แหล่งท่องเที่ยว
อุทยานสมเด็จย่า
"ไปชมดอกบัว ไปทัวร์อุทยานสมเด็จย่า"
อุทยานสมเด็จย่า (ฐานวรพัฒน์) เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ ในท้องที่จังหวัดมุกดาหารแห่งเดียว คือ อุทยานสมเด็จย่า ประวัติความเป็นมา สืบเนื่องมาจากชุดควบคุมทางยุทธวิธีที่ 06 ตั้งขึ้นตามคำสั่งกองทัพภาคที่ 2 ส่วนหน้า ในปลายปี 2518 มี บก.ชค.อยู่ที่บ้านนาม่วง อำเภอดอนตาล จังหวัดนครพนม ในขณะนั้น บนพื้นที่ประมาณ 18 ไร่ ติดลำห้วยเหี้ย การบุกเบิกปรับปรุงฐานครั้งแรก ได้รับการสนับสนุนจาก นายประมาณ คำวงษา หัวหน้าหน่วยนิคมสหกรณ์ดอนตาล นำเจ้าหน้าที่ และเครื่องจักรกลเข้าบุกเบิก ผบ.ชค.06 คนแรกคือ พันเอก หม่อมหลวงประทีป ทินกร เป็น ผบ.ชค. มีกำลังทหารหลักจาก ผส.6 ร.พัน 2 มี พ.ท.บรรเทา ใยเกตุ เป็น ผบ. พัน จนถึงเดือนกันยายน 2519 ร.ท.วรพัฒน์ อัมพรพงค์ ได้เสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่ปะทะกับ ผกค. บริเวณใกล้ฐาน เพื่อเป็นอนุสรณ์ แด่ ร.ท.วรพัฒน์ฯ จึงได้ตั้งชื่อ บก.ชค. 06 ว่า "ฐานปฏิบัติการวรพัฒน์ "
ความสำคัญทางประวัติศาสตร์
ช่วงวันที่ 5 - 7 มิถุนายน 2520 สมเด็จย่าฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระที่นางเธอเสด็จประทับแรมที่ฐานวรพัฒน์ ท่ามกลางความแร้นแค้นและภยันตรายรอบด้าน โดยมีพลโทเปรม ติณสูลานนท์ แม่ทัพภาคที่ 2 พร้อมเหล่าทหารถวายการต้อนรับและอารักขาฝ่ายพลเรือนมี นายพิศาล มูลศาสตร์สาธร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นต้น นับเป็นฐานปฏิบัติการทหารแห่งแรกและแห่งเดียวในประวัติศาสตร์กองทัพไทย ที่สมเด็จย่าฯ ซึ่งเป็นพระราชมารดาของพระมหากษัตริย์ไทย ถึง 2 พระองค์ สละพระวรกายมาเป็นมิ่งขวัญแผ่บุญญาบารมีให้กับเหล่าทหาร ตำรวจ พลเรือน รวมทั้งพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดารของพระองค์ ถึง 2 คืน 3 วัน จากพระบารมีดังกล่าวได้นำมาซึ่งความสงบสุขในเวลาต่อมาให้กับประเทศไทย คือ การกลับใจเข้าร่วมพัฒนาชาติไทยของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เป็นการสิ้นสุดสงครามปฏิวัติระหว่างคนไทยด้วยกัน ดังคำปราศรัยของ ฯพณฯ ท่านองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2538 ต่อข้าราชการจังหวัดมุกดาหาร ที่ฐานวรพัฒน์ รวมความไว้ 2 ประการดังนี้ “เป็นฐานปฏิบัติการทางทหารแห่งเดียวในประเทศไทยที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี เสด็จประทับแรมและเป็นสถานที่ซึ่งแสดงถึง ความร่วมมือร่วมใจของข้าราชการและประชาชน สามารถทำให้บังเกิดความสงบสุขในพื้นที่ได้ ควรที่ชาวมุกดาหารทุกหมู่เหล่า ต้องรักษาอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ไว้กับบ้านเมืองตลอดไป”
หลังจากนั้น นายพิชัยลักษณ์ เพชรบุรีกุล นายอำเภอดอนตาล ได้ปรึกษากรรมการอำเภอดอนตาล พิจารณาตั้งชื่อใหม่ให้เหมาะสมว่า "อุทยานสมเด็จย่า ( ฐานวรพัฒน์ ) " และมีโครงการก่อสร้างหอพัก บ้านรับรองไว้รองรับ การอบรม สัมมนา มีร้านอาหาร ไว้บริการนักท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นศูนย์รวมศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น และผลผลิต ด้านการอาชีพ ของราษฎร เพื่อเสริมรายได้ต่อไป
ข้อมูลทั่วไป
