ระบบความเชื่อในสังคมไทยนั้น ล้วนแล้วเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่สภาพแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรมที่ผู้คนเหล่านั้นอาศัยอยู่ทั้งสิ้น อาทิ ความเชื่อเกี่ยวกับการโกนผมลูกน้อย ความเชื่อเกี่ยวกับการจับชายผ้าเหลือง(บวชพระ)ของพ่อแม่ที่หวังจะได้ขึ้นสวรรค์จากการบวชลูกชายหรือแม้กระทั่งความเชื่อหลังความตาย อาทิ การกรวดน้ำหลังทำบุญเพื่อให้ผลบุญไปถึงผู้ที่ต้องการอุทิศส่วนกุศลให้ก็ตาม นอกจากนั้นแล้วมนุษย์เรายังมีความเชื่อเกี่ยวกับการไหว้ โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย คนไทยจะแสดงออกถึงความเคารพผ่านการกราบไหว้ แก่ผู้อาวุโสหรือผู้ที่ตนเองเคารพรัก แม้กระทั่งการกราบไหว้สิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งเชื่อว่าสิ่งเหนือธรรมชาติเหล่านั้นมีอำนาจดลบันดาลต่อการดำเนินชีวิตความเชื่อเหล่านี้สืบทอดจาดรุ่นสู่รุ่น เช่นเดียวกับผู้คนในชุมชนอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ที่มีความเชื่อเกี่ยวกับการสักการบูชาเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทองหรือนายพรานกระต่ายทองที่ชาวตำบลพรานกระต่ายเชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดผู้ก่อให้เกิดชุมชนพรานกระต่ายแห่งนี้ แม้ว่าเวลาและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์จะเข้ามามีส่วนในชีวิตของมนุษย์เรา ความรักความศรัทธาของผู้คนที่มีต่อพ่อพรานกระต่ายก็ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่จนถึงปัจจุบัน

ประวัติของพ่อพรานกระต่าย

พรานกระต่ายเป็นชื่ออำเภอหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร อำเภอพรานกระต่ายตั้งอยู่ทางเหนือของจังหวัด มีฐานะเป็นอำเภอตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยได้รับจัดตั้งขึ้นเป็นอำเภอในปี 2438 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการปกครองของจังหวัดกำแพงเพชร ชื่ออำเภอ “พรานกระต่าย” มีประวัติความเป็นมาจากตำนานเล่าขานจากรุ่นสู่รุ่นว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.1420 เมืองพรานกระต่ายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองบางพาน มีมหาพุทธสาครเป็นกษัตริย์ ซึ่งตัวเมืองตั้งอยู่ห่างจากอำเภอปัจจุบันไปทางทิศใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร เมืองบางพานในสมัยนั้นเจริญรุ่งเรืองมาก เพราะตั้งอยู่ในที่ราบลำน้ำใหญ่ไหลผ่านมาจากจังหวัดสุโขทัยจนถึงจังหวัดกำแพงเพชร เส้นทางดังกล่าวจึงกลายเป็นเส้นทางคมนาคมที่คึกคักและอุดมสมบูรณ์ เมื่อมีความอุดมสมบูรณ์จึงมีบ้านเรือนตั้งอาศัยอยู่ริมแม่น้ำทั้ง 2 ฝั่ง ปัจจุบันเราสามารถพบเห็นซากเมืองโบราณเก่าแก่และทรุดโทรมตามริมน้ำ เช่น วัดโคก บ้านวังไม้พานและบ้านจำปีจำปา เป็นต้น สัญลักษณ์แห่งความเจริญสูงสุดก็คือ การสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองสัมฤทธิ์ไว้ที่เขานางทอง “นางทอง” เป็นชื่อที่ได้อัญเชิญมาจากมเหสีของพระร่วง นอกจากเส้นทางน้ำที่ไหลผ่านตัวจังหวัดสุโขทัย สู่อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชรนี้แล้วนั้น ยังมีถนนที่ใช้ในการเดินทางจากสุโขทัยผ่านอำเภอพรานกระต่ายจนมาถึงจังหวัดกำแพงเพชร ในสมัยนั้นเรียกว่า “ถนนพระร่วง”

