วัดกู่โนนพระ







โบราณสถานดอนกู่โนนพระ

ประวัติ

โบราณสถานดอนกู่โนนพระ เป็นศาสนสถานแบบขอม ลักษณะเป็นกลุ่มของอาคาร จำนวน 3 หลัง ตั้งเรียงตามแนวทิศเหนือ-ใต้ โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก อาคารหลังกลางมีขนาดใหญ่กว่าอาคาร 2 หลัง สภาพปัจจุบัน(หลังการขุดแต่ง) พบแต่เพียงส่วนฐานของอาคาร จากรูปแบบของตัวโบราณสถานสันนิษฐานว่า คงจะเป็นโบราณสถานประเภทที่เรียกกันว่าปราสาทสรุก(ปราสาทชุมชน) หรือ ศาลเทพเจ้า ซึ่งเป็นโบราณสถานที่สร้างขึ้นเนื่องในศาสนา(ส่วนใหญ่คือ ศาสนาพราหมณ์) เพื่อใช้เป็นที่เคารพบูชาของคนในชุมชน จะมีขนาดค่อนข้างเล็กและมีรูปแบบไม่ตายตัวแน่นอน กล่าวคือ มีทั้งที่เป็นกลุ่มอาคาร หรือเป็นอาคารเดี่ยวๆ ล้อมรอบด้วยกำแพงหรือคูน้ำ และอาจจะมีสระนี้อยู่ใกล้ๆ

โบราณสถานดอนกู่โนนพระ สร้างขึ้นในช่วงหลังวัฒนธรรมขอม คือ ราวๆ พุทธศตวรรษที่ 16-17 เนื่องจากศิลาแลงเป็นวัสดุที่นิยมนำมาใช้ในศิลปะสมัยหลังๆ ของขอม จากการขุดค้นพบศิลาแลง หรือเรียกว่ากู่เจดีย์ แท่นศิวลึงค์ เป็นหลักฐานที่สำคัญแสดงให้เห็นว่าเป็นแหล่งโบราณสถานอันเก่าแก่และเคยขุดพบพระพุทธรูปโบราณล้ำค่าหลายองค์

ประวัติทางโบราณคดี

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 7 ขอนแก่น (หรือปัจจุบันคือ สำนักงานศิลปากรที่ 9 ขอนแก่น) สำรวจพบโบราณสถานกู่โนนพระ ในปี พ.ศ.2544 และดำเนินการจัดทำผังโบราณสถานเพื่อการขึ้นทะเบียนในปี พ.ศ.2545 และคาดว่าจะประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาในปี พ.ศ.2546 ต่อไป(ปัจจุบันเดือน ก.ย.2546 ยังมิได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา)

นับแต่อดีตที่ผ่านมา โบราณสถานแห่งนี้ได้ถูกรบกวนจากการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุหลายครั้ง ทั้งจากราษฎรในพื้นที่และบุคคลภายนอก จนกระทั่งในปี พ.ศ.2546 องค์การบริหารส่วนตำบลวังแสง ร่วมกับสำนักงานศิลปากรที่ 9 ขอนแก่น ได้จัดทำโครงการขุดแต่ง-ขุดค้นทางโบราณคดี โดยได้รับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลวังแสง ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด จ.ธนฉัตร เป็นผู้ดำเนินการ

ประเพณีความเชื่อ

โบราณสถานดอนกู่โนนพระ เป็นสถานที่ซึ่งชาวบ้านในเขตอำเภอแกดำให้ความเคารพนับถือเป็นอันมาก โดยเชื่อกันว่าเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์และมีอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ที่พร้อมจะแสดงให้ได้เห็นเมื่อถูกลบหลู่ ภายในสถานที่แห่งนี้มีเรื่องเล่าอยู่เรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่ นั่นคือ “พระทองคำ” จากการสอบถามชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง หลายคนพูดเหมือนกันว่า พระทองคำมีอยู่จริง และหลายต่อหลายคนก็ได้เคยเห็นมาแล้วด้วย

