ข้อมูลในเว็ปไซต์นี้ จะถูกย้ายไปยัง www.nextpert.co.th ...สามารถเข้าดูข้อมูล Update ล่าสุดได้ที่เว็ปไซต์
กรอบสัญลักษณ์ GD&T เป็นสัญลักษณ์ในแบบงานที่ใช้ในการควบคุมพื้นผิว (Feature) หรือตัวแทนของพื้นผิว (Feature of Size) ของชิ้นงาน โดยกรอบสัญลักษณ์ GD&T จะประกอบ 3 ส่วน ได้แก่
ส่วนของสัญลักษณ์ (Symbol)
ส่วนของค่าพิกัดความคลาดเคลื่อน (Tolerance value)
ส่วนของดาตั้มอ้างอิง (Datum reference)
ส่วนของสัญลักษณ์ เป็นส่วนของการกำหนดประเภทของการควบคุม ซึ่งการควบคุมรูปร่างรูปทรง (Geometry control) จะประกอบด้วย 5 กลุ่มการควบคุมได้แก่
การควบคุมรูปทรง (Form Control) ซึ่งประกอบด้วย ความตรง (Straightness) ความราบ (Flatness) ความกลม (Circularity) และความเป็นทรงกระบอก (Cylindricity)
การควบคุมการจัดวางทิศทาง (Orientation Control) ซึ่งประกอบด้วย ความตั้งฉาก (Perpendicularity) ความขนาน (Parallelism) และความเป็นมุม (Angularity)
การควบคุมตำแหน่ง (Location Control) ซึ่งประกอบด้วย ความคลาดเคลื่อนของตำแหน่ง (Tolerance of Position) ความสมมาตร (Symmetry) และความร่วมศูนย์ร่วมแกน (Concentricity)
การควบคุมการเบี่ยงเบนเนื่องจากการหมุน (Runout) ซึ่งประกอบด้วย ความเบี่ยงเบนเนื่องจากการหมุนในแต่ละระนาบ (Circular Runout) และความเบี่ยงเบนเนื่องจากการหมุนทั้งหมด (Total Runout)
การควบคุมรูปโครงร่างใดๆ (Profile) ซึ่งประกอบด้วย การควบคุมรูปโครงร่างของเส้นใดๆ (Profile of a Line) และการควบคุมรูปโครงร่างของพื้นผิวใดๆ (Profile of a Surface)
ส่วนของค่าพิกัดความคลาดเคลื่อน เป็นส่วนที่ใช้ในการกำหนดลักษณะของขอบเขต (Tolerance zone shape) และค่าพิกัดความคลาดเคลื่อน (Tolerance value) ของการควบคุมรูปร่างรูปทรง โดยที่ค่าความคลาดเคลื่อนคือระยะช่องว่างของขอบเขตความคลาดเคลื่อน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้หลายลักษณะ ได้แก่
ขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนที่เป็นเส้นคู่ขนาน (Parallel Lines)
ระนาบคู่ขนาน (Parallel Planes)
ขอบเขตทรงกระบอก (Cylindrical Boundary)
ขอบเขตทรงกลม (Spherical Boundary)
ขอบเขตวงกลม 2 วงที่ร่วมศูนย์กัน (2 Concentric Circles)
ขอบเขตทรงกระบอก 2 ทรงกระบอกที่ร่วมแกนกัน (2 Concentric Cylinders)
ขอบเขตของเส้นออฟเซต (2 Offset Lines)
ขอบเขตของพื้นผิวออฟเซต (2 Offset Surfaces)
ขอบเขตที่มีลักษณะเฉพาะตัว (Uni-Form Tolerance Zone)
ส่วนของดาตั้มอ้างอิง เป็นส่วนของการกำหนดการควบคุมระดับความเป็นอิสระของการเคลื่อนที่ (Degree of Freedom) ของสิ่งที่ถูกควบคุมโดยการกำหนดดาตั้ม (Datum) ซึ่งจำนวนลำดับของดาตั้มอ้างอิงจะสามารรถกำหนดได้ไม่เกิน 3 อันดับ ได้แก่
ดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 1 (Primary Datum)
ดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 2 (Secondary Datum)
ดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 3 (Tertiary Datum)
นอกจากนี้ในส่วนของพิกัดความคลาดเคลื่อนและส่วนของดาตั้มอ้างอิง อาจจะมีการกำหนดสัญลักษณ์ปรับปรุง (Modifier) ลงไปในกรอบสัญลักษณ์ เช่น
สภาวะเนื้อวัสดุมากสุด (Maximum Material Condition)
สภาวะเนื้อวัสดุน้อยสุด (Least Material Condition)
ขอบเขตเนื้อวัสดุมากสุด (Maximum Material Boundary)
ขอบเขตเนื้อวัสดุน้อยสุด (Least Material Boundary)
การฉายขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อน (Projected Tolerance Zone)
การควบคุมระนาบสัมผัส (Tangent Plane)
การจัดสรรขอบเขตที่ไม่เท่ากัน (Unequally Disposed Profile)