กล่าวกันว่าในช่วงประมาณปี พ.ศ.1800 พระร่วงได้ครองเมืองสุโขทัยและทรงมีนโยบายขยายอาณาเขตให้กว้างขวางและมั่นคง จึงดำริที่จะสร้างเมืองหน้าด่านขึ้น จึงรับสั่งให้นายพรานผู้ชำนาญเดินป่าออกสำรวจเส้นทางและชัยภูมิที่มีลักษณะดีเหมาะสำหรับสร้างเป็นเมืองหน้าด่าน กลุ่มนายพรานจึงได้กระจายกันออกไปเพื่อสำรวจเส้นทางต่างๆ จนกระทั่งหนึ่งในนายพรานของพระร่วงมาถึงบริเวณ(อำเภอพรานกระต่ายในปัจจุบัน)แห่งหนึ่ง ได้พบกระต่ายป่าขนสีเหลืองเปล่งปลั่งคล้ายสีทองสวยงามมาก นายพรานคนนั้นจึงกลับไปกราบ ถวายบังคมทูลขอพระราชานุญาตจากพระร่วงเจ้า เพื่อจะกลับมาจับกระต่ายขนสีทองตัวนั้นมาถวายเป็นราชบรรณาการถวายแด่พระมเหสีของพระร่วง เมื่อกราบบังคมทูลขอพระราชานุญาตเรียบร้อยแล้ว นายพรานคนนั้นจึงกลับไปจับกระต่ายป่าตัวดังกล่าว ณ บริเวณที่พบกระต่าย นายพรานใช้ความพยายามทุกวิถีทางเพื่อดักจับกระต่ายตัวนั้นหลายครั้ง แต่กระต่ายยังสามารถหลบหนีไปได้ทุกครั้ง ด้วยความมุมานะที่จะจับกระต่ายขนสีทองเพื่อเป็นเครื่องบรรณาการแก่พระมเหสีของพระร่วงให้ได้นั้น นายพรานจึงชักชวนเพื่อนฝูงนายพรานด้วยกันมาช่วยกันจับกระต่าย เมื่อเวลาผ่านไปกลุ่มนายพรานก็ยังไม่สามารถที่จะจับกระต่ายตัวนั้นได้ นายพรานเหล่านั้นจึงอพยพพี่น้อง ลูกหลานและกลุ่มเพื่อนฝูงมาสร้างบ้านถาวรขึ้นเพื่อหวังที่จะจับกระต่าย ขนสีทองตัวดังกล่าวให้ได้ จนครั้งหนึ่งกระต่ายขนสีทองตัวนั้นได้หลบหนีเข้าไปภายในถ้ำซึ่งหน้าถ้ำมีขนาดเล็ก เล็กจนนายพรานไม่สามารถจะตามเข้าไปภายในถ้ำได้แม้จะพยายามหาทางเข้าเท่าไรก็ไม่พบ นายพรานจึงตั้งบ้านขึ้นหน้าถ้ำแห่งนั้นเพื่อเฝ้ากระต่ายโดยหวังจะจับกระต่ายขนสีทองตัวนั้นเมื่อกระต่ายออกมาจากถ้ำ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาหมู่บ้านของนายพรานก็ได้ขยายตัวกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ชาวบ้านในสมัยนั้นจึงได้เรียกชุมชนนั้นว่า “บ้านพรานกระต่าย” และกลายมาเป็นชื่ออำเภอในเวลาต่อมา

หุ่นจำลองนายพรานที่มาดักจับกระต่าย

(ที่มา : วีรวรรณ แจ้งโม้ และคณะ, 2561)

ในปัจจุบันถ้ำที่กระต่ายขนสีทองหนีเข้าไปซึ่งชาวบ้านเรียกถ้ำนั้นว่า “ถ้ำกระต่ายทอง” นั้น ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่เพื่อทำให้เป็นสัญลักษณ์ประจำท้องถิ่น นอกจากนั้นประชาชนก็ยังเห็นความสำคัญของถ้ำกระต่ายทองจึงได้ช่วยกันดูแลเพื่อเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับหมู่บ้านสมกับเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญอำเภอพรานกระต่ายที่ว่า

