ธนาคารปูม้า
บ้านเกาะเตียบ
ธนาคารปูม้า บ้านเกาะเตียบ ตำบลปากคลอง
บ้านเกาะเตียบ สถานที่ตั้ง หมู่ที่ 7 ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เป็นชุมชนที่ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง เพราะพื้นที่แห่งนี้มีทรัพยาการทางทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมากชาวบ้านจะเอาเรือออกหาปู หาปลา และมีเรือไดร์หมึกด้วย และสถานที่ ที่โดดเด่นที่สุดและเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างมากคือ ธนาคารปูม้า โดยมีผู้นำทางความคิดคือ ลุงจาง ฟุ้งเฟื่อง ได้เริ่มทำตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 และประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ มีปูม้าให้จำหน่ายตลอดและชุมชนที่นี่ยังสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในชุมชนได้ดีนอกเหนือจากการขายปูสด ยังมีการนำปูม้ามาแกะเปลือก การนำกระดองปูมาทำความสะอาด ตากแห้งมาทำเป็นปูจ๋า ชาวบ้านจึงไม่ต้องออกไปทำงานที่อื่น
การเดินทางโดยรถยนต์
เดินทางจากศาลหลักเมืองชุมพร ใช้ถนนไตรรัตน์ ไปทางถนนหมายเลข 3180 ระยะทาง 3.3 กิโลเมตร เดินทางต่อบนถนนหมายเลข 3180 เส้นชุมพร-สะพลี จากนั้นเดินทางต่อไปยังตำบลดอนยางใช้ถนนเส้น 4015 ระยะทาง 60.8 กิโลเมตร เดินทางต่อบนถนนเส้น 4015 เพื่อไปยังตำบลปากคลองระยะทาง 16.80 กิโลเมตร เแล้วเลี้ยวขวาตรงโรงเรียนบ้านถ้ำธงก็จะถึงชุมชนบ้านเกาะเตียบ
กลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ปูหรือธนาคารปูในหมู่บ้านประมงติดทะเล
การเดินทางไปยังธนาคารปูม้าบ้านเกาะเตียบ ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอเมืองชุมพร ประมาณ 90 กิโลเมตร ต้องใช้ถนนเลียบชายฝั่งทะเลของกรมทางหลวงชนบท ผ่านตำบลสะพลี ตำบลชุมโค และตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว ใช้เวลาประมาณ 1.30 ชั่วโมง เมื่อไปถึงบ้านเกาะเตียบ จะได้พบกับธรรมชาติที่สวยงามและวิถีชีวิตของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านที่มีประมาณ 90 ครอบครัว ซึ่งก่อสร้างบ้านพักอยู่ตามแนวชายหาดที่ขาวสะอาด ส่วนในท้องทะเลเมื่อมองจากชายหาด ก็จะเห็นความสวยงามของเกาะแก่งน้อยใหญ่ เช่น เกาะเวียง และเกาะรังซึ่งเป็นเกาะที่ได้รับสัมปทานในการเก็บรังนกอีแอ่น เกาะพระและเกาะเตียบ โดยมีเรือประมงพื้นบ้านจอดเต็มไปหมดนับร้อยลำกิจกรรม "ธนาคารปู" (กลุ่มฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า) ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 7 บ้านเกาะเตียบ ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว โดย นายดำ ชัยวิสิทธิ์ หนุ่มวัย 37 ปี ประธานกลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ปูม้าบ้านเกาะเตียบ (ธนาคารปูม้าบ้านเกาะเตียบ) ประธานดำเล่าให้สื่อมวลชนฟังว่า คำว่า “เกาะเตียบ” นั้น หมายถึง เกาะเล็กๆ ที่ลักษณะคล้ายตะปูเสียบลงไปในทะเล เดิมจึงเรียกว่า “เกาะเสียบ” จากนั้นจึงค่อยๆ เพี้ยนกลายเป็น “เกาะเตียบ” และกลายมาเป็นชื่อของชุมชนบ้านเกาะเตียบในที่สุด โดยเชื่อกันว่าเกาะเตียบดังกล่าวเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน ช่วงที่น้ำขึ้นเต็มฝั่งชาวประมงจะนำเรือไปเทียบเกาะเตียบก่อนออกเรือ และเมื่อนำเรือกลับเข้าฝั่ง
