ไทพวนบ้านหม้อ

ความเป็นมาของชุมชนตำบลบ้านหม้อ

กลุ่มชาติพันธุ์ในตำบลบ้านหม้อประกอบด้วย 2 กลุ่มหลัก กลุ่มแรกที่เป็นกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มไทพวน ซึ่งมีจำนวน 4 หมู่บ้าน กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มไทยอีสาน มีจำนวน 4 หมู่บ้าน โดยพิจารณาจากวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การอพยพ ประเพณีวัฒนธรรม ภาษา อาหาร ดังนี้

1) ไทพวน ชุมชนตำบลบ้านหม้อมีไทพวน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหม้อ หมู่ที่ 1 บ้านหม้อ หมู่ที่ 2 บ้านหม้อ หมู่ที่ 7 บ้านหม้อ หมู่ที่ 8 มีประวัติความเป็นมา ทีมวิจัยได้ข้อมูลจากการทำงานวิจัยเรื่อง “รูปแบบการฟื้นฟูคุณค่าประเพณีวัฒนธรรมไทพวนเพื่อส่งเสริมการตุ้มโฮม ฮักแพง แบ่งปัน: กรณีศึกษา ไทพวนบ้านหม้อ 4 หมู่บ้าน ตำบลบ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ดังนี้

ตามตำนานขุนบรมของประวัติศาสตร์ลาว ได้กล่าวว่าขุนบรม หรือบูลม ผู้สร้างแคว้นสิบสองจุไท ซึ่งเป็นดินแดนทางภาคเหนือของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในปัจจุบัน ได้รวบรวมดินแดนของพวกพวนด้วย อีกหลักฐานหนึ่งที่ได้กล่าวถึงดินแดนของพวกพวน คือ เล่าเรื่องกรุงสยาม ของ ฌัง-บัปติสต์ ปาลเลกัวซ์ (Jean-Baptiste Pallegoix) บาทหลวงคาทอลิกชาวฝรั่งเศสผู้ดำรงตำแหน่งมุขนายกมิซซังแห่งมัลโลส์ (Evêque de Mallos) และมีอำนาจปกครองเขตมิซซังสยาม ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในสยามตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) รวมระยะเวลาที่อยู่ในสยามกว่า 30 ปี ปาลเลกัวซ์ได้เรียบเรียงหนังสือเกี่ยวกับสยามไว้เป็นภาษาฝรั่งเศสชื่อ Description du Royaume Thai ou Siam ขึ้นในปี พ.