“เอกลักษณ์ภาษาถิ่น หินอ่อนเมืองพาน

ตำนานกระต่ายทอง เห็ดโคนดองรสดี”

มีหลักฐานปรากกฎถึงการกำเนิดของชุมชนพรานกระต่ายจากบันทึกของรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็น สยามมงกุฎราชกุมาร ในรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จมายังเมืองพรานกระต่ายเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2150 และได้กล่าวถึงเมืองพรานกระต่ายว่า “ถึงบ้านพรานกระต่ายจวนเที่ยง ที่บ้านพรานกระต่ายนี้ มีบ้านเรือนหนาแน่น ทุกๆบ้านมีรั้วกั้นเป็นอาณาเขต สังเกตว่าบ้านช่องดี สะอาดเรียบร้อยเป็นระเบียบ จึงเข้าใจว่าราษฎรตามแถบนี้อยู่จะบริบูรณ์ สังเกตกิริยามารยาทเรียบร้อย ซึ่งทำให้เข้าใจว่าที่นี่จะเป็นเมืองอย่างโบราณกาล” นั่นเอง จากคำกล่าวข้างต้นทำให้เรารู้ว่า พรานกระต่ายเป็นขุมชนที่มีมาอย่างยาวนาน (นายสันติ อภัยราช, 2561)

จากการสันนิฐานและข้อมูลที่มีเกี่ยวกับต้นกำเนิดของชุมชนพรานกระต่าย ชาวพรานกระต่ายจึงมีกำหนดการจัดงานเพื่อเฉลิมฉลองพ่อพรานกระต่ายเป็นประจำทุกปี โดยกำหนดการจัดกิจกรรมงานประจำปีประเพณีท้องถิ่นศาลเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทองของชาวอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชรนั้น เป็นงานประเพณีที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในท้องถิ่นเพื่อระลึกนึกถึงพ่อพรานกระต่าย ผู้รวบรวมและก่อตั้งชุมชนพรานกระต่ายขึ้นตั้งแต่สมัยพระร่วงเจ้า จนปัจจุบันอำเภอพรานกระต่ายกลายเป็นชุมชนที่เจริญเติบโตกว้างใหญ่และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันชาวบ้านได้กำหนดจัดงานสืบสานประเพณีท้องถิ่นศาลเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทองไว้ทั้งหมด 3 วันคือ วันที่ 4- 6 โดยมีรายละเอียดของการจัดงานในแต่ละวัน (สิทธิโชค พะโยม, 2561) แต่ก่อนที่จะมีงานประเพณีท้องถิ่นศาลเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทองในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปีนั้น จะมีพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทองในช่วงเดือนมกราคมก่อน เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับคนที่ไปร่วมงานและเป็นการอุทิศบุญกุศลให้กับพ่อพรานกระต่ายทองด้วย การจัดพิธีบวงสรวงในแต่ละปีจะมีการจัดงานทั้งภาคเช้าและภาคค่ำ แล้วจึงมีงานประเพณีท้องถิ่นศาลเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทองในช่วงเดือนพฤษภาคมต่อโดยมีตัวอย่างกำหนดการจัดงานในปี 2561 ดังนี้

พิธีบวงสรวงศาลเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทอง

(สัตยา จันแดง, 2561, ออนไลน์)

