด็จพระบรมราชินี” ได้) 

ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยราชการในพระองค์ 

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมการบังคับบัญชาหน่วยราชการในพระองค์ ข้าราชการและข้าราชบริพารในกรมกิจการในพระบรมวงศานุวงศ์ ขึ้นตรงกับ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป โดยพระองค์เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการปฏิบัติราชการ ดังนี้

- กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

- กองราชสำนักสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

- กองศิลปาชีพ

- สถาบันสิริกิติ์

- มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

- นางสนองพระโอษฐ์และคุณข้าหลวงในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 


เอกสารอ้างอิง 

- พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี. เข้าถึงได้จากhttps://www.bangkokbiznews.com/news/detail/883336. 22 มิถุนายน 2564

- ราชกิจกจานุเบกษา"ประกาศสำนักนายกรัฐ.” เข้าถึงได้จาก. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/ DATA/PDF/2562/E/122/T_0001.PDF, 22 มิถุนายน 2564

- "สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี.” เข้าถึงได้จาก th.wikipedia.org/wiki.

22 มิถุนายน 2564

- รวมพระราชกรณียกิจสำคัญๆ ที่ผ่านมา ของ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี. เข้าถึงได้จาก. https://th.hellomagazine.com/royalty/queen-suthida-activities/. 22 มิถุนายน 2564 

พระราชกรณียกิจ