ประเพณี

บุญคูณลาน

ประเพณี "บุญคูณลาน"หรือการสู่ขวัญข้าวของชาวอีสาน

คำว่า "คูณ"หมายถึง เพิ่ม หรือทำให้มากขึ้น ส่วนคำว่า "ลาน"คือ สถานที่กว้างๆ สำหรับนวดข้าว ซึ่งการนำข้าวที่นวดแล้วกองขึ้นให้สูง เรียกว่า "คูณลาน" สำหรับประเพณีบุญคูณลานจัดขึ้นในเดือนยี่ตามปฏิทินอีสานของทุกปี ทำให้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่างาน "บุญเดือนยี่"ซึ่งการทำบุญคูณลานของแต่ละพื้นที่จะไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่กับการเก็บเกี่ยวข้าวว่าจะเสร็จเมื่อไร วันที่จะขนข้าวขึ้นเล้า (ฉางข้าว) จะเป็นวันทำบุญคูณลานและทำที่นานั่นเลย

แต่ก่อนที่จะทำการนวดข้าวนั้นให้ทำพิธีย้ายแม่ธรณีออกจากลานเสียก่อน และบอกกล่าวแม่โพสพโดยมีเครื่องประกอบพิธี อาทิ ใบคูณ ใบยอ ยาสูบ เขาควายหรือเขาวัว หมาก ไข่ ดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น จากนั้นเมื่อพร้อมแล้วก็จะบรรจุลงในก่องข้าว (หรือกระติ๊บข้าว) ยกเว้นน้ำและเขาควาย ซึ่งเรียกว่า"ขวัญข้าว"ก่อนเชิญแม่ธรณีออกจากลานและบอกกล่าวแม่โพสพ แล้วจึงนำเครื่องประกอบพิธีบางส่วน ไปวางไว้ที่หน้าลอมข้าว (กองข้าว) เสร็จแล้วเจ้าของนาก็ตั้งอธิษฐาน หลังอธิษฐาน แล้วก็ดึงเอามัดข้าวที่ฐานลอมข้าวออกมานวดก่อน แล้วเอาฟ่อนฟางข้าวที่นวดแล้วห่อหุ้มก่องข้าวมัดให้ติดกัน เอาไม้คันหลาวเสียบฟาง เอาตาแหลวผูกติดมัดข้าวที่เกี่ยวมาจากนาตาแฮกเข้าไปด้วย แล้วนำไปปักไว้ที่ลอมข้าวเป็นอันว่าเสร็จพิธี ต่อไปก็ลงมือนวดข้าวทั้งลอมได้เลย เมื่อนวดเสร็จก็ ทำกองข้าวให้เป็นกองสูงสวยงาม เพื่อจะประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แก่ข้าว โดยเอาต้นกล้วย ต้นอ้อย และตาแหลวไปปักไว้ข้างกองข้าวทั้ง 4 มุม นำตาแหลวและขวัญข้าวไปวางไว้ยอดกองข้าวพันด้วยด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าวแล้วโยงมายังพระพุทธรูป ถึง วันงานก็บอกกล่าวญาติพี่น้องให้มาร่วมทำบุญ นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ เสร็จแล้วก็ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์อนุโมทนาประพรมน้ำมนต์ นำพระพุทธมนต์ไปรดกองข้าว วัว ควาย เมื่อเสร็จพิธีทางพระสงฆ์แล้วก็จะเป็นการประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แก่ข้าว ซึ่งจะกระทำที่ลานนาหรือที่ลานบ้านก็ตามแต่จะสะดวก

หลังสู่ขวัญข้าวเสร็จก็จะเป็นการขนข้าวขึ้นยุ้ง ก่อนขนขึ้นยุ้งเจ้าของจะต้องไปเก็บเอาใบคูณและใบยอเสียบไว้ที่เสายุ้งข้าว ทุกเสา ซึ่งถือเป็นเคล็ดว่าขอให้ค้ำคูณยอ ๆ ยิ่ง ๆ ขึ้นไป และเชิญขวัญข้าวและแม่โพสพขึ้นไปยังเล้าด้วย

เนื่องมาจากชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว จะหาบฟ่อนข้าวมารวมกันไว้ที่ลานนวดข้าว แล้วนำมาวางกองเรียงกันให้สูงขึ้นเรียก คูณลาน ชาวนาที่ทำนาได้ผลเมื่อต้องการจะทำบุญ บำเพ็ญกุศลให้ทาน ก็จะสัดขึ้นที่ลานเป็นสถานที่ทำบุญทำทาน โดยมีญาติพี่น้องมาทำบุญ นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ปะพรมน้ำมนต์ ขึงด้ายสายสิญจน์ รอบกองข้าว เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์แล้ว ถวายอาหาร บิณฑบาตเสร็จแล้วจึงเลี้ยงคนที่มาในงาน


