อาหารพื้นถิ่น
คนพะโต๊ะ
“อาหารชาวพะโต๊ะ”
ชุมชน พะโต๊ะ ชุมพร
ชื่ออาหาร : แกงส้มหยวกกล้วยเถื่อนกับหมูสามชั้น
ประเภทอาหาร : อาหารพื้นถิ่น
ลักษณะ : อาหารในชีวิตประจำวัน
แกงส้มหยวกกล้วยเถื่อนกับหมูสามชั้น เป็นอาหารพื้นถิ่น ที่ชาวอำเภอพะโต๊ะได้ใช้หยวกกล้วยเถื่อน ซึ่งมีมากในป่าพะโต๊ะ หรือป่าต้นน้ำพะโต๊ะ นำมาประกอบอาหารในชีวิตประจำวัน
ความเป็นมา (ภูมิหลัง/ความเชื่อ)
เนื่องจากอำเภอพะโต๊ะ เป็นพื้นที่ที่เป็นป่าเขา และมีความชื้น จะมีกล้วยป่าจำนวนมาก ชาวพะโต๊ะจึงนำต้นอ่อนหรือกาบทางกล้วยอ่อนที่อยู่ด้านในลักษณะเหมือนไส้ต้นกล้วย นำมาแกงส้มจะมีรสหวาน นิ่ม กล้วยป่า เป็นพืชที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติโดยไม่ต้องปลูก ลักษณะคล้ายกับกล้วยเล็บมือนาง ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีมากในพื้นที่อำเภอพะโต๊ะ ผลของกล้วยป่ามีเมล็ดเยอะมาก มีรสหวาน แต่ไม่นิยมนำมารับประทาน ให้สัตว์ป่าและนกกิน
อัตลักษณ์ (ที่โดดเด่น)
หยวกกล้วยเถื่อน เป็นพืชในพื้นถิ่นพะโต๊ะ เมื่อนำมาแกง (ใช้เฉพาะไส้ลำต้น เรียกว่า “หยวก”)
จะนิ่มและมีรสชาติหวานกว่าหยวกกล้วยเล็บมือนาง จะนำมาแกงคู่กับหมูสามชั้น
ความสำคัญและคุณค่าทางสังคมและทางจิตใจที่มีในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน นั้นๆ
แกงส้มหยวกกล้วยเถื่อนกับหมูสามชั้น เป็นอาหารที่ใช้ในชีวิตประจำวัน หยวกกล้วยเถื่อนเป็นพืชในพื้นถิ่นสามารถหามาประกอบอาหารได้ โดยไม่ต้องซื้อหรือเสียค่าใช้จ่าย และยังเป็นอาหารที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของอำเภอพะโต๊ะ ใครมาเที่ยวพะโต๊ะต้องได้กินข้าวแกงส้มหยวกกล้วยเถื่อนกับหมูสามชั้น
องค์ประกอบของอาหาร (สูตร)
วิธีตัดกล้วยป่า หยวกกล้วยที่จะใช้ เลือกตัดต้นที่มียอดกลม จะได้หยวกที่อ่อนมาก
ประโยชน์ของกล้วยป่า กล้วยป่า นำหยวกมาแกงส้ม ต้มกะทิ ต้มจิ้มน้ำพริกกะปิ และหยวกยังนำมากินแทนน้ำในการเดินป่าและไม่มีน้ำกิน ผลใช้แกงเผ็ด แกงป่า ชุบแป้งทอด ต้ม กินกับน้ำพริกกะปิ ดอก หรือเรียกว่าปลีกล้วย นำมาหั่นฝอยชุบแป้งทอดกินกับน้ำพริกกะปิ
วิธีทำเตรียมหยวกกล้วยป่า
แกะกาบกล้วย ใช้เฉพาะที่ยอดอ่อนหรือหยวกอ่อน (ตรงไส้) มาหั่นเป็นท่อน ๆ ขนาดพอดีคำ แช่น้ำไว้แล้วปั่นให้เยื่อไยกล้วยเป็นเส้น ๆ พันไม้เอาออกทิ้ง แล้วแช่น้ำไว้
เครื่องปรุง
๑. น้ำตาลปีบหรือน้ำตาลมะพร้าวเกลือ และกะปิพอประมาณ
๒. น้ำส้มจี๊ด ๓. น้ำมะขาม
๔. หยวกกล้วยเถื่อน ๕. หมู ๓ ชั้น
วิธีทำ