ศ. 2397 ประกอบการเรียบเรียง/แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร ได้กล่าวถึงชาวพวนตอนหนึ่งว่า “ในอดีตกาล บนลุ่มแม่น้ำสายใหญ่ของกัมพูชา ที่เรียกว่า แม่น้ำโขง มีอาณาจักรลาวอันประกอบด้วยนครทั้งสาม คือ เวียงจันทน์อยู่ทางทิศใต้ หลวงพระบางอยู่ตอนกลาง และเมืองพวนอยู่ทางทิศเหนือ ครั้นแล้วนับตั้งแต่คนสยามเข้าไปย่ำยีเวียงจันทน์ และยึดครองเข้าไว้เป็นจังหวัดหนึ่งรวมอยู่ในอาณาจักรแล้ว กับกวาดต้อนเอาราษฎรในเมืองพวนไปเกือบหมดสิ้น นครหลวงพระบางจึงแผ่อาณาเขตขึ้นไปทางเหนือ และขยายดินแดนกว้างใหญ่ออกไปเป็นอันมาก ในปัจจุบันนี้เป็นนครที่รุ่งเรือง (หลวงพระบาง) ทำการค้าขายใหญ่โต ติดต่อกับกรุงสยามและชาวจีนซึ่งเดินทางเข้ามาติดต่อการค้าทางด้านเหนือ” (วาสนา บุญสม. 2543) เมืองพวนเดิม เป็นอาณาจักรที่ใหญ่อาณาจักรหนึ่งในสามอาณาจักรของลาวในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มีความยิ่งใหญ่และมีความสำคัญเหมือนเวียงจันทน์ หรือหลวงพระบาง ต่อมาเมื่อสยามเข้าครอบครองลาว ได้มีการกวาดต้อนครัวลาวไปเกือบหมด อันเนื่องจากสมัยโบราณแรงงานชายเป็นแรงงานที่สำคัญทั้งการรบและการผลิต ไม่เพียงแต่การเกณฑ์ไพร่พล รัฐจะได้รับแรงงานจากการชนะสงคราม จึงมีการกวาดต้อนครอบครัวลาวไปด้วยเพื่อเป็นกำลังสำคัญดังกล่าว แม้ว่าจะต้องถูกกวาดต้อนมาตั้งรกรากในสยาม คนพวนได้นำเอาขนบธรรมเนียมประเพณีของตนมาด้วย และมีการอยู่รวมตัวกันเป็นกลุ่ม ก่อนที่พวกพวนหรือลาวพวนจะถูกกวาดต้อนเข้ามาประเทศไทยนั้น สันนิษฐานว่าชาวพวนเป็นชนกลุ่มหนึ่งที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองเชียงขวางหรือนครเชียงขวาง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของนครเวียงจันทน์ ประมาณ 70 - 80 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันนี้เรียกว่า ที่ราบสูงเชียงขวาง การแบ่งกลุ่มชาติพันธุ์ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง จะจัดแบ่งตามรากฐานภาษาเป็น กลุ่มออสโตรไทย หรือ ไทกะได คือกลุ่มที่พูดและใช้ภาษาไทยและภาษาลาว เป็นกลุ่มไทยน้อยซึ่งหมายถึงไทยและลาว ดังนั้นชาวพวนก็เป็นกลุ่มไทยน้อยกลุ่มหนึ่ง คำว่า ไทพวน จึงปรากฏในหนังสือประวัติศาสตร์ในพงศาวดารลาว ซึ่งเรียบเรียงโดย มะหา สิลา วีระวงส์