จากการจัดงานสืบสานประเพณีท้องถิ่นศาลเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทองของชาวอำเภอพรานกระต่ายทำให้ผู้เขียนนึกย้อนไปถึงความเชื่อและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ในสังคมไทย ที่มีมากมายหลากหลายรูปแบบ รูปแบบหนึ่งที่คนไทยมักจะนิยมคือ การปั้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือบุคคลสำคัญเพื่อระลึกหรือกราบไหว้บูชาในวาระต่างๆนั้นเอง แม้ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะปรากฏอยู่ในความเชื่อของคนไทยหลากหลายรูปแบบ อาทิ ความเชื่อเรื่องสิงโตหรือมังกรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนจีน ความเชื่อเรื่องเทพเจ้าของคนอินเดีย หรือรูปปั้นตามความเชื่อของคนไทย ความเชื่อหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ล้วนสัมพันธ์กับวัฒนธรรมชีวิตความเป็นอยู่ของคนในแต่ละท้องถิ่นด้วย สามารถแสดงออกทั้งการกราบ ไหว้ การจุดธูปเพื่อสักการะ ตัวอย่างการสร้างรูปปั้นเพื่อระลึกถึงบุคคลสำคัญเพื่อระลึกถึงหรือกราบไหว้ ได้แก่ การมีรูปสักการะพระบรมรูป 2 รัชกาล ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การกราบไหว้ศาลพ่อปู่จันทร์ในมหาวิทยาลัยมหิดล ความเชื่อต่อรูปปั้นครูบาศรีวิชัย จังหวัดเชียงใหม่ การสร้างรูปปั้นบูชาบุคคลสำคัญไม่เว้นแม้แต่ในจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งสังเกตจากรูปปั้นรัชกาลที่ 5 หน้าที่ว่าการอำเภอจังหวัดกำแพงเพชร รูปปั้นพ่อพรานกระต่าย อำเภอพรานกระต่าย เป็นต้น

ยกตัวอย่างงานปั้นของบุคคลสำคัญในประเทศไทยได้แก่

1. พ่อขุนรามคำแหง (สมัยกรุงสุโขทัย)

2. สมเด็จพระนเรศวร (สมัยกรุงศรีอยุธยา)

3. สมเด็จพระนารายณ์ (สมัยกรุงศรีอยุธยา)

4. สมเด็จพระเจ้าตากสิน (สมัยกรุงธนบุรี)

5. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)

6. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)

7. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ซึ่งทุกพระองค์ล้วนทรงสร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติ

นอกจากบุคคลเหล่านี้แล้ว ยังมีรูปปั้นของบุคคลสำคัญอื่นอาทิ ครูบาศรีวิชัย พระสงฆ์มากบารมีที่มีชื่อเสียงโด่งดังในภาคเหนือของประเทศ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ อนุสาวรีย์ใจกลางเมืองเชียงใหม่ คือ พญามังราย พญางำเมืองและพญาร่วงหรือที่เรียกกันติดปากว่าพ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์ผู้ครองกรุงสุโขทัย ในสมัยศตวรรษที่ 13 และเป็นต้นแบบของแนวคิดเกี่ยวกับกษัตริย์ผู้มีเมตตาธรรมในประวัติศาสตร์ไทย จากภาคเหนือสู่ภาคกลางอนุสาวรีย์ที่สะท้อนถึงความสำคัญของบุคคลธรรมดาทั่วไปแต่กระทำสิ่งที่เป็นที่ยกย่องและสมควรให้ระลึกถึงนั้นก็คือ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิสร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตไปในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เรื่องการปรับปรุงพรมแดนไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 59 คน ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน (สปริงส์นิวส์, 2561)

พ่อพรานกระต่าย ผู้ก่อตั้งชุมชนพรานกระต่าย อำเภอพรานกระต่ายก็เช่นเดียวกัน ซึ่งพ่อพรานกระต่ายเป็นผู้ที่ชุมชนพรานกระต่ายต่างให้ความสำคัญและได้ร่วมแรงร่วมใจสร้างรูปปั้นพ่อพรานเพื่อแสดงถึงความเคารพรัก ระลึกถึงบุญคุณที่ท่านได้รวบรวมผู้คนมายังสถานที่แห่งนี้ จนสถานที่แห่งนี้กลายเป็นชุมชนเจริญเติบโตมาจนถึงปัจจุบัน

พิธีบวงสรวง ไหว้ครู พ่อพรานถ้ำกระต่ายทองในภาคเช้า

(สัตยา จันแดง, 2561, ออนไลน์)

ที่มา : พิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ และคณะ. (2547). ถิ่นฐานพรานกระต่าย : ข้อมูลประวัติศาสตร์เมืองพรานกระต่าย อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร. กำแพงเพชร

: สภาวัฒนธรรมอำเภอพรานกระต่าย

:กำแพงเพชรการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร