ไส้เลื่อนในเด็ก

โรคไส้เลื่อนในเด็ก ( inguinal hernia)

โรคไส้เลื่อนขาหนีบในเด็กเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยพบใเด็กชายมากกว่าและมักพบเป็นข้างขวาบ่อยกว่าข้างซ้าย

สาเหตุ

เกิดจากถุง Processus vaginalis ไม่ปิดตามเวลา ทำให้มีช่องทางเชื่อมต่อระหว่าช่องท้องกับขาหนีบในเด็กผู้หญิงหรือถุงอัณฑะในเด็กผู้ชาย ทำให้ลำไส้สามารถเคลื่อนผ่านลงมาในขาหนีบหรือถุงอัณฑะได้

อาการ

ผู้ปกครองจะพบว่าผู้ป่วยมีก้อนที่หัวเหน่าหรือถุงอัณฑะโดยก้อนมักจะโป่งออกมาเมื่อผู้ป่วยยืน วิ่งเล่ร้องไห้ หรือเบ่ง และก้อนมักจะยุบหายไปได้เองขณะนอน หรือดันกลับเข้าไปได้

ในกรณีที่ก้อนไม่สามารถดันกลับได้ ปวดบวมแดงบริเวณก้อนถือเป็นภาวะฉุกเฉิน อาจเป็นสัญญาณของลำไส้ติดได้

การรักษา

การรักษามาตรฐานคือการผ่าตัด เพื่อผูกและตัดถุง Processus vaginalis ทำให้ไม่มีช่องทางติดต่อกับช่องท้อง ทำให้ลำไส้ไม่สามารถเลื่อนลงมาในขาหนีบหรือถุงอัณฑะได้อีกต่อไป

สามารถผ่าตัดได้ทุกช่วงอายุ และควรผ่าตัดให้เร็วเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไส้เลื่อนลงมาติดที่ขาหนีบหรือถุงอัณฑะ ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉิน

การผ่าตัดทำภายใต้การระงับความรู้สึกทั่วไป (การดมยาสลบ) ร่วมกับการใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อลดอาการปวดแผลหลังจากการผ่าตัด

กรณีผู้ป่วยอายุมากกว่า 1 ปีและไม่มีโรคประจำตัวอาจสามารถทำผ่าตัดแบบวันเดียวกลับได้

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด

      • ก่อนวันผ่าตัด 1 สัปดาห์ หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ ได้แก่ มีไข้ ไอ น้ำมูก มีเสมหะ หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ให้ผู้ปกครองโทรศัพท์แจ้งที่โรงพยาบาลเพื่อเลื่อนวันผ่าตัดออกไป เพื่อความปลอดภัยในการดมยาสลบ

      • งดน้ำและอาหารทุกชนิดตามวันเวลาที่กำหนด

การดูแลหลังการผ่าตัด

      • หากผู้ป่วยตื่นดีแล้ว ให้เริ่มจิบน้ำหรือน้ำหวานได้ครั้งละน้อย

      • หากสามารถจิบน้ำได้ ไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ให้รับประทานอาหารตามปกติได้

      • หากผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ให้หยุดรับประทานก่อนประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง แล้วจึงค่อยเริ่มใหม่เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว

      • หากผู้ป่วยอาการปกติดีแล้ว สามารถให้กลับไปดูแลต่อที่บ้านได้

      • กรณีที่อาการไม่คงที่อาจต้องรับการดูแลรักษาต่อในโรงพยาบาล

การดูแลหลังการผ่าตัดที่บ้าน

      • หากไม่มีอาการปวดแผลให้ทำกิจกรรมได้ปกติ

      • ไม่มีข้อห้ามในการรับประทานอาหาร

      • การดูแลแผลผ่าตัด ไม่จำเป็นต้องเปิดทำแผล หากแผลเปียกหรือวัสดุปิดแผลหลุดออกหรือแผลสกปรกก่อนวันนัดเปิดแผล ให้พาผู้ป่วยไปทำแผลที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน

      • หากมีอาการปวดแผล ให้รับประทานยาแก้ปวดตามที่แพทย์สั่งให้

อาการที่ต้องพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ก่อนนัด

      • แผลมีเลือดซึมออกมาให้เห็นนอกผ้าปิดแผล

      • ปวดแผลมาก รับประทานยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น

      • มีรอยบวมแดงรอบแผลผ่าตัด

      • มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส

      • อาเจียนบ่อย รับประทานอาหารได้น้อย