ปราสาทผึ้ง

วัฒนธรรมประเพณี

ชาวตำบลคลองหาด มีความเชื่อว่าการทำบุญ ด้วยการถวายต้นผึ้ง เป็นบุญกุศลอย่างยิ่ง ดังนั้นในวันออกพรรษาของทุกปี ชาวคุ้มวัดต่างๆจึงนำขี้ผึ้งไปถวายวัดเพื่อให้พระท่านได้นำไปทำเทียนน้ำมนต์และเทียนเพื่อจุดให้แสงสว่างตอนกลางคืนแรกเริ่มก็ทำโครงต้นผึ้งง่ายๆด้วยการตัดต้นกล้วยมาประดิษฐ์เป็นหอทรงตะลุ่มสี่เหลี่ยมซ้อนกัน แล้วนำขี้ผึ้งมาทำเป็นดอกผึ้งเสียบรอบๆหอที่ทำขึ้น แล้วแห่ไปถวายวัด ระยะต่อมามีการพัฒนาโครงด้วยไม้เป็นทรงสิม คือมีเสา 4 เสา มีหน้าจั่ว 4 ด้าน แล้วเอาก้านกล้วยติดรอบๆโครงไม้ จึงเอาดอกผึ้งเสียบบนก้านกล้วยอีกที ต่อมามีช่างที่มีความรู้และความคิดริเริ่ม ชื่อนายช่างเสถียร ได้เริ่มทำปราสาทผึ้งจริงๆ ทำเป็นรูปปราสาทเรือนยอด เลียนแบบปราสาทราชวัง ทำด้วยไม้เป็นโครงปราสาท แล้วหล่อเทียนเป็นรูปลายไทยติดรอบๆโครงไม้ วัดที่แรกเริ่มทำก็มีวัดเขาช่องแคบ วัดป่าตะแบก ซึ่งยืมแบบพิมพ์จากช่างคนเดียวกันไปทำ เมื่อมีการแข่งขัน

ปราสาทผึ้งจึงผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะมาตลอด ปัจจุบันมีช่างที่ทำปราสาทผึ้งเก่งๆหลายท่าน ในพื้นที่บ้านป่าตะแบก ม.11 และบ้านเขาช่องแคบ ม.12 ในแต่ละครั้งก็จะมีทีมงานของแต่ละหมู่บ้านที่ช่วยกันทำปราสาทผึ้งอยู่ ปัจจุบันนี้ ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง ถือว่าเป็นประเพณีที่สำคัญของตำบลคลองหาด ดังนั้นเมื่อถึงคราวออกพรรษาทุกๆปี คุ้มวัดต่างๆ จึงเชิญชวนช่างที่เก่งๆมาทำปราสาทผึ้งให้ แล้วแห่ไปรอบๆตำบลคลองหาด เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ออกมาร่วมแห่และทำบุญร่วมกัน อันแสดงถึงความเชื่อมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีดีงามของคนในพื้นที่ตำบลคลองหาดได้เป็นอย่างดี

ประเพณีการแห่ปราสาทผึ้ง

ประเพณีของชาวอีสาน ถือว่าการทำบุญด้วยการถวายต้นผึ้ง เป็นบุญกุศลสูงส่ง ดังนั้นในการถวายทานให้แก่ผู้ตายในงานแจกข้าว (งานทำบุญให้ผู้ตาย) เมื่อถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์แล้ว ก็ถวายหอผึ้งเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้วายชนม์ ต่อมา ประเพณีดังกล่าวได้มีกลุ่มคนจัดขึ้นมาอย่างใหญ่โตด้วยความศรัทธาในเทศกาลออกพรรษา พระพุทธเจ้าจะเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อมาโปรดเวนัยสัตว์ในโลกมนุษย์ให้พ้นทุกข์ด้วยประเพณีดังกล่าว กลุ่มตำบลคลองหาดที่มีคุ้มวัดต่าง ๆ จึงได้จัดทำหอผึ้ง หรือปราสาทผึ้ง ถวายที่วัดเป็นประจำทุกปี ด้วยมีความเชื่อหลายประการ คือ

1. พุทธศาสนิกชนเชื่อกันว่า การทำบุญในวันออกพรรษา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเปิดโลกทั้งสามให้มองเห็นความเป็นอยู่ซึ่งกันและกัน และโดยพุทธานุภาพแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวบ้านได้มองเห็นหอผึ้งที่ตนทำถวาย

2. เป็นการทำบุญที่ญาติพี่น้องที่อยู่ห่างไกลได้มาพบกัน ได้มีโอกาสทำบุญร่วมกัน และร่วมประเพณีแข่งเรืออย่างสนุกสนาน