นำเครื่องแกงส้มละลายน้ำพร้อมกับใส่กะปิพอประมาณ น้ำตาล เกลือ น้ำมะขามเปียก น้ำมะนาว ตั้งไฟให้เดือด ชิมน้ำแกงตามรสที่ชอบ ให้รสเปรี้ยวนำ หวานตาม เค็มตาม เมื่อชิมรสได้ที่แล้ว น้ำแกงกำลังเดือด เอาหยวกกล้วยใส่ พร้อมหมูสามชั้น แล้วปิดฝาหม้อทิ้งไว้ให้เดือดเต็มที่คนให้เข้ากัน ชิมรสอีกที ตักใส่จานนำมารับประทานได้
ขั้นตอนการแกงส้ม
๑. หั่นหยวกกล้วยเป็นชิ้นๆ
๒. ล้างทำความสะอาดเอาเส้นใยออก
๓. ตั้งน้ำให้เดือด
๔. ใส่เครื่องแกงส้ม น้ำตาลปีบ กะปิ เกลือ น้ำส้มจี๊ด
๕. ชิมรสให้ได้คงที่แล้วใส่หยวกกล้วยลงไป ตามด้วยหมู ๓ ชั้น
๖. ปิดฝาหม้อไว้ รอจนแกงเดือดแล้วชิมรสให้แกงได้รสดี
ปัจจุบันแกงส้มหยวกกล้วยเถื่อนหมูสามชั้น เป็นที่ขึ้นชื่อของอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ซึ่งในอดีตคนพะโต๊ะจะเน้นอาหารจากธรรมชาติ เช่น แกงส้มหยวกกล้วยเถื่อนหมูสามชั้น
การสร้างงานและรายได้
มีการสร้างงานและรายได้ให้กับครอบครัว ชุมชน ประมาณ ๕,๐๐๐ บาท/เดือน แต่ไม่ได้ทำจำหน่ายเป็นประจำ และพร้อมแสดง สาธิตและจำหน่ายในโอกาสต่างๆ และคนในชุมชนยังมีรายได้จากขายหยวกกล้วยเป็นผักสดตามท้องตลาดในชุมชนอีกด้วย
ผู้ให้ข้อมูล ชื่อ – สกุล เจ้าของภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านอาหาร
นายสมหมาย พราหมนาเวศ อยู่บ้านเลขที่ ๒๘๒ หมู่ที่ ๘ ตำบลพะโต๊ะ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพรโทรศัพท์ ๐๘ ๖๒๗๘ ๑๘๙๖
ผู้เรียบเรียง
นางสาววัชราวดี รัตนช่วง อยู่บ้านเลขที่ 144/1 ม.58 ตำบลพะโต๊ะ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร โทรศัพท์ ๐๖๒ ๑๐๓๐๕๐๐
อาหารชาวพะโต๊ะ
ชุมชนพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร
ชื่ออาหาร : เมี่ยงคำสมุนไพร
ประเภทอาหาร : อาหารสุขภาพ
ลักษณะ : อาหารคาว
เมี่ยงคำสมุนไพรใช้กินเล่นเป็นอาหารว่าง ใช้ใบทองหลาง ใบชะพลู ห่อเป็นคำรับประทาน
ความเป็นมา (ภูมิหลัง/ความเชื่อ)
เมี่ยงคำสมุนไพร หรือเมี่ยงคำใบทองหลาง ใบชะพลู เป็นอาหารว่างจากเมี่ยงคำใบชะพลูหรือเมี่ยงคำ ใบทองหลาง ไม่ต้องซื้อ และปัจจุบันสามารถทำเป็นสินค้า จำหน่ายเป็นชุด ๆ ละ ๕๐-๑๐๐ บาท เพิ่มรายได้ให้เป็นอย่างมากและยังถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเด็ก เยาวชน ประชาชนในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียง
อัตลักษณ์ (ที่โดดเด่น)
การรับประทาน
เมี่ยงคำสมุนไพร เป็นอาหารว่างว่างเพื่อสุขภาพ รับประทานสด ๆ โดยการนำใบทองหลาง ใบชะพลู(ใบเพลาด) มาพับเป็นกรวย ตักส่วนประกอบทั้งหมดลงในกรวยพอดีคำ แล้วราดน้ำเมี่ยง รับประทานเป็นคำ ๆ
ความสำคัญและคุณค่าทางสังคมและทางจิตใจที่มีในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน นั้นๆ