ประธานดำ เล่าต่อไปว่า เมื่อประมาณ 10 ปี ที่แล้ว ลุงจาง ฟุ้งเฟื่อง (ปัจจุบัน เสียชีวิตไปแล้ว) ซึ่งถือเป็นปราชญ์ชาวบ้านของชุมชนบ้านเกาะเตียบ เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งธนาคารปูม้าขึ้นอย่างจริงจัง เพื่อต้องการให้ปูม้ามีการขยายพันธุ์เพิ่มมากขึ้น โดยจะมีการคัดกรองปูม้าที่ถูกจับขึ้นมา เอาเฉพาะปูที่มีขนาดใหญ่เท่านั้น หากเป็นปูเล็กที่ยังไม่ได้ขนาดก็จะปล่อยกลับคืนสู่ท้องทะเลไป ไม่เหมือนสมัยก่อนที่จับขึ้นมาหมด ไม่ว่าปูขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ส่วนปูม้าขนาดใหญ่ที่จับขึ้นมาหากเป็นปูแม่พันธุ์ก็จะนำไปไว้ในธนาคารปูม้า ซึ่งมีลักษณะคล้ายกระชังปลาในทะเล เพื่อให้มีการขยายพันธุ์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทุกๆ 3 วัน จะมีการตรวจสอบว่าปูม้าที่เพาะเลี้ยงไว้เพิ่มจำนวนขึ้นมากน้อยเพียงใด โดยสมาชิกของกลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ปูม้าบ้านเกาะเตียบ ที่มีประมาณ 60 คน จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันออกไปตรวจสอบ
“นับตั้งแต่มีการจัดตั้งธนาคารปูม้าบ้านเกาะเตียบขึ้นมา ชาวประมงสามารถจับปูม้าได้ทุกวัน เพราะเมื่อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปูม้าที่อยู่ในธนาคารมีการขยายพันธุ์ เราก็จะนำปูที่เกิดใหม่เหล่านั้นไปปล่อยลงสู่ทะเลเพื่อให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติ ซึ่งปูม้าที่ชุมชนชาวประมงบ้านเกาะเตียบจับได้ จะมีขนาดใหญ่ ประมาณ 3 ตัว 1 กิโลกรัม หากนำไปขายก็อยู่ที่กิโลกรัมละ ประมาณ 100 บาท”
ประธานดำ กล่าวว่า หลังมีการรวมกลุ่มตั้งธนาคารปูม้าได้ประมาณ 4 ปี กรมประมง และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จึงเข้ามาให้การสนับสนุนเรื่องกระชังที่ใช้เพาะพันธุ์ปูม้าและด้านวิชาการ และเนื่องจากอาชีพประมงพื้นบ้านอย่างเดียวอาจไม่มั่นคงมากนัก จึงเริ่มมีการนำเอาเรื่องท่องเที่ยวเข้ามา เพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับชุมชนด้วย โดยจะมีกิจกรรมพานักท่องเที่ยวลงเรือประมงพื้นบ้านล่องทะเลชมเกาะแก่งที่สวยงาม แล้วไปแวะ “กินปูม้านั่งห้อยขา” บนที่ทำการธนาคารปูม้า ซึ่งมีการจัดทำเป็นโต๊ะกระจก มองเห็นน้ำทะเลด้านล่าง โดยนักท่องเที่ยวจะต้องนั่งที่พื้น ซึ่งเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยม เพื่อให้ผู้ที่นั่งกินปูม้ารอบๆ โต๊ะสามารถห้อยขาลงไป
นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมธนาคารปูขณะนี้ยังมาในลักษณะกรุ๊ปทัวร์ ที่มาเช้า เย็นกลับ เพราะเรายังไม่มีที่พักไว้รองรับ แต่ในเร็วๆ นี้ องค์การบริหารส่วนตำบลปากคลอง ร่วมกับชุมชนบ้านเกาะเตียบ จะมีการทำที่พักในลักษณะโฮมสเตย์ไว้สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาพักค้างคืนด้วย ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องค่อยเป็นค่อยไป รีบร้อนไม่ได้ สิ่งที่อยากฝากนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเยี่ยมชมธนาคารปูม้าบ้านเกาะเตียบก็คือ ขอให้หลีกเลี่ยงการนำอาหารบรรจุกล่องโฟมและน้ำดื่มบรรจุขวดแก้วเข้ามา เพื่อเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมด้วย” ประธานดำ กล่าวทิ้งท้าย
ธนาคารปูม้าบ้านเกาะเตียบ นอกจากจะถือเป็นความภาคภูมิใจของชุมชนบ้านเกาะเตียบและชาวชุมพรแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการร่วมแรงร่วมใจกันของชาวบ้านในการนำเอาสิ่งที่ได้รับจากการเดินทางไปศึกษาดูงานมาประยุกต์เข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสงวนรักษาทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเอาไว้ให้เป็นแหล่งทำมาหากินที่ยั่งยืนของชุมชนไปชั่วลูกชั่วหลาน