ส่องกล้องลำไส้ใหญ่


การส่องกล้องลำไส้ใหญ่( colonoscopy)

เป็นวิธีการที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการประเมินปัญหาในลำไส้ใหญ่ โดยใช้กล้องส่องลำไส้ใหญ่(colonoscope) ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็กยาวและยืดหยุ่นได้ มีกล้องวิดีโอและดวงไฟขนาดเล็กติดอยู่กับปลายท่อ เมื่อทำการขยับและปรับกล้องส่องลำไส้ใหญ่ได้อย่างเหมาะสมแล้วแพทย์จะสามารถเคลื่อนไหวกล้องดังกล่าวในลำไส้ใหญ่ให้ไปในทิศทางที่ต้องการได้ภาพที่กล้องบันทึกได้ในลำไส้ใหญ่จะปรากฎบนจอโทรทัศน์ซึ่งทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งได้ รวมถึงการช่วยประเมินปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นกับลำไส้ใหญ่และยังช่วยในการรักษาก้อนเนื้องอกแบบที่ไม่ใช่มะเร็งที่เติบโตขึ้นที่บริเวณผนังลำไส้ใหญ่ (Polyp)

ข้อบ่งชี้ในการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่

  1. ความผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่ายอุจจาระเช่น ท้องผูก หรือท้องเสียเป็นประจำ หรือท้องผูกสลับกับท้องเสีย ก้อนของลำอุจจาระเล็กลง

  2. ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน อาจจะเป็นสีแดงสดหรือสีคล้ำ มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ

  3. มีบุคคลในครอบครัว ญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

  4. ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจเพื่อคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

การเตรียมลำไส้สำหรับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่

  1. ต้องมีการเตรียมลำไส้ 1-2 วันก่อนการตรวจ

  2. งดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืนก่อนวันตรวจ

  3. งดยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด อย่างน้อย 5-7 วัน

  4. กรณีมีโรคประจำตัว

    • โรคเบาหวาน ในวันนัดส่องกล้องให้งดยาเบาหวานตอนเช้า

    • โรคความดันโลหิตสูง ในวันที่ส่องกล้องให้รับประทานยาลดความดันตอนเช้า เวลา 06.00 น. ดื่มน้ำตามไม่เกิน 30 ซีซี งดยาขับปัสสาวะ (ถ้ามี)

ขั้นตอนการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่

  1. แพทย์อาจจะฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย และง่วง

  2. ผู้รับการตรวจนอนตะแคงซ้าย ก้นชิดริมเตียง งอเข่าชิดอก

  3. แพทย์จะใส่กล้องส่องตรวจเข้าทางทวารหนักและเป่าลมเพื่อให้ลำไส้ชยาย เมื่อพบสิ่งผิดปกติแพทย์จะตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา

  4. ขณะตรวจอาจรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระ หรือแน่นอึดอัดท้องเนื่องจากแพทย์เป่าลมให้ลำไส้ขยาย เพื่อดูพยาธิสภาพภายในลำไส้ อาการเหล่านี้จะบรรเทาได้โดยปฎิบัติ ดังนี้

    • หายใจช้า ๆ สูดลมหายใจเข้า-ออก ปล่อยตัวตามสบายไม่เกร็ง

    • ถ้าอึดอัดแน่นท้องมากจนทนไม่ไหว ให้แจ้งแพทย์ผู้ตรวจ

    • ห้ามดิ้นโดยเด็ดขาด

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังส่องกล้อง

  1. บาดแผลที่อาจเกิดขึ้นที่บริเวณผนังลำไส้ใหญ่

  2. ภาวะเลือดออก ส่วนมากพบในรายที่จำเป็นต้องได้รับการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ พบประมาณ 1-2 %

  3. อาการอึดอัด ไม่สบายท้อง ปวดมวนท้องเล็กน้อยหลังรับการส่องกล้องซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปภายใน 24 ชั่วโมง

  4. อาจพบภาวะลำไส้ใหญ่ทะลุ พบได้ประมาณ 0.5-1% ซึ่งต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน

ข้อปฎิบัติตัวหลังได้รับการส่องกล้อง

  1. ให้สังเกตอุจจาระ อาจมีเลือดปนเล็กน้อย ถ้ามีเลือดออกมามากผิดปกติ ให้รีบกลับมาพบแพทย

  2. กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดดำ อาจทำให้ง่วง ห้ามขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร อย่างน้อย 24 ชั่วโมงเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และควรมีญาติมาด้วย1 คน

  3. รับประทานยาให้ครบถ้วน ตามแผนการรักษาของแพทย์

  4. มาพบแพทย์ตามนัด หากมีอากาผิดปกติเช่น ปวดท้อง ท้องอืดมาก มีไข้ ถ่ายมีเลือดออกมาก ให้มาพบแพทย์ก่อนวันนัดได้