ไทพวนตำบลบ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ได้อพยพมาจากเมืองเชียงขวาง แขวงหลวงพระบาง เข้ามาอาศัยอยู่แขวงเวียงจันทน์ต่อมาเมื่อคนมีจำนวนมากขึ้น นายหม้อจึงพาผู้คนข้ามแม่น้ำโขงมาอาศัยอยู่บ้านหม้อ และได้เลือกทำเลที่ตั้งบ้านเรือนติดแม่น้ำโขง จนเป็นที่มาของสำนวนที่ว่า“บ๋านม๋อท่า นาตีนบ๋าน” แปลว่าหมู่บ้านติดกับแม่น้ำ นาติดกับบ้าน (บันทึกหลวงปู่บุญหนัก ขันติโก พระอริยสงฆ์ของบ้านหม้อ) ต่อมาในปี พ.ศ. 2380 คนไทพวนได้พากันสร้างวัดลำดวน ซึ่งปัจจุบันคือวัดธรรมเจดีย์ (บันทึกประวัติการก่อสร้างวัดธรรมเจดีย์ บ้านหม้อ หมู่ที่ 7) ระหว่างชุมชนบ้านหม้อกับฝั่งเวียงจันทน์มีเกาะกลางลำน้ำโขงเรียกว่า ดอนเสื่องชู้ มีความเป็นมาว่าในช่วงสงครามฮ่อผู้ชายจะเอาผู้หญิงและเด็กมาซ่อนไว้ (เสื่องภาษาพวนหมายถึงซ่อน) ต่อมาในยุคล่าอาณานิคม ฝรั่งเศสเข้ามามีอิทธิพล ผู้ที่ดูแลดอนเสื่องชู้ คือ ซองมารี ออกู๊ดปาวี (สัมพันธ์กับ พ.ศ. 2427 : ซองมารี ออกู๊ดปาวี หรือม.ปาวี ปู่ของท่านอังรี ศรีเวียงชัย สามีนางจินรี ใจขาน ซึ่งเป็นชาวไทพวนบ้านหม้อ) ปัจจุบันดอนเสื่องชู้ชื่อเพี้ยนเป็นดอนชิงชู้ จากอดีตที่ผ่านมาไทพวนบ้านหม้อเป็นคนขยันทำมาหากิน ชอบทำบุญทำทาน อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ “กิ๋นข๋าวฮ่วมพา กิ๋นปลาฮ่วมถ้วย กิ๋นกล้วยฮ่วมหวี กิ๋นปีฮ่วมกาบ อาบน้ำฮ่วมท่า” เป็นอัตลักษณ์ของคนพวนที่ปฏิบัติสืบต่อกันมากล่าวคือเวลาจะกินข้าวทุกคนจะต้องมากินข้าวพร้อมกันเป็นวงใหญ่ทำให้มองเห็นถึงความรักความผูกพันในครอบครัว ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คนพวนเป็นคนจิตใจดี มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่และแบ่งปัน จะเห็นได้จากงานบุญต่างๆ เช่น บุญเลี้ยงบ้าน บุญเข้าพรรษา บุญออกพรรษา บุญเฮือนดี (งานศพ) หรือบุญผะเหวด ก่อนถึงวันทำบุญญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้านก็จะมาโฮมกัน (ตุ้มโฮม) ที่บ้านงานเพื่อวางแผนการช่วยงาน โดยที่เจ้าภาพไม่ได้เชิญ ทุกคนมาด้วยความเต็มใจ ต่างจะนำข้าวปลาอาหารไปช่วยงาน ใครมีข้าวก็จะเอาข้าวไป ใครมีกล้วยก็หิ้วกล้วยไป ใครมีมะพร้าว มะละกอ ต้นหอมผักชี ก็จะนำติดไม้ติดมือไป ใครไม่มีอะไรก็จะช่วยแรง ทุกคนจะช่วยงานบุญอย่างมีความสุข นี่คือความ “ฮักแพงแบ่งปัน” ของไทพวน “ชี้นไป ปลามา อันใดแซบ แบ่งกันกิ๋นกิ๋นน้อยบ่ตาย กิ๋นหลายเป็นข้อยเพิ่น” (แปลว่า เนื้อไป ปลามา อันไหนอร่อยก็แบ่งกันกิน กินน้อยไม่ตาย กินมากเป็นทาสเขา) เป็นคำสอนของพ่อตู้ แม่ตู้ที่คอยสอนลูกหลานมาตลอด ทำให้รู้ว่าคนพวนเป็นคนมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อ แบ่งปันมีความพอเพียง เป็นรากฐานด้านจิตใจที่งดงามปัจจุบันไทพวนประกอบด้วยหมู่บ้านหม้อ 4 หมู่ คือ บ้านหม้อ หมู่ที่ 1 นายกิตติ โยติภัย เป็นกำนัน บ้านหม้อ หมู่ที่ 2 นางสาวรุ่งฤทัย ธานี เป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านหม้อ หมู่ที่ 7 นายนิยม รุ่งภาษา เป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านหม้อ หมู่ที่ 8 นายพงษ์ศักดิ์ ธงกลาง เป็นผู้ใหญ่บ้าน (จากงานวิจัยรูปแบบการฟื้นฟูคุณค่าประเพณีวัฒนธรรมไทพวนเพื่อส่งเสริมการตุ้มโฮม ฮักแพง แบ่งปัน ปี 2558)

