ภูมิปัญญาท้องถิ่น

ลอบ และ ไซ ดักปลา

ลอบ เป็นเครื่องมือจับปลาที่สานด้วยไม้ไผ่ หวาย เถาวัลย์ หรือลวดรัดโครงไม้ ลอบ มีช่องว่างให้ปลาเข้าไปติดอยู่ภายใน ลอบแบ่งเป็น 3 ชนิดคือ

  • ลอบนอน ใช้ดักปลาสำหรับน้ำไหล มักจะมีหูข้างอยู่ที่ปากลอบด้วย โดยใช้แผงเฝือต่อจากหูช้างทั้งสองข้าง กั้นขวางตามแนวแม่น้ำ ลำคลอง วางลอบอยู่ในแนวนอน ลอบมีลักษณะเป็นทรงกระบอก ก้นรอบเป็นรูปรีๆ มีความยาว 1-2 เมตร เหลาไม้ไผ่เป็นซี่กลมๆ ประมาณ 20 ซี่ มัดด้วยหวาย เถาวัลย์ หรือลวด ไม้ไผ่แต่ล่ะซี่ห่างกันเกือบ 3 เซนติเมตร หากจะดักปลาตัวเล็กก็เรียงซี่ไม้ไผ่ให้ติดกัน ปากลอบดักปลาทำงา 2ชั้น เมื่อปลาว่ายเข้าไปก็จะว่ายออกมาไม่ได้เพราะติดงากั้นไว้ ลอบนอนไม่ต้องใช้เหยื่อล่อ ลอบนอนอีกประเภทหนึ่งใช้กับน้ำนิ่งเรียกว่า ลอบเลาะ

  • ลอบยืน ใช้ดักปลาในน้ำลึก จะใช้แผงเฝือกกั้นหรือไม่ก็ได้ หากใช้เฝือกกั้นก็ดักลอบยืนไว้ตามน้ำนิ่งๆ ใกล้กอหญ้าปลาที่จะเข้าไปมักเป็นปลาดุก ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลากด เป็นต้น ลอบยืนมีลักษณะทรงขวดที่วางตั้งไว้ แต่ส่วนปลายลอบยืนนั้นมัดปลายซี่ไม่ไผ่มารวมกัน ตรงด้านข้างทำงายาวผ่าเกือบตลอด

  • ลอบกุ้ง ใช้ลอบนอนหรือลอบยืนก็ได้ แต่การสานซี่ไม้ไผ่ต้องมีระยะชิดกัน ไม่ให้กุ้งลอดออกไปได้ บางทีใช้ตาข่ายถี่ๆ หรือผ้ามุ้งคลุมรอบตัวลอบไม่ให้กุ้งหนีออกไปได้ เหยื่อที่ใช้ เช่น กากน้ำปลา รำละเอียดผสมดินเหนียวปั้นเป็นก้อน เป็นต้น

ไซ เป็นเครื่องมือดักสัตว์น้ำ โดยมากดักปลาในกลุ่มปลาเล็กปลาน้อย ใช้งานในแหล่งน้ำไม่ลึก มักเป็นแหล่งน้ำไหลและเป็นการเปิดช่องระบายน้ำเข้าออกตามบิ้งนาคันนา ไซมีหลายรูปทรง ตั้งชื่อตามรูปทรงนั้น เช่น ไซปากแตร สานเป็นรูปกรวยปากไซบานออกเป็นรูปปากแตร ไซท่อ สานคล้ายท่อดักปลา หรืออาจตั้งชื่อตามวัตถุประสงค์ เช่น ไซสองหน้า มีช่อง 2 ด้าน ไซลอย ใช้วางลอยในช่วงน้ำตื้นๆ แหวกกอข้าวหรือกอหญ้า วางแช่น้ำไว้ ไซปลากระดี่ ใช้ดักปลากระดี่ ไซกบ สานเป็นลายขัดตาสี่เหลี่ยมรูปทรงกระบอก ใช้ดักกบ ไซโป้ง สานก้นโป่งเล็กน้อย แม้ว่าจะมีรูปลักษณ์ที่ต่างกัน แต่มีลักษณะร่วมกันคือ สานเป็นทรงกระบอกและทำปากทางเข้าเป็นงาแซง (ซี่ไม้เสี้ยมปลายแปลม รูปทรงคล้ายกรวยที่บีบแบนๆ ทำให้ปลาเข้าได้ แต่ว่ายสวนความคมของปลายไม้ออกมาไม่ได้)

ไซต่างๆ มักไม่ต้องใช้เหยื่อเพราะจะดักปลาที่ต้องไหลในกระแสน้ำ เว้นแต่ไซกบที่ต้องมีเหยื่ออย่างลูกปลา ลูกปู มาล่อ

วัสดุที่ใช้สานไซ คือ ต้นไผ่ ปัจจุบันนี้หาง่ายมาก มีปลูกกันเต็มไปหมดทุกหัวระแหง ต้นไผ่ที่นำมาทำไซ ต้องไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป ขนาดกลางๆ อายุประมาณ 2-3 ปี เพราะถ้าแก่เกินไป มันก็จะหักง่าย ส่วนไผ่ที่เอามาทำส่วนใหญ่จะเป็นไผ่สีสุก เพราะทนทานและมีความยืดหยุ่นสูง โดยไผ่ 1 ลำจะสามารถทำไซได้ 1 ลูก ซึ่งแต่ละลูกจะใช้เวลาทำประมาณ 3-5 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของไซด้วย