มีเรื่องเล่าว่า พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ มีชาวบ้านสองพี่น้องทำนาร่วมกัน เมื่อข้าวเป็นน้ำนมน้องชายอยากทำข้าวมธุปายาส ถวายแด่พระสงฆ์มีพระกัสสปะเป็นประธานชวนพี่ชาย แต่พี่ชายไม่ยอมจึงแบ่งนากันทำ พอน้องได้กรรมสิทธิ์ในที่นาแล้ว ก็เอาข้าวในนาของตนทำทานถึง ๙ ครั้ง คือเวลาข้าวเป็นน้ำนม ๑ ครั้งเป็นข้าวเม่า ๑ ครั้ง เก็บเกี่ยวข้าว ๑ ครั้ง จักตอกมัดหนึ่งครั้ง มัดฟ่อนครั้งหนึ่ง กองในลานครั้งหนึ่ง ทำเป็นลอมครั้งหนึ่ง เวลาฟาดครั้งหนึ่ง ขนใส่ยุ้งฉาง การถวายทานทุกครั้ง น้องชายปรารถนาเป็นพระอรหันต์ ครั้นมาถึงศาสนาพระโคดมน้องชายได้เกิดเป็นพราหมณ์ นามว่าโกญทัญญะได้ออกบวช เป็นพระภิกษุองค์แรก ได้สำเร็จพระอรหันต์เป็นองค์แรกได้รับฐานันดรศักดิ์ที่รัตตัญญู ส่วนพี่ชายได้ถวายข้าวในนาข้าวเพียงครั้งเดียวคือในเวลาทำนาแล้วตั้งปณิธานขอให้สำเร็จเป็นอริยบุคคล ครั้นมาถึงศาสนาพระโคดมได้มาเกิดเป็นสุภัททปริพาชกบวชในพระพุทธศาสนา แต่ไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ดับขันธ์ปรินิพพาน ได้เข้าไปทูลถามความสงสัยกับพระองค์ ภายในม่าน เวลาจนเทศน์ได้สำเร็จเป็นอนาคามีเป็นอริยบุคคลองค์สุดท้าย เพราะถวายข้าวเป็นทานมีอานิสงส์มากจึงถือเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้

พิธีกรรม

ในการทำบุญคูณลาน จะต้องจัดเตรียมสถานที่ทำบุญที่ลานนวดข้าวของตน การนำข้าวที่นวดแล้วมากองขึ้นให้สูงเรียกว่า คูณลาน จากนั้นนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ จัดน้ำอบ น้ำหอมไว้ประพรมขึงด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าว เมื่อพระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบแล้ว ถวายภัตตาหารเพลแก่พระภิกษุสงฆ์ จากนั้นนำข้าวปลาอาหาร มาเลี้ยงญาติพี่น้อง ผู้มาร่วมทำบุญ พระสงฆ์ฉันเสร็จก็จะประพรมน้ำพุทธมนต์ให้กองข้าว ให้เจ้าภาพและทุกคนที่มาในงาน เสร็จแล้วก็จะให้พรและกลับวัด เจ้าภาพก็จะนำน้ำพระพุทธมนต์ที่เหลือไปประพรมให้แก่วัว ควาย ตลอดจนเครื่องมือในการทำนาเพื่อความเป็นสิริมงคล ในปัจจุบันนี้ บุญคูณลานค่อยๆเลือนหายไป เนื่องจากไม่ค่อยมีผู้สนใจประพฤติ ปฏิบัติกัน ประกอบกับในทุกวันนี้ชาวนาไม่มีลานนวดข้าวเหมือนเก่าก่อน เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จ และมัดข้าวเป็นฟ่อนๆ แล้วจะขนมารวมกันไว้ ณ ที่ที่หนึ่งของนา โดยไม่มีลานนวดข้าว หลังจากนั้นก็ใช้เครื่องสีข้าวมาสีเมล็ดข้าวเปลือกออกจากฟางลงใส่ในกระสอบ และในปัจจุบันยิ่งมีการใช้รถไถนา เครื่องสีข้าว เป็นส่วนมากจึงทำให้ประเพณีคูณลานนี้เลือนหายไป แต่ก็มีบางหมู่บ้านบางแห่งที่ยังรวมกันทำบุญโดยนำข้าวเปลือกมา กองรวมกัน เรียก "กุ้มข้าวใหญ่" ซึ่งจะเรียกว่าบุญกุ้มข้าวใหญ่ แทนการทำบุญคูณลาน ซึ่งนับว่าเป็นการประยุกต์ใช้ "ฮีตสิบสอง คองสิบสี่" ให้เหมาะกับกาลสมัย

ตำแหน่งที่ตั้ง : ตั้งอยู่ในวัดป่าอุ่มจาน ตำบลอุ่มจาน อำเภอประจักษ์ศิลปาคม อุดรธานี

การเดินทาง ใช้เส้นทางถนน : ถนนท้องถิ่น อด. 2075 (บ้านสวนมอญ-บ้านน้ำเที่ยง) กุมภวาปี อำเภอ ประจักษ์ศิลปาคม อุดรธานี 41110

เบอร์โทร : 063-0502169

Facebook: วัดป่าอุ่มจาน