อุทยานสมเด็จย่า (ฐานวรพัฒน์) เป็นอุทยานที่มีพื้นที่อยู่บนแนวรอยต่อ 3 จังหวัด คือ อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร อำเภอชานุมาน และอำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ มีพื้นที่ประมาณ 321 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 144,375 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2535 เป็นลำดับที่ 75 ของประเทศ เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีสภาพป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์มาก มีความงามทางธรรมชาติให้สัมผัสหลายแบบ เช่น เดินชมทิวทัศน์บนยอดภูเขา ความมหัศจรรย์ของโขดหิน ชมไม้ดอกบนทุ่งหญ้าช่วงปลายฤดูฝนและชมดอกบัวธรรมชาติบนยอดเขาที่ชาวท้องถิ่นเรียกว่า “ภูเขาแห่งดอกบัว” สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนทอดตัวเป็นแนวยาวจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ลงสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีความสูงโดยเฉลี่ย 350-450 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง มียอดสูงที่สุดคือ ภูกระแซะ สูงประมาณ 491 เมตรเทือกเขาเหล่านี้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย เช่น ห้วยทม ห้วยก้านเหลือง ซึ่งไหลรวมลงสู่พื้นราบโดยรอบอุทยานฯ ซึ่งประกอบด้วยป่าอันอุดมสมบูรณ์หลายชนิด พื้นที่หลายแห่งมีลานหินขนาดใหญ่ซึ่งชาวท้องถิ่นเรียกว่า “ดาน”กระจายอยู่ตามป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งกระจายอยู่ตามเทือกเขาต่างๆ มีไม้ที่มีค่าขึ้นอยู่หลายชนิด เช่น มะค่าโมง ประดู่แดง พยุง ชิงชัน บริเวณพื้นที่ป่าเหล่านี้ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด โดยเฉพาะที่เทือกเขาภูสระดอกบัวซึ่งเป็นพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งน้ำ สามารถพบสัตว์ป่าได้หลายชนิด เช่น เก้ง หมูป่า กระต่ายป่า ลิง บ่าง เม่น กระจง และสัตว์ปีกประเภทต่าง ๆ ได้แก่ ไก่ฟ้า ไก่ป่า เป็นต้น บริเวณอุทยานฯ ประกอบด้วยทิวทัศน์ที่สวยงาม ความวิจิตรพิสดารของหินผามีความเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ตลอดจนร่องรอยของการต่อสู้อันเกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง จึงทำให้พื้นที่แห่งนี้มีศักยภาพทางการท่องเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯ ภูสระบัว ได้แก่ ภูผาแต้มเป็นหน้าผาประกอบด้วยรูปรอยฝ่ามือและภาพเขียนสีโบราณก่อนประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่าเป็นยุคเดียวกับภาพเขียนสีในถ้ำฝ่ามือแดงของอุทยานแห่งชาติภูผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี หน้าผามีลักษณะคล้ายถ้ำเพราะหินไหลเลื่อนลงมามีความยาวประมาณ 60 เมตร ภาพเหล่านี้อยู่สูงจากพื้นถ้ำประมาณ 3-5 เมตร เป็นภาพมือและภาพสัญลักษณ์รวม 98 ภาพ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างอย่างน่าสนใจ นักท่องเที่ยวที่สนใจเดินเท้าใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
หน่วยงานที่รับผิดชอบ
ที่ทำการปกครองอำเภอดอนตาล ถนนเหมลา ตำลดอนตาล อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร 49120
เบอร์โทรศัพท์ 0 4268 9052, 0 4268 9060