วิธีการสานไซ ผู้ทำมักเหลาเส้นตอกให้เล็ก เป็นเส้นกลม ยาวอย่างน้อย 2 ปล้องไผ่ เมื่อได้เส้นตอกตามจำนวนที่ต้องการแล้ว นำมามัดปลายด้านหนึ่งรวมกัน ก่อนจะพับให้กลับไปด้านหลัง แล้วใช้เส้นตอกอีกส่วนหนึ่งสานขวางสลับกันไปตั้งแต่ด้านบนถึงด้านล่าง การสานนิยมสานเป็น “ลายขวางไพห้า” ระหว่างสานผู้ทำต้องบังคับให้รูปทรงป่อง แคบ ตามลักษณะของงาน ส่วนบริเวณตรงกลางหรือกลางค่อนไปทางปลาย จะมีการเจาะใส่งาอีกด้านละช่อง เพื่อให้เป็นส่วนที่ปลาวิ่งเข้าผ่านงา (งา รูปทรงคล้ายกรวย ที่บีบแบนๆ ทำให้ปลาเข้าได้ แต่ว่ายสวนความคมของปลายไม้ออกมาไม่ได้) และนำปลาออกอีกด้าน

สุ่มดักปลา

สุ่มดักปลา เป็นเครื่องมือไว้สำหรับครอบปลาในน้ำตื้น ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาช้านาน จวบจนถึงปัจจุบัน นับว่าเป็นความสามารถของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ที่ยังพอมีกำลังในการใช้ฝีมือจักสานอยู่บ้าง โดยเฉพาะการสั่งสมประสบการณ์ ความสามารถและมีความชำนาญ มีขั้นตอนวิธีสานสุ่มดักปลานี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ มีหลายขั้นตอน ตั้งแต่นำไม้ไผ่ตัดเป็นท่อนๆ ท่อนละ 60 เซนติเมตร นำไปรมควันจนดำทำให้มีสีสวย ป้องกันมอดไม้ที่จะมากัดไม้ไผ่ ทำให้ชิ้นงานเสียหาย เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สั่งสอนต่อกันมาหลายชั่วอายุคน

แล้วนำไม้ไผ่มาเหลาเป็นซี่เล็กๆ ขนาด 1 - 1.50 เซนติเมตร ไปลนไฟให้ท่อนตรงปลายอ่อนและขยายเล็กน้อย นำไปเจาะรูทั้งหมด 61 รู เพื่อสานไม้ไผ่ใส่ซึ่งต้องเน้นความถี่เป็นสำคัญ ป้องกันปลาออกนอกสุ่ม ก่อนนำเชือกมาถักระหว่างซี่ไม่ให้หลุดออกจากกัน สุ่มดักปลาก็จะเสร็จสมบูรณ์

สุ่ม นับเป็นของใช้พื้นบ้านที่มีอยู่ทั่วทุกภาค หากแต่มีการเรียกชื่อแตกต่างกันตามท้องถิ่น เช่น สุ่มโมง เป็นสุ่มมีขนาดกว้างใหญ่กว่าสุ่มชนิดอื่น โมง มาจากภาษาถิ่น คือ โม่ง มีความหมายว่า ใหญ่โต สุ่มโมงบางพื้นบ้านเรียก สุ่มซี่ หรือ สุ่มก่อง ซึ่งเรียกตามลักษณะการทำของชาวบ้าน สุ่มโมงจะใช้ไม้ไผ่เหลาเป็นซี่ ประมาณ 50 – 100 ซี่ หากสุ่มใหญ่ก็ใช้ซี่ไม้ไผ่มากขึ้น สุ่มชนิดนี้จะใช้หวาย เถาวัลย์ หรือลวดถักร้อยซี่ไม้ไผ่ยึดกัน โดยมีวงหวาย หรือวงไม้ไผ่ ทำเป็นกรอบไม้ภายใน การถักเส้นหวายเถาวัลย์หรือลวด จะถักซี่ไม้รัดกับวงภายในให้แน่น บางทีชาวบ้านเรียกการถักร้อยสำหรับยึดให้แน่นนี้ว่า “ก่อง” จึงเรียก สุ่มก่อง และลักษณะที่ก่องเป็นซี่ๆ นี้เอง จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สุ่มซี่

สุ่มสาน เป็นสุ่มขนาดแคบกว่าสุ่มโมง เหลาซี่ไม้ไผ่จำนวนมาก สานเป็นลายขัดตาสี่เหลี่ยมห่างๆ แต่ไม่ให้ปลาลอดออกได้ บางทีก็เรียกว่า สุ่มขัด สุ่มชนิดนี้ไม่ต้องใช้หวายเถาวัลย์ หรือลวดถักยึดใดๆ สุ่มกลอง มีรูปเล็กกว่าสุ่มสานเล็กน้อย การทำสุ่มจะใช้หวายเถาวัลย์หรือลวดถักสุ่ม ส่วนบน ส่วนล่างใช้ซี่ไม้ไผ่สานขัดเป็นสี่เหลี่ยม

สุ่มงวม หรือ อีงวม มีลักษณะพิเศษแตกต่างกัน สุ่มภาคอื่นๆ มีขนาดใหญ่กว่าสุ่มโมงมาก สุ่มบางอันสูงเกินกว่า 1 เมตรก็มี สุ่มงวมจะมีรูปร่างเป็นทรงกระบอก ปลายตีนสุ่มกว้างออกเล็กน้อย ด้านบนสุ่มทำเป็นวงกว้างเพื่อใช้มือ 2 ข้าง ล้วงจับปลาในสุ่มได้สะดวก การสานสุ่มงวมจะสานด้วยตอกผิวไม้ไผ่บางๆ สานลายขัดทึบโดยตลอด