ใบรางจืดเป็นพืชสมุนไพร ช่วยละไขมันในเส้นเลือด การรับประทานเมี่ยงคำใบทองหลาง ใบชะพลู จึงมีคุณค่าทางสมุนไพรด้วย และยังสร้างรายได้ให้กับสมาชิก ชมรม และชุมชนได้ด้วย
องค์ประกอบของอาหาร (สูตร)
น้ำเมี่ยงคำ ประกอบด้วย
๑. น้ำตาลมะพร้าว
๒. น้ำปลา
๓. มะพร้าวคั่วตำพอแหลก
๔. ข่าแดงทุบและขิงทุบพอแตกตั้งไฟปานกลางเคี่ยวพอประมาณไม่ให้เหนียว
ส่วนประกอบของเมี่ยงคำสมุนไพร ประกอบด้วย
๑. ใบรางจืด
๒. เนื้อมะพร้าวสดหั่นฝอยคั่วกรอบ
๓. ถั่วลิสงคั่วกรอบ
๔. มะนาวสดหั่น
๕. หอมแดงสดหั่น
๖. พริกสดหั่น
๗. ขิงสดหั่นเป็นชิ้นลูกเต๋าเล็ก
การสร้างงานและรายได้
ปัจจุบัน มีการสร้างงานและรายได้ ให้กับสมาชิก ชมรมและชุมชน พร้อมแสดง สาธิตและจำหน่าย ในโอกาสต่างๆ จำหน่าย ชุดละ ๒๐ บาท หรือประมาณ ๔,๐๐๐.- บาท/เดือน
ชื่อ – สกุล เจ้าของภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านอาหาร
ผู้ให้ข้อมูล
นางพูลสุข บัวสารบรรณ ที่อยู่ หมู่ที่ ๗ ตำบลพะโต๊ะ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพรโทรศัพท์ -
ผู้เรียบเรียง
นางสาววัชราวดี รัตนช่วง อยู่บ้านเลขที่ ๑๔๔/๑ ม. ๘ ตำบลพะโต๊ะ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร โทรศัพท์ ๐๖๒ ๑๐๓๐๕๐๐
อาหารชาวพะโต๊ะ
ชุมชนพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร
ชื่ออาหาร : แกงเลียงสมุนไพร
ประเภทอาหาร : อาหารสุขภาพ
ลักษณะ : อาหารในชีวิตประจำวัน
แกงเลียงสมุนไพร เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ใช้ผักหลายชนิด ได้แก่ ฟักเขียว ฟักทอง บวบ ใบแมงลัก ใบย่านนาง ยอดฟักทอง มัน ข้าวโพดอ่อน มีเครื่องปรุง รากกระชาย พริกไทยดำ และหัวหอม
ความเป็นมา (ภูมิหลัง/ความเชื่อ)
แกงเลียง เป็นอาหารของคนในชุมชนที่มีมาแต่โบราณ ลักษณะของน้ำแกงจะไม่ข้น หรือไม่ใสจนเกินไป มีรสเค็มพอดี รสเผ็ดร้อนจากพริกไทย และมีผักในท้องถิ่นเป็นส่วนผสมหลัก ประกอบด้วย ใบแมงลัก ผักเหลียง ยอดย่านาง ฟักทองอ่อน บวบ ตำลึง ในสมัยต่อ ๆ มา จะเพิ่มข้าวโพดอ่อน เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เป็นต้น
ผักในแกงเลียง เวลาแกงจะไม่ให้เปื่อยมาก และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ใบแมงลัก ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของแกงเลียง คนในสมัยโบราณทางภาคใต้คือ แกงเคยเกลือ เพราะในน้ำแกงจะใส่กะปิ เกลือ และพริกไทยเล็กน้อย แต่ต่อมาได้ปรับปรุงให้แกงเลียงเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางสมุนไพร