ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี



ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี


ประเพณีสงกรานต์ส่งข้าวแช่ชาวมอญ


เป็นประเพณีที่สืบเนื่องจากการฉลองเทศกาลสงกรานต์อันเป็นวันขึ้นปีใหม่สมัยโบราณ จึงมีการทำข้าวแช่เฉลิมฉลองเพื่อความเป็นสิริมงคล การทำข้าวแช่ของชาวมอญในสมัยโบราณจะมีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อน เพราะชาวมอญถือว่าข้าวแช่เป็นอาหารศักดิ์สิทธิ์สำหรับการบูชาเทพยาดา การหุงข้าวแช่แบบโบราณจะต้องมีการตำข้าวแช่ ๗ ครั้ง ฝัดข้าว ๗ หน ขัดข้าวให้สะอาด ๗ รอบ คัดเมล็ดข้าวสารนำไปหุงบนเตาไฟบริเวณนอกชายคาบ้านแต่เช้า เมื่อข้าวสุกพอเมล็ดสวย เทใส่กระบุงลงไปผัดเมล็ดข้าวในน้ำเย็นสะอาดจนกว่าเมล็ดข้าวสวยหมดยางข้าวเทใส่ผ้าขาวบางวางลงในกระบุงให้สะเด็ดน้ำ

การเตรียมน้ำข้าวแช่ ต้องเตรียมแกลบและรำอ่อนผสมเคล้าให้เข้ากัน นำมาติดไฟให้เกิดควัน ใช้หม้อดินครอบอบประมาณครึ่งชั่วโมง เอาแกลบและรำออกตักน้ำฝนลงหม้อดิน อบด้วยดอกมะลิอีกหนึ่งคืน

เครื่องข้าวแช่ส่วนใหญ่ประกอบด้วย หัวไชโป๊ะผัดไข่ ปลาป่น เนื้อฝอยหวาน ไข่เค็ม ขนมหวาน เช่น กาละแม ข้าวเหนียวแดง ผลไม้ เช่น แตงโม

หม้อสำหรับใส่ข้าวแช่ของชาวมอญ เรียกว่า ฮะมายซังกรานต์ หรือ หม้อข้าวแช่ เป็นหม้อดินเผา ปากผาย ก้นแบน มีลวดลายรอบตัวหม้อ เมื่อเตรียมสำรับข้าวแช่เรียบร้อยแล้ว จะนำไปวางไว้ที่ศาล เพียงตา หรือ ฮ้อยซังกรานต์ (บ้านสงกรานต์) เพื่อบูชาเทพยดาสำรับหนึ่ง สำรับอื่น ๆ ก็จะนำไปถวายพระที่วัด และส่งให้ญาติผู้ใหญ่เพื่อแสดงความเคารพ ขอพรผู้ใหญ่ นับเป็นกุศโลบายของคนโบราณที่ใช้ การส่งข้าวแช่ เป็นสื่อในการทำความรู้จักญาติพี่น้องต่างหมู่บ้าน ต่างชุมชน และยังแสดงถึงภูมิปัญญาด้านอาหาร และวัฒนธรรมประเพณีได้อย่างเหมาะสม

ข้อมูลเนื้อหาเรื่องราวโดย

1.http://pathumthanitourist.com/th/2015-08-02-14-00-29/2015-08-05-10-12-52/item/37-2015-aug-05-02-12-29