ชุมชนตลาดล่าง 100 ปี

พิพิธภัณฑ์

ชุมชนตลาดล่างตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสวีและสถานีรถไฟสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยดั้งเดิมที่มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2462 เมื่อนายมุตัน แซ่ฮุน คหบดีชาวจีนได้ซื้อที่ดินจากชาวบ้านเพื่อสร้างโรงสีข้าว โรงเลื่อย และบ้านพักอาศัยของครอบครัว หลังจากนั้นนายมุตันและครอบครัวได้สร้างห้องแถวไม้สองชั้นตลอดแนวสองฟากถนนวานิชบำรุงซึ่งเป็นถนนหลักของชุมชน เพื่อใช้เป็นบ้านเช่าพักอาศัยและค้าขายจนกลายเป็นตลาดร้านค้าที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น การค้าขายบนถนนวานิชบำรุงเจริญเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนสอนภาษาจีน โรงภาพยนตร์ และโรงไฟฟ้าเอกชนแห่งแรกและแห่งเดียวขึ้นในชุมชน จนกระทั่งเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา การค้าขายเริ่มซบเซาลงเนื่องจากท่าเรือของชุมชนไม่ได้รับความนิยมเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา และมีการย้ายการค้าขายไปยังพื้นที่อื่น รวมทั้งการปิดตัวลงของโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนสอนภาษาจีน โรงภาพยนตร์ และโรงไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอาคารและสิ่งปลูกสร้างบนถนนวานิชบำรุงก็ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดีจากลูกหลานของนายมุตัน และเจ้าของอาคารรายอื่นๆ โดยในปี พ.ศ. 2543 ชุมชนตลาดล่างได้ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “ยุวชนทหารเปิดเทอมไปรบ” ของผู้กำกับ นายยุทธนา มุกดาสนิท

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ของชุมชน คือช่องทางเดินใต้พื้นชั้นบน กว้าง 1.20 - 1.50 เมตร เสาลอยด้านหน้าอาคารเป็นเสาสี่เหลี่ยมจัตุรัสใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก มีการตกแต่งด้วยการเซาะร่อง มีกันสาดยื่นเพื่อกันแดดกันฝน หลังคามีความลาดชันสูง บานประตูชั้นล่างเป็นบานเฟี้ยมไม้แผ่นเรียบ ส่วนใหญ่มี 8 - 10 บาน แล้วแต่ความกว้างของเรือนแถวไม้ เหนือประตูบานเฟี้ยมชั้นล่าง และเหนือหน้าต่างชั้นบนเป็นช่องลมสำหรับระบายอากาศ มีทั้งช่องลมไม้ตีทแยง และช่องลมไม้แกะสลักเป็นลายพรรณพฤกษาแบบศิลปะจีน หน้าต่างเป็นบานไม้เปิดคู่ อาคารบางหลังมีระเบียงด้านหน้า ราวระเบียงเป็นไม้ มีลวดลายสวยงาม พื้นที่ใช้สอยชั้นล่างเป็นห้องโถงโล่งสำหรับการค้าขาย ปัจจุบันใช้เป็นที่พักอาศัยเป็นส่วนใหญ่ ส่วนชั้นบนเป็นที่พักอาศัยตั้งแต่แรกสร้าง

ชุมชนตลาดล่างเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยดั้งเดิมที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนเทคโนโลยีการก่อสร้างอาคารในอดีตอันเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์ที่ยังคงเหลืออยู่ ท่ามกลางกระแสการพัฒนาเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปทั่วทุกภูมิภาค ชุมชนนี้จึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของอำเภอสวีที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนจากทางน้ำสู่ทางบกได้อย่างชัดเจน