เพราะใช้ผักพื้นบ้านและเครื่องปรุงที่มีคุณค่าทางสมุนไพรสูงผักก็มีประโยชน์มากทุกชนิด ทำให้มีกากใย วิตามิน และเกลือแร่สูง ในสมัยก่อนในแกงเลียงจะมีเฉพาะเนื้อปลาที่โขลกหรือตำลงในน้ำแกงเท่านั้น ซึ่งจะใช้เป็นปลาแห้งหรือปลาย่าง ซึ่งเนื้อสัตว์จะทำให้น้ำแกงข้น หรืออาจจะเป็นกุ้งแห้งก็ได้ แต่ปัจจุบันแกงเลียงไม่ได้ใส่เฉพาะเนื้อปลา หรือกุ้งแห้งโขลกป่นเท่านั้นแต่ยังใส่กุ้งสด เนื้อไก่ฉีก เป็นต้น ส่วนเครื่องแกงของแกงเลียงจะประกอบด้วย พริกไทย หอมแดง รากกระชายเล็กน้อย กะปิ กุ้งแห้ง เนื้อปลาแห้ง เช่นปลาช้อน ซึ่งล้วนแต่เป็นสมุนไพร ทำให้แกงเลียงหอมและได้รสชาติเผ็ดร้อน
จึงเป็นที่มาได้ชื่อว่า "แกงเลียงสมุนไพร"
อัตลักษณ์ (ที่โดดเด่น)
๑. เป็นอาหารพื้นบ้านที่มีคุณค่าทางสมุนไพรสูง สีและรสชาติน่ารับประทาน
๒. น้ำแกงต้องไม่ข้นเกินไป หอมกลิ่นพริกไทยและกะปิ
๓. ใส่กระชายโขลกในน้ำพริกเล็กน้อยช่วยให้น้ำแกงมีกลิ่นหอมขึ้น
ความสำคัญและคุณค่าทางสังคมและทางจิตใจที่มีในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน นั้นๆ
เป็นอาหารในชีวิตประจำวันของคนในชุมชน สามารถปลูกผักและปรุงอาหารรับประทานได้เองในชุมชน ล้วนแต่เป็นพืชผักสมุนไพร โดยไม่ต้องหาซื้อในท้องตลาด
องค์ประกอบของอาหาร (สูตร)
องค์ประกอบของอาหาร
๑. บวบเหลี่ยม ๓ ถ้วย
๒. ข้าวโพดอ่อน ๒ ถ้วย
๓. ฟักทอง ๒ ถ้วย
๔. ใบตำลึง ๑ ถ้วย
๕. ใบเหลียง ๑ ถ้วย
๖. ใบพูม(ยอดอ่อน) ๑ ถ้วย
๗. ใบแมงลัก ๑ ถ้วย
๘. เห็ดฟาง ๑ ถ้วย
๙. เกลือ ๒ ช้อนชา
๑๐. น้ำ ๓ ถ้วย
ส่วนผสมของน้ำพริก หรือ เครื่องแกง
๑. ปลาแห้งหรือกุ้งแห้งโขลกละเอียด ๑/๔ ถ้วย
๒. พริกไทยเม็ด ๑ ช้อนชา
๓. หอมแดง ๑/๒ ถ้วย
๔. กะปิ ๑/๒ ช้อนโต๊ะ
๕. รากกระชายเล็กน้อย
วิธีทำ
๑. โขลกส่วนผสมของน้ำพริกเข้าด้วยกันให้ละเอียด
๒. นำน้ำตั้งไฟให้เดือด ละลายพริกแกงกับน้ำ ตั้งจนเดือดใส่ฟักทอง ข้าวโพดอ่อน บวบ เห็ดฟาง ตั้งต่อจนผักสุก
๓. ใส่ใยตำลึง ใบแมงลัก และกุ้ง ปรุงรสด้วยเกลือ ปิดไฟ ต้องรับประทานร้อน ๆ
การสร้างงานและรายได้
มีการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ชุมชน และทำจำหน่ายในงานแสดงต่าง ๆ พร้อมแสดงสาธิตในโอกาสต่างๆ
ชื่อ – สกุล เจ้าของภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านอาหาร
ผู้ให้ข้อมูล
นางพิมลวรรณ ท้อสุวรรณ ที่อยู่ ๑๔๔ หมู่ที่ ๘ ตำบลพะโต๊ะ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพรโทรศัพท์ ๐๗๗ ๕๓๙๑๐๐
ผู้เรียบเรียง
นางสาววัชราวดี รัตนช่วง อยู่บ้านเลขที่ 144/1 ม. ๘ ตำบลพะโต๊ะ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร โทรศัพท์ ๐๖๒ ๑๐๓๐๕๐๐