วัดจันทร์สามัคคี


วัดจัทรสามัคคี

ชุมชนโคกแมงเงา ตำบลมีชัย

แหล่งเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนา

ชุมชนโคกแมงเงา หมู่ที่ 7 ตำบลมีชัย อำเภอเมืองหนองคาย หนองคาย 43000 โทรศัพท์ : 081 049 7474

เดิมมีเนื้อที่ ๖ ไร่ ๓ งาน ปัจจุบันได้ขยายเนื้อที่ออกเป็น ๔๖ ไร่ บริเวณวัดหนาแน่นไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ มีความร่มรื่น เงียบสงบ เหมาะเป็นสถานที่สัปปายะและปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้จึงมีพระเถระผู้ใหญ่ อาทิ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่เทสก์ เทสฺรังสี หลวงปู่บุญมา ปัญญาภาโส หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ หลวงปู่บุญมี ปวโร และหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย เดินทางมาพักในระหว่างเดินธุดงค์ จากจังหวัดสกลนครมายังจังหวัดหนองคายเพื่อพำนักก่อนออกเดินธุดงค์ต่อไปยังประเทศลาว

ปัจจุบัน “วัดจันทรสามัคคี” ได้รับการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ในด้านศาสนทายาท ศาสนสถาน ศาสนธรรม และศาสนวัตถุ ทั้งยังเป็นสำนักเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม - บาลี ดีเด่นของกรมการศาสนาในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ และเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ประจำจังหวัดหนองคาย (ธรรมยุต) อีกทั้งเป็นศูนย์อบรมปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดหนองคาย

พระเดชพระคุณพระเทพบัณฑิต ขณะที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดจันทรสามัคคีได้ดำรงตำแหน่งบริหารกิจการคณะสงฆ์ในฐานะเป็นเจ้าคณะจังหวัดหนองคาย (ธรรมยุต) ได้จัดให้เป็นศูนย์กลางของการประสานงานระหว่างเจ้าคณะระดับต่าง ๆ ซึ่งในทุกไตรมาส ๓ เดือน จะมีการประชุมคณะสงฆ์ที่วัดจันทรสามัคคีแห่งนี้ ในส่วนการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วัดจันทรสามัคคีได้จัดตั้งสถานีวิทยุขึ้นเพื่อเผยแผ่ธรรมะและกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา

วัดจันทรสามัคคีเป็นมีพระพุทธรูปโบราณประดิษฐานอยู่หลายองค์ เนื่องจากบริเวณวัดเดิมนั้นเป็นที่ฝังพระพุทธรูปโบราณ แต่พระพุทธรูปองค์ที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดคือ “หลวงพ่อพระเจ้าหมื่นเมืองแสน” ที่สร้างในสมัยคราวเดียวกับหลวงพ่อพระสุก พระเสริม พระใส หลวงพ่อพระเจ้าหมื่นเมืองแสนได้แสดงปาฏิหาริย์ปรากฏให้เห็นตั้งแต่เริ่มประกอบพิธีเททองหล่อองค์จำลองแล้ว แต่ยังมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นในคืนก่อนวันที่จะประกอบพิธีเททองหล่อ ขณะที่คณะช่างที่มาจากกรุงเทพมหานครประมาณ ๑๐๐ คนเตรียมพิธีเททองหล่อ ทุกคนได้เห็นแสงสว่างสีเขียวนวลลักษณะเป็นลูก ๆ ลอยมาแล้วหายเข้าองค์หุ่นพระเจ้าหมื่นเมืองแสน เกิดพระอาทิตย์ทรงกลดตลอดระยะเวลาเททอง ทำให้อาณาประชาราษฏร์ประชาชนที่มาร่วมพิธีต่างก็อัศจรรย์ในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อพระเจ้าหมื่นเมืองแสน จึงเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั้งสองฝั่งโขงตลอดมาตราบจนทุกวันนี้