2) กลุ่มไทยอีสาน เป็นคนไทยอีสานที่อพยพจากหมู่บ้านใกล้เคียง ที่มีภาษาพูด ประเพณีวัฒนธรรมบางอย่างที่แตกต่างจากไทพวน ได้แก่ ผู้ที่อพยพมาจากบ้านนาโพธิ์ บ้านศรีเชียงใหม่ บ้านท่าบ่อ บ้านหนองคายและชาวบ้านที่ย้ายมาจากจังหวัดอื่นๆ เพื่อมาทำมาหากินในชุมชน เช่น จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี เป็นต้น ชาวไทยอีสานจะอาศัยอยู่ใน 4 หมู่บ้าน คือ

บ้านป่าสัก หมู่ที่ 3 มีประวัติความเป็นมาประมาณ 215 ปีแล้วว่า เดิมที่ตั้งบ้านป่าสักเหนือเป็นป่าสักและป่าไม้ไผ่ขึ้นรก สมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้เดินทางมาจากนครเชียงใหม่ พระองค์ได้มาปกครองเมืองนครเวียงจันทน์ ได้มีญาติวงศ์ ข้าทาส บริวาร ตามเสด็จลงมาด้วยเมื่อถึงแม่น้ำโขงได้พักไพร่พลในพื้นที่ที่เป็นที่ตั้ง คือ อำเภอศรีเชียงใหม่ในปัจจุบัน ในคณะที่มามีพระภิกษุสงฆ์มาด้วยและคณะที่มาได้นำเอาพันธุ์ไม้สักมาเพื่อมาปลูกที่นครหลวงเวียงจันทน์ มีคณะบางส่วนพร้อมพระภิกษุ ได้ข้ามฝั่งแม่น้ำโขงคณะดังกล่าวได้เดินทางไปทางทิศตะวันตกเพื่อพักแรม บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน 2 จุด จุดแรกคือพื้นที่ที่เป็นโรงเรียนบ้านป่าสักในปัจจุบัน จุดที่สองห่างไปทางทิศตะวันตกติดริมแม่น้ำโขง ประมาณ 1 กิโลเมตร (ตอนเหนือของหมู่บ้าน) ปัจจุบันที่พักแรมดังกล่าวเป็นป่าสักมีต้นสักขนาดใหญ่ขึ้นที่ 2 จุด แสดงว่าคณะที่พักแรมได้นำเมล็ดต้นสักมาด้วย และได้นำมาปลูกในที่ที่ตนเองพักแรม

สมัยสงครามฮ่อมีชาวบ้านชื่อว่านายกลมและนางผม ได้พาผู้คนอพยพหนีฮ่อจากเมืองหนองคายเข้าไปอยู่ในอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดร เมื่อสงครางฮ่อสงบลงแล้วได้พาผู้คนอพยพกลับมาทางริมโขง และเห็นริมแม่น้ำโขงอุดมสมบูรณ์ มีปลาชุกชุม น่าจะทำมาหากินได้ง่าย เหมาะกับการทำเกษตรและทำประมงได้เป็นอย่างดี นายกลมและนางผมและคณะจึงรวมตัวกันตั้งบ้านเรือนที่นี่เมื่อ ปี พ.ศ. 2346 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2356 มีชาวบ้านเวียงคุก อำเภอเมืองหนองคายได้อพยพมาเพิ่มอีก เมื่อมีบ้านเรือนมากขึ้นจึงได้ตั้งชื่อบ้าน ว่า “บ้านป่าสักเหนือ” ตามสถานที่ตั้งหมู่บ้านที่มีป่าสักขนาบอยู่ 2 ข้าง คือ ทางทิศตะวันออกและทางทางตะวันตก โดยมีนายกล่า นวลสุข เป็นผู้นำ ปัจจุบันมี นายสมโภชน์ ภูจอมคาเป็นผู้ใหญ่บ้าน

บ้านท่ากฐินหมู่ 4 ประวัติความเป็นมาของบ้านกฐิน กล่าว คือ ได้มีกลุ่มชาวลาวข้ามฝั่งมาจากประเทศ สปป.ลาว มาพักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านประมาณ 10 ครอบครัว คือ กลุ่มนายอินทร์ ไชยทำมา หรือชาวบ้านเรียกว่า “พ่อตู้ทา” ต่อมามีเจ้าเมืองจากเวียงจันทน์ คือ พระเจ้าไชยเชษฐา ได้นำขบวนผ้าพระกฐินเดินทางไปทอดถวายที่วัดพระพุทธบาท เวินกลุ่ม พระองค์ทรงเดินทางโดยทางน้ำการเดินทางไปวัดดังกล่าวจะต้องนั่งเรือพระที่นั่งขึ้นไปทางทิศเหนือของเวียงจันทน์ เมื่อเรือพระที่นั่งมาถึงปากห้วยยางบริเวณพื้นที่ตรงนี้มีแก่งหินทำให้เรือพระที่นั่งชนกับแก่งหินเกิดความเสียหายอย่างมาก คณะทอดผ้าพระกฐินจึงหยุดพักที่ตรงนี้ แล้วต่อมาชาวบ้านจึงนำชื่อพระกฐินมาตั้งรวมกันกับท่าน้ำ เป็นชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านท่ากฐิน”

ผู้เขียน นายปฐมพงษ์ วรรณประเก

อ้างอิง

เพจ ไทพวนบ้านหม้อ