ส่องกล้องท่อน้ำดี

การส่องกล้องตรวจทางเดินน้ำดีและตับอ่อ

(Endoscopic Retrograde Cholangio Pancreatography )


การส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อนเป็นการส่องกล้องตรวจและรักษาโรคระบบทางเดินน้ำดีและตับอ่อนโดยการฉีดสีเพื่อแสดงภาพการถ่ายรังสี ซึ่งช่วยในการวินิจฉัย และการรักษาภาวะที่เรียกว่า“ดีซ่าน”(ตัวเหลืองตาเหลือง)อันเกิดจากท่อน้ำดีอุดตัน หรืออาการปวดท้องเนื่องจากความผิดปกติของท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน

ข้อบ่งชี้

1. เพื่อรักษาในโรคทางเดินน้ำดี ได้แก่ เพื่อดึงนิ่วออกจากทางเดินน้ำดี (stone removal) วางท่อระบายน้ำดีลงสู่ลำไส้เล็ก (Endoprosthesis) หรือขยายหูรูดกรณีตีบตัน (Papillary Stenosis) เป็นต้น

2. เพื่อการรักษาในโรคตับอ่อน (Pancreatic Disease) ได้แก่ เพื่อดึงนิ่วออกจากท่อตับอ่อนวางท่อระบายเหนือรอยต่อส่วนที่รั่ว (Pancreatic Fistula) เป็นต้น


ประโยชน์ที่ได้รับ

ERCP มีประโยชน์ในการช่วยวินิจฉัยและรักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบท่อน้ำดีและตับอ่อน เช่น ถ้ามีการอุดตันในท่อน้ำดีจากก้อนนิ่ว เนื้องอก พังผืด หรือเกิดการตีบแคบของท่อน้ำดีเนื่องจากสาเหตุอื่นๆ หรือมีการอุดตันของท่อตับอ่อนเนื่องจากนิ่ว เนื่องอก โดยเฉพาะในกรณีที่มีตับอ่อนอักเสบเนื่องจากนิ่วในท่อน้ำดีอุดตันที่บริเวณรูเปิดร่วมของท่อน้ำดีและท่อตับอ่อน


ผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อน

  1. จ็บคอ สาเหตุจากการเสียดสีของกล้อง คอชา เกิดจากยาชาเฉพาะที่

  2. ท้องอืด อาการนี้เกิดขึ้นได้บ่อยเนื่องจากแพทย์ต้องเป่าลมเข้ากระเพาะอาหารและลำไส้ขณะทำการส่องกล้อง แต่อาการนี้เกิดขึ้นชั่วคราวอาการจะดีขึ้น เมื่อร่างการขับลมออกมา

  3. ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน หลังส่องกล้อง 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนและมีเอ็นไซม์ของตับอ่อนสูงโอกาสเกิดภาวะเสี่ยงต่อการเป็นตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันประมาณ 3-5%

  4. ลำไส้เล็กส่วนต้นทะลุและภาวะเลือดออกในลำไส้เล็กส่วนต้น เนื่องจากมีการตัดทางเปิดของท่อน้ำดี ภาวะเลือดออกอาจเกิดขึ้นทันทีหรือเกิดขึ้นหลัง 24 ชั่วโมงหลังส่องกล้อง โอกาสเกิดภาวะเลือดออกในลำไส้เล็กส่วนต้นประมาณ 2.5 -5%

  5. ติดเชื้อหลังส่องกล้อง ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้อง มีไข้ ส่วนใหญ่จะเกิดในผู้ป่วยที่มีภาวะท่อน้ำดีอุดตัน ภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ 5 -10% โดยปกติจะมีการให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อก่อนทำการส่องกล้อง ซึ่งสามารถลดภาวการณ์ติดเชื้อได้อย่างมาก

การปฏิบัติตัวก่อนการรักษา

  1. ผู้ป่วยต้องได้ปรึกษากับแพทย์เรื่องโรคประจำตัวเช่นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวานและโรค หอบหืดเป็นต้น เพื่อแพทย์จะได้วางแผนการรักษาผู้ป่วย

  2. ต้องแจ้งให้แพทย์เรื่องประวัติการแพ้ยา อาหารทะเล หรือสารทึบแสงรังสี ซึ่งผู้ป่วยแพ้อาหารหรือสารทึบสี ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้สารทึบสีชนิดพิเศษ

  3. กรณีผู้ป่วยมียาที่ใช้กับโรคประจำตัว โดยเฉพาะกลุ่มยาละลายลิ่มเลือดต้องปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้เพื่อพิจารณาหยุดยาก่อนทำการตรวจรักษา 5-7วัน เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกง่ายหยุดยาก

  4. งดน้ำ และอาหาร หลังเที่ยงคืน หรือก่อนเวลาตรวจ อย่างน้อย 6 -8ชั่วโมง

  5. ในกรณีที่ผู้ป่วยสวมฟันปลอมชนิดทั้งชุดหรือชนิดแน่นบางส่วนให้ถอนออกทุกครั้ง ก่อนทำการส่องกล้องหรือในกรณีผู้ป่วยมีฟันโยก กรุณาแจ้งแพทย์เจ้าของไข้เพื่อพิจารณาถอนฟันก่อนการส่องกล้องเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นจากการหลุดของฟัน

  6. กรณีมีโรคประจำตัว-โรคความดันโลหิตสูง ในวันที่ส่องกล้องให้รับประทานยาลดความดันตอนเช้า เวลา 06.00 น. ดื่มน้ำตามไม่เกิน 30 ซีซี งดยาขับปัสสาวะ(ถ้ามี)โรคเบาหวาน ในวันนัดส่องกล้องให้งดยาเบาหวานตอนเช้า


การปฏิบัติตัวหลังการรักษา

  1. ผู้ป่วยทุกรายจำเป็นต้องเข้าพักในโรงพยาบาลต่อหลังจากทำหัตถการอย่างน้อย 24 ชั่วโมง หรือขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เพื่อสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ปวดแน่นท้องมาก คลื่นไส้อาเจียนหรือมีไข้สูงหลังจากทำหัตถการ

  2. โดยทั่วไปจะมีการงดน้ำ และอาหารหลังทำการตรวจท่ออย่างน้อย 6-8ชั่วโมง หรือจนกว่าแพทย์จะแน่ใจว่าผู้ป่วยไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน หรือภาวะติดเชื้อในท่อน้ำดี โดยจะเริ่มจากให้จิบน้ำ ถ้าไม่มีอาการปวดท้องจะเริ่มให้รับประทานอาหารต่อไปตามลำดับ

  3. หลังส่องกล้องอาจจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน จุกเสียดแน่นท้อง ท้องอืดจากลมที่แพทย์ใส่เข้าไปขณะทำการตรวจซึ่งอาการนี้ค่อยๆหายไปได้เอง

  4. มาพบแพทย์ตามนัด โดยเฉพาะในรายที่มีการส่งชิ้นเนื้อตรวจ เพื่อฟังผลชิ้นเนื้อแต่หากผู้ป่วยมีอาการปวดเสียดท้องมากขึ้น แน่นหน้าอก ปวดหลังส่วนบน มีไข้ อุจจาระดำหรือมีเลือดออก เป็นอาการที่ต้องพบแพทย์ โดยด่วน