ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี
สารทลาว
ชุมชน บ้านเนินขาม
บ้านเนินขาม ตำบลเนินขาม อำเภอเนินขาม เป็นชุมชนเก่าแก่ มีอายุยาวนานหลายร้อยปี สืบทอดกันมาหลาย ชั่วอายุคน สาเหตุที่เรียกว่า เนินขาม เนื่องจากบรรพบุรุษที่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งบนเนินสูง น้ำท่วมไม่ถึง บริเวณรอบเนินขาม มีต้นมะขามขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก บรรพบุรุษจึงเรียกเนินนี้ว่า “เนินมะขาม” ต่อมาจึงกลายเป็นชื่อ “เนินขาม” จนถึงปัจจุบัน ในปัจจุบันประชากรของเนินขาม ยังมีการสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้ เช่น ประเพณีสงกรานต์ การบายศรีสู่ขวัญ ประเพณีการแต่งงานแบบลาวเวียง ประเพณีการก่อกองทราย ประเพณีธงขึ้น ประเพณีแห่เสื่อ และประเพณีสารทลาว
วัฒนธรรมที่โดดเด่นและสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน คือ วัฒนธรรมการทอผ้าและวัฒนธรรมการแต่งกาย ภาษาที่ ใช้สื่อสารกันในท้องถิ่นยังเป็นภาษา “ลาว” หรือเรียกว่า “ภาษาไทยอีสาน” ประเพณีทั่วไปคล้ายคลึง กับคนไทยใน ภาคกลาง จะมีแตกต่างกันคือ สารทลาว ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี และชาวลาวจะกวนกระยาสารท นำไปเยี่ยมญาติ นอกจากนี้ ในวันที่ 30-31 ธันวาคม ของทุกปี
ชาวลาวเวียงจะมีประเพณีสารทลาวเวียงบ้านเนินขาม ผู้เฒ่าเล่าสืบต่อกันมาในอดีตเมื่อชาวไร่ชาวนาได้ผลผลิตจากนาข้าวที่ปลูก เมื่อเก็บเกี่ยวสู่ขวัญข้าวเรียบร้อยแล้วระหว่างเริ่มว่างงานก็อยู่ในช่วงเดือนสิบ ชาวลาวเวียงจะถือโชคลาง ถือความเชื่อ ถือผีบรรพบุรุษ ยึดมั่นในพุทธศาสนา จึงเชื่อกันว่าหลังจากได้ผลผลิตนาข้าวจะต้องนำข้าวใหม่มาหุงทำบุญใส่บาตรอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่เทวดาฟ้าดิน ให้ได้อยู่ได้กินอุดมสมบูรณ์ บุญกลางเดือนสิบ บุญแก้ห่อข้าวสารทลาว บุญข้าวสากเพ็ญเดือนสิบ ก่อนจะถึงวันบุญข้าวสาก 2–3 วัน บ้านใกล้เรือนเคียงต่างรวมกลุ่มเครือญาติช่วยกันกวนข้าวตอก(ขนมกระยาสารท) พร้อมทั้งห่อแจกเพื่อนสนิทมิตรที่รักต่างบ้านอีกด้วย ที่ชาวลาวเวียงเรียกกัน ส่วนประกอบได้มาจากผลผลิตทั้งสิ้น ปัจจุบันบางคนนิยมซื้อจากท้องตลาด ส่วนประกอบมีถั่ว งา ข้าวเม่า (ข้าวพอง) ข้าวตอกแตก น้ำตาลอ้อยหรือน้ำตาลโตนด ปัจจุบันพัฒนามาใช้ผสมหัวกระทิ "คนลาวเวียงทำบุญข้าวสากมีจุดประสงค์เป็นหนึ่งเดียวคือแสดงความกตัญญูยึดมั่นในพุทธศาสนาและเป็นทาน"
เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 10 ต่างนำอาหารและข้าวห่อโดยใช้ใบตองห่อ บ้างก็หิ้วปิ่นโต ตระกร้า ด้วยใบหน้าล้วนยิ้มแย้มแจ่มใส แต่งกายสวยงามตามไปด้วยเครื่องประดับตามที่มีอยู่ ในวันนี้ชาวลาวเวียง จะนำอาหารมาถวายพระสงฆ์ หลังจากพระฉันอาหาร ให้พร กรวดน้ำให้ผู้ที่ล่วงลับ ข้าวห่อที่เหลือแจกก็นำไปใส่ไร่นาให้ข้าวอุดมสมบูรณ์ จากนั้น นำอาหารและข้าวห่อ ส่วนนึงไปที่ใต้ต้นไม้ใหญ่หรือข้างกำแพงวัดแล้วจุดธูปเชิญดวงวิญญาณมารับเครื่องเซ่นไหว้ โดยปักธูปที่ดินแล้วเปิดห่อข้าว ในวันนี้เชื่อว่าเป็นวันที่พระยายมปล่อยให้ออกมารับส่วนบุญ พอธูปใกล้หมดดอกแล้ว จุดธูปกล่าวลาจึงกรวดน้ำ นี่คือ ประเพณีของชาวลาวเวียงบ้านเนินขามชัยนาท
ผู้เขียน นางสาวสิริรัตน์ บัวชื่น,นางสาวโสธิดา ศรีเดช และนางสาววรรณิกา บุญเงิน