แหล่งเรียนรู้ท้องถิ่น

ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมการทอผ้าโบราณแห่งบ้านเนินขาม


แหล่งเรียนรู้ชุมชนบ้านเนินขาม

ความตั้งใจของผู้นำชุมชนร่วมกับตัวแทนจากสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชัยนาทในการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมแห่งนี้ “ราว พ.ศ. 2559 ความร่วมมือระหว่างสำนักงานท่องเที่ยว ตัวแทนอำเภอเนินขาม และชาวชุมชนผลักดันให้เกิดการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรม ข้อปัญหาสำคัญในตอนนั้น คือการขออนุญาตใช้พื้นที่วัดสำหรับ การจัดตั้ง จึงเกิดการประชาคมและขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดเนินขาม จากนั้น มีการทำหนังสือขออนุญาตไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนา และในที่สุดได้รับการตอบรับอนุญาต”

เดือนมกราคม 2560 ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมเปิดอย่างเป็นทางการ ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ต้อนรับผู้มาเยือนทั้งนักท่องเที่ยว นักศึกษา นักเรียน ในการเข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรมการทอผ้าพื้นเมือง นอกจากนี้ ยังเปิดให้เป็นสถานที่ประชุมที่บุคคลภายนอกมาใช้และให้เงินสนับสนุนสำหรับกิจการของศูนย์เรียนรู้

ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ตั้งอยู่ภายในวัดเนินขาม โดยเป็นอาคารชั้นเดียวไม่ไกลจากอุโบสถ พื้นที่หลักภายในอาคารแบ่งเป็น 2 ส่วนอย่างชัดเจน พื้นที่ส่วนแรกเป็นบริเวณสำหรับการจัดประชุม มีการประดับพื้นหลังด้วยไวนิลพิมพ์ภาพ ผ้าทอลาวเวียง และ พื้นที่ส่วนที่สอง ทำหน้าที่เสมือนห้องนิทรรศการนำเสนอชิ้นงานต่างๆ ที่สะท้อนวัฒนธรรม ท้องถิ่น

เมื่อเข้าไปยังห้องนิทรรศการ ฉากสำหรับการถ่ายภาพตั้งแยกไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้มาเยือนใช้บันทึกภาพความทรงจำในการมาเยี่ยมเยือนศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ ใกล้กันนั้น กี่ทอผ้าตั้งเป็นเอกลักษณ์สำคัญ ในบางช่วงเวลามีสมาชิกชุมชนแวะเวียนมาทอผ้า เพื่อแสดงให้เห็นขั้นตอนการทอและทำหน้าที่เป็นผู้อธิบายลักษณะของผ้าทอเนินขาม ที่ประกอบด้วยหัว ตัว และตีนซิ่น ส่วนเทคนิคสำคัญของผ้าลาวเวียงได้แก่ การจก เมื่อใดที่มีผู้มาเยือนจึงจะมีการนำผ้าที่ทอสำเร็จแล้วจัดวางให้เห็นความหลากหลายของงานฝีมือ

อย่างไรก็ดีในการสำรวจการนำผ้าทอที่เป็นของกลุ่มสมาชิกมาสำเสนอ พร้อมให้คำอธิบายถึงเอกลักษณ์ของ ผ้าทอบ้านเนินขาม “ที่นำมานี้เป็นผ้าพื้นและผ้ามัดหมี่ ผ้าถุงของเรามีลายช่อใบมะขาม เป็นลายลิขสิทธิ์ของบ้าน เนินขาม เป็นการจดสิทธิบัตร ตรงนี้เป็นใบสองทาง มีหลายลาย ส่วนผืนนี้เป็นการมัดย้อมและนำมาทอเป็นผืน ผืนนี้เป็นเทคนิคการจกเรียก ผ้าตีนจก” แม่วันเพ็ญให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ผ้าที่โดดเด่นของลาวเวียงคือ ผ้าข้าวม้าห้าสี นั่นหมายถึง “ขันห้า เป็นผ้าที่ใช้ในงานมงคล เช่นในพิธีทำบุญ งานแต่งงาน สีเขียว หมายถึงความเจริญงอกงาม สีเหลืองหมายถึงความอบอุ่น เป็นมิตร สีแดงหมายถึงความเจริญเหมือนดวงอาทิตย์ สีขาวแทนความสงบ และสีส้ม แสด เป็นเอกลักษณ์บ้านเรา ยิ่งใช้ยิ่งทน ยิ่งซักยิ่งแน่น”

จากนั้น เป็นส่วนการจัดแสดงหมอนขวาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในวิถีชีวิตของชาวลาวเวียง เพราะเป็นส่วนหนึ่งของพิธีแต่งงาน “หมอนขวานเป็นของสมมา ที่รับไหว้ญาติผู้ใหญ่ในพิธีสมรสฝ่ายเจ้าสาวจัดเตรียมให้กับญาติฝ่ายเจ้าบ่าว” กลุ่มหมอนที่จัดแสดงในตู้กระจกมาจากพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งหลังวัด ตอนนี้ ไม่ได้รับการดูแลนัก เพราะอยู่ในพื้นที่ไกล ทำให้ต้องย้ายข้าวของมาไว้ภายในศูนย์เรียนรู้แห่งนี้” ใกล้กันนั้น จึงปรากฏสิ่งจัดแสดงที่เป็นของพื้นบ้านอื่นๆ ด้วย


ผู้เขียน นางสาวสิริรัตน์ บัวชื่น,นางสาวโสธิดา ศรีเดช และนางสาววรรณิกา บุญเงิน