ประวัติความเป็นมาของพระทองคำ จากการสอบถามไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัด ทราบเพียงว่าเป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง มีสีทองเหลืองอร่าม ผู้ที่พบเป็นคนแรก คือ กลุ่มคนเลี้ยงช้างที่มาจากจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งพาช้างเร่ร่อนหากิน และได้มาหยุดพักแรมบริเวณโบราณสถาน ระหว่างที่หยุดพักนั้น ช้างเชือกหนึ่งได้เดินตรงไปยังต้นเปลือย(ตะแบก) ขนาดใหญ่ จากนั้นก็หยุดยืนอยู่หน้าต้นไม้ต้นนั้น และได้ชูงวงเข้าไปในโพรงต้นไม้ หยิบเอาพระพุทธรูปที่อยู่ด้านในออกมาให้กับควาญช้าง ควาญช้างได้ปรึกษากันและได้นำพระพุทธรูปองค์นั้นไปไว้ที่เดิม ต่อมาชาวบ้านที่มาอาศัยอยู่บริเวณนั้น(กลุ่มคนรุ่นแรกๆที่มาก่อตั้งบ้านขอนแก่น) ได้มาพบพระดังกล่าว และก็ได้ประสบกับเหตุอัศจรรย์ต่างๆ จากพระพุทธรูปองค์นี้ ชาวบ้านเล่าว่า เคยมีคนนำมีดไปลองขูดที่ส่วนพระชงฆ์(หน้าแข้ง) ของพระพุทธรูป เพราะอยากรู้ว่าทำด้วยทองทั้งหมดหรือเปล่า ปรากฏว่าในวันรุ่งขึ้น คนๆ นั้นก็มีบาดแผลในตำแหน่งเดียวกับที่ไปขูดผิวพระ โดยไม่ทราบสาเหตุ ไปหาหมอรักษาก็ไม่หาย จนในที่สุดได้ไปกราบขอขมากับพระพุทธรูปองค์ดังกล่าว แผลที่เกิดขึ้นจึงได้หายไปอย่างน่าประหลาด อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ชาวบ้านได้พบก็คือ เคยมีคนเข้าไปล่าสัตว์ (ยิงนก หรือตกปลา) เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าธรรมชาติและมีสัตว์อยู่มาก แต่เมื่อใดก็ตามที่พยายามจะยิงสัตว์ ก็ต้องแปลกใจไปตามๆ กัน เพราะปืนจะยิงไม่ออก หรือไม่ก็ด้านไม่สามารถยิงอะไรได้ เหตุการณ์ดังกล่าวชาวบ้านรู้สึกเกรงกลัวในสถานที่ และต่อมาได้มีพระเข้ามาอาศัยอยู่ พื้นที่บริเวณโบราณสถานจึงได้กลายเป็นเขตอภัยทาน (ห้ามล่าสัตว์) ไปโดยปริยาย

จากความเชื่อของชาวบ้านที่มีต่อสิ่งเหนือธรรมชาติในโบราณสถาน และเรื่องเล่าซึ่งตอกย้ำให้เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์นั้น ทำให้เกิดประเพณีอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวโบราณสถาน นั่นคือประเพณีการสรงกู่ โดยจะเริ่มพิธีในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือนหก ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชาของทุกปี

ที่ตั้ง

ตั้งอยู่ที่บ้านตะคุ หมู่ที่ 5 ตำบลวังแสง อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม โดยตั้งอยู่บนเส้นรุ้งที่ 16 องศา 02 ลิปดา 75 ฟิลิบดาเหนือ และเส้นแวงที่ 103 องศา 22 ลิปดา 58 ฟิลิปดาตะวันออก หรือพิกัดกริดที่ 48 QUC 268744 กรมแผนที่ทหาร พิมพ์ครั้งที่ 2 – RTSD ลำดับชุด L-7017 ระวาง 5641 “มาตราส่วน 1:50,000

ปัจจุบันโบราณสถานแห่งนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนดำเนินการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญแห่งชาติ

สภาพปัจจุบันของโบราณสถานดอนกู่โนนพระ เป็นซากสิ่งก่อสร้างขึ้นด้วยศิลาแลงก้อนใหญ่ ปัจจุบันพบชิ้นส่วนวัสดุและแท่นฐานรูปเคารพวางเรียงกันอยู่ด้านหลัง และมีการสร้างศาลาคอนกรีตเสริมเหล็กโปร่ง ชั้นเดียวทับอยู่บนแนวซากโบราณสถานนี้ และยังมีสระน้ำล้อมรอบ มีการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามสระน้ำด้านทิศตะวันตก บริเวณโดยรอบของเนินเป็นป่าทึบ และมีการก่อสร้างอาคาร (สำนักสงฆ์) ด้านทิศใต้และถนนลูกรังโดยรอบสระน้ำ